หนองบัวลำภู – เมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคม ที่ผ่านมา สหายและญาติผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้ในห่วงสงครามคอมมิวนิสต์ จัดงานพิธีคารวะรำลึกวีรชนเขตงานภูซาง ในวาระ 20 ปีสถูปภูซาง ที่วัดอุทุมพรพิชัย(วัดห้วยเดื่อ) ต.โนนทัน อ.เมือง. จ.หนองบัวลำภู มีผู้ร่วมงานประมาณ 500 คน ประกอบด้วยสหายจากเขตงานทั่วประเทศ ญาติผู้สูญเสีย ทหาร ตำรวจ และเยาวชนประมาณ 100 คน

สหายแต่งกายเครื่องแบบคอมมิวนิสต์ย้อนร้อยอดีต ถ่ายรูปเก็บไว้ร่วมกับมิตรสหายที่เคยร่วมรบกันในป่า สหายเป็นคำเรียกแทนชื่อของแต่ละบุคคลของพรรคคอมมิวนิสต์

ภายในงานมีนิทรรศการประวัติศาสตร์สายธารการต่อสู้ และการจำลองลักษณะการใช้ชีวิตในป่าช่วงสงครามสู้รบระหว่างคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลไทยระหว่างปี 2504-2523 โดยหนังสือที่ร่วมจัดในนิทรรศการมี อาทิ ตำราแพทย์คอมมิวนิสต์ หนังสือทฤษฏีปฏิวัติต่างๆ

ในส่วนของกิจกรรมประกอบไปด้วยพิธีรำลึกวีรชนวางดอกกูหลาบ พบประมิตรสหาย มอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กในเขตพื้นที่ภูซาง มีการแสดงจากสหายและร้องเพลงประสานเสียงจากเด็กโรงเรียนบ้านโนนทันประกอบไปเพลง ชะตาชีวิต ในหลวงของแผ่นดินและพลังเพลง และพาเยี่ยมชมภูช่อฟ้า ซึ่งเป็นทับหน้าก่อนเข้าสู่เขตภูซางอดีตฐานทับของคอมมิวนิสต์

สหายทุ่งหรือลุงทุ่ง อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สหายนำเขตภูซางอันเป็นที่รักของเหล่ามวลชนปฏิวัติ พูดคุยกับสหายถึงสถานการณ์ประเทศไทยและสถานการณ์โลก ยังเชื่อมันในหลักการณ์คอมมิวนิสต์ที่จะได้รับชัยชนะ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง นำโดย พ.อ.ปริชญ์ สุคันธศรี รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในฝ่ายทหาร จังหวัดหนองบัวลำภู ได้นำเงินสนับสนุนที่ได้รับจากนายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เข้ามอบให้คณะกรรมการจัดงาน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าร่วมสังเกตการณ์ตลอดการจัดงานด้วยเช่นกัน

นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการจัดงานรำลึกสถูปภูซาง ให้สัมภาษณ์กับเดอะอีสานเรคคอร์ดว่า การจัดงานรำลึกสถูปภูซางในแต่ละปีเป็นการรำลึกถึงสหาย ทั้งชาวนาในพื้นที่ กรรมกร และนักศึกษา ที่สละชีพในสงครามช่วงนั้น เพื่อเป็นเกียรติต่อวีรชนทั้งหลายว่าพวกเขาได้สละชีพเพื่อการต่อสู้ของประชาชน อีกทั้งเป็นการรำลึกถึงอุดมการณ์และการพบปะพูดคุยกันกับมิตรสหายจากเขตงานต่างๆ  และแวะเวียนกันไปร่วมงานกับเขตงานอื่นๆ อีกด้วย

สุนี ไชยรส สหายเขตงานภูซาง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าให้ฟังถึงวาระการจัดงานรำลึกสถูปภูซางและความเป็นมาของสถูป

“ในสองสามปีที่ผ่านมานี้ หลังจากกีฬาสีการเมืองเริ่มซาลง มิตรสหายทุกภาคส่วนมาร่วมงานกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหลืองเป็นแดง” นางสุนีกล่าว “พื้นที่ตรงนี้เหมือนเป็นพื้นที่ให้สหายได้ทำกิจกรรมร้อยเรียงเรื่องต่างๆ ให้รำลึกถึงมิตรสหายที่เคยสู้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา ด้วยความคิดถึงกัน คิดถึงอดีตที่เคยสร้างร่วมกันไม่ใช่แค่เรื่องกีฬาสีการเมืองอย่างเดียว”

