โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

ขอนแก่น – จำเลยคดีพูดเพื่อเสรีภาพ “ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์” เปิดเผยว่า ถูกละเมิดสิทธิซ้ำซ้อนจากการถูกดำเนินคดีชุมนุมทางการเมืองและถูกเจ้าที่หน้าที่ราชทัณฑ์ปฏิบัติอย่างเห็นคนเป็นคนไม่เท่ากัน แต่ถึงสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้เธอก็ไม่กลัว ไม่ถอย และไม่เลิก

การจัดเสวนา “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559 เพื่อรณรงค์การจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 7 ส.ค. 2559 นำมาสู่การดำเนินคดีผู้จัดงานและผู้สังเกตการณ์

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 ศาลทหารรับฟ้องคดีชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขัดคำสั่งคณะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 คดีนี้มีจำเลย 8 คน เป็นนักศึกษา 5 คน เป็นเจ้าหน้าที่ร่วมสังเกตการณ์ 3 คน ซึ่งรวมถึง ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2560 เดอะอีสานเรคคอร์ดจึงนัดสนทนากับดวงทิพย์ ก่อนที่เธอและพวกต้องขึ้นศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น ตามนัด ในวันที่ 21 ธ.ค. ที่จะถึงนี้

ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน์ จำเลยคดีพูดเพื่อเสรีภาพ

ช่วยอธิบายให้ฟังอีกรอบได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้นในวันดังกล่าว แล้วทำไมจึงถูกแจ้งข้อกล่าวหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2559 (ก่อนจัดงาน 1 วัน) ได้รับโทรศัพท์จากนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้จัดเวทีพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน? ว่า มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาในบริเวณที่เตรียมงานหลายนาย มีกังวลเรื่องความปลอดภัยจึงอยากให้ตัวเธอไปสังเกตการณ์ แต่ขณะนั้นเธอยังไปไม่ได้เนื่องจากติดธุระที่ต่างจังหวัด ส่วนบริเวณจัดงานมีเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์อยู่แล้วสองคน คือ นีรนุช เนียมทรัพย์ และณัฐพร อาจหาญ (ต่อมาตกเป็นจำเลยทั้งคู่-ผู้เขียน)

เธอไปถึงสถานที่จัดงาน เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559 เวลาประมาณ 10 นาฬิกาซึ่งงานเริ่มไปแล้ว ในงานได้เธอเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายนายที่เธอรู้จักมาก่อน ช่วงบ่ายเธอได้พูดคุยกับ เสธ.พีท (พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฏิบัติการ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่ขอนแก่น) เสธ.พีท บอกว่า จะไม่แจ้งข้อกล่าวหาผู้จัดงาน โดยก่อนหน้านั้นเธอพบว่า เสธ.พีทพูดคุยอาจารย์ ม.ขอนแก่นว่า ขอให้เลิกจัดแล้วทำกิจกรรมอื่นแทนได้ไหม เช่น การรับน้อง แต่ถูกปฏิเสธโดยให้คำอธิบายว่าเป็นการจัดเวทีวิชาการ เสธ.พีทเองก็ไม่ได้ห้ามจัดงาน จนถึงช่วงเย็นเลิกงานก็แยกย้ายกันกลับ

ต่อมาเป็นเวลาเกินกว่าสัปดาห์จึงทราบว่า นักศึกษาที่จัดงานได้รับหมายเรียกให้ไปพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น โดยแจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมือง ส่วนตัวเธอได้รับหมายเรียกเช่นกันโดยหมายถูกส่งไปที่บ้านพักตามภูมิลำเนา

“ไม่ใช่การชุมนุมแต่เป็นเวทีวิชาการพูดเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ การดำเนินคดีมันไม่สมควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก เพราะเป็นการถกเถียงระดมความคิดเห็นไม่ใช่การชุมนุม”  

“เสธ.พีท” พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี (เสื้อแดง) หัวหน้าชุดปฏิบัติการ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่ขอนแก่น หัวเรือใหญ่ในการควบคุมการใช้เสรีภาพของประชาชน – ภาพจากดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์

การที่ต้องขึ้นศาลทหารถือเป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่ เพราะช่วงนี้ประเทศอยู่ระหว่างช่วงรัฐประหาร

