โดยบูรพา เล็กล้วนงาม
สกลนคร – อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.ภัฏสกลนคร ไร้ความหวังต่อสถานการณ์ของภาคอีสานในปีหน้า แม้นายกรัฐมนตรีประกาศจัดเลือกตั้งเดือน พ.ย. ปี 2561 พร้อมชี้ว่าโครงการพัฒนาที่ลงมาสู่ภาคอีสานล้าหลัง และจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างรุนแรง
ในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ซึ่งจะเข้าสู่ปีที่ 4 ของการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดอะอีสานเรคคอร์ดเชิญ น.ส.กิติมา ขุนทอง อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร พูดคุยถึงสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองในภาคอีสานและประเทศไทยในปีหน้า

น.ส.กิติมา ขุนทอง อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สกลนคร
น.ส.กิติมากล่าวว่า สถานการณ์ในปีหน้าความหวังริบหรี่จนเชื่อถืออะไรไม่ได้ ตนไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้ง ตนไม่เชื่อคนที่ไม่รักษาคำพูด ไม่มีสัจจะ เนื่องจากก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง อีกเหตุผลคือแม้ คสช.จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดเล็กเคลื่อนไหว (พรรคเล็กคือพรรคการเมืองที่สนับสนุนทหารที่เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง – ผู้เขียน) แต่โดยระบบยังไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ทำกิจกรรมทางการเมืองได้
“ถ้าจะมีการเลือกตั้งได้ พรรคเล็กที่เขากำลังฟอร์ม (จัดตั้ง) มันต้องเป็นพรรคที่มีโครงสร้างที่ชัดเจน ตอนนี้เราเห็นรูปร่างแต่ยังไม่เห็นความชัดเจน เมื่อไหร่เขาเซ็ต (ตั้ง) พรรคเล็กได้ก็อาจมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น” น.ส.กิติมากล่าวและว่า ไม่แน่ใจว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 หรือไม่ เพราะถึงจะจัดตั้งพรรคทหารได้สำเร็จแต่ก็ไม่สามารถหาความแน่นอนจาก พล.อ.ประยุทธ์ที่เลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้งได้
น.ส.กิติมากล่าวถึงพรรคการเมืองที่จะครองใจคนอีสานในการเลือกตั้งว่า คนอีสานเป็นพลเมืองที่มีความตื่นตัวทางการเมืองค่อนข้างสูง ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการบรรยากาศประชาธิปไตย ถ้าพรรคการเมืองไหนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพประชาชนก็จะเทคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองนั้น ถ้ามีการเลือกตั้งอย่างเสรีพรรคทหารที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่จะเจอกับคู่แข่งที่น่ากลัวมาก
ส่วนนักการเมืองที่จะมาเป็นผู้นำชาวอีสาน อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ ผู้นี้ กล่าวว่า ยังมองไม่เห็นว่านักการเมืองคนไหนจะมาเป็นผู้นำชาวอีสานได้ เนื่องจากตั้งแต่ คสช.เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครอง ในปี 2557 นักการเมืองไม่เคยมีบทบาทออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคอีสานด้วยการพาประชาชนออกจากสถานการณ์ที่เผชิญอยู่
การกลับมาของขบวนการคนเสื้อแดง น.ส.กิติมา กล่าวว่า ถ้าคนเสื้อแดงหมายถึงคนเสื้อแดงที่สนับสนุนคนตระกูลชินวัตร (ทักษิณ ชินวัตร, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) คนเหล่านี้ก็อาจจะกลับมาได้อีก ถ้าพวกเขาทำให้ประชาชนคิดว่าพวกเขาจะพาประชาชนไปสู่การเลือกตั้งได้ และรับการชดเชยต่อจากการถูกกระทำได้ แต่กลุ่มที่น่าจะเติบโตขึ้นคือคนเสื้อแดงที่มุ่งแสวงหาประชาธิปไตยที่ไม่ใช่สายของตระกูลชินวัตร
คนกลุ่มนี้อาจจะเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นที่คิดว่าเป็นตัวแทนของเขา สองสายนี้กำลังมาแรงในภาคอีสาน” น.ส.กิติมากล่าว
สวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าการตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เหมาะสม โดย น.ส.กิติมา กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ยอมรับผลสำรวจดังกล่าวว่าเป็นความจริง แต่ตนไม่ได้บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่ ตนไม่ได้รังเกียจ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่การจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีควรจะขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
“ถ้า พล.อ.ประยุทธ์สู้ตามวิถีทางการเมือง แล้วเขาลงแข่งขันในระบอบประชาธิปไตยการเลือกตั้งที่มันบริุสทธิ์ยุติธรรม ถ้าเขาจะเป็นนายกฯอีกครั้ง เราไม่ได้มีปัญหากับเขานะ” น.ส.กิติมากล่าว
หมดเวลาของรัฐบาลในการสร้างความปรองดองและการปฏิรูปประเทศแล้วหรือยัง น.ส.กิติมา กล่าวว่า คนสูงวัยก็ควรจะพักผ่อนอยู่บ้านดูแลสุขภาพหลังเกษียณหรือเลี้ยงดูลูกหลาน ส่วนการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศอีก 20 ปีควรเป็นหน้าที่คนที่มีพลังและมีวิสัยทัศน์
“รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้พาเราไปข้างหน้า แต่เขาพาเราย้อนกลับไปอีกหลายสิบปี ไปสู่ยุคสมคบคิด ไปสู่บรรยากาศทางการเมืองยุคต้นปี 2500 หรือเปล่า” น.ส.กิติมากล่าวและว่า รัฐบาลที่ไม่สามารถนำพาประเทศไปข้างหน้าสมควรที่จะอยู่ต่ออีกหรือ ประเทศไม่ควรอยู่ในมือของคนชราวัยเกษียณอีกแล้ว
