โดยวทัญญู สุริยันต์
อุบลราชธานี – นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี มาทำงานที่กรุงเทพฯ เพื่อช่วยเหลือครอบครัว โดยพบว่างานบริการต้องอดทนและยิ้มแย้ม ด้านนักศึกษาม.สยาม ที่เป็นชาวชัยภูมิ เผย การฝึกงานเป็นนักข่าวต้องทำงานแข่งกับเวลา และค้นหาข้อมูล
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2560 เดอะอีสานเรคคอร์ดสนทนากับนักศึกษาจากภาคอีสานถึงลักษณะงานที่ทำ ชีวิตความเป็นอยู่ ประสบการณ์ที่ได้รับ และสาเหตุของการตัดสินใจทำงานที่กรุงเทพฯ

น.ส.ปพิชญา สิทธิ ทำงานที่โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ
น.ส.ปพิชญา สิทธิ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภูมิลำเนาจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เธอทำงานเป็นพนักงานชั่วคราว (Part-time) ของโรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ ทำหน้าที่จัดเตรียมความพร้อมของสถานที่จัดงานเลี้ยง เช่น ปูผ้าคลุมโต๊ะ จัดดอกไม้ใส่แจกัน เช็ดถ้วยชาม และ เสิร์ฟอาหาร ทำงานจะทำเป็นกะ งานมี 3 กะ ประกอบด้วย กะเช้า 07.00 – 17.00 น. กะบ่าย 14.00 – 23.00 น. และ กะเย็น 17.00 – 02.30 น. โดยแต่ละวันจะเข้างานในกะต่างๆ ไม่เหมือนกัน
น.ส.ปพิชญากล่าวอีกว่า มีรายได้วันละ 400 บาท แต่หากมีงานจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ ก็จะได้รับเงินพิเศษ (ค่าทิป) จากแขกที่มาร่วมงานก็จะตกวันละ 600 บาท
“การทำงานบริการจะต้องใจเย็นอดทนและยิ้มแย้มแจ่มใส” น.ส.ปพิชญากล่าวและว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการทำงาน
ส่วนการตัดสินใจเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ น.ส.ปพิชญากล่าวว่า ญาติแนะนำให้มาทำงานเพื่อหารายได้แบ่งเบาภาระของครอบครัว รวมถึงจะได้มีเงินเก็บไว้ใช้เป็นทุนการศึกษาเมื่อเปิดภาคเรียน

น.ส.กิ่งกมล กิ่งแก้ว เป็นพนักงานผู้ช่วยวิจัยของบริษัทเอกชน
น.ส.กิ่งกมล กิ่งแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภูมิลำเนาจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า มาทำงานในกรุงเทพฯ เพราะมีรายได้ที่สูงกว่าการทำงานที่ต่างจังหวัด หางานง่าย มีโอกาสได้เลือกงาน และตนมีประสบการณ์การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เนื่องจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนในกรุงเทพฯ
เธอทำงานรับจ้างอิสระ (ฟรีแลนซ์) ลักษณะงานจะเปลี่ยนไปตามผู้ว่าจ้าง
“ขณะนี้ทำงานเป็น พนักงานผู้ช่วยวิจัยของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง หน้าที่คือ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล เก็บเอกสาร ให้ความสะดวกเเก่ผู้ที่มาใช้บริการ” น.ส.กิ่งกมลกล่าวและว่า ตนทำงานตั้งแต่เวลา 9.00 – 17.00 น. มีรายได้วันละ 500-600 บาท
“การได้ทำงานที่หลากหลายทำให้ได้เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ๆ อยู่เสมอ และทำให้รู้จักกับกลุ่มคนแต่ละสายงานมากขึ้น พอรู้จักกลุ่มคนมากขึ้นหากมีงานเขาก็จะติดต่อมาให้ไปทำงานอีก” น.ส.กิ่งกมลกล่าวถึงประสบการณ์ที่เธอได้รับ

น.ส.ภาณิศา สุขทาพจน์ ฝึกปฏิบัติงานเสมือนจริงที่สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์
น.ส.ภาณิศา สุขทาพจน์ ภูมิลำเนาจังหวัดชัยภูมิ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า “การเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ และทำให้เราได้เรียนรู้การปรับตัวเข้ากับผู้คนใหม่ๆ อยู่เสมอได้”
น.ส.ภาณิศากล่าวอีกว่า การทำงานที่กรุงเทพฯ ทำให้ตนได้รู้จักกับคนหลายรูปแบบ และได้มีความสัมพันธ์กับคนหลายสายงาน
เธอฝึกงานเป็นผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ทีวีดิจิทัล ช่อง 19 (ฝึกปฏิบัติงานเสมือนจริง) ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวภาคสนาม การลงพื้นที่ภาคสนามหากจะต้องเดินทางไปเองจะได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งละ 300 บาท
“ชีวิตการทำงานค่อนข้างเหนื่อย แต่สนุก เป็นสายงานที่ต้องมีความกระตือรือร้นตลอดเวลา ต้องทำงานแข่งกับเวลา” น.ส.ภาณิศากล่าว
น.ส.ภาณิศากล่าวด้วยว่า การฝึกงานทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เช่น การหาข้อมูลข่าวสาร ได้ฝึกคิด การเรียงลำดับความสำคัญของเหตุการณ์ และได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขสถานการณ์ล่วงหน้า
เธอคิดว่าสิ่งที่ได้รับจะเป็นประสบการณ์ที่ดีในการทำงานในอนาคตของเธอต่อไป

น.ส.สิริวิภา จันทร์วิเศษ เป็นพนักงานฝ่ายผลิต บริษัทสุนทรเมทัล อินดัสทรี้
น.ส.สิริวิภา จันทร์วิเศษ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภูมิลำเนาจังหวัดอุบลราชธานี เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อทำงานหารายได้พิเศษช่วงปิดภาคการศึกษา
“คิดว่าที่กรุงเทพมีที่ทำงานเยอะกว่าอุบลฯ และจะมีรายได้ที่มากกว่า” น.ส.สิริภาเล่า
เธอทำงานเป็นพนักงานฝ่ายผลิตของบริษัทสุนทรเมทัล อินดัสทรี้ มีรายได้วันละ 300 บาท ทำงานตั้งแต่ 6.00 – 14.30 น. หากทำงานล่วงเวลาจะได้รับค่าจ้างเพิ่มอีกชั่วโมงละ 56 บาท
“การได้พูดคุยกับคนในครอบครัวจะช่วยให้มีกำลังใจในการทำงาน และการได้รับความช่วยเหลือคำแนะนำจากพนักงานเก่าจะช่วยให้ทำงานได้ดีและราบรื่นมากขึ้น” น.ส.สิริภาบอก
นักศึกษาคณะบริหารศาสตร์ผู้นี้ กล่าวด้วยว่า การทำงานทำให้ได้เรียนรู้สังคม วัฒนธรรมขององค์กร และการปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงาน
วทัญญู สุริยันต์ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560