โดยดานุชัช บุญอรัญ

มหาสารคาม- ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้กระบวนการคุ้มครองการละเมิดสิทธิในประเทศไทยมีปัญหาในระดับโครงสร้าง ด้านประชาชนที่ถูกละเมิดจากนโยบายภาครัฐเผย นโยบายทวงคืนผืนป่าทับซ้อนที่ทำกิน ร้องเรียนไปจนถึงที่สุดแล้วแต่ยังไร้ผล ทั้งยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐโทรศัพท์ข่มขู่

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ (ขวาสุด) ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับวิทยากรจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและโครงการจัดตั้งสมาคมการเมืองและความยุติธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ในประเด็น “กลไกสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ”

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กิจกรรมสัมมนาวิชาการและเทศกาลสิทธิมนุษยชนอีสาน ครั้งที่ 8 เรื่อง “70 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน: สิทธิชุมชนอีสานอยู่ตรงไหน” ช่วงบ่ายมีการจัดกิจกรรมย่อยโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและโครงการจัดตั้งสมาคมการเมืองและความยุติธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเด็น “กลไกสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ” โดยมีตัวแทนจากกลุ่มนักปกป้องสิทธิชุมชนจากจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประชาชนทั่วไปร่วมฟังการบรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของไทย รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นของตน

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย รวมถึงขั้นตอนและหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงผู้ที่อยู่ในพื้นที่ผลกระทบสามารถใช้เป็นประโยชน์ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของตนและชุมชมได้

หลังจากที่ได้รับฟังประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนที่ร่วมแบ่งปันถึงการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของตนไม่ถูกตอบสนองจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งที่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนการร้องเรียนไปจนถึงที่สุดแล้ว นางสาวพรเพ็ญอธิบายว่า ปัญหาของกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในปัจจุบัน มีข้อบกพร่องในเชิงโครงสร้างของระบบราชการ รวมถึงสถานการณ์เกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยซึ่งล้วนไม่เอื้อต่อการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวขาดความอิสระ และนโยบายรัฐเองก็ไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลด้านสิทธิอันควรจะได้รับการปกป้องของประชาชนเท่าที่ควร

“ถึงอย่างนั้นเราก็ยังต้องร้องเรียน โดยเฉพาะในเชิงยุทธวิธี กรณีตัวอย่างเล็กๆ กรณีเดียว หากมีการรวบรวมหลักฐานที่ครบถ้วนสมบูรณ์  รวมทั้งพวกเรา ทั้งองค์กรสิทธิต่างๆ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ก็อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้กรณีอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันได้รับผลดีไปด้วย พูดง่ายๆ คือเราต้องทำมันทีละจุดๆ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมที่มากพอจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง” นางสาวพรเพ็ญกล่าว

นายประมัย เหมบุลิน ประชาชนจากอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เล่าประสบการณ์ถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าพื้ที่บริเวณรอบอุทยานเเห่งชาติภูผาเหล็ก

นายประมัย เหมบุลิน ประชาชนชาวอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนครกล่าวว่า “ในฐานะประชาชนชาวไทย ตนรู้สึกว่าประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรกรในชนบท เป็นคนไร้สิทธิ์ไร้เสียง” โดยนายประมัยเล่าถึงประสบการณ์ที่ถูกเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กกลุ่มหนึ่ง ใช้สเปรย์สีแดงพ่นใส่สวนยางพาราที่ตนครอบครอง โดยกล่าวหาว่านายประมัยได้ทำการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ของเขตอุทยานแห่งชาติ เบื้องต้นเมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่คนหนึ่งถึงที่มาของการปฏิบัติการในครั้งนั้น กลับได้รับคำตอบเพียงว่า “นายสั่งมา” โดยไม่ยอมบอกว่า “นาย” ที่อ้างถึงนั้นคือใคร

“ผมไปถามฮอดในอุทยาน เขาก็ว่าเป็นนโยบายทวงคืนผืนป่าของกระทรวง พอพวกผมตามไปถึงระดับหัวหน้า กะโยนกันไปโยนกันมา บ่ได้คำตอบที่ชัดเจน” นายประมัยกล่าว

นอกจากนี้ นายประมัยเสริมอีกว่า ขณะนั้นได้มีผู้แนะนำให้ตนไปร้องเรียนที่สำนักนายกรัฐมนตรี คำถามแรกที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องร้องเรียนคือ “ยังมีการบุกยึดตัดยางพาราในประเทศไทยอยู่อีกหรือ”  สำหรับกระบวนการภายหลังการร้องเรียน นายประมัยเล่าว่าขั้นตอนการดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาของหน่วยงานต่างๆ แต่ละช่วงใช้เวลานานมาก และยังไม่มีข้อยุติจนถึงปัจจุบัน

“อยู่ๆ มีโทรศัพท์โทรมาหาผม บ่ฮู้เอาเบอร์ผมมาแต่ไส บอกว่าให้ไปตัดต้นยางออก ถ้าบ่ตัดรอให้เจ้าหน้าที่ไปตัดกะต้องมีค่าใช้จ่าย ผมกะถามว่ามันจักบาท สิบบาทซาวบาทอยู่บ่ค่าใช้จ่าย เขาว่าเป็นแสน  ผมกะว่าถ้าเป็นแสนเอาชีวิตไปซะ เอาไปโลด มันบ่แพงถึงแสนดอก”  นายประมัยกล่าวทิ้งท้ายถึงประสบการณ์ถูกละเมิดสิทธิจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ดานุชัช บุญอรัญ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

image_pdfimage_print