โดย นายสมรู้ ร่วมคิด (เพื่อสังคมดี)
การเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่มีความเกี่ยวข้องกับการตั้งลานเบียร์ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งสร้างบรรยากาศชวนดื่ม โดยการดื่มเบียร์เกิน 1 กระป๋องจะทำให้เมาและหากขับขี่ยานพาหนะจะเป็นการทำผิดกฎหมาย
เมื่อต้องนัดเพื่อนฝูงรวมตัวดื่มกินฉลองกันช่วงปลายปี ท่านนึกถึงสถานที่ใดเป็นที่แรกครับ?
ที่ผมเกริ่นนำเช่นนี้ เพราะนับถอยหลังอีกไม่กี่วัน ก็จะเข้าสู่เทศกาลรื่นเริงเถลิงศกใหม่ที่หลายคนต่างเฝ้ารอคอย นอกจากจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ได้พบเจอบรรดาญาติสนิทมิตรสหายผ่านงานเลี้ยงฉลองแบบข้ามวันข้ามคืนแล้ว สิ่งที่เราพบเห็นกันเป็นประจำจนชินตาคือ การจัดเวทีเคาท์ดาวน์ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของทุกปี ซึ่งถือเป็นไฮไลท์หรือสีสันที่จะขาดเสียมิได้เลย เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงและสถานบริการร้านค้าต่างก็หยิบยกเอากลยุทธ์ทางการตลาดมากมายขึ้นมาแข่งขันกัน เพื่อดึงดูดใจลูกค้าให้เข้ามากินดื่มและกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายให้มากที่สุด
คุณผู้อ่านคิดเหมือนผมไหมครับ?
ที่ว่าคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนฝูงและวัยรุ่น หากคิดจะพบปะสังสรรค์รวมหมู่กันในช่วงเวลาดีๆ ที่บรรยากาศยามค่ำคืนกำลังเย็นสบายและมีลมพัดเบาๆ เช่นนี้ “ลานเบียร์สด” น่าจะเป็นตัวเลือกในลำดับต้นๆ ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ของการเดินทางมาสามัคคีชุมชนแบบชิลๆ ได้ดีเลยทีเดียว
ถ้ายังไม่เชื่อ… ลองพิจารณาข้อมูลที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ครับ

งานเทศกาลไหมสากล ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาด จังหวัดขอนแก่น ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เป็นงานที่ไม่อนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ค่ายเบียร์ยักษ์ใหญ่ จุดพลุในเมืองหลวง 1 – 31 ธันวาคม 2560
จากข้อมูลทางการตลาดที่ผู้บริหารระดับสูงของค่ายเบียร์หลายแห่งได้วิเคราะห์ ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ธุรกิจเครื่องดื่มเบียร์มีทิศทางที่ดีอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ยกตัวอย่าง ค่ายเบียร์สัญลักษณ์สัตว์มีเขี้ยวใต้งวงเรียกว่างา ได้ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจมากๆ ว่า ตลาดเบียร์ของประเทศไทยในรอบปีนี้ ช่วงเวลาที่มีแนวโน้มผู้ดื่มเบียร์มากที่สุด คือ ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของทุกปี คือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ทุกคนเตรียมพร้อมเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลอง ดังนั้น ยอดขายเบียร์ในตลาดจะเพิ่มขึ้นสูงอย่างมาก ถือเป็น “นาทีทอง” ของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายเจ้าที่จะต้องเร่งหายุทธวิธีในการสร้างรายได้และผลกำไรให้ค่ายของตนมากที่สุด เรียกได้ว่าสู้กันจนเบียร์หยดสุดท้าย
ปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคเบียร์มากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวก็คือ ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการรับสมัครพนักงานประจำลานเบียร์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ “สาวเชียร์เบียร์” นัยว่าเพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจของบรรดาคอนักดื่มทั้งหลายที่ต้องการโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมต่างๆ ก่อนเลือกซื้อเบียร์
จากพนักงานส่งเสริมการขายของค่ายตนโดยตรง และเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด
รวมไปถึงเรื่องการจับจองสถานที่ตั้งลานเบียร์ เพื่อให้เหมาะแก่การผ่อนคลายอิริยาบถ มีบรรยากาศที่ชวนให้ลูกค้ารู้สึกอยากนั่งยาวๆ รับลมเย็นๆ พูดคุยสบายๆ แล้วสั่งเบียร์อย่างต่อเนื่องแบบเหยือกต่อเหยือก อย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ลานเบียร์สดหน้าห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆ หรือไม่ก็อาศัยการจัดคอนเสิร์ตตามตามต่างจังหวัด อาทิ บนลานเขาใหญ่ไพรกว้างหรือริมชายหาดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม แล้วให้ค่ายเบียร์ชั้นนำเป็นผู้สนับสนุนรายการ โดยมีการจัดบูธจำหน่ายเครื่องดื่มสร้างความสุขให้แก่บรรดาลูกค้าบริเวณทางเข้าหน้างานหรือภายในงาน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นกลเม็ดเด็ดพรายที่ค่ายเบียร์ยักษ์ใหญ่ต่างๆ นำมาใช้เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ และตักตวงผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุดในนาทีทองเช่นนี้
ลานเบียร์ภาคอีสาน ทำเลทองช่องทางสร้างยอดขายจากลูกค้าชั้นดีที่เป็นยอดนักดื่ม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ถือเป็นพื้นที่เป้าหมายที่สามารถสร้างยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการตลาดน้ำเมาได้ไม่น้อยหน้าภูมิภาคอื่นๆ จากข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ศึกษาไว้ช่วงปี 2558 พบว่า ในกลุ่มประชาชนคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นเกือบ 55 ล้านคน มีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ประมาณ 17.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 32.3 หากจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น อาจกล่าวได้ว่าคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 100 คน จะมีอยู่ประมาณ 32 คน ที่เป็นผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามตารางด้านล่าง
ภูมิภาค |
จำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (คน) |
นักดื่มปัจจุบัน |
จำนวนนักดื่ม (คน) |
คิดเป็นร้อยละ |
ประเทศไทย |
54,831,237 |
17,705,006 |
32.3 |
กรุงเทพมหานคร (กทม.) |
7,435,116 |
2,249,123 |
30.2 |
กลาง (ไม่รวม กทม.) |
15,988,789 |
4,823,818 |
30.3 |
เหนือ |
9,469,355 |
3,711,040 |
39.2 |
ตะวันออกเฉียงเหนือ |
14,804,434 |
5,480,601 |
37.0 |
ใต้ |
7,133,544 |