‘สถูปภูซาง’ เป็นสถูปที่สร้างขึ้นจากการบริจาคของผู้ร่วมอุดมการณ์และญาติผู้เสียชีวิตที่เคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตงานภูซาง (เขตอุดรธานี) ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของการต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลไทยในสมัยป 2504-2523 โดยในเขตงานนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 200 คน มีทั้งประชาชน ชาวนาชาวไร่ กรรมกร และนักศึกษาจากหลากหลายสถาบัน ในปี 2538 มีการรวมตัวกันของสหายเข้าไปในเขตพื้นที่เพื่อขุดหากระดูกของอดีตสหายที่พลีชีพที่ถูกเผาฝังไว้ในพื้นที่ต่างๆ และทบทวนความทรงจำในเขตงานภูซางเรื่อยมา จนถึงปี 2540 ได้มีการจัดงานฌาปนกิจให้โครงกระดูกที่ถูกค้นพบและสร้างสถูปภูซางขึ้นมาไว้ที่วัดอุทุมพรชัย บ้านห้วยเดื่อ อำเมืองหนองบัวลำภู เพื่อเป็นสัญลักษณ์และเป็นเกียรติให้กับสหายผู้เสียชีวิตในเขตพื้นที่ภูซาง ‘เขตงานภูซาง’ (ล้อมกรอบ)

‘สถูปภูซาง’ เป็นสถูปที่สร้างจากสหายและญาติผู้เสียชีวิตที่เคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตงานภูซาง(เขตอุดรธานี) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตร่วม 200 คน อันเป็นสถานที่เก็บอัฐิและเป็นเกียรติต่อวีรชน

จุดเริ่มต้นของขบวนปฏิวัติคอมมิวนิสต์แห่งเทือกเขาภูซางก่อตัวขึ้นที่บริเวณภูช่อฟ้า กิ่งอำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู) โดยเริ่มต้นเมื่อปี 2504 พร้อมกับการก่อสร้างถนนสายอุดร-หนองบัวลำภู ซึ่งบริษัทก่อสร้างรับคนท้องถิ่นเข้าเป็นกรรมกรสร้างทางจำนวนมาก ทำให้ชาวนาและชาวบ้านหลายคนเข้าทำงานดังกล่สว จากที่เคยอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย เมื่อชาวนาเหล่านี้ได้มีโอกาสรวมตัวกันเป็นแรงงานสร้างถนน ประกอบกับมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับนายช่างซึ่งเป็นคนของพรรคคอมมิวนิสต์  บวกกับการถูกข่มเหงรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐและสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น ทำให้ประชาชนในแถบนี้มีความตื่นตัวและร่วมจัดตั้งมวลชนบนขึ้นมา  แม้ว่ารัฐเองจะพยายามใช้มาตรการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเหี้ยมโหด แต่ก็มิอาจหยุดยั้งการขยายตัวของขบวนประชาชนปฏิวัติในเขตนี้ได้

ภายในสถูปภูซางมีรายชื่อของผู้เสียชีวิต รวมไปถึงข้อมูลสายธารการต่อสู้ต่างๆ รวบรวมเอาไว้เป็นแหล่งเรียนรู้

เขตงานภูซางมีทั้งหมด 8 เขตงาน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์ เป็นเขตพื้นที่เชื่อมกันระหว่างภูพานไปจนถึงเขตงานในประเทศลาวและภาคเหนือ ถือว่าเป็น ‘เส้นทางแดง’ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์ที่ประเทศลาวและเวียดนาม

ภูหินลาด-ช่อฟ้า ด่านหน้าและจุดเริ่มต้นของการเข้ามาร่วมอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ มวลชนปฏิวัติแถบบ้านโนนทันและบริเวณใกล้เคียง จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ โดยอาศัยภูช่อฟ้าเป็นสถานที่จัดศึกษาและพักพิง พร้อมกับส่งคนเดินทางไปรับการฝึกฝนทางการทหารและการแพทย์ด้วยความช่วยเหลือของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อขบวนปฏิวัติของประชาชนในเขตภูช่อฟ้ามีความพร้อมและเข้มแข็งขึ้น จากการสนับสนุนของมวลชนจัดตั้งที่คอยส่งข่าวสารและเสบียงอาหารอย่างสม่ำเสมอ กองกำลังติดอาวุธกลุ่มนี้ก็ได้แตกเสียงปืนครั้งแรกโดยการเข้าตีโรงพักหนองบัวลำภูเมื่อประมาณปี 2509 เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ชื่อ ‘หนองบัวลำภู’ ในยุคนั้นเป็นพื้นที่ ‘แดง’

