1

มารีญาไม่รู้จักโซเซียลมูฟเมนท์สะท้อนสังคมไม่ค่อยคิด

โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

การตอบคำถามเรื่องโซเซียลมูฟเมนท์ (Social Movement) หรือขบวนการทางสังคมไม่ได้ทำให้ “มารีญา พูนเลิศลาภ” พลาดโอกาสเข้ารอบ 3 คนสุดท้ายในเวทีมิสยูนิเวิร์ส การตอบคำถามไม่ได้ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่สะท้อนถึงสภาวะของสังคมไทย

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา นางสาวมารีญา พูนเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยเลนด์ 2017 เดินทางกลับประเทศไทย หลังจากพลาดท่าบนเวทีประกวดนางงามจักรวาล ปี 2017 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประเทศสหรัฐฯ

การกลับมาเมืองไทยครั้งนี้ทำให้ทราบเบื้องหลังคำตอบของมารีญาในรอบ 5 คนสุดท้ายที่ทำให้เธอตกรอบ

คำถามในคืนนั้นมีว่า

“อะไรคือความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคของคุณ เพราะอะไร”

มารีญาตอบว่า

“ฉันคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือ การที่เรามีสังคมสูงวัย แต่ความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดก็คือเยาวชน เยาวชนคืออนาคต คือสิ่งที่เราควรลงทุน เพราะว่าพวกเขาคือคนที่ต้องดูแลโลกที่เราอยู่”

คำตอบดังกล่าวทำให้พบว่ามารีญาตอบไม่ตรงคำถาม เพราะการมีสังคมสูงวัยหรือเยาวชน คือ อนาคตของชาติ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องโซเซียลมูฟเมนท์ น่าแปลกใจเหมือนกันที่นางสาวลูกครึ่งสวีเดน-ไทย ซึ่งมีดีกรีปริญญาตรีจากเนเธอร์แลนด์และปริญญาโทจากสวีเดนผู้นี้จะตอบคำถามว่า อะไรคือความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคของตนเองไม่ได้

แต่ก็มีการวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่นางงามวัย 25 ปีตอบคำถามไม่ได้อาจเป็นเพราะการตื่นเวที และการตอบคำถามแบบนั้นก็ยังถือว่าสอบผ่าน แต่เมื่อเธอให้สัมภาษณ์ถึงการตอบคำถามบนเวทีที่ลาสเวกัส ทำให้เกิดความชัดเจนว่า เธอตอบคำถามไม่ได้จริงๆ

มารีญายอมรับว่า อึ้งเหมือนกันกับคำถามนี้ ผ่านไปประมาณ 2-3 วัน ก็ยังอึ้งอยู่ ส่วนการที่ตอบคำถามไม่ได้ตามที่คาดหวัง เนื่องจากประเทศเราเองก็ขาดโซเซียลมูฟเมนท์อยู่ ยิ่งอยากให้เราทำอะไรให้มากกว่านี้ อยากขยับให้คนมาสนใจด้านนี้มากขึ้น อย่างเรื่องท้องไม่พร้อมที่เราคิดไว้อยู่แล้ว

เห็นได้ว่าแม้จะผ่านมาถึง 2 สัปดาห์แล้วก็ตาม มารีญาก็ยังไม่รู้ว่าอะไรคือโซเซียลมูฟเม้นท์ เรื่องการตั้งท้องไม่พึงประสงค์เป็นโซเซียลมูฟเมนท์ไปได้อย่างไร แม้เธอจะบอกว่าประเทศไทยไม่มีโซเซียลมูฟเมนท์ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอตอบไม่ตรงคำถาม นั่นเป็นเพราะโซเซียลมูฟเมนท์เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ไม่ได้มีเฉพาะแค่ในประเทศไทยเท่านั้น เช่น การรณรงค์ของกลุ่ม LGBT เพื่อความเสมอภาคของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ การรณรงค์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างกลุ่ม Greenpeace

นักวิชาการสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมหาวิทยาลัยเกียวโต “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” โพสต์เฟซต์บุ๊คถึงกรณีมารีญาว่า คำถามง่ายๆ มารีญาสามารถเลือกว่า ความเคลื่อนไหวสิ่งไหนมีความสำคัญมากสุดในยุคของมารีญา วันประกวดตอบไม่ได้แต่ขณะนี้ก็ยังตอบไม่ได้อยู่ดี

“ถ้าจะบอกว่าไม่มี social movement อาจจะเป็นไปได้ในส่วนของความเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ เพราะถูกรัฐบาลทหารปราบปรามอยู่ ถ้าเป็นอย่างนั้น ตอนพบกับนายกฯ ทำไมไม่ถามไปตรงๆ ละครับว่าทำไมถึงต้องกำจัดกลุ่มความเคลื่อนไหวทางการเมือง”

การตอบคำถามเรื่องโซเซียลมูฟเมนท์ของมารีญาจึงสะท้อนว่า มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกับมารีญาที่ไม่ค่อยให้ความสนใจต่อเรื่องทางสังคม ซึ่งก็น่าจะทำให้คนกลุ่มนี้ไม่รับรู้ถึงที่มาและประเด็นปัญหาทางสังคม คนกลุ่มนี้จึงขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์แยกแยะเมื่อต้องมองถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง

ในสังคมไทยมีคนประเภทนี้อยู่ไม่น้อย ดังเช่นปรากฎการณ์สนับสนุน “ตูน บอดี้สแลม” วิ่งรับเงินบริจาคช่วยโรงพยาบาล 11 แห่ง ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าเขตภาคเหนือ หลายคนทราบว่าตูนวิ่งเพื่อหาเงินช่วยโรงพยาบาลเพราะโรงพยาบาลขาดแคลน แต่ไม่สามารถคิดไปไกลกว่ากรอบการช่วยเหลือด้วยการบริจาคเงิน

แม้จะทราบว่าโรงพยาบาลขาดแคลนแต่ไม่มีการตั้งคำถามว่า ทำไมโรงพยาบาลรัฐถึงมีงบประมาณไม่เพียงพอ ใครควรรับผิดชอบ และจะสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างไร

สื่อมวลชนกระแสหลักและคนจำนวนไม่น้อยจึงเลือกเพียงแค่จะหยุดความสงสัยไว้ที่การติดตามข่าวการวิ่งของตูนและมีความอิ่มใจที่ได้ทำความดีร่วมกับตูน

ทั้งกรณีปรากฎการณ์ “ตูน บอดี้สแลม” และ “มารีญา พูนเลิศลาภ” ต่างสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยส่วนหนึ่งนิยมคิดตามกรอบที่เป็นอยู่โดยไม่มองกรณีปัญหาทางสังคมในภาพรวม

กรณีของตูน ถ้าจะพิจาณาตามข้อเท็จจริงแล้ว ภูมิภาคที่ขาดแคลนแพทย์มากที่สุดอยู่ที่ภาคอีสาน ซึ่งวิธีการทำให้บุคลากรทางการแพทย์กระจายตัวออกมาจากเมืองใหญ่ คือ การจัดสรรงบประมาณบัตรทองแบบเหมาจ่ายรายหัว (ค่าตอบแทนบุคลากร + ค่าบริการทางการแพทย์) แต่ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ โดยมีหลักการสำคัญคือ การแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งจะทำให้ภาคอีสานขาดแคลนบุคลากรต่อไป

การแก้ไขกฎหมายบัตรทองไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่ แตกต่างจากข่าวการวิ่งของตูน ทั้งที่การแก้ไขกฎหมายบัตรทองสามารถเป็นหนึ่งในคำตอบของปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ได้