1,440,976 |
20.2 |
สถิติตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับจำนวนนักดื่มเมื่อแยกตามภูมิภาค ปรากฏว่า คนอีสาน คือ ยอดนักดื่มอันดับที่ 2 ของประเทศไทย เป็นรองเพียงนักดื่มจากภาคเหนเมื่อเปรียบเทียบด้วยสัดส่วนร้อยละของประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไปกับจำนวนนักดื่มในภูมิภาค ซึ่งหากจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นอีก อาจกล่าวได้ว่าคนเหนือ 100 คน เป็นนักดื่มถึง 39 คน ส่วนคนอีสาน 100 คน เป็นนักดื่มจำนวน 37 คน เมื่อได้เห็นตัวเลขงานวิจัยนักดื่มจากทั่วประเทศแล้ว จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงมีการแข่งขันที่สูงตลอดทั้งปีเพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีการดื่มในทุกเทศกาลของทุกภูมิภาค จะแพ้ก็แค่น้ำเปล่าซึ่งเราต้องดื่มทุกวันเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจอีกชุดหนึ่งจากงานวิจัยข้างต้น คือ ในจำนวนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ “สุรา” (เหล้าขาว เหล้าแดง และเหล้าพื้นบ้าน) ถือเป็นเครื่องดื่มที่คนอีสานโดยเฉลี่ยนิยมดื่มมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 53.5 และตามมาด้วย “เบียร์”เป็นอันดับสองอยู่ที่ร้อยละ 43.2 และนอกนั้นเป็นเครื่องดื่มอื่นๆ ได้แก่ ไวน์องุ่นและแชมเปญซึ่งเป็นเครื่องดื่มในแวดวงสังคมอีกระดับ แต่ข้อมูลที่ทำให้ผมประหลาดใจมากที่สุดคือ งานวิจัยฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้สาวชาวอีสานชื่นชอบ “เบียร์” มากที่สุด เพราะในนักดื่มสาว 100 คน นิยมดื่มเบียร์มากถึง 67 คน โดยชื่นชอบการดื่มสุราอยู่ 22 คน ในขณะที่ผู้บ่าวนักดื่ม 100 คน นิยมเบียร์ประมาณ 36 คน แต่มักเหล้า (ชอบสุรา) สูงถึง 63 คน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้หญิงจะดื่มเบียร์มากกว่าผู้ชาย หรือผู้ชายจะดื่มสุรามากกว่าผู้หญิง บทสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้ ก็ทำให้เราเชื่อได้ว่า ”เบียร์” ยังคงเป็นเครื่องดื่มที่ชาวอีสานมักเลือกบริโภคเป็นลำดับต้น ๆ ในทุกช่วงเทศกาล
เบียร์…ความสุขที่คุณดื่มได้ (แต่ถ้ารู้ว่าต้องขับรถ ต้องไม่ดื่ม)
ผมก็เป็นนักดื่มคนหนึ่งครับ ที่มีความสุขและสนุกสนานเมื่อได้มีโอกาสพบปะเพื่อนฝูงเก่าๆ ตามลานเบียร์สดของห้างดังๆ ในช่วงก่อนปีใหม่ของทุกปี (ยกเว้นคืนวันสิ้นปี) แต่ก็ยังติดใจสงสัยอยู่เหมือนกันว่า “เบียร์” กับ “งานฉลองปีใหม่” กลายเป็นคู่หูกันมาเมื่อตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะตั้งแต่จำความได้ก็เห็นญาติมิตรที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่หลายต่อหลายท่านรินเหล้าเบียร์ชนแก้วฉลองกันประจำทุกปีใหม่แล้ว
เคยได้ยินหลายคนพูดครับว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอดีจะช่วยบำรุงสุขภาพ ทำให้ระบบสูบฉีดเลือดในร่างกายดี และในช่วงอากาศเย็น ๆ แบบนี้ แอลกอฮอล์ก็จะช่วยสร้างความอบอุ่นได้ดีในระดับหนึ่ง
แต่คำถาม คือ ปริมาณพอดีที่เขาว่ากันนี่สิ ! มันคือปริมาณแค่ไหนกันแน่ ?