สมศักดิ์ โกศัยสุข เอ็นจีโอสายแรงงานและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้าร่วมงานพร้อมกับกล่าวย้ำในเวทีว่า คอรัปชั่นและทุนนิยมเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดของภารกิจ พรรคการเมืองที่สำคัญมีผลมากที่สุดของประเทศไทย คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

จนกระทั้งหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งผ่านวันเวลาที่เสียงปืนแตกครั้งแรกของขบวนปฏิวัติภูซางนับสิบปี เขตงานภูซางจึงมีโอกาสต้อนรับสหายใหม่จากในเมืองเข้าเป็นสหายร่วมรบจำนวนมาก ทำให้ต้องเปิดโรงเรียนการเมืองการทหารขึ้นถึง 3 รุ่น เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมแล้ว ฝ่ายจัดตั้งก็ส่งสหายเหล่านี้เข้าร่วมปฏิบัติงานในเขตงานมวลชนต่างๆ ตามความเหมาะสม บางส่วนก็เดินทางสู่ฐานที่มั่นภาคเหนือ นอกจากสหายที่แยกย้ายไปสู่เขตงานต่างๆแล้ว “คนเดือนตุลา” ในเขตงานภูซางส่วนหนึ่งที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษ เช่น นักร้องนักดนตรีจากวงคาราวาน คุรุชน และโคมฉาย ก็รวมตัวกันตั้งวงดนตรีชื่อ ‘ภูซาง 60’ ( เลข 60 หมายถึง วันที่ 6 เดือนตุลาคม) รับผิดชอบงานเคลื่อนไหวเชิงศิลปวัฒนธรรมและทำหน้าที่เป็นหน่วยบันเทิงประจำเขต

ในตอนนั้นเป็นช่วงรุ่งเรืองของคอมมิวนิสต์เขตนี้ ไม่ว่าจะไปไหนก็ตามชาวบ้านมักจะต้อนรับและเอาข้าวของตุนเสบียงมาให้เพราะคิดว่าจะชนะรัฐบาลได้ ทำให้สหายเหล่านี้เผยตัวตนแนวร่วมในหมู่บ้าน เปิดช่องให้ฝ่ายรัฐบาลปฏิบัติยุทธการปราบปรามอย่างรุนแรง โดยกองทัพภาคที่ 2 ได้จัดตั้ง ‘หน่วยผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 1718’ (พตท.1718) มี พ.อ.อาทิตย์ กำลังเอก (ยศขณะนั้น) เป็นผู้บัญชาการปราบ “คอมมิวนิสต์ภูซาง” ที่เคลื่อนไหวอยู่ในรอยต่ออุดรธานี-เลย-หนองคาย พ.อ.อาทิตย์ติดอาวุธให้ ‘ไทยอาสาป้องกันชาติ (อส.)’ ดำเนินการตอบโต้พรรคคอมมิวนิสต์ และผสานการรุกด้านการทหารและการเมืองอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี 2523 โดยนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีคำสั่งที่ 66/23 ซึ่งเปิดช่องทางให้คอมมิวนิสต์มอบตัวกับทางการเพื่อเป็น ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’

วงร้องเพลงประสานเสียง เด็กนักเรียนโรงเรียนโนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ร่วมแสดงการร้องเพลงประสานเสียง ประกอบไปด้วยเพลงชะตาชีวิต ในหลวงของแผ่นดินและพลังเพลง

วิกฤติศรัทธาครอบคลุมป่าเขา ‘สหายนำ’ เคลื่อนย้ายศูนย์การนำไปอยู่ทางภูเขียว จ.ชัยภูมิ ส่วนกำลังรบส่วนหนึ่งยังคงอยู่ที่ภูซางและทยอยออกมอบตัวในเวลาต่อมาจนสิ้นสุดสายธารการต่อสู้

เขตงานภูซางเป็นพื้นที่คอมมิวนิสต์ สหายโดยส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนาในท้องถิ่นอีสาน ซึ่งมีภูมิลำเนาและเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตใดเขตหนึ่งแล้วจึงมาร่วมกันในเขตภูซาง หลายคนเข้าป่านานกว่า 10-20 ปี.

 

image_pdfimage_print