โดย จิรสุดา สายโสม

อุบลราชธานี – เดชอุดมเธียร์เตอร์ โรงภาพยนตร์สแตนอโลน ที่อำเภอเดชอุดม อยู่รอดท่ามกลางโรงภาพยนตร์แบบใหม่ เนื่องจากมีทำเลเหมาะสม ปรับตัวตามสภาพสังคม และเจ้าของดูแลกิจการเองทั้งหมด

โรงภาพยนตร์เดชอุดมเธียร์เตอร์ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ยังติดป้ายชื่อเก่า เดชอุดมมินิเธียร์เตอร์

ก่อนมีโรงภาพยนตร์แบบศูนย์รวมความบันเทิง (Cinema Complex) ซึ่งประกอบด้วยโรงภาพยนตร์หลายโรงในบริเวณเดียวกัน และตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นยุคเฟื่องฟูของโรงภาพยนตร์โรงเดี่ยว (Stand alone) ซึ่งกระจายตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เดชอุดมเธียร์เตอร์เป็นหนึ่งในโรงภาพยนตร์ฉายเดี่ยว ซึ่งดำเนินการจนถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

นายกิตติพงษ์ เทียมสุวรรณ อายุ 56 ปี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดอุบลราชธานี ปี 2544 เจ้าของโรงภาพยนตร์ ให้สัมภาษณ์เดอะอีสานเรคคอร์ดว่า เดชอุดมเธียร์เตอร์เป็นมรดกจากรุ่นพ่อ ตนสำเร็จการศึกษาจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำงานให้กับบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี อยู่ 4 ปี เมื่อปี 2530 ลาออกจากงานประจำมาประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ โดยดูแลกิจการเองมาตลอด ปัจจุบันเป็นช่วงปราศจากการเลือกตั้ง จึงมีเวลาดูแลกิจการมากขึ้น

นายกิตติพงษ์ เทียมสุวรรณ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี เจ้าของโรงภาพยนต์เดชอุดมเธียร์เตอร์ อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

โรงภาพยนตร์ก่อตั้งมากี่ปี

โรงภาพยนตร์เดชอุดมภาพยนตร์ก่อตั้งเมื่อปี 2502 บริหารกิจการโดยนายชวน เทียมสุวรรณ บิดา จนเมื่อปี 2530 ผม นายกิตติพงษ์รับช่วงทำกิจการต่อจากผู้เป็นพ่อ ปี 2540 เปลี่ยนชื่อเป็น เดชอุดมมินิเธียร์เตอร์ และปี 2556 มีชื่อใหม่ว่า เดชอุดมเธียร์เตอร์ ฉายภาพยนตร์ด้วยระบบดิจิทัล

วิวัฒนาการของเดชอุดมภาพยนตร์

ตั้งแต่ปี 2502 ใช้ชื่อว่า เดชอุดมภาพยนตร์ จำหน่ายตั๋วราคา 1 บาท มีที่นั่ง 800 ที่นั่ง มี 2 ชั้น ขนาดกว้าง 24 เมตร ยาว 40 เมตร สูง 10 เมตร โครงสร้างทำจากไม้ ใช้สังกะสีล้อมรอบโรง ในโรงมีเวทีแสดงดนตรี

ปี 2540 รื้อโรงภาพยนตร์เดิมแล้วสร้างใหม่ เปลี่ยนจากโรงไม้มาเป็นโรงปูน มี 2 โรง คือ โรงเอและโรงบี ความจุโรงละ 170 ที่นั่ง เปลี่ยนชื่อเป็น เดชอุดมมินิเธียร์เตอร์ ราคาตั๋ว 30-40 บาท

ปี 2556 ใช้ชื่อว่า เดชอุดมเธียร์เตอร์ ฉายภาพยนตร์ในระบบดิจิทัล ราคาตั๋ว 50 – 80 บาท

สมัยตั๋วราคา 1 บาทมีผู้ชม 100-500 คนต่อรอบ ช่วงปี 2530 มีผู้ชมเฉลี่ยต่อรอบเพิ่มขึ้น แต่ทุกวันนี้ผู้ชมมีไม่ถึง 100 คนต่อรอบ