ส่วนกรณีคำถามของมารีญา ถามว่ามีโซเซียลมูฟเมนท์ในประเทศไทยในยุคสมัยนี้หรือไม่

ตอบได้เลยว่ามี แม้เสียงจะแผ่วเบาลงไปบ้างเมื่อเทียบกับยุคเลือกตั้ง อาทิ

กรณีเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย กลุ่มไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กลุ่มคัดค้านโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ในหลายจังหวัด เช่น ชัยภูมิ เลย สกลนคร และเพชรบูรณ์ นำโดยนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ รวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ผู้ได้รับความเดือนร้อนจากการย้านสถานีขนส่งจ.ขอนแก่น รวมตัวกันหน้าศาลปกครองขอนแก่น เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2560 หลังทราบคำพิพากษาว่าศาลยกฟ้องกรณีขอให้ยกเลิกการย้ายสถานีขนส่งออกไปนอกเมืองทั้งหมด การเคลื่อนไหวของประชาชนเช่นนี้ถือเป็นโซเซียลมูฟเมนท์อย่างหนึ่ง

กรณีกลุ่มผู้เดือดร้อนจากการย้ายสถานีขนส่งแห่งที่ 1 ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นไปยังสถานีขนส่งแห่งที่ 3 ซึ่งอยู่นอกเมืองออกไป 9 ก.ม. รวมตัวกันคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งเนื่องจากจะต้องเดินทางออกไปนอกเมือง เป็นระยะทางไกล มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น และอาจได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุในการเดินทาง โดยทางกลุ่มฯ วางแผนจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

ทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นเป็นขบวนการทางสังคมที่มีอยู่จริงและเกิดขึ้นในภาคอีสาน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดของไทยแต่มีเสียงค่อยที่สุด

มารีญาและคนจำนวนไม่น้อยต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ

แต่ถ้าพูดถึงขบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ก็พบว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีการจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล ที่ม.มหิดล โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชนและประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่า รัฐบาลจะไม่ยอมให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้น รวมถึงต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้คนไทยตระหนักเรื่องนี้

สำนักข่าวทั่วไปก็รายงานข่าวทำนองว่า พล.อ.ประยุทธ์เอาจริงในการปราบปรามคอร์รัปชั่น โดยไม่ได้พิจารณาถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ใส่นาฬิกาเรือนละหลายล้านพร้อมแหวนเพชรวงโต โดยไม่แจ้งให้ป.ป.ช.ทราบ ทั้งที่พล.อ.ประวิตรก็รับราชการมาตลอดชีวิต

จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เห็นพล.อ.ประยุทธ์จัดการพล.อ.ประวิตร ทำให้เกิดความสงสัยว่ารัฐบาลต้องการปราบคนโกงจริงหรือไม่ แต่ที่น่าฉงนกว่านั้นคือ สื่อมวลชนไทยก็ไม่สนใจสอบถามในประเด็นนี้ ต่างจากเมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

จนอาจทำให้คนที่อ่านข่าวเข้าใจผิดว่ารัฐบาลนี้ปลอดการทุจริต ทั้งที่ตัวพล.อ.ประยุทธ์ก็มีกรณีสีเทาคือ กรณี พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา บิดา พล.อ.ประยุทธ์ ขายที่ดินให้กับบริษัทในเครือข่ายของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มูลค่า 600 ล้านบาท และกรณีบุตรชายพล.อ.ปรีชา จันทรโอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งบริษัทในค่ายทหารเพื่อประมูลงานของกองทัพ

เมื่อพิจารณาปรากฎการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจึงเข้าใจว่า แม้จะผ่านไป 2 สัปดาห์แต่ทำไมมารีญายังตอบคำถามเรื่องโซเซียลมูฟเมนท์ไม่ได้ นั่นคงเป๋็นเพราะมารีญาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย สังคมที่ปลูกฝังความเชื่อว่ามีคำตอบสำเร็จรูปแบบดีกับเลว มากกว่าการฝึกฝนให้ประชากรมีความคิดเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถาม และหาคำตอบ

ไม่เช่นนั้นคนจำนวนหนึ่ง รวมถึงนักการเมืองและสหภาพยุโรป คงไม่หลงเชื่อหรอกว่า จะมีการเลือกตั้งจริงในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561