โดย ดานุชัช บุญอรัญ

ป้ายประชาสัมพันธ์งานบุญเบิกฟ้าและงานกาชาดจังหวัดมหาสารคาม ประจำปี 2561 ที่หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม
มหาสารคาม – เสียงสะท้อนความฝืดเคืองของพ่อค้าชุดเครื่องนอนและแม่ค้าต้นไม้เพาะชำ ในประเพณีบุญเบิกฟ้าและงานกาชาด ประจำปี 2561 จังหวัดมหาสารคาม ที่สูญเสียรายได้ไปกว่าครึ่งจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ส่วนนักวิชาการสาขาการตลาด ม.มหาสารคาม ระบุว่า นโยบายช้อปช่วยชาติอาจจะดูดเงินในกระเป๋าผู้บริโภคจนหมดไปตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว
ประเพณีบุญเบิกฟ้าและงานกาชาดประจำปีของจังหวัดมหาสารคาม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 21 มกราคม 2561 เป็นระยะเวลากว่า 10 วัน บนพื้นที่บริเวณทางหลวงหมายเลข 208 และซอกซอย ตั้งแต่หน้าโรงเรียนสารคามพิทยาคมยาวจรดหอนาฬิกาจังหวัดมหาสารคาม บริเวณดังกล่าวคราคร่ำไปด้วยร้านรวงของพ่อค้าแม่ขายและผู้คนที่ออกมาเดินจับจ่ายซื้อหาสินค้าสารพัดชนิด บางคนถือโอกาสร่วมสนุกกับมหรสพทั้งแบบร่วมสมัยและแบบย้อนยุค อาทิ การแสดงดนตรี การประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง การประกวดส้มตำลีลา ซุ้มรถไต่ถัง ซุ้มสาวน้อยตกน้ำ และการปาลูกโป่งชิงรางวัล
หลังเสร็จสิ้นการจัดงาน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 สภาพการจราจรของถนน 208 กลับมาเป็นปกติ ร้านค้าส่วนใหญ่ขนย้ายสินค้าจากไปแล้ว เหลือเพียงร้านค้ากลุ่มเล็กๆ ราว 15-20 ร้าน ที่ยังคงเปิดขายสินค้าตามปกติ ท่ามกลางโครงสร้างของเต็นท์ผ้าใบทอดต่อกันเป็นแนวยาว เนื่องจากเทศบาลเมืองมหาสารคามยังรื้อถอนไม่แล้วเสร็จ
อะบิดีนห์ มาลิก เจ้าของร้านขายชุดเครื่องนอนจากจังหวัดสุราษฏร์ธานี หนึ่งในไม่กี่เจ้าที่ยังเฝ้าหน้าร้านอย่างขันแข็งกล่าวกับผู้เขียนว่า “งานเขาเลิกแล้ว แต่เรายังกลับไม่ได้”
สิบปีสำหรับบทบาทพ่อค้าขายของตามงานกาชาด เขาตระเวนไปทั่วทุกภูมิภาค จนกระทั่งมาหยุดลง ณ จุดหมายปลายทางที่ภาคอีสาน
อะบิดีนห์เล่าว่า เมื่อปี 2557 เขาและเครือญาติร่วมกันลงทุนตั้งโรงงานผลิตชุดเครื่องนอน อาทิ ที่นอน หมอน ผ้าห่ม ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ มุ่งตีตลาดผู้ใช้เครื่องนอนในภาคอีสาน ทั้งขายทางออนไลน์ ขายหน้าร้าน และที่สำคัญที่สุดคือ เดินสายออกร้านตามงานกาชาดใน โดยที่ผ่านมาเป็นช่องทางที่สามารถทำกำไรให้แก่เขาได้อย่างคุ้มค่าเหนื่อย
“แต่หลังๆ มานี้ ไม่เหมือนแต่ก่อน” หลังตระเวนขายสินค้าตามงานกาชาดในปี 2560 พ่อค้าชุดเครื่องนอนผู้นี้เริ่มตระหนักถึงยอดขายที่ตกลง รวมทั้งต้นทุนเดินสายออกร้านที่สูงขึ้น ทั้งค่าน้ำมัน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และค่าจ้างแรงงาน ทำให้ในปีนี้ อะบิดีนห์ตัดสินใจลดจำนวนจังหวัดที่จะเดินสายไปขายของ โดยเลือกเฉพาะจังหวัดที่มีอัตราค่าเช่าแผงต่ำ หลีกเลี่ยงจังหวัดขนาดใหญ่ เช่น นครราชสีมาและขอนแก่น ซึ่งเก็บค่าเช่าแผงสินค้าในอัตราที่สูง การขายสินค้าล่วงเวลาก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำออกมาใช้เพื่อความคุ้มทุนและหวังเพิ่มกำไรอีกสักเล็กน้อย และนี่เองเป็นสาเหตุที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับเขาในบ่ายของวันที่ 23 มกราคม 2561 หลังสิ้นสุดประเพณีบุญเบิกฟ้าและงานกาชาดประจำปี 2561 ของจังหวัดมหาสารคามมาแล้ว 2 วัน
“เทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้เป็นอย่างไร” สิ้นสุดคำถาม อะบิดีนห์ชี้ให้ดูผู้คนที่ยังคงแวะมาเดินเลือกซื้อหาสิ่งของ แม้จะเป็นช่วงที่แดดร้อนที่สุดของวันปรากฏว่า ผู้คนยังมีจำนวนไม่น้อย
“คนมาเดินมีเยอะ มาถามก็เยอะ แต่ไม่ค่อยมีคนซื้อ” เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งไม่ได้ขายดี แต่ยอดขายสุทธิ 10 วันในปีนี้มีตัวเลขตกลงกว่าครึ่ง ทำให้เมื่อหักค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ แล้ว กำไรที่ได้นับว่าจวนเจียนจะไม่คุ้มทุน
“ปีหน้าก็คงต้องมาเหมือนเดิมนั่นแหละ นี่มันอาชีพของเรา ถ้าไม่มาก็ไม่รู้จะไปทำอะไร… ความคาดหวังหรือ (หัวเราะ) ผมไม่กล้าคาดหวังหรอก มันจะดีขึ้นหรือเปล่า ต้องดูที่ผู้ใหญ่ในบ้านในเมือง เรามันพวกรากหญ้า ยังไงก็ต้องสู้กันต่อไป” อะบีดีนห์กล่าวพร้อมบ่นให้ผู้เขียนฟังอีกว่า ไม่เฉพาะที่มหาสารคาม บรรยากาศการค้าขายสินค้าในงานกาชาดจังหวัดอื่นที่เขาไปมาในปีนี้ ทั้งหมดก็ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน

“เอาข้างๆก็ได้นะ อย่าถ่ายเต็มเลยเจ้าหนี้พี่เยอะ (หัวเราะ)” คำขอของเจ๊แป๋วแม่ค้าขายต้นไม้เพาะชำผู้เคยมีรายได้หลักแสนบาทต่อการขายต้นไม้ในงานประเพณีบุญเบิกฟ้าและงานกาชาดจังหวัดมหาสารคาม
“เจ๊แป๋ว” เกศรินทร์ (ไม่เปิดเผยนามสกุล) เจ้าของร้านขายต้นไม้เพาะชำในบริเวณเดียวกันกับอะบิดีนห์แจกแจงตัวเลขยอดขายสินค้าของเธอในรอบ 10 วันที่ผ่านมาว่า “พี่ขายได้ไม่ถึงห้าหมื่น” โดยเธอยืนยันว่าเคยมีรายได้จากการออกร้านขายต้นไม้เพาะชำในประเพณีบุญเบิกฟ้าและงานกาชาดของจังหวัดมหาสารคามในปีก่อนๆ มากกว่าหนึ่งแสนบาท
เกศรินทร์ยอมรับว่า ในปีนี้ร้านของเธอได้ปรับราคาต้นไม้ขึ้นจากปีที่แล้วระดับหนึ่ง เนื่องจากต้องแบกรับราคาต้นทุนการผลิตจากสายส่งเจ้าประจำตามราคาวัตถุดิบ อาทิ แกลบขาว แกลบดำ ขุยมะพร้าว ถุงเพาะชำ ฯลฯที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยลูกค้าหลายรายที่แวะเวียนมาเลือกซื้อต้นไม้ที่ร้านของเธอเองพยายามต่อรองราคาและขอซื้อสินค้าในราคาเดิม แต่ทว่าเธอเองก็จำเป็นต้องขายในราคาใหม่เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นและต้องรับผิดชอบค่าแรงลูกจ้างที่ว่าจ้างให้มาช่วยขายสินค้าอีก 3 คน
“เขาก็ถามว่าทำไมต้นไม้แพง เราก็อธิบายไปว่าเดี๋ยวนี้ของเขามาส่งเราแพงขึ้น แถมของมันก็ขึ้นแทบทุกอย่าง ไหนจะค่าอยู่ ค่ากิน ค่าเช่าที่วันละสามพัน ร้านเราเช่ากี่ล็อคล่ะ (ล็อคคือพื้นที่แบ่งให้เช่าขายสินค้า-ผู้เขียน) สิบวันมันก็ไม่น้อย ไหนจะงวดรถต้องจ่ายต้องดาวน์มาขนของไปขาย” เกศรินทร์กล่าว
เจ้าของร้านขายต้นไม้เพาะชำผู้นี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า ในปีนี้กลุ่มลูกค้าที่มาเลือกซื้อต้นไม้จากร้านของเธอส่วนใหญ่จะซื้อเฉพาะต้นไม้ที่ให้ดอกให้ผลและใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น มะม่วง มะละกอ ส้มโอ และกลุ่มพืชผักสวนครัว ส่วนไม้ประดับและกล้วยไม้เป็นสินค้าที่ขายยากที่สุด