ช่องจำหน่ายตั๋วโรงภาพยนตร์เดชอุดมเธียร์เตอร์ยังใช้ช่องจำหน่ายตั๋วเดิมของโรงภาพยนตร์เดชอุดมมินิเธียร์เตอร์ ขณะนี้ให้บริการเฉพาะโรงเอ เนื่องจากโรงบีอยู่ระหว่างปิดปรับปรุง

สาเหตุที่คนดูหนังน้อยลง เพราะอะไร

เศรษฐกิจไม่ดี และรัฐบาลไม่สนับสนุนภาคสังคมให้ชมภาพยนตร์ เช่น ไม่จัดให้ประชาชนชมภาพยนตร์ฟรีเหมือนเดิม แต่ก่อนเคยมีภาพยนตร์ฉายให้ประชาชนชมฟรี เช่น เรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เรื่องพระพุทธเจ้า และภาพยนต์ที่ถ่ายทอดกิจกรรมของรัฐ ส่วนจะมีการฉายภาพยนตร์ฟรีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความคิดของผู้นำในแต่ละสมัยว่าสนใจปลูกฝังสังคมแบบไหน

เรื่องที่แย่ของประเทศไทยคือ ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี จนถึงตำแหน่งล่าง เมื่อรับนโยบายมาแล้วจะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้เงินเดือนตามปกติ ต่างจากคนทั่วไปที่ต้องเรียนหนังสือให้จบ ไปสอบเข้าทำงาน เมื่อทำงานแล้วจึงจะได้เงินเดือน แต่รัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่จะทำงานหรือไม่ทำงาน ก็ได้เงินเดือน (หัวเราะ)

ทำไมยังอยู่รอดท่ามกลางโรงภาพยนตร์แบบศูนย์รวมความบันเทิง อาทิเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และเครือเอสเอฟ ซีเนมา

เพราะเป็นโรงภาพยนตร์ที่ก่อตั้งมานานถึง 59 ปี เป็นที่รู้จักของคนเดชอุดมและมีทำเลที่ตั้งมีเหมาะสม โรงภาพยนตร์แห่งเดียวของอำเภอเดชอุดม ส่วนโรงภาพยนตร์แบบศูนย์รวมความบันเทิงที่อยู่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไป 54 ก.ม. คือโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ที่ห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาน้ำยืน

โรงภาพยนตร์ปรับตัวตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง (มีการเปลี่ยนรูปแบบโรงภาพยนตร์มาแล้ว 3 ครั้ง) มีการดูแลกิจการเองทั้งหมด ทำเป็นกิจการครอบครัว นำญาติพี่น้องมาทำงานด้วย เช่น คนดูแลที่จอดรถก็เป็นญาติกัน จึงแทบจะไม่ต้องจ้างคนงาน

ญาติที่มาทำงานด้วยสามารถทำได้หลายหน้าที่ เช่น ดูแลที่จอดรถ ขายตั๋ว ตรวจตั๋ว จ้างคนเดียวๆ ก็ทำงานให้ได้อย่างคุ้มค่า จึงไม่ต้องจ้างคนงานหลายคนจึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

ขณะที่เครือเมเจอร์ฯ มีบัตรสมาชิกบัตรส่วนลด เช่น บัตรเอ็มเจ็น แล้วที่นี่มีโปรโมชั่นอะไรไหม

โรงหนังของเรามีส่วนลดหางบัตร เช่น มาสองคนจ่ายแค่ 100 บาท จากปกติ 140-160 บาท มีคูปองท้ายบัตรแลกขนมและครื่องดื่ม สะสมบัตรครบ 7 ใบแลกบัตรฟรี 1 ที่นั่ง คิดว่าในอนาคตจะทำบัตรชื่อว่า Co-Card (โคการ์ด) เป็นบัตรหุ้นส่วนของโรงหนังชม 10 ครั้งชมฟรี 1 ครั้ง

