โดยเมธา มาสขาว [i]

ประวัติศาสตร์สังคมนิยมของประเทศไทยในหลายด้าน คนอีสานมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ ผู้นำของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมนิยมในประเทศไทยเป็นคนไทลาวหรือคนอีสานจำนวนมาก หนึ่งในผู้นำคนสำคัญในยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งจดจารไว้ในความทรงจำร่วมสมัยในประวัติศาสตร์ไทยจนถึงปัจจุบัน คือ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม อดีตหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดอุดรธานี

พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ผู้ก่อตั้งและอดีตหัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย

พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นคนจังหวัดอุดรธานี เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2460 ในครอบครัวชาวนาของนายนั่น และนางคำมี ศรีสังคม ที่ตำบลสร้างคอม อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี และเพิ่งจะเสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2560 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร สิริรวมอายุได้ 100 ปีบริบูรณ์

ระหว่างนอนป่วยด้วยโรคชราก่อนเสียชีวิตไม่นาน ได้มีนักการเมืองจากภาคอีสานและสมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยทยอยเข้าเยี่ยมอาการเจ็บป่วยและให้กำลังใจจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ นายประจวบ ไชยสาส์น อดีต ส.ส.อุดรธานี นายอดิศร เพียงเกษ อดีต ส.ส.ขอนแก่น นายโสภณ เพชรสว่าง อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีต ส.ส เพชรบุรี นายเอกพร รักความสุข อดีต ส.ส.สกลนคร นายสุชาติ บรรดาศักดิ์ อดีต ส.ส.นนทบุรี นายเทอดภูมิ ใจดี และนายประเสริฐ เลิศยะโส อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ เป็นต้น มีการส่งท้ายนักต่อสู้เพื่อสังคมนิยมตลอดกาลด้วยการขับกล่อมบทเพลงจากเสียงแคน จนทำให้ผู้เฒ่าที่นอนซมอยู่ ยกไม้ยกมือขึ้นมาฟ้อนรำสุดท้ายก่อนฤดูกาลแห่งการลาจาก

ทิ้งไว้เพียงประวัติศาสตร์และความทรงจำของผู้คนร่วมสมัยต่อผู้ผลักดันพื้นที่ทางสังคมและอุดมการณ์ทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่ยืนอยู่ผลประโยชน์ของสังคมที่สมควรคารวะ ประวัติศาสตร์ของสามัญชนผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งถากถางสร้างทางให้แก่สังคมประชาธิปไตยในวันนี้ ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่สูงส่งเท่าที่มนุษย์ผู้หนึ่งจะเสียสละได้ ในยุคสมัยที่ “สังคมนิยม” ต่อสู้ทางการเมืองอย่างยากลำบากในยุคสงครามเย็น และความเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ของชนชั้นนำไทย หลังจากรัฐไทยเดินตามแนวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ

พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เติบโตในครอบครัวชาวนาที่อาศัยอยู่บนดินแดนอันเป็นศูนย์กลางพื้นที่ลุ่มน้ำโขงของแอ่งสกลนคร เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านสร้างคอม และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลด้วยระดับคะแนนยอดเยี่ยมของประเทศ ในปี 2478 หลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองในสยามได้ไม่นาน ต่อมาเขาได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดครูในบางกอก จนจบหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคประถม (ป.ป.) และกลับมาเป็นครูที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูลบ้านเกิดในปี 2479 พร้อมทั้งได้ลงเรียนตลาดวิชาจนสำเร็จปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต  (ธ.บ.) จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี 2483 โดยอาศัยการอ่านหนังสือและตำราที่ส่งมาจากบางกอก เมื่อถึงวันสอบก็ขี่ม้าและนั่งเกวียนไปขึ้นรถไฟเพื่อไปเข้าสอบที่กรุงเทพมหานคร

ต่อมาในปี 2484 เขาสอบเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยอัยการ เป็นข้าราชการกรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย แต่ทำงานได้เพียง 6 เดือน เขาก็สอบแข่งขันได้เป็นทหารในกรมพระธรรมนูญในปี 2485 หลังจากนั้นในปี 2492 พ.อ.สมคิด สอบได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาตรีทางด้านสังคมศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์และสังคมวิทยา รวมทั้งได้รับประกาศนียบัตรด้านสังคมศาสตร์และการบริการจาก London School of Economics and Political Science (L.S.E) มหาวิทยาลัยลอนดอน โดยใช้เวลา 8 ปีจึงเดินทางกลับมาประเทศไทยและรับราชการติดยศพันเอก และศึกษาต่อจนจบปริญญานิติศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2503 ก่อนจะลาออกจากราชการและย้ายการทำงานไปเป็นนักวิชาการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2506 จากการชักชวนของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้น

ระหว่างนั้น พ.อ.สมคิด ได้ผลิตผลงานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์หลายเล่ม เช่น ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจทวีปยุโรป เป็นต้น ด้วยความที่เป็นคน “ลูกอีสาน” ที่หมั่นเพียรจนเรียนหนังสือเก่งมากคนหนึ่งของเมืองไทย ทำให้ พ.อ.สมคิด มีโอกาสในการเรียนรู้และเข้าใจโลกและสังคมมากกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศ ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจที่จะเสียสละและก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองในวัย 52 ปี เพื่อลงเลือกตั้งปี 2512 ในนาม “พรรคเสรีประชาธิปไตย” ซึ่งมี “จารุบุตร เรืองสุวรรณ” เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งมีเพียงพ.อ.สมคิด คนเดียวที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.

