โดย พีระ ส่องคืนอธรรม

1. เมื่อยูเนสโก ขึ้นทะเบียน “เสียงแคน” ของชาวลาวเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

มันไม่ควรเป็นเรื่องเอิกเกริกอะไรหากยูเนสโก (องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) จะประกาศว่าสิ่งใดหรือบุคคลใดมีคุณค่าทางวัฒนธรรม แต่ทว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว การประกาศอะไรก็ตามของยูเนสโกถือจะเป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียว ทุกปีเด็กนักเรียนไทยถูกสอนไว้ว่า “สุนทรภู่” ยอดกวีเอกของไทย มีอัจฉริยภาพจนยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวัฒนธรรม ดังนั้น หลังจากที่ “เสียงแคน” ได้รับการยกย่องสรรเสริญโดยยูเนสโกเหมือนกับที่ยกย่องสุนทรภู่ ถ้าเราไม่พากัน “ยูเนสโก้เทิดเสียงแคนคู่โลกเอย” อย่างเป็นทางการเหมือนกันบ้างก็รู้สึกราวกับเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง

ถือเป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียวที่ไม่ได้มีแต่เสียงแคนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเท่านั้น แต่การยกย่องของยูเนสโกดังกล่าวยังระบุเฉพาะเจาะจงด้วยว่าเป็น เสียงแคน “ของชาวลาว” นั่นยิ่งทำให้ผู้เขียนคิดต่อไปอีกว่า ในเมื่อคนอีสานจำนวนมากไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคนลาว ก็น่าสงสัยว่า แล้วเราจะเฉลิมฉลองการขึ้นทะเบียนเสียงแคนในฐานะที่เราเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของ “คนลาว” ที่มีมรดกทางวัฒนธรรมนี้ด้วยกันได้ไหม แทนที่จะแสดงความยินดี “เอาใจช่วย” ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเดียว?

โลโก้ของเดอะอีสานเรคคอร์ดเองก็เป็นรูปแคน แต่รูปภาพหน้าปกเฟสบุ๊คกลับไม่มีแผนที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอยู่ในนั้น แม้ว่าผู้อ่านของเราจำนวนไม่น้อยจะมาจาก สปป. ลาวก็ตาม

2. เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่อีสานว่าให้ติดตามประกาศจากรัฐบาล “อย่ามัวฟังแต่หมอลำ”

ตามประวัติศาสตร์นายกรัฐมนตรีประเทศไทยทั้งหมด 29 คน มีเพียงสองคนที่พอจะนับได้ว่าเป็น “คนอีสาน” คุณเชื่อหรือไม่ว่า พลเอกประยุทธ์คือหนึ่งในนั้น (อีกคนคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2500 เป็นที่รู้จักในนาม “นายก ม.17” ผู้ปล่อยให้ประชาชนรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เนิ่นนานชั่วกัปชั่วกัลป์ ฟังดูคุ้นๆ เนาะ)

เฟสบุ๊คไข่แมวล้อเลียนคำแนะนำของพลเอกประยุทธ์ที่มีต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วม

เมื่อปี 2558 พลเอกประยุทธ์ เผยความเป็นอีสาน “100 เปอร์เซ็นต์” ต่อหน้าธารกำนัลชาวโคราช โดยกล่าวว่าตนเกิดและเติบโตในค่าทหารที่โคราช และมารดาเป็นคนจังหวัดชัยภูมิ พลเอกประยุทธ์รู้ว่าคนอีสานเวลาจับข้าวเหนียวกินจะต้องจับสามนิ้ว

หากว่านั่นคือระดับภูมิความรู้เรื่องคนอีสานที่พลเอกประยุทธ์ภูมิใจจะโชว์แล้วล่ะก็ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพลเอกประยุทธ์ถึงคิดว่าคนอีสานถึงคาแต่ฟังหมอลำจนไม่สนใจฟังประกาศเรื่องน้ำท่วมจากรัฐบาล พลเอกประยุทธ์กล่าวกับผู้ประสบภัยน้ำท่วมชาวขอนแก่นว่า ควรฟังข้อมูลจากตัวเองและกรมอุตุนิยมวิทยา อย่าไปฟังแต่หมอลำ คำพูดดังกล่าวอาจพูดเพื่อหยอกล้อชวนผู้ฟังหัวเราะ แต่ก็เป็นคำพูดที่ก่อให้เกิดบาดแผลในใจหลายคนไปแล้ว ท่านผู้นำคงต้องจำไว้เสียแล้วละว่า ถ้าริจะด่าว่าดูถูกคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วจะมาโทษว่าสื่อเป็นต้นเหตุ “กระพือข่าว” คงไม่ได้

