ขอนแก่น – ตัวแทนผู้จัดงาน “เทศกาลดนตรีอีสาน” เผยการปิดกั้นสิทธิ เสรีภาพของประชาชนโดยรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมใด ด้านสมาชิกกลุ่ม “สยามยิปซี” ผู้ชื่นชอบการใช้ชีวิตในวิถีฮิปปี้ ย้ำสันติภาพจะเกิดขึ้นได้โดยทุกคนต้องยอมรับความแตกต่างตามหลักการประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการสำหรับงานดนตรี “E-San Music Festival” ครั้งที่ 6 ประจำปี 2560 บริเวณลานกว้าง พื้นที่กว่า 120 ไร่ ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำพอง ริมเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

เทศกาลดนตรีกลางแจ้ง 2 วัน 1 คืน สำหรับผู้คลั่งไคล้ในวิถีวัยรุ่นยุคฮิปปี้ (Hippie) ซึ่งหลงไหลการใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรี ชื่นชอบการเดินทางแบบแบกกระเป๋าเป้ ท่องเที่ยวชมงานศิลปะและฟังดนตรีการแจ้งแนวดนตรีเร็กเก้ (Reggae) และร็อคแอนโรล (Rock and Roll) ซึ่งวีถีชีวิตนี้ได้รับความนิยมในช่วงต้นทศวรรษ พ.ศ. 2503 (ค.ศ.1960) ซึ่งวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบฮิปปี้ดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของหนุ่มสาวที่ต้องการเสรีภาพ ความเท่าเทียมและสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคมอีกด้วย

“ฮิปปี้ที่ราบสูง” คำสั้น ๆ คำนี้ถูกเขียนใส่ผ้าสีขาวแล้วผูกไว้บริเวณทางเข้างานและบริเวณอื่น ๆ ภายในงานเทศกาลดนตรีอีสานครั้งที่ 6 นี้

เดอะอีสานเรคคอร์ดไม่พลาดที่จะเข้าร่วมงานเพื่อชมบรรยากาศเทศกาลดนตรีครั้งใหญ่ที่จัดขึ้นในภาคอีสาน พร้อมตามหาความหมายการใช้ชีวิตแบบฮิปปี้ ผ่านการสัมผัสบรรยากาศงานเทศกาลดนตรีครั้งนี้ พร้อมกับสัมภาษณ์ตัวแทนผู้จัดงาน ไปจนถึงผู้ร่วมงาน ว่าด้วยเรื่องสันติภาพ เสรีภาพการแสดงออก ความเท่าเทียมในสังคมไทยปัจจุบัน

ฮิปปี้ต้องการเสรีภาพ

นายไพรจิตร ศรีม่วงอ่อน ตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรีกล่าวว่า การใช้ชีวิตตามแบบวิถีฮิปปี้จะต้องเรียกร้องเสรีภาพและต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยมที่ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน

“การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยรัฐบาลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าจะสังคมใด” นายไพรจิตรกล่าว

นิยามของการใช้ชีวิตแบบฮิปปี้ หมายถึง กลุ่มคนหนุ่มสาวที่มักจะปฏิเสธบรรทัดฐานทั่วไปของสังคม หรือต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลัก เป็นกลุ่มคนที่รักอิสรเสรีภาพ มุ่งเน้นการแสวงหาวิถีชีวิตของตนเอง โดยมีจุดกำเนิดในช่วงทศวรรษ 1960 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคนหนุ่มสาว “ฮิปปี้” เหล่านี้มีบทบาทในการรวมตัวต่อต้านสงครามเวียดนาม ต่อต้านการเกณฑ์ทหาร และเรียกร้องให้มีสันติภาพเกิดขึ้น

นายไพรจิตร ศรีม่วงอ่อน ตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรี “E-san Music Festival” ครั้งที่ 6 ประจำปี 2560

นายไพรจิตรมองว่า สังคมไทยทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดและระดับประเทศ คนที่มีอำนาจในสังคมมักใช้อำนาจของตนปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงออก การแสดงความเห็นของสมาชิกในสังคม และบังคับให้คนอื่นทำตามความต้องการของตนเอง เช่น พ่อเป็นคนมีอำนาจมากสุดในครอบครัวก็บังคับให้สมาชิกครอบครัวทำตาม ไม่เปิดรับฟังความเห็นของสมาชิกในครอบครัว

“ในมหาวิทยาลัยมีระบบโซตัส ที่รุ่นพี่ทำโทษรุ่นน้อง บังคับรุ่นน้องให้ทำกิจกรรม รุ่นพี่ใช้อำนาจโดยไม่มีเหตุผล สั่งทำโทษโดยไม่มีเหตุผล ผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องเหล่านี้” นายไพรจิตรกล่าวเสริม

ตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรีผู้นี้กล่าวว่า รูปแบบการจัดงานในปีนี้ยังคงไว้ซึ่งแนวคิดการเรียกร้องสันติภาพ ต่อต้านสงคราม เรียกร้องเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดเห็นและการใช้ชีวิตอย่างอิสระ แม้ว่าประเด็นการเรียกร้องเสรีภาพและความเท่าเทียมจะแสดงออกในทางปฏิบัติไม่ได้มาก เนื่องจากอยู่ในยุคที่รัฐบาลทหารที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำให้ทีมผู้จัดงานห่วงว่าการแสดงออกอะไรบางอย่างภายในงานอาจผิดกฎหมายของรัฐได้

“เราทำได้เพียงเปิดพื้นที่ให้ทุกคนที่มีความแตกต่างในความคิด ความเชื่อในการใช้ชีวิต เช่น การแต่งกาย รสนิยมในการฟังเพลงมาอยู่ร่วมกันได้ ทำอะไรร่วมกัน โดยไม่ขัดแย้งกัน” นายไพรจิตรอธิบาย

มุ่งหาอิสรภาพทางความคิดและการใช้ชีวิต

นายเสกศักดิ์ แสงสุวรรณ อาชีพพ่อค้าขายของเก็บสะสม ของเก่าและ ของหายากตามงานเทศกาลดนตรีต่าง ๆ เขาคือผู้ชื่นชอบการแบกกระเป๋าเป้เดินทางมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ปัจจุบันเป็นสมาชิกกลุ่ม “สยามยิปซี” หรือกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเดินทางและการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายในรูปแบบวิถีฮิปปี้ นายเสกศักดิ์อ้างว่า ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกรวมกันกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งมักจะนัดพบปะพูดคุยกันตามงานเทศกาลดนตรีและงานศิลปะต่าง ๆ ภายในประเทศ

นายเสกศักดิ์ แสงสุวรรณ อาชีพพ่อค้าขายของเก็บสะสม ของเก่า ของหายากตามงานเทศกาลดนตรีต่าง ๆ การเดินทางและการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายในรูปแบบวิถีฮิปปี้

พ่อค้าของเก็บสะสมคนนี้มองว่าวิถีชีวิตแบบฮิปปี้นั้นคือ วิถีชีวิตที่เชื่อในอิสรภาพและเสรีภาพ เป็นวิถีชีวิตที่มุ่งหาพื้นที่แสดงออกทางความคิด หาอิสรภาพในการใช้ชีวิต โดยแสดงออกผ่านการใช้ชีวิตอิสระ ที่ไม่ถูกกำหนดจากแฟชั่นการแต่งกายและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ครอบครัวและสังคมส่วนใหญ่เป็นผู้กำหนด

“พวกเขาต้องการพื้นที่แสดงออกในสิ่งที่พวกเขาคิด เขาคิดว่าเขาไม่จำเป็นต้องทำงานประจำ แต่แค่อยากหาของเก่ามาขาย อยากทำงานศิลปะที่เกิดขึ้นจากไอเดียของตัวเองมาขาย อยากแต่งเพลงของตัวเองมาขาย มีชีวิตเป็นของตัวเอง” นายเสกศักดิ์กล่าว

นายเสกศักดิ์เสริมว่า ตนมีแนวคิดในการใช้ชีวิตเหมือนกับวัยรุ่นอเมริกันในยุคสงครามเวียดนามที่ไม่อยากใช้ชีวิตตามกรอบกำหนดของสังคมและครอบครัวในยุคนั้น ด้วยเพราะเชื่อในเสรีภาพ อิสรภาพในการคิด การใช้ชีวิต จึงเลือกออกเดินทางใช้ชีวิตอิสระ

“ครอบครัวในสังคมไทยไม่เปิดพื้นที่ให้ลูกคิด สังคมไทยยังมีการครอบงำความคิด วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ จนทำให้พวกเขาไม่กล้าคิด กล้าทำอะไรสิ่งใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์” นายเสกศักดิ์ย้ำ

นอกจากนี้ พ่อค้าฮิปปี้คนนี้ยังเล่าเสริมว่า จากประสบการณ์ที่มีโอกาสได้พบเห็นเด็กรุ่นใหม่รอบ ๆ ตัว เด็กเหล่านี้ไม่ค่อยมีอิสระภาพทางความคิด ไม่กล้าคิดทำอะไรที่สร้างสรรค์ เพราะครอบครัวไม่เปิดพื้นที่ให้ลูกได้คิดทำอะไรเอง มีแต่พ่อแม่ คิดแทนให้หมด ทำให้ลูกเติบโตมาบนความคิดของพ่อแม่จนพวกเขา ไม่มีโอกาสได้ใช้ความคิดของตัวเองเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นบนโลกนี้

“คนที่เลือกใช้ชีวิตแบบฮิปปี้ ภายหลังคนเหล่านี้กลายเป็นนักคิด นักเขียน นักปฏิวัติ ต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกต้องในสังคม อย่างการต่อต้านสงคราม ความขัดแย้งและเรียกร้องสันติภาพ” นายเสกศักดิ์อธิบาย

