1

เครือข่ายประชาชนค้านร่าง กม.สวล. เหตุตัดตอนอีไอเอ

โดยบูรพา เล็กล้วนงาม

ขอนแก่น – ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแถลงคัดค้านร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมเนื่องจากลดขั้นตอนอีไอเอเพื่อเอื้อประโยชน์ก่อสร้างโครงการ โดยให้สร้างโครงการก่อนที่อีไอเอผ่านการพิจารณา ส่งผลเกิดแรงกดดันให้อีไอเอต้องผ่าน ชี้หากร่างกฎหมายผ่านโครงการพลังงานและการสร้างเขื่อนจะผุดขึ้นในภาคอีสาน    

ระหว่างวันที่ 6-7 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้รวมตัวคัดค้านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. … (กฎหมายสิ่งแวดล้อม) ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 โดยเครือข่ายประกอบด้วย กลุ่มไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กลุ่มคัดค้านโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ในหลายจังหวัด เช่น ชัยภูมิ เลย สกลนคร และเพชรบูรณ์

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาพจากเว็บไซต์ยูทิวบ์ คืนความจริง ประเทศไทย

เดอะอีสานเรคคอร์ดสอบถามถึงที่มาของการตั้งเครือข่าย วัตถุประสงค์ของการเคลื่อนไหว รวมถึงแหล่งเงินทุนจากเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย

เลิศศักดิ์เล่าให้ฟังว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดจากการรวมตัวขององค์กรภาคประชาชนที่ทำงานประเด็นสิ่งแวดล้อมโดยตรงในพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาการต่อสู้คัดค้านการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment – EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact AssessmentEHIA) ตามที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมกำหนด

ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่าว่า การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นเนื่องจากคณะรัฐมนตรีเสนอร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 58 กำหนดให้มีกฎหมายรองรับการอนุญาตให้ดำเนินการโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่คณะรัฐมนตรีไม่ได้ร่างกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ แต่กลับเสนอแก้ไขกฎหมายเฉพาะบางส่วน โดยแก้ไขในหมวดของอีไอเอและอีเอชไอเอที่เป็นอุปสรรคในการผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาล เนื่องจากการจัดทำอีไอเอในปัจจุบันมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนจำนวนมากจึงต้องใช้เวลาในการจัดทำ ส่งผลให้โครงการที่รัฐบาลต้องการผลักดันล่าช้า  

ทั้งนี้ นายเลิศศักดิ์ระบุว่า ก่อนที่คณะรัฐมนตรีคิดจะแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้มีการดำเนินการบางอย่างไปบ้างแล้ว เช่น คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 ที่เปิดช่องทางให้หาผู้ดำเนินโครงการได้ก่อนการพิจารณาอีไอเอจะแล้วเสร็จ และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 / 2559 และ 4 /2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายผังเมือง ซึ่งเรื่องทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการจัดทำอีไอเอโดยตรง

“หลังรัฐประหารได้เพียงอาทิตย์เดียวก็เสนอให้ทำฟาสต์แทรคอีไอเอ หรือเสนอช่องทางด่วนให้อีไอเอผ่านได้ง่าย เพื่อไม่ต้องติดขัดขั้นตอน เพื่อให้บางโครงการผ่านได้ง่าย” เลิศศักดิ์กล่าว และเสริมว่า สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งต่อเนื่องซึ่งทำให้คณะรัฐมนตรีแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอีไอเอโดยตรง แล้วนำคำสั่งคสช.ที่ 9/2559 ใส่เข้าไปในร่างแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มโครงการด้านพลังงานเข้ามา

ผู้ประสานเครือข่ายกล่าวด้วยว่า เมื่อเครือข่ายพิจารณาแล้วว่าการดำเนินการของรัฐบาลจะสร้างปัญหาขนาดใหญ่เครือข่ายจึงออกมาเคลื่อนไหวร่วมกัน เพราะการกำหนดให้สามารถหาผู้จัดทำโครงการได้ก่อนที่อีไอเอจะผ่านการพิจารณาจะเป็นแรงกดดันให้อีไอเอต้องผ่านในที่สุด

“องค์กรที่รวมตัวเป็นเครือข่ายไม่ได้มีองค์กรกลางอะไร ไม่ได้มีงบประมาณสนับสนุนอะไร เป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อที่จะคัดค้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ คสช. เป็นผู้เสนอ” ผู้ประสานงานเครือข่ายกล่าว

 ข้อเสนอของเครือข่ายคือ ให้ตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมขึ้นใหม่ โดยให้มีคณะทำงานประกอบด้วยภาคประชาชนและภาครัฐในสัดส่วนที่เท่ากัน นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า ภาคประชาชนต้องการให้แก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว เช่น การใช้เงินของกองทุนสิ่งแวดล้อมที่อยากให้เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และการเพิ่มเติมเรื่องสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนลงไปในกฎหมาย โดยเครือข่ายเห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม แต่ต้องแก้ไขทั้งฉบับ