ต่อมาหลังการปฏิวัติของคนหนุ่มสาวในเดือนตุลาคม 2516 พ.อ.สมคิด ตัดสินใจก่อตั้ง “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย” ขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ที่เปิดเสรีพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนแรก โดยมี ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เป็นเลขาธิการพรรค ท่ามกลางกระแสสูงของอุดมการณ์สังคมนิยมและประชาธิปไตยและการสนับสนุนจากประชาชนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักการเมืองแนวสังคมนิยมที่เคยต่อสู้มาในระบบรัฐสภามาก่อน จากนักวิชาการก้าวหน้าและโดดเด่นจากรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความคิดในเชิงสังคมนิยม ตั้งแต่นักวิชาการสังคมนิยมที่มีบทบาทและเป็นที่ยอมรับระดับสากล รวมถึงบรรดาผู้นำนิสิตนักศึกษาที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น

พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยส่งผู้สมัครชิงตำแหน่ง ส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 จำนวน 82 คน และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จากประชาชนมากถึง 15 ที่นั่งในรัฐสภา คือ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม โสภณ วีรชัย สม วาสนา และเติม สืบพันธ์ จากอุดรธานี ไขแสง สุขใส จากนครพนม วิชัย เสวมาตย์ และสุทัศน์ เงินหมื่น จากอุบลราชธานี อุดร ทองน้อย และประยงค์ มูลสาร จากยโสธร ประเสริฐ เลิศยะโส จากบุรีรัมย์ ศิริ ผาสุก จากสุรินทร์ ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และอาคม สุวรรณนพ จากนครศรีธรรมราช เปรม มาลากุล ณ อยุธยา จากอุตรดิตถ์ และอินสอน บัวเขียว จากเชียงใหม่

ในประวัติศาสตร์การเมืองที่เข้มข้นและชีวิตที่โลดแล่นทางการเมืองอย่างโดดเด่น พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เกือบจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย แต่เกิดเหตุการณ์แปรพักตร์ เมื่อ ส.ส. 3 คนของพรรคไม่ปฏิบัติตามมติของพรรค แต่กลับไปยกมือสนับสนุนคุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นประธานสภา และยกมือโหวตสนับสนุนหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี แทน พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ในขณะที่คะแนนของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีจำนวนใกล้เคียงกัน ทำให้กรรมการบริหารพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยมีมติขับ ส.ส. ทั้ง 3 คน คือ เปรม มาลากุล สม วาสนา และเติม สืบพันธ์ ออกจากพรรค โดยมีการนำชื่อทั้ง 3 คน ไปจารึกบนหลังหมาเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับในขณะนั้นด้วย

พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยเสนอกฎหมายที่โดดเด่นหลายฉบับในรัฐสภา อาทิ การเสนอกฎหมายควบคุมการถือครองที่ดินจนผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่วุฒิสภาในขณะนั้นกลับไม่เอาด้วยจึงกลับมาสู่ที่ประชุมร่วม แต่ไม่ทันที่จะได้พิจารณาก็มีเหตุต้องยุบสภาเสียก่อน ต่อมา ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรค ถูกลอบยิงเสียชีวิตในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519 หลายคนถูกติดตาม คุกคาม ข่มขู่และปองร้าย แกนนำนักศึกษาหลายคนโดยยิงเสียชีวิต ท่ามกลางกระแส “ขวาพิฆาตซ้าย” ที่กลับมาครองพื้นที่ทางสังคมเพื่อตอบโต้กระแสสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยในเวลาต่อมา

สมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยหลายคนหนีเข้าป่าเป็นแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) นอกจากบางคนเป็นผู้ผ่านทางแล้ว หลายคนยังไปเป็นสมาชิกและแกนนำคนสำคัญในขบวนการปฏิวัติด้วย หลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยก็ถูกสั่งยุบพรรคตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ ในขณะที่ พ.อ.สมคิด ยังคงขับเคลื่อนการเมืองอยู่ในเมืองโดยรับเป็นประธานโครงการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย (ครป.) ในปี 2518 (จนถึงปี 2529) ร่วมกับนักวิชาการ นักคิดและนักการเมืองหลายท่าน เช่น สุภา ศิริมานนท์ และมารุต บุนนาค และได้ช่วยเหลือนักศึกษาประชาชนที่ถูกจับกุมกวาดล้างด้วยเช่นกัน

