ขอนแก่น – จำเลยคดีพูดเพื่อเสรีภาพ ขอสู้คดี เพื่อยืนยันการแสดงความเห็นต่อร่าง รธน. ก่อนประชามติ เป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมาย ศาลทหารนัดตรวจพยานหลักฐาน 21 มี.ค. 61 ด้านอัยการศาลทหารขอคัดค้านการตรวจพยานหลักฐาน เพราะกลัวคดีล่าช้า ทนายจำเลยโต้ควรตรวจสอบพยานหลักฐานก่อนการสืบพยาน เพราะเป็นสิทธิของผู้ต้องหา เพื่อไม่ให้เสียเปรียบทางคดี

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น นัดสอบคำให้การจำเลยคดีพูดเพื่อเสรีภาพทั้งหมด 8 คน ข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป กรณีจัดเสวนา “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559 เพื่อรณรงค์การจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559
จำเลยทั้ง 8 คน ประกอบด้วย จำเลยที่ 1 นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, จำเลยที่ 2 นายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์, จำเลยที่ 3 นายฉัตรมงคล เจนเชี่ยวชาญ, จำเลยที่ 4 น.ส.ณัฐพร อาจหาญ, จำเลยที่ 5 น.ส.ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์, จำเลยที่ 6 น.ส.นีรนุช เนียมทรัพย์ จำเลยที่ 7 นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ และจำเลยที่ 8 นายชาดไท น้อยอุ่นแสน
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวน 2 คน คือจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ในความผิดเดียวกันอีกด้วย
เบื้องต้นจำเลยทั้ง 8 คน ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอสู้คดีต่อองค์คณะตุลาการศาลทหารเพื่อขอพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา
น.ส.ณัฐพร อาจหาญ จำเลยที่ 4 ในคดีนี้กล่าวถึงเหตุผลที่จะขอต่อสู้คดีว่า การกระทำของพวกตนนั้นไม่ผิดตามที่ถูกกล่าวหา เพราะเป้าหมายในการจัดงานพูดเสรีภาพดังกล่าวต้องการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง, แสดงความคิดเห็นรวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการทำประชามติขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. 2559 ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาลไทยได้รับเอาข้อเสนอของจากต่างประเทศที่มีจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) เมื่อเดือน พ.ค. 2559 หนึ่งในข้อเสนอจากต่างประเทศนั้นมีการพูดถึง ขอให้รัฐบาลไทยรับรองว่าจะมีการพูดคุยถกเถียงประชามติเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมด้วย
น.ส.ณัฐพรกล่าวอีกว่า การจัดเวทีพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญและการประชามติดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับการจัดเวที ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ปี 2560) เชิงวิชาการ ไม่ได้เป็นการมั่วซุมทางการเมืองหรือชุมนุมทางการเมืองตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด รวมถึงในช่วงนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งและหน่วยงานของรัฐบาลอื่น ๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลก็มีการเดินสายจัดเวทีเสวนาสาธารณะที่พูดถึงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญและรณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติ ซึ่งที่ จ.ขอนแก่น มีเวทีจัดเสวนาเรื่อง “รู้จักร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการทำประชามติ” ซึ่งจัดขึ้นที่ ม.ขอนแก่นเช่นกัน
ระหว่างการสอบคำให้การในศาล มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นหลังจากจำเลยทั้ง 8 คนให้การต่อคณะตุลาการศาลทหารเป็นที่เรียบร้อยและตุลาการศาลทหารเตรียมนัดวันนัดสืบพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายก่อนการสืบพยานโจทก์
อัยการศาลทหารลุกขึ้นขอคัดค้านว่า ไม่ต้องการให้ทนายฝ่ายจำเลยตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยานโจทก์ เนื่องจากกลัวขั้นตอนการพิจารณาคดีจะล่าช้า ด้านทนายจำเลยแถลงต่อองค์คณะตุลาการศาลว่า จะขอตรวจพยานหลักฐานตามสิทธิทางกฎหมายของผู้ต้องการ ตุลาการศาลทหารจึงอนุญาตให้มีการนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 มี.ค. 2561 เวลา 8.30 น. ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร
จ.ขอนแก่น

นางเยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ตัวแทนทนายความจำเลย กล่าวถึงเหตุผลที่คัดค้านการแถลงของอัยการทหารที่ไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบพยานหลักฐานก่อนการสืบพยานโจทก์ว่า การตรวจสอบพยานหลักฐาน เป็นสิทธิของผู้ต้องหาตามกฎหมาย ที่ศาลเปิดโอกาสให้มีการยื่นเอกสาร พยานหลักฐานเอกสารและพยานบุคคลของคู่ความทั้งสองฝ่าย ซึ่งเจตนารมณ์ของการตรวจสอบพยานหลักฐานก็เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในเรื่องพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่าย
เพราะในอดีต ระบบกฎหมายของประเทศไทยเป็นระบบกล่าวหาจำเลย ฝ่ายโจทก์มีพยานหลักฐานที่กล่าวหาจำเลยเพียงฝ่ายเดียว รวมถึงจำเลยไม่มีสิทธิที่ได้ดูพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์กล่าวหา เฉพาะฝ่ายจำเลยจึงมักจะเสียเปรียบในทางคดี นางเยาวลักษณ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกฎหมายระบุชัดเจนว่าต้องให้มีการตรวจสอบพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่าย เพื่อให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มและเท่าเทียมกัน
“การที่อัยการทหารคัดค้านการตรวจสอบพยานหลักฐานทนายฝ่ายจำเลยนั้น หากตนในฐานะทนายจำเลยไม่คัดค้านก็จะทำให้ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบในทางคดีได้” นางเยาวลักษณ์ย้ำ
ทั้งนี้ คดีพูดเพื่อเสรีภาพมีผู้ต้องหารวม 11 คน แต่มีผู้ต้องหา 8 คนถูกฟ้องเป็นจำเลย ส่วนผู้ต้องหา 2 คนยอมรับการปรับทัศนคติจากเจ้าหน้าที่ทหาร และผู้ต้องหาอีก 1 คน คือนายรังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ปฏิเสธกระบวนการตามกฎหมายตั้งแต่ต้น เนื่องจากเห็นว่าคดีขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่มีความชอบธรรม โดยนายรังสิมันต์ไม่มาปรากฎตัวต่อศาล
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา จำเลยที่ 2-8 ได้ถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นจำนวน 1 วัน ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลให้จำเลยวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน คนละ 10,000 บาท และอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยโดยไม่ได้มีเงื่อนไข