เดชอุดมเธียร์เตอร์มีจุดเด่นอื่นที่จะสู้กับคู่แข่งอะไรอีกไหม

มี คือความปลอดภัย คนที่มาดูหนังที่นี่จะปลอดภัยกว่าเพราะว่า หากเกิดไฟไหม้ที่เมเจอร์ฯ เอสเอฟฯ อาจออกไม่ทันเพราะเป็นโรงใหญ่คนดูเยอะ แต่ของเราหนีไฟได้สบาย

รูปแบบการโฆษณาเป็นอย่างไร

ทำป้ายโฆษณาโดยใช้กระดานไม้อัดวาดภาพด้วยสีน้ำ สาเหตุที่ใช้ไม้อัดเพราะสามารถทาสีทับภาพของภาพยนตร์เรื่องเดิม แล้วเขียนภาพของภาพยนตร์เรื่องใหม่ได้ ส่วนป้ายพลาสติกไวนิลไม่นิยมใช้เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า โดยป้ายพลาสติกใช้เสร็จแล้วต้องทิ้งไม่สามารถนำมาใช้งานซ้ำได้ แต่การใช้ป้ายไวนิลก็ยังพอมีบ้างสำหรับภาพยนตร์บางเรื่องที่ได้รับความนิยม เช่น เรื่องพี่มากพระโขนง นอกจากโฆษณาด้วยป้ายแล้ว มีรถแห่โฆษณาตามชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อโฆษณาภาพยนตร์ด้วย

ได้คิดวางแผนคนที่จะมาสืบทอดไหม

อ๋อๆ ไม่ได้คิด เพราะว่าพอถึงจุดๆ หนึ่ง ความดีที่เราทำในวันนี้จะส่งผลให้กิจการเราไปต่อได้เอง ผมจบคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมเป็นผู้แทน ผมช่วยคน ไม่ได้รับเหมาอะไรนะ ตอนนี้ลูกสามคน ผู้หญิง 1 คน ผู้ชาย 2 คน เรียนจบหมดแล้ว สองคนโตเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า อีกคนเรียนจบคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบเกียรตินิยม คือพอแล้ว ถ้าคิดว่าใครจะมาสืบทอดไม่ต้องไปคิด ที่อยู่ได้คือเราพอใจ

ที่ดินตรงนี้มีราคาเกือบร้อยล้าน ซึ่งต่อไปถ้าเราอยากให้มันเจริญขึ้นเราก็คงยังทำโรงหนังไว้อยู่ ซึ่งมันไม่ยาก อีก 70 ปีค่อยเปิดฉายก็ได้ ซึ่งตอนนั้นคงเป็นยุคของรุ่นหลานไปแล้ว แต่ของพวกนี้ (โรงหนังแบบดั้งเดิม) มีมูลค่า แต่ไม่มีราคาซื้อขาย ถามว่ามีประโยชน์ไหม ก็มี แต่เมืองไทยไม่ค่อยให้ค่ากับสิ่งดั้งเดิม

ตอนนี้เมืองไทย ถ้าจะอยู่รอดได้ คนก็ต้องคิด ผู้นำต้องคิด เป็นผู้ให้และส่งเสริมประชาชนให้เป็นผู้ให้โอกาส ไม่ใช่ส่งเสริมการขอโอกาส เพราะว่าผู้นำกินเงินภาษีชาวบ้าน (หัวเราะ)

แล้วคิดเห็นอย่างไรกับผู้นำในยุคปัจจุบัน

เราต้องรู้ว่าเราทำหน้าที่อะไรอยู่ เหมือนเราเป็นนักเรียน ถามว่านักเรียนดีไหม นักเรียนเก่งไหม ดีไม่ดี เก่งไม่เก่ง ก็ต้องเป็นนักเรียน สุดท้ายเราต้องมีดีมีเก่งสักอย่าง สุดท้ายก็ต้องตามทำหน้าที่ คือ เรียน คนหนึ่งได้ 3.6 อีกคนได้ 1.7 เขาก็เป็นนักเรียนและทำหน้าที่ ประเทศไทยตอนนี้ดีที่มีนายกฯ ประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ดีไหม ดีไม่ดีท่านก็เป็นนายกแล้ว (หัวเราะ) ถามว่าท่านดีไหม ดีเพราะท่านเป็นนายกฯ

จิรสุดา สายโสม เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print