เมื่อถามถึงเหตุผลเกศรินทร์อธิบายว่า “คนไม่ค่อยมีเงิน เค้าก็คงซื้ออย่างที่จำเป็นจริงๆ ส่วนพวกต้นไม้สวยงามนี่ ใครเงินเหลือก็ว่ากันไป แต่มันจะขายยากหน่อย ยิ่งพวกซื้อเยอะๆ ไปแต่งสวน หรือขึ้นบ้านใหม่ก็ไม่ค่อยมีแล้ว”
สอดคล้องก้บท่าทีของผู้ซื้อรายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ขณะที่เขากำลังเดินอยู่ในโซนต้นตะบองเพชรขนาดเล็กสำหรับตกแต่ง เป็นเวลาเดียวกันกับที่ผู้เขียนสนทนากับเจ๊แป๋ว จนกระทั่งยี่สิบนาทีผ่านไปเขาเดินออกจากร้านด้วยมือเปล่า “เดี๋ยวค่อยมาซื้อมื้อหลัง มื้อนี้มาเดินดูไว้ก่อน” เขาให้เหตุผลพร้อม ปฏิเสธเมื่อผู้เขียนขอบันทึกภาพ
วันต่อมา (24 ม.ค. 2561) ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทุนหายกำไรหดของเหล่าพ่อค้าแม่ค้างานกาชาดกับ แคทลียา ชาปะวัง อาจารย์ประจำสาขาการตลาด คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เบื้องต้นนักวิชาการผู้นี้แสดงความคิดเห็นว่า นโยบายภาครัฐที่มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในส่วนของกำลังซื้อของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
แคทลียายกตัวอย่างว่า ช่วงปลายปี 2560 รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย “ช้อปช่วยชาติ” เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี โดยเปิดให้ประชาชนผู้มีรายได้อยู่ในเกณฑ์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ (ตามประเภทที่รัฐบาลกำหนด-ผู้เขียน) มาหักลดภาษี ในปี 2560 ได้ตามจริง แต่ไม่เกินคนละ 15,000 บาท กำหนดเวลามาตราการช้อปช่วยชาติ ตั้งเเต่วันที่ 11 พฤศจิกายน จนถึง 3 ธันวาคม 2560
อาจารย์ประจำสาขาการตลาดผู้นี้ กล่าวอีกว่า เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2561 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจหอการค้าไทย ได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่าง 30 ธันวาคม 2560 – 2 มกราคม 2561 คาดว่าจะมีการใช้จ่ายสูงสุดและมีการใช้จ่ายสูงสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2549 โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายทั่วประเทศอยู่ที่ 132,050 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.1
จากสถิติดังกล่าว แคทลียาบอกว่า จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ปี 2560 ประชาชนใช้จ่ายเงินมากขึ้น จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนที่เดินทางมาท่องเที่ยวงานบุญเบิกฟ้าและงานกาชาดของจังหวัดมหาสารคาม ประจำปี 2561 ที่จัดขึ้นหลังเทศกาลปีใหม่ จับจ่ายใช้สอยลดน้อยลงเนื่องจากได้ใช้จ่ายเงินไปแล้วในช่วงปลายปี 2560
“อีกอย่างหนึ่ง ช่วงที่จัดงานกาชาดฯ ถือว่าเป็นกลางเดือนมกราฯ นี่น่าคิด ประชาชนที่มีอาชีพพนักงานเงินเดือนทั้งหลาย ต้องใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวังมากขึ้นหรือเปล่า” แคทลียากล่าว
ดานุชัช บุญอรัญ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560