“แต่เราไม่เห็นด้วยที่ คสช. ตั้งใจจะแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมเฉพาะแค่หมวดอีไอเอ ตามความตั้งใจของ คสช. คือต้องการแก้ไขเฉพาะหมวดนี้เพื่อผ่าทางตัน” นายเลิศศักดิ์กล่าวและว่า กฎหมายสิ่งแวดล้อมควรสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนากับมิติความยั่งยืนให้มากยิ่งขึ้น แต่เนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้กลับเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนมากเกินไป ด้วยการลดขั้นตอนการพิจารณาอีไอเอให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยตัดการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนออกไปจากระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ผู้ประสานงานเครือข่ายกล่าวด้วยว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ทำให้โครงการบางประเภทไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เช่นเดิม ด้วยการสร้างกลไก คชก. จังหวัด ขึ้นแทน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน คชก.จังหวัด เพื่อให้โครงการมีขั้นตอนที่สั้นลง

“จะก่อสร้างจังหวัดไหนก็ไปใช้ คชก. จังหวัดนั้น คชก. เหล่านั้นไม่ได้มีความเป็นมืออาชีพ และชัดเจนว่ามันตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาเพียงแค่ว่า ถ้าจะผ่านจะต้องผ่านยังไง” ผู้ประสานเครือข่ายกล่าวและย้ำว่า การพิจารณาเช่นนี้แตกต่างจากการพิจารณาโครงการของ คชก. ที่ต้องเริ่มต้นพิจารณาก่อนว่าโครงการดังกล่าวจะผ่านหรือไม่ผ่าน

ส่วนการเสนอให้ตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ นายเลิศศักดิ์อธิบายว่า เครือข่ายต้องการให้คณะรัฐมนตรีเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อม เพื่อตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมทั้งฉบับ ซึ่งเป็นของเสนอที่ง่ายแต่ยอมรับว่ายากที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เครือข่ายให้เวลา 1 เดือนนับจากวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้ภาครัฐและ สนช. พิจารณาดำเนินการ

ด้านผลกระทบต่อภาคอีสานหากร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ประกาศใช้ นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า โครงการที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ โครงการขุดเจาะปิโตเลียมในหลายจังหวัดซึ่งจะสามารถหาผู้ประมูลงานได้โดยไม่ต้องรออีไอเอผ่าน โครงการก่อสร้างเขื่อนก็หาผู้ประมูลได้เช่นกัน รวมถึงกิจการพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็จะผ่านการพิจารณาทั้งหมด

ข้อเสนอเพื่อการยกระดับความเคลื่อนไหวที่ต้องการให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้ทำการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมสะดวกขึ้นกว่าในปัจจุบัน นายเลิศศักดิ์บอกว่า “คงไม่ไปไกลจนถึงขั้นนั้น มีการคุยกันอยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้คุยถึงรายละเอียด”

หากมองถึงทางออกต่อการที่รัฐส่วนกลางมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ของประเทศไทย นายเลิศศักดิ์บอกว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นมาต่อเนื่องไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะยุคของรัฐบาล คสช. ทรัพยาการส่วนใหญ่ เช่น ดิน น้ำ ป่า ถูกกำหนดโดยกฎหมายให้เป็นของรัฐโดยเฉพาะรัฐส่วนกลางโดยไม่มีการกระจายอำนาจ วิธีการแก้ไขคือต้องทำให้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งปัจจุบันเป็นของรัฐให้กลายเป็นของพื้นที่นั้น โดยให้ภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตัวเองซึ่งเป็นการกระจายอำนาจโดยตรง

“การจะก่อสร้างโครงการหรือไม่จะถูกถกเถียงกันโดยคนในพื้นที่ ซึ่งจะเหมาะสมกว่าการถูกกำหนดจากรัฐส่วนกลาง” นายเลิศศักดิ์กล่าว

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อ่านแถลงการณ์ หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2560 เพื่อให้ภาครัฐและสนช. ยกเลิกร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ โดยให้เวลาตัดสินใจภายใน 1 เดือน ภาพจากเว็บไซต์เฟซบุ๊คเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายเลิศศักดิ์ระบุอีกว่า การเดินทางไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา ถูกขัดขวาง ห้ามปราม และข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะสลายการชุมนุมและใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ควบคุมตัวไปปรับทัศนคติ แต่เครือข่ายไม่กลัวและไม่ยอมทำตาม สาเหตุอีกส่วนที่สามารถชุมนุมได้เนื่องจากกระแสความนิยมของรัฐบาลลดลงจากการสลายการชุมนุมกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จ.สงขลา ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ถ้าไม่เช่นนั้นเครือข่ายก็อาจจะถูกสลายการชุมนุมเช่นกัน