3. เมื่อครูเกษียณแต่งเพลงหมอลำภาษาอังกฤษเทิดทูนพระกรณียกิจในหลวง ร.9

พูดถึงหมอลำ ก็น่าชี้แจงเหตุผลหมอลำไม่ได้ทำหน้าที่มอบความเพลิดเพลินเท่านั้นแต่ยังนำเสนอข้อมูลความรู้ที่มีประโยชน์อีกด้วย ลักษณะเด่นของหมอลำอย่างหนึ่งก็คือ ใช้เนื้อเพลงเป็นเครื่องมือทางสังคมในการถ่ายทอดข้อมูลและบอกเล่าเรื่องราว ในอันดับที่สามนี้ หมอลำถูกนำมาใช้เพื่อเผยแพร่คุณูปการต่อประเทศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งสวรรคตไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559

การไว้อาลัยช่วงพีคในเดือนตุลาคมปีนี้ นางวาสนา แท่งทอง อดีตครูสอนภาษาอังกฤษและศิลปินหมอลำ ได้ปล่อยวิดีโอกลอนหมอลำที่เธอประพันธ์ขึ้นสำหรับผู้ฟังชาวต่างชาติ โดยกลอนลำดังกล่าวทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวพระกรณียกิจของในหลวง ร.9 และถูกนำมาเผยแพร่ทางโทรทัศน์ที่มีผู้ชมมากที่สุดในช่วงข่าวเช้า ในวิดีโอ เสียงแคนฟังดูมีเสน่ห์ชวนหลงใหล เสียงลำก็เพราะดีทีเดียว แต่หากดูถ้อยคำแต่ละประโยค อาจออกมาไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจ การที่ครูวาสนากล่าวถึงพระราชาว่าเป็น “dearest great idol royal Dad…” ในตอนท้ายของกลอนลำถือว่าเป็นตัวอย่างอันดีของการแปลที่แปลกแปร่งและชวนอึดอัดชอบกล

4. เมื่อลำไย ไหทองคำ ไม่สะท้านต่อการถูกตีตราว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีโดยพลเอกประยุทธ์ แก้เผ็ดด้วยการปล่อยมิวสิควิดีโอที่มีบุคคลหน้าตาคล้ายคลึงกับท่านนายกออกมา

นักร้องหมอลำ ลำไย ไหทองคำ มีชื่อเสียงจากเพลงสุดฮิต “ผู้สาวขาเลาะ” ถูกนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาติเตียนว่าท่าเต้นยั่วและแต่งตัวโชว์ของสงวน ทั้งนี้ ทางผู้จัดการของลำไย ได้น้อมรับความกดดันและทำให้สังคมอุ่นใจขึ้นมาโดยชี้แจงว่า ได้ลดระดับความแรงระหว่างการแสดงของลำไยและแก้ไขท่าเต้นจากการ “กระเด้า” 9 ชั้นเหลือแค่ 3 ชั้นเท่านั้น

ไม่นานนัก ลำไยยังตกเป็นข่าวอีกครั้ง หลังจากชาวลาวบางคนวิจารณ์ว่าลำไย “ไม่เหมาะสม ไม่เคารพวัฒนธรรมลาว” เพราะไปสวมใส่ชุดรัดแน่นเต้นประกอบในมิวสิควิดีโอเพลง “ปลาค่อใหญ่ไวอะกร้า” ซึ่งถ่ายทำที่วังเวียงอันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของลาว

แม้จะถูกตีตราว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ลำไยยังคงซื่อสัตย์ต่อภาพลักษณ์ของตัวเองไม่เปลี่ยนแปลง เธอยังคงลุคของสาววัยรุ่นใส่เหล็กดัดฟัน ใส่เสื้อโชว์ร่องนม สวมกางเกงขาสั้นๆ พร้อมแสดงอย่างมีสีสันเต็มที่ ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายน ลำไยปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ชื่อว่า “ผู้สาวขาเฟี้ยว” แม้ว่าเพลงใหม่นี้จะไม่ได้รับความนิยมเทียบเท่ากับเพลงแรก แต่ก็รู้สึกเกินคุ้มเมื่อมิวสิควิดีโอมีฉากที่นักแสดงเลียนแบบพลเอกประยุทธ์แต่งตัวชุดลายพรางและสวมหมวกเบเร่ต์ยกนิ้ว “กดไลค์” ให้ลำไย ไหทองคำ!

