โดยภานุภพ ยุตกิจ

อุบลราชธานี – ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศป่าสงวนแห่งชาติยอดมน จ.อุบลราชธานี รวมตัวเพื่อกำหนดท่าทีแก้ไขปัญหา หลังยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แก้ไขปัญหาแทนคณะกรรมการชุดเดิม เผยหากคณะกรรมการชุดใหม่ไม่รับเรื่องจะเข้าไปสอบถามถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2560 ที่ศาลาประชาคมบ้านห้วยน้ำใส ม.11 ต.ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี นายอาคม หอมแก้ว นายช่วน จันทร์สมาน พร้อมตัวแทนชาวต.ช่องเม็ก และต.โนนก่อ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี กว่า 50 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนจากการประกาศป่าสงวนแห่งชาติยอดมน อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ได้นัดรวมตัว

เพื่อหารือถึงการกำหนดท่าทีความเคลื่อนไหวในการต่อสู้ เพื่อผลักดันให้ผู้ที่มีสิทธิตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 12 ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกินก่อนการประกาศป่าสงวนแห่งชาติยอดมน เมื่อปี 2517 และขอให้ภาครัฐนำปัญหาเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขโดยคณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของสมัชชาเกษตรกร ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แต่งตั้งไว้แล้ว เพื่อให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวเข้ามาแก้ปัญหาแทนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทสวนป่าพิบูลมังสาหารทับที่ทำกินราษฎร ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมได้

ชาวต.ช่องเม็ก และต.โนนก่อ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ติดตามการแก้ไขปัญหาป่าสงวนแห่งชาติยอดมนทันที่ของประชาชน ณ ที่ว่าการอำเภอสิรินธร เมื่อวันที่่ 12 ต.ค. 2560

นายอาคม หอมแก้ว ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศป่าสงวนแห่งชาติยอดมน กล่าวว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในที่ดินทำกินตั้งแต่มีการออกกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 707 พ.ศ. 2517 ประกาศให้ป่าห้วยยอดมนเป็นป่าสงวนแห่งชาติยอดมน เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2517 และมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิจากหน่วยงานภาครัฐมาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งถึงแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการระดับกระทรวงเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็ไม่สามารถขับเคลื่อนการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและสร้างความเป็นธรรมได้

นายอาคมกล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายประสิทธิ อินทโชติ อดีตนายอำเภอสิรินธร ได้เรียกประชุมคณะทำงานระดับอำเภอ โดยที่ประชุมพยายามเร่งรัดให้มีการคัดกรองรายชื่อราษฎรที่ได้รับการพิสูจน์สิทธิ และมีร่องรอยการทำประโยชน์ก่อนการประกาศป่าสงวนแห่งชาติยอดมน แต่กลับมีการตั้งเงื่อนไขที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย คือมีความพยายามที่จะลิดรอนสิทธิของราษฎร ตัดสิทธิราษฎรที่เคยได้รับการช่วยเหลือจากการถูกละเมิดสิทธิในด้านอื่น โดยให้คัดชื่อออกเพราะจะเป็นการรับผลประโยชน์ซ้ำซ้อน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ถือว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม มาตลอดระยะเวลา 17 ปี นับตั้งแต่ปี 2543

การประชุมคณะทำงานระดับอำเภอที่อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2560 มีการตั้งเงื่อนไขลิดรอนสิทธิของประชาชนในการให้ความช่วยเหลือกรณีป่าสงวนแห่งชาติยอดมนทับที่ของประชาชน

“จากคำสั่งของหน่วยเหนือ คือระดับกระทรวง หรือระดับจังหวัดส่งมาให้ระดับอำเภอปฏิบัตินั้น เป็นสิ่งที่ล้วนทำให้ประชาชน ที่มีสิทธิที่จะได้รับการแก้ไขเสียสิทธินั้น เช่น หากราษฎรรายใด เคยได้รับเงินชดเชยจากผลกระทบเรื่องการสร้างเขื่อนสิรินธร หรือหากเคยได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 แล้ว ไม่สมควรได้รับการช่วยเหลือซึ่งจะเป็นการซ้ำซ้อน ทั้งที่สิทธิที่ราษฎรควรที่จะได้ มันคนละเรื่องกัน” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวอีกว่า เมื่อในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้เสนอปัญหานี้ให้กับคณะกรรมการชุดใหม่ คือคณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของสมัชชาเกษตรกร ซึ่งมี น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้ยังมีตัวแทนราษฎรเป็นกรรมการในสัดส่วนที่เป็นธรรมอยู่ด้วย

ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศป่าสงวนแห่งชาติยอดมนผู้นี้กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับเรื่องของผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศป่าสงวนแห่งชาติยอดมนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายอาคมกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมผู้ได้รับผลกระทบได้มีมติว่าจะรอฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการชุดใหม่นี้ก่อน หากคณะกรรมการรับเรื่องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบก็จะขอเข้าพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี แต่หากคณะกรรมการไม่รับเรื่องประชาชนก็จะรวมตัวกันเดินทางไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในช่วงเดือนพฤศจิกายน เพื่อทราบเหตุผลของคณะกรรมการว่าเหตุใดจึงไม่รับปัญหา

นายช่วน จันทร์สมาน อดีตกำนัน ต.โนนก่อ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาถึงแม้ประชาชนจะพยายามขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขปัญหาแต่ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ จึงต้องอาศัยแกนนำ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน แต่ด้วยกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นคนของภาครัฐ จึงไม่กล้าที่จะนำประชาชนต่อสู้ได้อย่างเต็มที่ ประชาชนจึงถูกหลอกลวง ถูกข่มขู่ และปล่อยให้ภาครัฐแก้ปัญหาตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว สุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นธรรม และยังมีการตัดสิทธิผู้ได้รับผลกระทบอีก

นายช่วนกล่าวด้วยว่า ขอให้คณะกรรมการชุดที่มีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานได้รับปัญหาของประชาชนไว้แก้ไขปัญหา และปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยประกาศไว้ว่าจะ คุ้มครอง เคารพ เยียวยา สิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นอกจากผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศป่าสงวนแห่งชาติยอดมนแล้ว กรณียังมีประชาชนชุมชนบ้านโดมพัฒนาจำนวน 31 ครอบครัว ที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยยอดมนและสวนป่าพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ทับที่ทำกิน ได้เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่สวนป่ายูคาลิปตัส บริเวณสวนป่าพิบูลมังสาหารด้วย โดยอ้างว่า เป็นการเข้ามาอยู่อาศัยชั่วคราวเพื่อรอผลการพิจารณาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับการพิสูจน์สิทธิในที่ดินด้วย

ภานุภพ ยุตกิจ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

 

image_pdfimage_print