โดยยศพนธ์ เกิดวิบูลย์
เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเอกสารฉบับหนึ่งจากนักพัฒนาเอกชนภาคอีสานที่เคยบรรยายพิเศษเรื่องการพัฒนาภาคอีสาน ซึ่งระหว่างการบรรยายในครั้งนั้น นักพัฒนาเอกชนท่านนี้ได้อ้างอิงข้อมูลจากเอกสารฉบับนี้ถึงโครงการพัฒนาของรัฐขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในภาคอีสานเพื่อให้ผู้ฟังได้เห็นตัวอย่างการพัฒนาของรัฐที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
หลังจากผู้เขียนได้อ่านเอกสารดังกล่าว จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ปัจจุบันในภาคอีสานมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่โดยรัฐบาลผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง หากรัฐบาลดำเนินการพัฒนาตามแผนพัฒนาภาคอีสานดังกล่าวจริง จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยนคนอีสานอีกมากเท่าไหร่
ทั้งนี้ ในเอกสารระบุถึงแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ชื่อ “ผังกลยุทธ์การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2600” หลังจากพยายามค้นข้อมูลต่อไปก็พบว่า เอกสารฉบับนี้อยู่ภายใต้เอกสารเรื่อง “ผังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2600 ” เรียกสั้น ๆ ว่า “ผังภาค” ซึ่งเป็น แผนผังโครงการการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมือง การคมนาคม การขนส่งและสาธารณูปโภคระดับภาค อยู่ภายใต้ “ผังประเทศ ปี 2600” จัดทำขึ้นเมื่อปี 2545 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง สังกัดกระทรวงมหาดไทย
แต่ “ผังประเทศ ปี 2600” ดังกล่าวเป็นเพียงโมเดลการพัฒนาในอนาคต ยังไม่มีผลทางกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง ปี 2518
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา นายมนตรี ศักดิ์เมือง ผู้อำนวยการสำนักผังประเทศและผังภาคกล่าวถึงการผลักดันแนวคิด “ผังประเทศปี 2600” ให้เป็นกฎหมายและสอดคล้องกับ “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่า จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. 2560 และคาดว่าสิ้นสุดปลายปี 2561 หากดำเนินการแล้วเสร็จ ต้องกำหนดเป็นนโยบายแห่งรัฐครอบคลุมงานนโยบายด้านผังเมืองระดับชาติและมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ
เมื่อดูหลักการและเหตุผลหลักในการกำหนดแนวคิด “ผังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ตามที่ระบุในรายงาน พบว่าจัดทำขึ้นเพื่อรองรับแนวนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงอินโดจีนตามแนวตะวันออกและตะวันตก (East-West Economic Corridor) ซึ่งภาคอีสานตั้งอยู่ในเส้นทางสะพานเศรษฐกิจในโครงการดังกล่าวและโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) ซึ่งถือเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ระดับภูมิภาครวมทั้งเวียดนาม ลาว พม่า และประเทศไทย

ภาพแสดงโครงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในภาคอีสานในปี 2600
“ผังกลยุทธ์การพัฒนาพื้นที่ภาคอีสาน ปี 2600” นี้ส่วนมากเน้นการพัฒนาพื้นที่ภาคอีสานเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ และการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมหรือการใช้ประโยชน์จากที่ดินว่างเปล่า เพื่อทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์และสร้างโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
รายงาน “ผังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2600 ” ระบุว่า โครงการพัฒนาที่สําคัญในพื้นที่ภาคอีสาน คือ สะพานขามแม่น้ําโขงจังหวัดมุกดาหารและนครพนม เมืองมุกดาหารจะกลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าและพาณิชยกรรมของภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่นจะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ โดยใช้เส้นทางรถไฟและยังจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมภายในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ศูนย์กลางการบินจะอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีและโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหินในภาคอีสานอีก 7 แหล่ง คือ แหล่งชัยภูมิ แหล่งตลาดแค แหล่งนครราชสีมา แหล่งมหาสารคาม แหล่งกุลาร้องไห้ แหล่งบําเหน็จณรงค์ แหล่งอุบล และแหล่งหนองคาย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม “ผังภาค”แม้จะเป็นแค่โมเดลการพัฒนา ซึ่งยังไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ปัจจุบันเหมือนรัฐเร่งรัดการพัฒนาตามแผนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากโครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ไทย – ลาว ที่ จ.นครพนม และ จ.อุบลราชธานี โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.นครพนม และ จ.มุกดาหาร โครงการรถไฟทางคู่ นครราชสีมา – หนองคายโครงการสำรวจแร่โปรแตซ ที่จ.สกลนคร จ.ชัยภูมิ และ จ.อุดรธานี เป็นต้น
ผู้เขียนค้นข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวในอินเทอร์เน็ตพบว่า มีเพียงเอกสารฉบับเต็มที่เผยแพร่บนเว็บไซต์สำนักผังประเทศและผังภาค แต่ไม่มีรายงานข่าวหรือรายงานวิเคราะห์ที่พูดถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนจากแผนการพัฒนาภาคอีสานฉบับนี้ในสื่อเท่าที่ควร โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ในภาคอีสาน แม้ว่าในเอกสารดังกล่าวได้ระบุข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ ไว้อย่างครบถ้วนจนทำให้คาดเดาได้ว่านับจากนี้ไปอีก 10 – 20 ปี ภาคอีสานจะถูกพัฒนาอย่างไร แล้วจะมีประชาชนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