วิธีการวางมือทางการเมืองของรัฐบาล อาจารย์ มรภ.สกลนคร ผู้นี้ บอกว่า การจะวางมือได้ต้องมีฐานทางการเมืองหรืออำนาจพิเศษเพื่อรองรับรัฐบาลชุดนี้ก่อน แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะมีฐานอำนาจอะไร สิ่งนี้จึงทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้ง ส่วนสิ่งที่พบเห็นขณะนี้มีเพียงการเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน
“จริงๆ ก็ควรกลับไปอยู่บ้านเลี้ยงลูก ดูแลสุขภาพตอนบั้นปลายของชีวิต ก็ไม่ควรหลอกตัวเองว่ามีคนชื่นชม” คือคำตอบของ น.ส.กิติมา ถึงสิ่งที่ต้องการบอกแก่รัฐบาลชุดนี้ ส่วนการแก้ไขปัญหาปากท้องของคนอีสานหรือคนทั้งประเทศของรัฐบาล น.ส.กิติมาระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อาทิ เรื่องข้าวและยางพารา แม้กระทั่งการมอบสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้ประชาชน เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา และการกระจายอำนาจ รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ แต่กลับเป็นผู้ทำลายทั้งหมด ฉะนั้นจึงไม่สามารถฝากความหวังไว้กับผู้ที่ทำลายอนาคตของประชาชนได้
“ไม่มีอะไรจะฝากเขา นอกจากกลับไปเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานที่บ้าน” อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ ผู้นี้ กล่าวย้ำ
ส่วนกรณีของคสช.กับอนาคตภาคอีสาน น.ส.กิติมากล่าวว่า เมื่อพิจารณายุทธศาสตร์ 20 ปีของการพัฒนาภาคอีสานจะพบว่า สิ่งที่ คสช.กำลังดำเนินการคือการตอกย้ำว่า ภาคอีสานเป็นพื้นที่ยากจน เมื่อเปรียบเทียบกับยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคอื่นๆ จะพบว่าของภาคอื่นเป็นโครงการต่อยอด แต่ภาคอีสานเป็นโครงการขั้นพื้นฐานคือการแก้ไขปัญหาความยากจน
“สำหรับอีสานสิ่งที่ดำเนินการอยู่คือการแก้ไขปัญหาความยากจน วาทกรรมเหล่านี้เป็นวาทกรรมต้นปี 2500 แต่นำมาใช้ในยุทธศาสตร์ชาติอีก 20 ปี” น.ส.กิติมากล่าว
อาจารย์ มรภ.สกลนครผู้นี้ กล่าวอีกว่า โครงการที่ได้รับจากการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ในภาคอีสาน อาทิ จ.นครราชสีมา และจ.กาฬสินธุ์ จึงย่ำอยู่กับการแก้ไขปัญหาความยากจน การแก้ไขปัญหาความยากจนนำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชนอย่างรุนแรง หลังจากรัฐบาลอนุมัติโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จำนวนมาก เช่น โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ การเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับใหม่ (กฎหมายสิ่งแวดล้อม) และ การเสนอร่างกฎหมายบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เนื่องจากโครงการต่างๆ ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยตรง
น.ส.กิติมากล่าวอีกว่า วิธีการพัฒนาของรัฐบาลลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการทำให้คนอีสานไม่มีความเป็นพลเมือง แต่ทำให้คนอีสานเป็นราษฎร เนื่องจากคนอีสานจะไม่มีศักยภาพในการแสดงออกและเรียกร้องได้อย่างเต็มที่เพื่อประกาศว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับโครงการเหล่านั้น โดยรัฐจะใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อทำให้ประชาชนไม่สามารถขัดขืนต่อโครงการพัฒนาได้
“จะมีความน่ากลัวมากเพราะรัฐคสช.จะจับมือกับทุน และใช้โครงการสร้างของทหารกดขี่และควบคุมประชาชนอย่างรุนแรง” อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ผู้นี้กล่าวและว่า ถ้ารัฐบาลมีอำนาจต่อ สถานการณ์ความรุนแรงในภาคอีสานจะน่ากลัวและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

โครงการตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล คสช. ที่อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น
น.ส.กิติมา กล่าวถึงนโยบายประชารัฐในภาคอีสานว่า ยังไม่เห็นว่าประชาชนได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากนโยบายดังกล่าว โครงการประชารัฐในหลายพื้นที่เป็นแค่ร้านขายของที่ระลึกที่ขายสินค้าไม่ค่อยได้ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ไม่ทำให้เกิดการหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก
“โครงการประชารัฐเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนขนาดใหญ่มากกว่า แต่สร้างภาพสร้างการมีส่วนร่วมและช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก” น.ส.กิติมากล่าว
กรณีรัฐมนตรีบางคนครอบครองทรัพย์สินจำนวนมากกับการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาล อาจารย์ มรภ.สกลนคร ผู้นี้ ระบุว่า คนที่เข้ามาโดยความไม่ชอบธรรม ประชาชนคงจะแสวงหาความชอบธรรม ความบริสุทธิ์ และการปราศจากคอร์รัปชั่นจากคนเหล่านี้ไม่ได้ ประชาชนคงไม่สามารถตั้งคำถามต่อจากความร่ำรวยและนาฬิการาคาแพงได้
“ในเมื่อเขาก็ยึดอำนาจมาจากคนอื่น ปล้นมาจากคนอื่น มันก็ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่เขาก้าวเข้ามาบริหารประเทศนี้อยู่แล้ว” อาจารย์ มรภ.สกลนคร ผู้นี้ กล่าว