ผิดปกติ พลเรือนไม่ควรขึ้นศาลทหาร

ศาลทหารมีไว้ตัดสินคดีของเจ้าหน้าที่ทหาร ศาลทหารผิดปกติเพราะมีชั้นเดียว (ศาลทหารมี 3 ชั้น แต่ในยามประกาศกฎอัยการศึกจะเหลือชั้นเดียว ขณะที่ศาลยุติธรรมมี 3 ชั้นตลอดเวลา-ผู้เขียน) ตุลาการศาลทหารบางคนไม่ได้จบสาขานิติศาสตร์ อัยการโจทก์เป็นทหาร ตุลาการก็เป็นทหาร แล้วจะมีความยุติธรรมได้อย่างไรในเมื่อไม่มีการถ่วงดุล การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารจึงมีความผิดปกติไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาปกติหรือช่วงเวลารัฐประหาร

สามารถเลือกได้ใช่หรือไม่ว่า จะยอมถูกปรับทัศนคติในค่ายทหารแทนการถูกดำเนินคดีก็ได้

“รู้สึกไม่เป็นธรรมตั้งแต่แรกเพราะรู้ว่าตัวเราไม่ผิด แล้วทำไมถึงจะต้องยอมถูกปรับทัศนคติ เพราะการยอมถูกปรับทัศนคติเท่ากับยอมรับว่าทำผิด”

ตัวเธอไม่ได้คุยกับผู้ต้องหา 2 อีกคนที่ยอมเข้าปรับทัศนคติในค่ายทหาร 7 วันเพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกดำเนินคดี (เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนางพรรณวดี ตันติศิรินทร์ ภรรยา) แต่คิดว่าพวกเขาคงมีเหตุผลของเขาเอง เช่น ไม่อยากเสียเวลาทำงาน

ศาลนัดสอบคำให้การในวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ตกลงว่าจะสู้คดีหรือรับสารภาพ

สู้คดีเพราะมาถึงขนาดนี้แล้ว จะยืนยันตามข้อเท็จจริงว่า ไม่ได้ทำผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (ห้ามชุมนุมทางการเมือง) เชื่อว่าศาลคงเข้าใจ

ในวันนั้น (17 ต.ค. 2560) หลังจากลงจากศาล คุณพร้อมจำเลยอีก 7 คน ถูกส่งตัวไปยังทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นเพื่อรอการปล่อยตัวชั่วคราว เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง

ศาลให้ประกันตัวตีราคาเงินประกันคนละ 1 หมื่นบาท อันที่จริงคดีมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท เป็นคดีที่มีโทษเบา ศาลสามารถพิจารณาปล่อยตัวจำเลยแบบไม่มีเงื่อนไขก็ได้แต่ศาลไม่ทำ กรณีตีราคาประกันเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อการขอประกันตัวของผู้ที่ไม่มีเงิน

ถ้าเป็นคดีปกติสามารถปล่อยตัวที่ศาลได้ แต่ศาลทหารมีระเบียบว่า ต้องปล่อยตัวที่เรือนจำทำให้ตัวเธอและจำเลยทุกคนถูกส่งตัวไปที่เรือนจำ

เมื่อไปถึงเรือนจำกลับถูกละเมิดสิทธิซ้ำซ้อน เจ้าหน้าที่เรือนจำชั้นแรกก่อนเข้าเรือนจำพูดจาไม่ดีใช้อารมณ์ขณะบอกให้ถอดเครื่องประดับออกจากร่างกาย อีกอย่างทั้งที่ตัวเธอเป็นนักโทษการเมืองแต่ต้องผ่านการตรวจร่างกาย ต้องเปลือยกายให้เจ้าหน้าที่ดู การเปลือยกายทำให้สูญเสียความเป็นมนุษย์ รู้สึกไม่น่ายินดี

เวลาอยู่ในเรือนจำต้องนั่งบนพื้น ส่วนเจ้าหน้าที่นั่งบนเก้าอี้ มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งนั่งให้นักโทษอีกคนนวดแล้วหันปลายเท้ามายังตัวเรา รู้สึกไม่ดี เจ้าหน้าที่ยังให้นักโทษเรียกตัวเจ้าหน้าที่ว่า “แม่” โดยไม่บอกเหตุผล

การกระทำที่เกิดขึ้นไม่อยากโทษเจ้าหน้าที่ทั้งหมด แต่คิดว่าเป็นเรื่องของระบบ จริงอยู่เจ้าหน้าที่ต้องควบคุมนักโทษ แต่เจ้าหน้าที่ก็ควรตระหนักว่าเจ้าหน้าที่และตัวนักโทษมีความเป็นคนเท่ากัน แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่คำนึงถึงข้อนี้

