โดย สมาฉันท์ พุทธจักร

กรุงเทพฯ – นิทรรศการ “อีสานสามัญ” สะท้อนการเติบโตและการกำหนดชีวิตของชาวอีสานในหลายเรื่องราว ตั้งแต่เรื่องการต่อสู้กับเหมืองแร่โปแตชของชาวอุดรธานี ไปจนถึงการจัดแสดงเกี่ยวกับหมอลำ มหรสพที่บอกเล่าถึงวิถีของคนที่ราบสูง

นิทรรศการ “อีสานสามัญ” ภายใต้งานใหญ่ “โครงการรายงานอีสานร่วมสมัย” (Isan Contemporary Report) เริ่มจากการตั้งคำถามว่า อีสานร่วมสมัยเป็นอย่างไร? และแสวงคำตอบโดยการสำรวจปรากฏการณ์ เพื่อสะท้อนภาพการเติบโตและการกำหนดชีวิตตนเองของพลเมืองอีสานจากกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมีผลงานจาก 12 กลุ่มศิลปิน

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา ณ ชั้น 9 หอศิลปและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หลังฝนเพิ่งตก ผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดโครงการรายงานอีสานร่วมสมัยจบ ผู้คนเรือนร้อยแตกกระจายออกไปทั่วห้องนิทรรศการ สับสนไม่น้อยเพราะมีงานจัดวางอยู่มากมายทั่วห้องนิทรรศการ

งานถูกแบ่งออกเป็น 3 หมวดหลัก

อีสานสันทนา บอกเล่าถึงอีสานผ่านเรื่องราวของอีสานในรูปแบบสันทนาการที่สร้างความบันเทิงในแบบอีสาน ซึ่งความบันเทิงเป็นส่วนหนึ่งที่คนอีสานใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางความคิด ผ่านรูปแบบศิลปวัฒนธรรม จึงเป็นรูปแบบการที่ร่วมสมัยปรับเปลี่ยนองค์ประกอบและเนื้อหา ให้สัมพันธ์กับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของคนอีสาน

ผู้คนสามัญ ว่าด้วยผู้คนหรือกลุ่มคนในอีสาน ที่มีตัวตนอัตลักษณ์ที่แสดงออกผ่านวิถี ภูมิปัญญา การดำเนินชีวิต ที่เชื่อมโยงกับการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง เพื่อบ่งบอกตัวตนความเป็นมนุษย์และสำนึกความเป็นคนสามัญธรรมดา

พื้นที่ ทรัพยากร และการเคลื่อนย้าย ว่าด้วยประเด็นและความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดสรรพื้นที่และทรัพยากร ที่พลเมืองใช้ร่วมกันในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชาวอีสานในบริบทต่างๆ

สิ่งแรกที่น่าสนใจ คือ วิดีโอ (ไม่มีชื่อ) ที่เป็นเหมือนโหมโรง (teaser) ของงานนิทรรศการ ถูกจัดฉายอยู่หลายส่วนในจอหลากขนาดทั่วห้องนิทรรศการ เป็นการเล่าเรื่องการต่อสู้ของกลุ่ม “อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดร” ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการเข้ามาใช้พื้นที่ทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัทข้ามชาติ โดยเล่าเรื่องผ่านคำบอกเล่าของชาวบ้านในกลุ่ม ตัดสลับกับภาพทิวทัศน์ วิถีชวิตผู้คนและเรื่องเล่าตำนานท้องถิ่น วิธีเล่าและดำเนินเรื่องไม่ได้ซับซ้อน แต่พาสำรวจถึงสิ่งที่ลงลึกไปพร้อมตั้งคำถามได้ดี

พอได้ค้นหาชื่อผู้ผลิตวิดีโอ ก็พบว่าคือ โกวิท โพธิสาร จึงได้ถามความเป็นมา เขาเล่าให้ฟังว่า ตนเห็นว่าการแย่งชิงทรัพยากร ไม่ใช่แค่เรื่องความร่วมสมัย แต่เป็นถึงการร่วมชะตากรรม ที่ไม่ใช่เพียงแค่คนในพื้นที่อีสานเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของภาพรวมของประเทศ ทุนนิยมในปัจจุบันไร้ซึ่งพรมแดนได้รุกคืบในหลายพื้นที่ หลายพื้นที่ไม่สามารถยืนหยัดปกป้องฐานทรัพยากรของตัวได้ ทำให้ไม่เพียงต้องเสียป่าไม้ ใบหญ้า หรือสายน้ำ แต่พวกเขาอาจต้องสูญเสียประวัติศาสตร์ของตนเองเนื่องจากต้องย้ายและถูกย้ายออกจากพื้นที่

โกวิทเลือกทำสารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยแนวคิดที่เรียบง่ายว่า ในขณะที่หลายพื้นที่ถูกแย่งชิงทรัพยากรไป แต่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลับปักหลักสู้กับรัฐและทุนมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว พวกเขาจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เป็นเหมือนโรงเรียนให้คนอื่นได้เรียนรู้

“พวกเขาสู้ได้อย่างไร ไม่มีอะไรดีไปกว่าการฟังจากปากคำสามัญชนเช่นพวกเขาแล้ว” โกวิทบอก

ผลงาน “เปิดผ้ากั้ง: ด้วยแรงปรารถนา” ของ ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ซึ่งใช้เวลาศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมหมอลำมามากว่า 15 ปี

ใจกลางห้องนิทรรศการ โครงเวทีสีทองประกอบขึ้นจากนั่งร้านหลายชิ้น ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว แสงและสีเสียง ถูกจัดวางภายใต้โครงเวที ประดับด้วยด้วยอาภรณ์เครื่องแบบหมอลำสีสะดุดตา แฝงด้วยข้อความและรายละเอียดอีกมากมาย “เปิดผ้ากั้ง: ด้วยแรงปรารถนา” โดย ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ บอกเล่าเรื่องราวการแสดง “หมอลำ” มหรสพที่อยู่แนบชิดชีวิตชาวอีสาน ที่เหมือนแจ้งบอกสะท้อนการดำรงอยู่ของตัวตนคนอีสาน แม้โลกาภิวัตน์จะพัดผ่านให้หลายอย่างให้เปลี่ยนไป บทเพลงหมอลำก็ยังคงถูกนำมาจัดมหรสพอยู่เสมอ ในรูปแบบวิธีที่เลื่อนไหลไปตามแรงปรารถนาของคนอีสาน

ถ้าดนตรีฮิพฮอพคือการบอกเล่าเรื่องของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา หมอลำนี้แหละที่บอกเรื่องราวชีวิตของคนที่ราบสูงในประเทศไทย ทรงวิทย์เคยได้นั่งฟังหมอลำมืออาชีพที่หมั่นเพียรค้นคว้าประวัติศาสตร์ของดนตรีประเภทนี้ หมอลำคนดังกล่าวอธิบายว่า ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน หมอลำเป็นลำนำที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวของวิถี การต่อสู้ อัตลักษณ์ ของชีวิตคนแต่ละสมัย ผ่านวิธีการบอกเล่าที่แสนจะธรรมดาสามัญ

“รูปแบบของหมอลำที่เปลี่ยนไปนั้นสัมพันธ์กับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนอีสาน” ทรงวิทย์ ผู้รังสรรค์งานกล่าวกับสื่อในวันเปิดนิทรรศการ

“ประท้วงเหมืองทองเมืองเลย” เกิดจากการเก็บภาพเหตุการณ์ระหว่าง ปี 2556-2557

ถัดมาอีกหน่อย ชุดภาพถ่ายขนาด 60 x 40 เซนติเมตร จำนวน 12 ภาพ ถูกติดตั้งอยู่กับผนังสีขาวของห้องนิทรรศการ สะดุดตากับชุดภาพนี้เป็นพิเศษเพราะตัวเองมีส่วนถูกถ่ายภาพอยู่เล็กน้อย ผลงานชื่อ “ประท้วงเหมืองทองเมืองเลย” ลั่นชัตเตอร์โดย เริงฤทธิ์ คงเมือง ที่ประกอบด้วยภาพใบหน้าบุคคลในกลุ่ม “คนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย” ที่ถูกแต้มด้วยบาดแผล จากการถูกชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธกว่า 100 คน ปิดล้อมหมู่บ้านควบคุมตัวทำร้ายร่างกาย ในคืนหนึ่งกลางเดือนพฤษภาคม ปี 2557 เพียงเพราะพวกของกลุ่มชายฉกรรจ์ต้องการขนย้ายสินแร่ออกจากพื้นที่

