โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.สงขลาหนึ่งวัน คือ วันที่ 27 พ.ย. 2560 นายกรัฐมนตรีและคณะจะลงพื้นที่เพื่อพบปะประชาชนตามปกติ แต่กลับมีเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่บ่งบอกถึงการละเมิดสิทธิประชาชน ทั้งที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้เพิ่งประกาศวาระแห่งชาติเรื่องสิทธิมนุษยชน ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นที่ จ.ปัตตานี นายภรัณยู เจริญ ชาว จ.ปัตตานี อาชีพประมง เข้าร้องเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยขอให้แก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการทำประมง แต่กลับถูก พล.อ.ประยุทธ์ตวาดใสว่า “หยุด อย่ามาขึ้นเสียงกับผม เข้าใจหรือเปล่า พูดดีๆ ก็ได้” แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็เดินจากไปโดยปล่อยให้เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนแทน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีคำถามว่า ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ต้องการรับฟังเสียงของประชนแล้วจะไปจัดประชุม ครม.สัญจรทำไม และพฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ขัดจริยธรรมนักการเมืองหรือไม่

ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 ข้อ 11 ข้าราชการการเมืองต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่น ไม่แสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ อาฆาตมาดร้าย หรือใสร้ายหรือเสียดสีบุคคลใด

ถ้าพบว่าพฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองเข้าข่ายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็ต้องดำเนินไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การถอดถอนต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 235

มีข้อกังขาอีกว่า ในวัยเยาว์ พล.อ.ประยุทธ์ผ่านการขัดเกลาพฤติกรรมมาอย่างไรจึงได้กลายเป็นผู้ใหญ่เช่นนี้ จากการติดตามข่าวในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาก็พบว่านักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) บางส่วนมีพฤติกรรมสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการซ้อมรุ่นน้อง นตท.ไม่ใช่คนอ่อนแอ แม้จะมี นตท.คนหนึ่งเสียชีวิตจากการถูกซ้อมในโรงเรียน จนทำให้กระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์โรงเรียนเตรียมทหาร

จึงมีคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า การแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์เกิดจากการสั่งสมพฤติกรรมตั้งแต่เป็น นตท. จนเข้าสู่กองทัพ เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีจึงติดนิสัยดังกล่าวมาด้วย โดยยังไม่ปรับความคิดว่า “ประชาชนไม่ใช่พลทหาร” ที่นายทหารจะดุด่าอย่างไรก็ได้

กรณีใช้ความรุนแรงในค่ายทหารพบเห็นได้ที่ภาคอีสานเช่นกัน เรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยในวันเดียวกันกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ตวาดชาวประมงที่ จ.ปัตตานี (27 พ.ย.)

เว็บไซต์อมรินทร์ทีวี รายงานว่า นายประยูร คงโนนกอก ชาว จ.ชัยภูมิ ร้องเรียนผู้สื่อข่าวอมรินทร์ทีวีว่า พลทหารสรรเพชร คงโนนกอก บุตรชาย ที่เข้ารับการฝึกที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ถูกครูฝึกซ่อมจนสะโพกด้านซ้ายหัก แล้วไม่แจ้งให้ญาติทราบ

ทั้งนี้การซ้อมทรมานทหารจนเสียชีวิตเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย นับสิบครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ตัดกลับไปที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจประการที่สอง คือเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของชาว อ.เทพา จ.สงขลา ที่ต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ เนื่องจากหวั่นเกรงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ชาวเทพารอไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี

เจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครรักษาดินแดน จับกลุ่มชาวเทพาที่ชุมนุมต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จ.สงขลา เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2560 ภาพจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

เท่านั้นยังไม่พอ วันต่อมา (28 พ.ย.) ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหา 16 คนไปขออำนาจศาลจังหวัดสงขลาฝากขัง โดยมีเยาวชนชายอายุ 16 ปีได้รับการประกันตัวเพียงคนเดียว (ศาลเด็กและเยาวชนตีราคา 5,000 บาท) ส่วนผู้ต้องหาอีก 15 คนไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากไม่มีเงินค่าประกันตัวตามที่ศาลตีราคาคนละ 90,000 บาท รวมทั้งสิ้น 1,350,000 บาท