คนภายนอกบางคนเห็นว่าการปฏิบัติต่อนักโทษเป็นสิ่งสมควรแล้ว

คงเป็นเพราะว่าคนทั่วไปต้องการให้ลงโทษนักโทษเพื่อความสะใจ แต่ไม่เข้าใจว่าการลงโทษต้องพัฒนาคนด้วย ให้สมกับความต้องการที่ว่า “คืนคนดีให้สังคม” การเห็นคนไม่เป็นคนแบบนี้นักโทษจะเป็นคนดีได้อย่างไร อีกอย่างคนที่เข้าคุกก็ถูกตราหน้าว่าเป็นคนผิดไปแล้ว ทั้งที่หลายคนไม่ผิด อีกทั้งหลายคดีศาลก็ยังไม่ตัดสินก็ยังต้องถือว่าเขา (ผู้ต้องหา หรือจำเลย-ผู้เขียน) เป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ต้องถูกดำเนินคดีเสียเอง และไม่ใช่คนแรกที่เป็นแบบนี้ อานนท์ นำภา และศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความศูนย์ทนายความฯ ก็ถูกดำเนินคดีจากการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน การกระทำแบบนี้ทำให้การทำงานของเราอ่อนลงไหม

“การถูกดำเนินดคีไม่มีผลต่อสภาพจิตใจในการทำงาน”

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกลับถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง ทำให้มองได้ว่ามีความจงใจใช้กฎหมายเล่นงานคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เข้าทำนองสแลป (Slapp-Strategic Litigation Against Public Participation หรือ การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน) เพื่อทำให้คนทำงานด้านสิทธิฯ ทำงานยากขึ้น

แต่ก็ไม่ถอย ไม่กลัว ไม่เลิกทำงานด้านนี้ ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิฯ ถูกกระทำเสียเองเท่ากับว่าใครในประเทศนี้ก็ถูกละเมิดสิทธิได้

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบอกว่าเขาเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล

ไม่เชื่อคำพูดดังกล่าวซะทีเดียว จริงอยู่เจ้าหน้าที่ทำตามคำสั่งที่ได้รับมา แต่บางกรณีเจ้าหน้าที่ไม่ต้องทำขนาดนั้นก็ได้ แต่เจ้าหน้าที่บางคนกลับทำเกินกว่าคำสั่งเสียอีก

ดวงทิพย์ พยายามมองปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเธอว่าเป็นเรื่องเชิงระบบที่มีต้นตอจากการรัฐประหาร

การแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิฯ ขึ้นอีก

ต้องแก้ไขกันที่ระบบไม่ใช่ตัวบุคคล ต้องไปดูว่าต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่มีความจริงจังในการแก้ไขเรื่องการละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่ีหรือไม่ โดยคนที่ทำผิดกับประชาชนสมควรถูกสอบสวนและได้รับการลงโทษ

“จริงๆ ต้องลงโทษทั้งหมด ตั้งแต่ผู้ทำการรัฐประหาร เพราะการรัฐประหารคือการกบฏโดยการฉีกรัฐธรรมนูญ มีการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการละเมิดสิทธิฯ และยังนิรโทษกรรมตัวเองอีก”

มีการหารือกันในศูนน์ทนายความฯ ในเรื่องการทำงานในช่วงนี้อย่างไร รวมถึงกรณีที่ถูกดำเนินคดีเสียเอง

กรณีนี้ยังไม่ขอตอบเพราะยังไม่ได้หารือกัน

ประเมินสถานการณ์สิทธิฯ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.บอกว่าจะมีเลือกตั้งปีหน้าว่า จะดีขึ้นหรือเลวลง

สถานการณ์การละเมิดสิทธิยังเป็นเช่นนี้ต่อไป

ยังมีความหวังกับประเทศนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ไม่มีความหวัง ตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง และไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ พล.อ.ประยุทธ์เคยพูดหลายครั้งว่าจะมีการเลือกตั้ง โดยครั้งแรกหลังรัฐประหารบอกว่าจะขอยึดอำนาจแค่ 6 เดือน แต่ผ่านมา 3 ปีครึ่ง คสช.ก็ยังยึดอำนาจอยู่ จึงบอกไม่ได้ว่า ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งจริงหรือไม่

“ยังไม่เชื่ออะไรจนกว่าจะมีการยกเลิกคำสั่ง คสช.เสียก่อน”

ข้อเสนอแนะอื่นๆ

เราสามารถช่วยกันบันทึกประวัติศาสตร์การถูกละเมิดสิทธิได้ตัวเราเอง ด้วยการบันทึกข้อมูลของตัวเองว่าถูกละเมิดอย่างไร ในวันข้างหน้าข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้โดยตัวผู้ถูกละเมิดสิทธิฯ เองจะเป็นหลักฐานชั้นดีในการเอาผิดผู้กระทำผิด เพื่อให้คนเหล่านั้นถูกลงโทษ

image_pdfimage_print