ต่อมา พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ย้ายมาร่วมงานกับพรรคแรงงานประชาธิปไตยที่มีนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เป็นหัวหน้าพรรค และเป็นอดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่แปรพักตร์มาเป็นวิทยากรให้กับวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายซึ่งนำมาซึ่งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในระหว่างนี้ พ.อ.สมคิด ลงเลือกตั้งในนามพรรคการเมืองหลายพรรคในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ และเป็น ส.ส. จังหวัดอุดรธานี หลายสมัยในวัยชรา[ii]

ในฐานะผู้นำแนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยคนสำคัญคนหนึ่ง ยกตัวอย่างแนวคิดเช่น การสร้างรัฐสวัสดิการ และการมุ่งแก้ปัญหาความยากจนของคนในภาคอีสาน เป็นต้น ชีวิตการเมืองที่ยาวนานจนเป็นที่เคารพศรัทธาของสังคม พ.อ.สมคิด จึงได้รับเลือกให้ทำงานเพื่อรับใช้บ้านเมืองอย่างไม่หยุดหย่อน เขาได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 99 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี 2539 ยุคที่มี บรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่เรียกว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทย ไม่น้อยหน้ากว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ต่อมา พ.อ. สมคิด ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนที่เคารพนับถือและเชื่อมั่นในการเป็นนักการเมืองที่ดีมาอย่างยาวนาน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประจำจังหวัดอุดรธานี ในวัย 83 ปี และเป็น ส.ว. ชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ ระหว่างปี 2543-2549 ทำให้เขาได้รับสมญานามว่า “คนดีศรีสภา”

ชีวิตครอบครัวของวีรบุรุษเมืองอุดรธานี คนดีศรีสภา พ.อ.สมคิด ศรีสังคม สมรสกับ ฟรานเซสกา ศรีสังคม มีบุตรชายหญิงรวมกันทั้งสิ้น 4 คน แม้ชีวิตจะย่างเข้าปัจฉิมวัย แต่ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านวิกฤตทางการเมืองมาอย่างยาวนาน ทำให้ประสบการณ์ของเขามีคุณค่าอย่างสูงในการส่งต่อให้คนรุ่นหลัง ผ่านการถ่ายทอดเล่าสู่กันฟังให้ผู้คนมากมายหากมีโอกาส เนื่องจาก พ.อ.สมคิด ไม่เคยคิดหยุดการทำงานเพื่อสร้างสังคมที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้เคยประสบความสำเร็จและรุ่งโรจน์ในหน้าที่การทำงานมากมาย แต่ในชีวิตบั้นปลายเขาก็ยังคงใช้ชีวิตอย่างสมถะในบ้านหลังเล็กๆ อย่างอบอุ่น

ในปี 2553 มีการเปิดตัวพรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และเพื่อน ในงานวันเปิดตัวนั้น พ.อ.สมคิด ได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถาพิเศษบนเวที เขากล่าวว่า “ยังสู้อยู่” แม้ในวัย 93 ปี ที่สุขภาพไม่แข็งแรงมากนัก ล้วนสะท้อนอุดมการณ์และความหมายของชายชราผู้หนึ่งเป็นอย่างดี ผู้ที่ยังมีความหวังในสังคมใหม่ ไม่ทดท้อต่อปัญหาและอุปสรรคนานับประการที่ผ่านเข้ามาทั้งทางสภาพร่างกายและกาลเวลา ทั้งหมดล้วนเป็นคุณค่าและความหมายของชายผู้หนึ่งซึ่งค่าควรคารวะยกย่องนับถือ เป็นปูชณียบุคคลของสังคมการเมืองไทยอย่างแท้จริง

“สมคิด ศรีสังคม” จากไปในวัย 100 ปี กับอีก 2 เดือน ทิ้งไว้ซึ่งเกียรติภูมิสูงยิ่งของคนอีสานที่สมควรได้รับการเล่าขานต่อเพื่อเป็นคุณูประโยชน์และแรงบันดาลใจให้ผู้คนในรุ่นต่อไป ที่จะมีส่วนร่วมสร้างบ้านแปงเมืองของเราเอง และรับไม้ต่อจากผู้เฒ่าที่เขาลงแรงถากถางเส้นทางมากว่า 100 ปีที่ผ่านมา พ.อ. สมคิด ถือว่าเป็นนักการเมืองที่อายุยืนมากที่สุดอีกคนหนึ่ง ทุกครั้งที่มีคนถามถึงเคล็ดลับการรักษาสุขภาพเพื่อให้อายุยืนสามารถทำงานได้ยาวนาน เขามักตอบว่า

“กินปลาเป็นอาหารหลัก กินผักและผลไม้เป็นยา กินกล้วยน้ำว้าในยามว่าง เดินทางวันละห้าพันก้าว จีบสาวเป็นบางโอกาส ไม่พลาดอายุยืน”

เมธา มาสขาว เป็นวิทยากรโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

[i] อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2544 ปัจจุบันเป็นนักเขียน นักวิชาการอิสระที่สนใจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) และนิเวศน์สังคมนิยม (Social Ecology)

[ii] ผู้สนใจชีวประวัติอ่านเพิ่มเติมได้ที่: เบญจมาภรณ์ ตันหยง. แนวคิดและบทบาททางการเมืองของพันเอก สมคิด ศรีสังคม. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2552

image_pdfimage_print