ขอนแก่น – อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า คำถาม 6 ข้อสะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยากเป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังเลือกตั้ง ด้านอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หวั่นว่า เกิดข้อครหาเรื่องความเที่ยงธรรม หากหัวหน้า คสช. ประกาศสนับสนุนพรรคการเมือง

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝากคำถาม 6 ข้อเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองไทยให้ประชาชนร่วมกันตอบคำถาม ผ่านศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ โดยให้ตอบคำถามได้ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย. 2560 เป็นต้นไป

เดอะอีสานเรคคอร์ดสอบถามความคิดเห็นของนักการเมืองและนักวิชาการในภาคอีสานเกี่ยวกับความคาดหวังทางการเมืองต่อคำถาม 6 ข้อของหัวหน้า คสช.

นายศุภชัย ศรีหล้า อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ภาพจาก : เพจเฟซบุ๊ค ดร.ศุภชัย ศรีหล้า

นายศุภชัย ศรีหล้า อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อุบลราชธานี และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า คำถาม 6 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นคำถามของพล.อ.ประยุทธ์ จึงบ่งบอกอยู่แล้วว่ามีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่  

นายศุภชัยกล่าวอีกว่า คำถามข้อที่ 1 ที่ถามว่า จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่และนักการเมืองหน้าใหม่ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งหน้า หรือไม่ และคำถามข้อที่ 2 คือ การที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิ์ของ คสช. ใช่หรือไม่ คำถามทั้ง 2 ข้อบอกเป็นนัยอยู่แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตั้งพรรคการเมืองใหม่และจะสนับสนุนนักการเมืองใหม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์จะสนับสนุนใครนั้นก็เป็นสิทธิของ พล.อ.ประยุทธ์

ส่วนคำถามข้อ 3 ที่ถามว่าสิ่งที่ คสช. และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่นั้น นายศุภชัยกล่าวว่านายกรัฐมนตรีแค่อ้างถึงผลงานของตัวเองและรัฐบาลตลอด 3 ปีที่ผ่านมาว่าทำให้ประชาชนไทยมีอนาคตที่ดีขึ้น แต่ถ้าผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นจริง ทำไมปัจุบันประชาชนยังประสบปัญหาเรื่องราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำอยู่

นายศุภชัยกล่าวอีกว่า คำถามข้อที่ 4 ที่ถามว่า การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ มีนัยยะที่พูดถึงการจัดตั้งรัฐบาล หากย้อนกลับไปดูนัยยะที่ซ่อนอยู่ในคำถามข้อที่ 1 ข้อที่ 2 และข้อที่ 3 ประกอบกันจะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์พยายามบอกกับสังคมว่า ในอนาคตอาจจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลอีก แต่จะกลับมาภายใต้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ

“หากร้อยเรียงนัยยะทางการเมืองที่แฝงอยู่ในคำถาม 6 ข้อ ผมคิดว่าล้วนแล้วแต่เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของท่านนายกฯ” นายศุภชัยกล่าว

นายเชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ภาพจาก : เฟซบุ๊ค รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์

นายเชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า คำถาม 6 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ มีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่ คำถามข้อที่ 1 เรื่องพรรคการเมืองใหม่ สื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์อยากให้มีพรรคการเมืองใหม่ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มองว่าพรรคการเมืองเก่ามีปัญหา บริหารประเทศไม่ได้ ซึ่งแสดงว่าทหารอาจตั้งพรรคการเมืองเอง แต่ขอถามประชาชนก่อนเพื่อความมั่นใจ

คำถามข้อที่ 2 เรื่องการสนับสนุนพรรคการเมืองเป็นสิทธิ์ของ คสช. หรือไม่ นายเชิดชัยมองว่า คสช.มีสิทธิ์สนับสนุนพรรคการเมืองใดอยู่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็มีสิทธิ์สนับสนุนพรรคการเมือง แต่ต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะคนธรรมดา แต่ถ้าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ด้วย ก็ไม่ควรตั้งคำถามนี้ เพราะโดยสถานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นผู้คุมกฎกติกาและมีอำนาจ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์สนับสนุนพรรคการเมืองใดแล้วการเลือกตั้งจะมีความสุจริตและเที่ยงธรรมได้หรือไม่