ต่อมาจึงเกิดการระดมทุนจากอาจารย์ ม.สงขลานครินทร์ เพื่อตั้งกองทุนสู้คดีเทใจให้เทพา หาเงินมาประกันชาวเทพา โดยเปิดรับความช่วยเหลือจากคนไทยทั้งประเทศ แต่เมื่อเย็นวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 15 คนโดยให้ใช้ตำแหน่งข้าราชการค้ำประกันได้   

กรณีที่เกิดขึ้นทำให้มีข้อสงสัยหลายประการ ได้แก่ ทำไมหน่วยงานราชการส่วนกลางจึงมีอำนาจบริหารการจัดพื้นที่ต่างๆ ในประเทศนี้ได้รวมถึงกรณีตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา อำนาจของผู้ชุมนุมในการจัดการพื้นที่อยู่ตรงไหน และควรปฏิรูปรัฐราชการรวมศูนย์หรือไม่

อีกประการคือประชาชนจะสามารถตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร ตั้งแต่การจับกุม การฝากขัง และการประกันตัว

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นแค่เรื่องการต่อสู้ของชาวเทพา แต่มันเป็นปัญหาที่กระทบต่อคนทั้งสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการประกันตัว จนทำให้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เครือข่ายปฏิรูปการประตัวเพื่อคนจน ออกแคมเปญ เปลี่ยนระบบเงินประกัน “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” อีกต่อไป

ที่ภาคอีสานก็เกิดเรื่องทำนองนี้ เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น อัยการศาล มทบ.23 รับฟ้อง คดีพูดเพื่อเสรีภาพ โดยมีนักศึกษาและนักกิจกรรม 8 คนตกเป็นจำเลย หนึ่งในนั้นคือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” โดยตีราคาประกันตัวคนละ 10,000 บาท เนื่องจากจำเลยทราบล่วงหน้าว่าศาลอาจรับฟ้องและจำเลยไม่มีเงินจึงมีกิจกรรมระดมทุนเพื่อประกันตัวก่อนหน้านั้น ทำให้จำเลย 7 คนได้รับอิสรภาพไม่ต้องติดคุกเหมือนชาวเทพา ยกเว้นไผ่ที่ต้องติดคุกจากข้อหาแบ่งปัน (แชร์) บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ร่วมกับบุคคลอื่นอีกหลายพันคน แต่ไผ่ถูกดำเนินคดีคนเดียว

คดีที่ จ.ขอนแก่นและ จ.สงขลา เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งในหลายคดี ซึ่งนำมาสู่การตั้งคำถามต่อตำรวจทหาร และศาลเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

การดำเนินคดีชาวเทพาโดยอำนาจรัฐเข้าข่ายกรณีสแลป หรือ Slapp (Strategic lawsuit against public participation) หรือ การฟ้องคดีโดยไม่ได้หวังผลในคดีแต่เป็นไปเพื่อหยุดยั้งนักเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในภาคอีสาน

“ก่อนรัฐประหารทุนคือคนฟ้องประชาชน แต่หลังรัฐประหารคนที่ฟ้องประชาชนกลับเป็นรัฐ” นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศน์วัฒนธรรม กล่าว เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2560 ในโครงการเวทีเสวนาสาธารณะ “สิทธิชุมชน ความท้าทายและอำนาจในการจัดการทรัพยากร” ที่มรภ.สกลนคร

เมื่อพิจารณาในภาพรวมจะพบว่า เหตุการณ์ในภาคใต้และภาคอีสานมีจุดร่วมกันคือเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมใจกันกดทับเสรีภาพของประชาชน

เหตุการณ์ก่อนประชุม ครม.สัญจร ที่จ.สงขลา เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2560 น่าจะเป็นบทเรียนให้คนไทยได้ขบคิดว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ภาคใดภาคหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทั้งสังคมที่ถูกรัฐละเมิดสิทธิร่วมกัน เป็นเรื่องเชิงโครงสร้างทางสังคม

หากปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิของบุคคลใดได้ วันข้างหน้าเราอาจจะถูกละเมิดสิทธิฯ ได้เช่นกัน  

ถ้ามองเห็นว่าการละเมิดสิทธิคือปัญหาก็ต้องหาทางแก้ไข ทางออกของปัญหามีหลายวิธี ตั้งแต่การต่อสู้เรียกร้องซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเฉพาะกรณี หรือการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ออกจากระบบรัฐราชการรวมศูนย์เข้าสู่สังคมที่ยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน เห็นคนเท่ากัน และมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

แต่สามารถบอกได้ว่าตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ตราบนั้นการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนก็ยังไม่เกิดขึ้น   

image_pdfimage_print