ผมว่าคนทั่วไปคงไม่สามารถกำหนดได้ว่าต้องแค่ 1 แก้ว 1 กระป๋อง หรือ 1 ขวด เพราะหากเอาความสุขเป็นที่ตั้ง ปริมาณก็คงอยู่ที่ความต้องการดื่มและความสนุกของผู้นั้นเป็นหลัก แต่เมื่อใดก็ตามที่มีกฎหมายหรือหลักการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์แล้วล่ะก็ ปริมาณที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเห็นว่าพอดี คือ เมื่อดื่มแล้ว…ต้องไม่เมา
คำถามต่อมาคือ จะมีวิธีทราบได้อย่างไรว่ามีอาการเมา? เพราะคนส่วนมากโดยเฉพาะคนขับรถที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วถูกเรียกตรวจตามด่านตำรวจจราจรต่าง ๆ ก็มักจะโต้แย้งเสมอว่าตนเองไม่ได้เมา (ทั้ง ๆ ที่เดินเป๋ไปเป๋มา หรือมีอาการตาแดงตาลอย พูดจาไม่รู้เรื่อง) คำตอบของอาการเมาสุราตามกฎหมาย คือ เป็นผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อได้ทำการเป่าเครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ณ จุดตรวจจุดสกัดต่างๆ หรือถ้าหากขัดขืนไม่ยอมเป่ากฎหมายก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเมา
อนึ่ง มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเทียบปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด เขาบอกว่าเมื่อดื่มเบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 5 ดีกรี ปริมาณ 1 กระป๋อง (330 มิลลิลิตร) จะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่หากดื่มเบียร์ 1 ขวด (630 มิลลิลิตร) หรือ เบียร์ 2 กระป๋อง ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอาจมากกว่าหรือน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ดื่มเป็นสำคัญ แสดงว่าหากเราต้องไปลานเบียร์และมีความจำเป็นต้องดื่มจริงๆ ก็ควรดื่มแบบพอดี ๆ คือ ไม่เกิน 1 กระป๋อง หรือ 1 แก้วมาตรฐาน แต่ผมว่าทางที่ดีที่สุด คือ ถ้ารู้ว่าต้องไปลานเบียร์ก็ควรหลีกเลี่ยงการขับรถส่วนตัวครับ เพราะเมาแล้วขับมันจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย
“เมาแล้วขับ” ยังครองแชมป์สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงปีใหม่
แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะได้ตั้งศูนย์เฝ้าระวังในทุกจังหวัด เพื่อรณรงค์ป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นประจำทุกปีก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เพราะจากข้อมูลอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ 2560 ที่ผ่านมาพบว่า “เมาแล้วขับ” คือสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดถึงร้อยละ 36.59 และจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี (33 ราย) โดยที่จังหวัดอุดรธานีและเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด (164 คน) และเกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด (152 ครั้ง) สถิตินี้ชี้ให้เห็นว่าตามหัวเมืองใหญ่ๆ ในแต่ละภูมิภาคที่มีการจัดสถานที่รื่นเริงให้ผู้คนในจังหวัดออกมารวมตัวเลี้ยงฉลองกันมากๆ และมีการขับขี่สัญจรพลุกพล่านในช่วงหลังงานเลี้ยงฉลอง ถือเป็นความเสี่ยงที่ภาครัฐควรที่จะต้องเร่งหามาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อมิให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีกในปีนี้และปีถัดไป
มาตรการทางอาญาที่สำคัญในการป้องกันผู้ขับรถในขณะมึนเมาที่ใช้อยู่ขณะนี้ คือ “เมาแล้วขับถูกจับคุมประพฤติ” ก็ถือเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการป้องปรามผู้กระทำความผิดดังกล่าว แต่ก็เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ที่ผ่านมา แม้ว่าจังหวัดทางภาคอีสานอย่างอุดรธานีจะครองแชมป์จังหวัดที่มีอุบัติเหตุสะสมและมีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุดก็ตาม แต่ทว่าในทางคดีอาญาที่นำเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 4,833 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา (4,342 คดี คิดเป็นร้อยละ 89.8) กลับกลายเป็นว่า จังหวัดเล็กๆ จากอีสานตอนบนอย่าง “นครพนม” ครองแชมป์ผู้ถูกคุมประพฤติสูงสุดถึง 272 คดี