กลุ่ม “อินเดียนไทยแลนค์” กลุ่มคนที่ชื่นชอบการชื่นชอบในวิถีอินเดียแดง

ต้องการสันติภาพ ไม่นิยมความรุนแรง

“วัยรุ่นอเมริกันยุคฮิปปี้ต่อต้านสงครามเวียดนาม แต่งเพลงที่พูดถึงความรุนแรงของสงคราม และต่อต้านการเกณฑ์ทหาร เพราะพวกเขาไม่ชอบสงครามและความรุนแรง เราจึงไม่นิยมในความรุนแรง” นายเสกศักดิ์กล่าว

สงครามเวียดนาม คือ สงครามตัวแทนในสมัยสงครามเย็นที่เกิดขึ้นภายในประเทศเวียดนามอันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างลัทธิเสรีประชาธิปไตยภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาและลัทธิคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของสหภาพโซเวียต  โดยประเทศเวียดนามถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายเวียดนามใต้ที่นิยมลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งมีสหรัฐสนับสนุนกับและฝ่ายเวียดนามเหนือที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งมีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง

นับแต่ พ.ศ. 2508 สหรัฐอเมริกาเริ่มแทรกแซงทางการเมืองในประเทศเวียดนามโดยสนับสนุนฝ่ายเวียดนามใต้เพื่อสกัดกั้นการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  สงครามครั้งนั้นทำให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียทหารจำนวนมาก เพราะไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศและมีความกดดันจากการสู้รบกับเวียดกง(ฝ่ายเวียดนามเหนือ) ที่มีวิธีการรบแบบกองโจร ทำให้ยากต่อการเอาชนะ จนกระทั้งพ.ศ.2514 คนหนุ่มสาวในสหรัฐฯ ได้ร่วมตัวกันเดินขบวนประท้วงรัฐบาลนายริชาร์ด นิกสัน เพื่อเรียกร้องสันติภาพ หลังเห็นภาพความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสงคราม  พร้อมร้องขอให้รัฐบาลยกเลิกส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามเวียดนามและเรียกร้องให้ถอนทหารจากสงครามครั้งนี้

นายเสกศักดิ์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยที่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ชายไทยต้องเกณฑ์ทหาร ส่วนตัวเห็นด้วยกับการมีการเกณฑ์ทหารเพื่อฝึกความอดทน ฝึกความมีวินัย หรือเพื่อช่วยเหลือประเทศเมื่อเกิดภัยสงคราม ในเชิงหลักการยอมรับได้ แต่ในทางปฏิบัติตนไม่ยอมรับ เพราะปัจจุบันยังมีข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ในค่าย ซึ่งทั้งจากการฝึกและจากการลงโทษทางวินัย รวมถึงอาจจะถูกครูฝึกกลั่นแกล้งโดยไม่มีเหตุผล

“ไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยปัจจุบัน เอางบประมาณไปซื้ออาวุธ ซื้อเรือดำน้ำ รถถัง เครื่องบินรบเพื่ออะไร ทั้ง ๆ ที่สังคมไทยตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนไม่มีเงิน ค้าขายก็ไม่ได้กำไร ประชาชนยากจน คุณภาพชีวิตย้ำแย่ น่าจะนำเงินที่ซื้ออาวุธมาพัฒนาประเทศ สร้างงาน สวัสดิการเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายเสกศักดิ์กล่าว

ภาพบรรยากาศภายในงาน ผู้เข้าร่วมงานสามารถจับจองที่นั่งเพื่อรอชมการแสดงดนตรีบนเวทีได้อย่างอิสระและเสรี

สันติภาพจะเกิดขึ้นต้องยอมรับความแตกต่าง

หากถามว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร นายเสกศักดิ์มองว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นในสังคมได้ก็ต่อเมื่อทุกคนในสังคมยอมรับความแตกต่างของกันและกัน เปิดโอกาสให้ทุกคนทำในสิ่งที่ตัวเองคิด ตัวเองชอบ เคารพในเสรีภาพของกันและกัน เมื่อนั้นสังคมจะไม่มีความขัดแย้ง

ทั้งนี้ นายเสกศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า การยอมรับความแตกต่างคล้ายกับหลักการประชาธิปไตย ที่รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้คนในสังคมทุกคนมีพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดและการกระทำได้อย่างเสรี โดยรัฐบาลเป็นเพียงผู้บริหารจัดการพื้นที่ในการแสดงออกของประชาชนแต่ละคนไม่ให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพกันและกันจนเกิดความขัดแย้ง

“คุณมีพื้นที่การแสดงออกของคุณ ผมมีพื้นที่ในการแสดงออกของผม รัฐบาลต้องเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ไม่ให้อยู่ใกล้กันจนเกินไปจนทับเสรีภาพกันและกันจนขัดแย้งกัน หรือห่างกันเกินไปจนเป็นเพื่อนร่วมสังคมกันไม่ได้” นายเสกศักดิ์กล่าวปิดท้าย

image_pdfimage_print