ภาพถ่ายบรรยากาศการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลยกับกลุ่มนักศึกษา ที่เวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อขยายเขตสัมปทานเหมืองแร่ทองคำซึ่งปิดกั้นไม่ให้พวกเข้าร่วม บอกความจริงเกี่ยวกับผลกระทบของเหมืองทองที่เกิดขึ้นในตำบลเขาหลวง จังหวัดเลย

ภาพถ่ายชุดประท้วงเหมืองทองเมืองเลยสอดคล้องกับกรณีที่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนต์ชื่อดัง เคยให้สัมภาษณ์เดอะอีสานเรคคอร์ดว่า “กรณีเหมืองทองคำที่จังหวัดเลยหรือที่อื่นๆ ที่ถูกกระทำในรูปแบบที่ต่างกัน ที่จริงแล้ว ลักษณะแบบเดียวกันนี้อาจจะเกิดขึ้นทั่วประเทศ … ในอดีตชุมชนถูกปรับเปลี่ยนและทำลายอัตลักษณ์ไปอย่างไร ทุกวันนี้ มันก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ ทำให้เรารู้สึกว่า คำว่าประวัติศาสตร์ มันไม่ใช่เรื่องอดีต มันไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน แต่เราต่างอยู่ในสายน้ำนี้ด้วยกัน”

จึงสะท้อนว่า ประชาชนถูกกระทำมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นภาพเรื่องราวที่ซ้อนทับกัน

งาน “เธออยู่ไหน ฉันอยู่นี่” ไพศาล อำพิมพ์ และธิติ เหล่าอ้น มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดขอนแก่น พวกเขาได้ติดตามการสร้างรถไฟรางคู่ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นว่าคนในชุมชนริมทางรถไฟเป็นเหมือน “ผู้แพ้ในเกมเศรษฐี” ที่กำลังสร้างความั่งคั่งให้กับหลายคน

งานแสดงต่อมา คือ แท่งเหล็กลางรถไฟพาดทับกับหมอนใบเก่ากว่าร้อยใบ มันคือการเอาหมอนหนุนนอนมาแทนไม้หมอนรองรถไฟ เป็นผลงานชื่อว่า “เธออยู่ไหน ฉันอยู่นี่” ของไพศาล อำพิมพ์ และธิติ เหล่าอ้น ผลงานเหมือนการบอกถึงการสร้างทางรถไฟที่มาพร้อมการพัฒนาที่ได้ตัดพาดทับลงบนที่อยู่อาศัยหลับนอนของผู้คนอีกมากมาย

ตัวศิลปินเล่าให้ฟังว่า หมอนที่เอามาใช้จัดแสดงมาจากการนำหมอนใหม่ไปแลกกับหมอนใบเก่าที่ใช้แล้วของผู้อยู่อาศัยตามชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดขอนแก่น หลายคนต้องถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัยจากการเข้ามาของโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งถูกยกให้เป็นสถานีสำคัญ ทั้งนี้ หลายคนมองว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งจากค่าเวียนคืนที่น้อยไม่สมเหตุและการแจ้งเตือนให้ย้ายออกในระยะเวลาสั้น

งานสุดท้ายเป็นชุดภาพ Before The storm ที่เปรียบเปรยช่วงที่ฝนฟ้าครึ้มก่อนเกิดพายุกับความขัดแย้งของคนในชุมชน ที่ก่อกำเนิดขึ้นพร้อมกับโครงการพัฒนาที่มีทั้งผู้โอบกอดและผลักใส

กลุ่ม RealFrame ผู้ผลิตงานลงพื้นที่ในจังหวัดสกลนคร เมื่อช่วงหน้าฝนปีที่แล้ว เพื่อใช้แผ่นฟิล์ม 35 มิลลิเมตรเก็บภาพชุมชนในอำเภอวานรนิวาสที่มีโครงการสำรวจและขุดเจาะเหมืองแร่โปแตส และอำเภอกุสุมาลย์ที่มีโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ในพื้นที่มีทั้งกลุ่มคนที่สนับสนุนและคัดค้าน โครงการดังกล่าวจึงสร้างความขัดแย้งระหว่างภาครัฐ บริษัทเอกชน และประชาชน การลงพื้นที่เกิดจากการจัดทริปให้นักข่าวของคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับ Amnestry International Thailand

โครงการรายงานอีสานร่วมสมัยจัดแสดง ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ 15 เม.ย. 2561

 

image_pdfimage_print