สำหรับผู้เขียน ข้อกังวลดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องต้องคอยจับตาดูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโครงการต่างๆ เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากข้อมูลเหล่านี้ไม่เป็นที่รับรู้ของประชาชนในพื้นที่เท่าที่ควร ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นอาจเป็นบุคคลที่จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ทั้งด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และอาจนำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐและภาคธุรกิจผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการบริหารประเทศโดยรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจเหมือนในปัจจุบัน
แล้วเหตุใดถึงเชื่อว่าโครงการพัฒนาของรัฐขนาดใหญ่อาจนำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในพื้นที่การพัฒนาโดยรัฐและภาคธุรกิจ คำตอบของคำถามนี้ก็คงเห็นได้จากข้อมูลที่ว่า หลังการรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาลทหารมักอนุมัติโครงการพัฒนาของรัฐขนาดใหญ่อย่างรวดเร็วเพื่อขจัดสิ่งขัดขวางการดำเนินโครงการ เช่น การใช้ ม.44 แก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมให้เอกชนดำเนินโครงการพัฒนาโดยไม่ต้องรอการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพราะหลายโครงการของภาครัฐมักถูกต่อต้านจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังระบุว่า รัฐบาลทหารใช้มาตรการด้านกฎหมายความมั่นคงและคำสั่ง คสช.ในการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย โดยเฉพาะการใช้คำสั่ง คสช. และพ.ร.บ.การชุมนุนสาธารณะ ปี 2558 ที่ควบคุมและสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐในภาคอีสาน เช่น กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่คัดค้านเหมืองทองคำ จ.เลย ถูกเรียกรายงานตัวห้ามไม่ให้เคลื่อนไหวในพื้นที่, ประชาชนผู้คัดค้านการสำรวจเหมืองแร่โปรแตซ จ.สกลนคร ถูกออกหมายจับในข้อหาผิด พ.ร.บ. ชุมนุม ฯ , กรณีประชาชนคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ถูกเจ้าหน้าที่ห้ามใส่เสื้อคัดค้านในเวทีรับฟังความเห็น หรือโครงการโปแตช อุดรฯ มีการจัดเวทีประชาคมในค่ายทหาร เป็นต้น
รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งสรุปข้อมูลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของภาคอีสานในปี 2559 เปิดเผยว่า ประชาชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผังการพัฒนาพื้นที่ภาคอีสานที่ผู้เขียนกล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งในรายงานระบุว่า ในการดำเนินการการตามโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลต้องจัดหาที่ดินเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องประสบปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน เนื่องจากรัฐบังคับให้มีการเวนคืนที่ดินและให้ออกจากพื้นที่ ตัวอย่างเช่น พื้นที่ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.นครพนม เป็นพื้นที่ที่จำเป็นต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้า สนามบิน คลังสินค้า และนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ประชาชนต่างวิตกกังวลว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษจะส่งผลกระทบทั้งในด้านที่ดินทำกิน สิ่งแวดล้อม สภาพความเป็นอยู่ และวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความกังวลด้านผลกระทบดังกล่าวยังเกิดขึ้นเช่นเดียวกันในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.มุกดาหาร
นอกจากนี้ ยังมีประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาระบบคมนาคมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งชุมชนริมทางรถไฟถูกการรถไฟฯ ไล่รื้อที่อยู่อาศัยเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลดำเนินโครงการพัฒนาระบบรางรถไฟ เป็นต้น
ตัวอย่างข้างต้นเป็นแค่บางส่วนของผลกระทบที่ผู้เขียนต้องการแสดงให้เห็นว่า ประชาชนในภาคอีสานจะได้รับจากการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังดำเนินการนั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งยิ่งในสภาวะทางการเมืองของสังคมไทยที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบรัฐบาลทหาร ซึ่งมีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนตามหลักการเสรีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกรณีที่รัฐบาลทหารใช้อำนาจทางกฎหมายปิดกั้นการเคลื่อนไหวของประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงรัฐบาลมักจะอนุมัติโครงการฯ อย่างเร่งรัด ตัดตอนการพิจารณาที่รอบด้านตามกลไกทางการเมืองแบบรัฐสภาปกติ ที่จะมี ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชน สภาพการเมืองแบบนี้ในที่สุดจะนำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐเสียเองอย่างที่ยกตัวอย่างข้างต้น
คงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ว่า หากในอนาคตมีกฎหมายรองรับ “ผังภาคอีสาน ปี 2600” หรือแผนการพัฒนาภาคอีสานแล้วนำไปสู่การปฏิบัติจริง และแผนดังกล่าวยังสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การพัฒนาที่รัฐออกแบบข้างต้นคงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและอาจปราศจากการคัดค้านโดยประชาชน
“ปัจจุบันยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนในพื้นที่โดยรัฐมากขนาดนี้ แล้วในปี 2600 จะมีเพิ่มมากขึ้นเท่าไร”