5. เมื่อนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือแบงก์ จัดแสดงคอนเสิร์ตหมอลำผ่าน Facebook Live หลังสถานที่จัดงานถูกบังคับให้ยกเลิกการแสดงเนื่องจากถูกเจ้าหน้ารัฐข่มขู่

ในปี 2560 นอกจากจะมีหมอลำออกอากาศทางโทรทัศน์ที่มีผู้ชมมากที่สุดในช่วงไว้อาลัย ยังมีคอนเสิร์ตหมอลำที่ถูกยกเลิกไม่ให้จัดเพราะรัฐบาลเกรงว่าจะกระทบความมั่นคงแห่งชาติ–ทั้งที่คอนเสิร์ตนี้เป็นการระดมทุนสนับสนุนสร้างศักยภาพให้กับอดีตนักโทษการเมือง เพื่อช่วยให้พวกเขาปรับตัวเข้ากับสังคมที่ไม่ไยดี มันน่ากลัวตรงไหนหนอ อะไรกันที่ทำให้คณะทหารผู้ยึดอำนาจรู้สึกไม่มั่นคง? ทำไมหมอลำจึงกลายเป็นประเด็นฮ็อตฮิตติดชาร์ตได้ถึงเพียงนี้?

โชคดีที่กลุ่มผู้จัด Fairly Tell Founding ยังมีแหล่งพึ่งพิงอีกแห่งเหลืออยู่ นั่นคือ Facebook Live คอนเสิร์ตหมอลำจึงได้จัดขึ้นทางเฟสบุ๊ค โดยปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ “บักหนวดเงินล้าน ปฏิภาณ ลือชา” ลำกลอนหมอลำออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวาและสนุกสนาน นอกจากเสียงดีแล้วยัง “เอวดี” อีกด้วย นอกจากนี้ ดนตรีที่นำมาประกอบการแสดงยังมีความสร้างสรรค์ นำเพลงอีสานเก่า เช่น “ลาวแพน” มาเรียบเรียงดนตรีในสไตล์ทันสมัย สำหรับคนที่ต้องการรับฟังการแสดงคอนเสิร์ตด้วยระบบเสียงคุณภาพสูงสามารถโอนเงินสนับสนุนไปยังผู้จัดเพื่อให้จัดส่งแผ่น DVD พร้อมคลิปเพิ่มเติมได้

ถ้า “ท็อป 5” ยังไม่หนำใจ ผู้เขียนมีอันดับรองๆ ลงมาจัดให้อีกดังต่อไปนี้

เด็กชายศิริพงษ์ ศรีสุขา หรือน้องแน็ท ผู้ชนะเลิศการแข่งขัน The Voice Kids Thailand ชาวอุดรธานี อายุ 14 ปี ที่ทำให้ผู้ชมหลายคนเปล่งน้ำตาด้วยการร้องเพลงสไตล์ “เพื่อชีวิต” ราวกับเป็นเงาเสียงของ “ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์” และยิ่งทำให้ผู้ชมเปล่งน้ำตาออกมามากขึ้นกว่าเดิมหลังได้ชนะเลิศหารแข่งขันพร้อมรางวัลเงินสดหนึ่งล้านบาท หลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน น้องแน็ทได้รีบเดินทางกลับบ้านเพื่อไปหาแม่ที่กำลังรักษาตัวจากอุบัติเหตุรถชน พร้อมนำเงินรางวัลทั้งหมดมอบให้แม่ตนเอง ปัจจุบันมีป้ายไวนิลขนาดใหญ่เป็นรูปของน้องแน็ทติดอยู่หน้าโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ภาพหน้าปกซิงเกิ้ลแรกของน้องแน็ท ที่มา:Siripong Srisukha