นายเชิดชัยกล่าวถึงคำถามเรื่องผลงานรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์แค่จะอยากบอกว่ารัฐบาลทำงานมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยากรู้ว่าประชาชนได้ประโยชน์จากผลงานของรัฐบาลจริงหรือไม่ ก็อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์รอวันเลือกตั้ง จะได้รู้ว่าประชาชนชอบ พล.อ.ประยุทธ์หรือสนับสนุนใคร

ส่วนคำถามข้อที่ 5 ที่ถามว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่่ผ่านมามีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศเพียงพอหรือไม่ นายเชิดชัยกล่าวว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีธรรมาภิบาลอยู่แล้ว เพราะธรรมาภิบาลเป็นนโยบายของรัฐ และมีกฎหมายรองรับ ถ้ารัฐบาลบริหารประเทศไม่โปร่งใส มีการทุจริตเกิดขึ้นก็จะมีองค์กรที่คอยตรวจสอบ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เป็นต้น

นายเชิดชัยกล่าวด้วยว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังมีฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ ด้วยการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลและสามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ รวมถึงประชาชนยังมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อการกระทำของรัฐบาล และชุมนุมเรียกร้องเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลได้

“แต่รัฐบาลคุณประยุทธ์เอง ใช้กฎหมาย ใช้คำสั่ง คสช. ปิดกั้นการเคลื่อนไหวของประชาชน นี่หรือคือรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล” นายเชิดชัยกล่าว

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล คสช.พยายามจะสื่อสารกับสังคมว่า การที่รัฐบาลคสช.เข้ามาบริหารประเทศนั้นดีอยู่แล้ว รัฐบาล คสช.พยายามตั้งคำถาม 6 ข้อขึ้นมาให้สอดคล้องกับข้ออ้างที่รัฐบาล คสช. เข้ามายึดอำนาจว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศไม่ได้ มีการทุจริตคอรับชั่น และมีความขัดแย้ง ตนจึงมองว่า การตั้งคำถาม 6 ข้อเพื่อตอกย้ำวาทกรรมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเลวให้คงอยู่ต่อไป

“คำถามเหล่านี้พยายามสร้างกระแสให้สังคมยอมรับว่า การมี รัฐบาล คสช. การมีทหารบริหารประเทศมันดีกว่าการมีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” นายฐิติพลกล่าว

คำถามข้อที่ 4 เรื่องการเปรียบเทียบรัฐบาลเลือกตั้งกับรัฐบาลปัจจุบัน นายฐิติพลมองว่า นี่ไม่ใช่คำถาม แต่เป็นการยืนยันวาทกรรมทหารเข้ามาบริหารประเทศทำให้ประเทศสงบ ไม่มีความขัดแย้งทางการเมือง

“เหมือน พล.อ.ประยุทธ์จะพยายามบอกว่าการที่ คสช. รัฐบาลทหารยึดอำนาจมานั้นก็เพื่อจะเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง” นายฐิติพลกล่าว  

คณบดีคณะรัฐมนตรี ม.อุบลราชธานีกล่าวอีกว่า รัฐบาล คสช. มักจะหยิบสิ่งที่เป็นปัญหาทางการเมืองไทยในอดีตมาอ้าง เพื่อเป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาล คสช. ปัจจุบันก็ไม่ใช่จะปลอดจากการทุจริตคอรัปชั่น

นายฐิติพลกล่าวด้วยว่า ทหารต้องการครองอำนาจทางการเมืองต่อไปแม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะกลไกในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เอื้อให้ทหารอยู่ในระบบการเมือง เช่น ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่เปิดโอกาสให้บุคคลนอกเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ การให้ ส.ว. 250 คน มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี

 

 

image_pdfimage_print