ข้อมูลดังกล่าวทำให้สันนิษฐานได้ว่า แม้ผู้ขับขี่จะขับได้ดีก็แค่ไหน หรือจะไม่เกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นก็ตาม แต่หากดื่มสุรายาเมาจนถูกตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็ต้องถูกจับดำเนินคดีและควบคุมความประพฤติทุกราย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าชมเชยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมากที่ช่วยกันสกัดกั้นคนเมามิให้ก่ออันตรายแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ที่ขับขี่ด้วยความปลอดภัยและปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง
รัฐต้องสื่อสารความห่วงใย เน้นย้ำความปลอดภัย และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อหยุดคนเมาขับรถ
การห้ามประชาชนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่คงห้ามได้ยาก ดังนั้น ภาครัฐจึงควรต้องใช้วิธี “สื่อสารความห่วงใย” ให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การชี้ให้เห็นถึงความสูญเสียต่างๆ จากการขับรถในขณะที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุหรือเรื่องการถูกจับดำเนินคดี โดยต้องทำให้ผู้มาใช้บริการทราบถึงบทลงโทษทางกฎหมายและผลร้ายที่จะได้รับในกรณีกระทำความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา เพราะนอกจากจะต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ยังเสียประวัติและเสียอนาคตในการดำเนินชีวิตด้วย
รวมถึง “เน้นย้ำความปลอดภัย” โดยการขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านค้าและลานเบียร์งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในค่ำคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2560 แล้วจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบอื่นแทน (ถ้าทำได้) เช่น เปลี่ยนลานเบียร์เป็นลานแสงสีให้ประชาชนมาถ่ายภาพสวยงาม ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี เนื่องจากทุกปีที่เราเฝ้าระวัง ตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะเพิ่มสูงอย่างน่าตกใจในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนของปีเก่าต่อปีใหม่ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เพราะภายหลังเสร็จจากฉลองปีใหม่แล้ว บรรดานักดื่มซึ่งส่วนมากเป็นวัยรุ่นก็จะขับรถกลับบ้านด้วยอาการมึนเมา ซึ่งหลายคนก็กลับไม่ถึงบ้าน และต้องจากไปก่อนวัยอันควร
แต่หากลานเบียร์ยังคงเปิดให้บริการในช่วงดังกล่าวอยู่ วิธีที่ดีที่สุด คือ “การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเคร่งครัด” กับผู้ที่ฝ่าฝืนทุกราย โดยไม่เลือกปฏิบัติ และควรมีการประชาสัมพันธ์แนะนำให้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะหรือแท็กซี่ในการเดินทางไปกลับเพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ตลอดจนมีการตั้งจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์หน้าบริเวณลานเบียร์ เพื่อควบคุมมิให้ผู้ขับขี่ที่อยู่ในอาการมึนเมาหรือมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มีโอกาสได้ขับรถออกไปก่อความเดือดร้อนเสียหาย ซึ่งจะเป็นการตัดวงจรการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากสาเหตุเมาแล้วขับได้อย่างเป็นรูปธรรม
แต่หากเราเองยังไม่สามารถงดดื่มในช่วงเทศกาลปีใหม่ได้ หรือว่าอดไม่ได้จริง ๆ อารมณ์ประมาณว่าขอดื่มสักวันอะไรทำนองนี้ อย่างน้อยก็ขอความอนุเคราะห์ให้นักดื่มทั้งหลายหาซื้อเบียร์มาแช่ตู้เย็นดื่มกันที่บ้านเลย เชิญดื่มได้ตามที่ใจท่านปรารถนา แต่อย่าออกไปข้างนอกเด็ดขาด แค่นี้น่าจะลดความสูญเสียได้อย่างชะงัก ลองเปลี่ยนค่านิยมมาดื่มเบียร์ฉลองปีใหม่ที่บ้านแทนดูสักปี ถ้าเมาแล้วตื่นขึ้นมาในวันปีใหม่ เห็นตัวเองปลอดภัย ไม่เจ็บ ไม่ตาย ก็เข้าท่าดีนะผมว่า…
แบบว่า “เมาแล้วหลับ กลับห้องนอน” ดีกว่า “เมาแล้วขับ กลับบ้านเก่า”
ถ้าเห็นด้วย คืนวันสิ้นปีนี้ ทุกคนเจอกันที่บ้านใครบ้านมันนะครับ ไม่ต้องไปลานเบียร์ ทราบแล้วเปลี่ยน