1

คำถามกำมะลอ 6 ข้อของประยุทธ์

โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลิตคำถามทางการเมือง 6 ข้อออกมา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สิ่งแรกที่นึกถึงคือ แล้วคำถาม 4 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามันไปตกหล่นอยู่ที่ไหน ซึ่งครั้งนั้นมีคำถามแรกว่า “ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่”

ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ไม่ออกมาเฉลยคำตอบว่า ประชาชนตอบคำถาม 4 ข้ออย่างไร ทั้งที่กระทรวงมหาดไทยรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนต่อคำถาม 4 ข้อส่งให้นายกรัฐมนตรีไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาตั้งคำถาม 4 ข้อแรกและคำถาม 6 ข้อหลัง เป็นแค่การโยนหินถามทางก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งใช่หรือไม่ เมื่อได้รับคำตอบที่ไม่พอใจก็ออกมาตั้งคำถามใหม่จนกว่าจะได้คำตอบที่พอใจ สรุปแล้วหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนจริง หรือ เป็นแค่คำถามกำมะลอที่มีขึ้นเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของการรัฐประหาร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (บนโพเดียม) ยึดอำนาจการปกครองตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เพื่อคืนความสุขให้คนไทยแต่ผ่านมา 3 ปีครึ่งแล้วก็ยังไม่ยอมลงจากอำนาจ ภาพจากเฟซบุ๊คพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

“คำถามเหล่านี้พยายามสร้างกระแสให้สังคมยอมรับว่า การมี รัฐบาล คสช. การมีทหารบริหารประเทศมันดีกว่าการมีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี แสดงความเห็นต่อคำถาม 6 ข้อ

ในทางตรงข้าม เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ภายในศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าฯ ขอนแก่น มาตอบคำถาม 6 ข้อของนายกรัฐมนตรีในฐานะประชาชนขอนแก่น และบอกว่าชาวขอนแก่นมาตอบคำถามในระดับที่ดีมาก โดยวันที่ 15 พ.ย. มีคนมาตอบคำถามทั้งสิ้นกว่า 5,000 คน

การไปตอบคำถามของผู้ว่าฯ ขอนแก่น ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องทำให้ผู้บังคับบัญชาพึงพอใจ แต่ถ้านายสมศักดิ์จะลองสอบถามชาวขอนแก่นดูก่อนว่า ต้องการให้ผู้ว่าฯ ขอนแก่น ไปตอบคำถามของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ก็อาจจะไม่ได้เห็นภาพการตอบคำถาม 6 ข้อในครั้งนี้ แต่ทำไมผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ทำตัวเป็นตัวแทนประชาชน หรือเป็นเพราะว่าผู้ว่าราชการจังหวัดคือตัวแทนของส่วนกลางไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน

มีคำถามตามมาว่า แล้วจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งของ รมว.มหาดไทยต่อไปเพื่ออะไร ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง

ถ้าจะตีความภาพรวมคำถาม 6 ข้อ สามารถสรุปได้ว่า นี่คือการประกาศตัวว่าคสช.ต้องการสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง โดยต้องการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเอง ซึ่งไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่เพราะถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยากอยู่ต่อก็คงลงจากอำนาจไปนานแล้ว ที่ผ่านมาหัวหน้า คสช.ก็ประกาศวันเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง จนจำไม่ได้แล้วว่ากี่ครั้ง แต่ก็เลื่อนออกไปทุกครั้ง โดยไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ปี 2561 จริงหรือไม่

คำถามข้อ 6 น่าสนใจเพราะเป็นเรื่องที่จับต้องได้ พล.อ.ประยุทธ์ ถามว่า เหตุใดพรรคการเมืองนักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหว คอยด่า คสช. รัฐบาล นายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปกติ ฝากถามว่าเป็นเพราะอะไร

ถ้าจะตอบตามสถานการณ์คงตอบได้ว่า คงเป็นเพราะใกล้เวลาปลดล็อคทางการเมืองแล้วความเคลื่อนไหวจึงดูคึกคัก อีกทั้ง คสช.ก็ไม่ได้คุมเข้มเท่ากับเมื่อก่อนซึ่งอาจจะเกิดจากความเสื่อมถอยเพราะ คสช.ผ่านจุดสุดยอดมาแล้วก็ได้

นางจันทร โพธิ์จันทร์ สมาชิกเครือข่ายชาวบ้านผู้ไร้สิทธิ์จังหวัดสกลนคร และเจ้าหน้าที่ทหาร (ภาพจากเฟซบุ๊คของนางจันทร)

แต่จากมุมมองในภาคอีสาน เรายังสามารถพบเห็นการใช้อำนาจเผด็จการของ คสช. อยู่ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2560 เจ้าหน้าที่ทหารไปพบกับนางจันทร โพธิ์จันทร์ สมาชิกเครือข่ายชาวบ้านผู้ไร้สิทธิ์จังหวัดสกลนคร เพื่อสอบถามถึงการเข้าร่วมงาน สัมมนาวิชาการ “70 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน: สิทธิชุมชนอีสานอยู่ตรงไหน” ที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม ในวันที่ 24 พ.ย. 2560 พร้อมปรามไม่ให้นางจันทรเข้าร่วมงาน

สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติ และเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะถ้าปล่อยให้ประชาชนเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการอย่างอิสระ รัฐบาล และ คสช. ก็สามารถรับทราบความต้องการของประชาชนได้ ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการตอบคำถาม 6 ข้อของนายกรัฐมนตรี

เพื่อตอบคำถามข้อ 6 ให้ใกล้เคียงข้อเท็จจริง ควรพิจารณาถึงผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสวนดุสิตโพล เรื่องประชาชนคิดอย่างไรกับการปลดล็อคพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา

สวนดุสิตโพลตั้งตำถามว่า ประชาชนคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่จะปลดล็อคพรรคการเมือง

ประชาชนเกือบ 2 ใน 3 หรือ ร้อยละ 65.17 ตอบว่า ถึงเวลาแล้ว เพราะใกล้จะมีการเลือกตั้ง ควรให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรม เตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง และประชาชนจะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ฯลฯ

ส่วนประชาชนกว่า 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 34.83 ตอบว่ายังไม่ถึงเวลา เพราะอยากให้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพิ่งผ่านพ้นพระราชพิธีฯ มาไม่นาน และยังเห็นความขัดแย้งของพรรคการเมือง ฯลฯ

นั่นเท่ากับว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดว่า สมควรปลดล็อคพรรคการเมืองได้แล้ว ฉะนั้นจึงเป็นการตอบคำถามว่า เพราะเหตุใดนักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหวในช่วงนี้อย่างมากผิดปกติ ก็เพราะมันถึงเวลาอันสมควรแล้วไง

หรือพูดอีกอย่างก็คือ ประชาชนบอกว่าถึงเวลาเลือกตั้งแล้ว

ถ้าสถานการณ์การเมืองเดินหน้าไปตามครรลองก็เท่ากับว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้นำเผด็จการทหารของไทยจะต้องลงจากอำนาจ ซึ่งไม่สมควรที่จะได้ใช้ตั้งแต่แรกเพราะ พล.อ.ประยุทธ์และพวกพ้องไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน

ส่วนจะลงจากอำนาจแบบไหน อย่างไร เป็นเรื่องที่ คสช.ต้องไปคิดกันเอาเอง แต่ขนาดรัฐประหารผิดกฎหมายฐานกบฏโทษประหารชีวิตยังทำกันได้ แล้วแค่ประกาศการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ โดย คสช.ไม่ต้องจัดเอง แต่มีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้จัดให้ ทำไมจะทำไม่ได้ (วะ ปัดโธ่)