การแสดงเร็กเก้-หมอลำในรายการ X Factor Thailand โดย ป๊อปปี้ ชลชญา นักศึกษาอายุ 20 ปี จากจังหวัดอุบลราชธานี ที่ผสมผสานการบอกเล่าเรื่องราวสไตล์หมอลำเข้ากับจังหวัดเพลงเร็กเก้ หากเสียงหัวเราะด้วยความประหลาดใจของผู้ตัดสินหลังได้ยินน้องป๊อปปี้เปล่งเสียงร้องออกมาเป็นภาษาลาวอีสานทำให้คุณรู้สึกตงิดๆ แล้วล่ะก็ คุณไม่ได้รู้สึกไปเองคนเดียว ส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนรู้สึกดีใจทุกครั้งที่สถานีโทรทัศน์กระแสหลักถ่ายทอดการแสดงความสามารถพิเศษของคนอีสาน แต่หลายครั้งก็พบว่า ปฏิกิริยาของผู้ตัดสินทำให้ผู้เขียนเกิดคำถามขึ้นว่า “อะไรกันนะที่ทำให้การใช้ภาษาบ้านเกิดของตัวเองโดยศิลปินคนอีสานถึงเป็นเรื่องเซอไพร้ส์และชวนหัวไปซะได้?”

หากกล่าวถึงการพิสูจน์คุณค่าของตัวเองในฐานะที่เป็นคนอีสาน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของปีนี้น่าจะเป็นตอนที่ก้อง ห้วยไร่ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาอินดี้อีสาน” ได้รับรางวัลนาฏราช จากเพลง “คู่คอง” เพลงประกอบละครโทรทัศน์เรื่อง “นาคี” หลังจากที่ “ก้อง ห้วยไร่” ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากเพลงฮิตเพลงแรก ทางช่อง 3 จึงได้โฉบตัวเอาก้องให้มาเขียนและร้องเพลงประกอบละครย้อนยุคอีสานเรื่องนี้ ซึ่งเป็นละครที่ได้เรตติ้งดีเลิศและทำให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับพญานาคได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างท่วมท้น ไม่น่าแปลกใจเลยที่ก้องจะคว้ารางวัลเพลงยอดเยี่ยม แต่สิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับผู้เขียนก็คือ สถานะบนเฟสบุ๊คของ “ก้อง ห้วยไร่” ที่เขียนขึ้นหลังได้รับรางวัล ซึ่งสถานะดังกล่าวพูดทำนองว่ารางวัลนี้เป็นสิ่งพิสูจน์ความเป็นเลิศของคนอีสาน อย่างกับว่าเรื่องนี้ยังต้องได้รับการพิสูจน์อยู่อีกหรอ

ทุกวันนี้มีศิลปินอินดี้ชาวอีสานที่ประสบความสำเร็จนับหลายคน แต่ Rap Esan กลับโดดขึ้นมาได้ เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม กลุ่ม Rap Esan ได้ปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ล่าสุด “ไผกะดั้ย” ออกมา ซิงเกิ้ลนี้ไม่ได้เป็นซิงเกิ้ลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของกลุ่ม แต่เป็นซิงเกิ้ลที่น่าจับตาและจับหู ทำนองแปลกแต่เพราะ เสียงร้องผ่านการปรับแต่งด้วย autotune สอดรับกับเสียงแคนได้อย่างพอดิบพอดี ประกอบกันเป็นซาวด์ที่หลากหลายไม่ตายตัวตามแบบแนวเพลงเดิมๆ

เทศกาลดนตรีฮีปปี้ที่ใหญ่ที่สุดของอีสานกลับมาจัดบริเวณริมเขื่อนอุบลรัตน์ถึง 2 ครั้งในปี 2560 โดยทางผู้จัดงานได้จัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมเพื่อชดเชยการถูกเลื่อนไม่ให้จัดในปีก่อนหน้านั้น และอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ขนาดของงานใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากได้รับความสนใจบนโลกสื่อสังคมออนไลน์อย่างล้นหลาม เทศกาลดนตรีแห่งอีสานยังคงมุ่งมั่นที่สร้างสรรค์งานเทศกาลด้วยแนวคิด DIY และวัฒนธรรมที่แปลกต่างจากที่มีอยู่ในสังคม ความเป็นอีสานของเทศกาลนี้ไม่อาจลิ้มรสได้จากการแสดงคอนเสิร์ตเร็กเก้หมอลำเท่านั้น แต่ยังลิ้มรสได้จากปลาส้มรสเด็ดและอาหารอื่นๆ อีกมากมายที่ชาวบ้านในพื้นที่นำมาจำหน่ายในงานด้วยต่างหาก

image_pdfimage_print