โดย เมธา มาสขาว

การเปิดรับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ของจีนนำมาสู่การสร้างรูปแบบการปกครองแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตจนกลายมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก ประธานาธิบดีจีนประกาศ “ความฝันของจีน” โดยมีโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นนโยบายสำคัญซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและภาคอีสานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

ปัจจุบันจีนเลือกแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) มาปรับใช้ในระบบเศรษฐกิจของจีน โดยการกำกับควบคุมภายใต้ระบบ “อำนาจนิยม” โดยรัฐ หลังยุคปฏิรูปจีนปรับใช้ระบบเศรษฐกิจเสรีที่เข้ากับจีนได้ นโยบายเดิมที่เคยเคร่งครัดถูกปฏิเสธและปฏิรูปในเวลาต่อมาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนภายใน และเรียกรูปแบบการปกครองสมัยใหม่แบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ของตนเองว่า “สังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์แบบจีน” ซึ่งมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจนถึง “สังคมนิยมแบบจีนสำหรับยุคใหม่” ภายใต้ “สี จิ้นผิง” ในปัจจุบัน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน พบกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารของไทย ระหว่างการประชุมว่าด้วยตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ที่จัดขึ้นนอกรอบการประชุมบริกส์ ณ เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2560 ภาพจาก China Xinhua News

ภายหลังการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น จีนในฐานะหนึ่งในผู้นำโลกคอมมิวนิสต์ได้ปรับตัวขึ้นมามีบทบาทอย่างมากในสังคมการเมืองระหว่างประเทศ และกลายมาเป็นประเทศที่มีอิทธิพลสูงที่สุดในโลกร่วมกับสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา จากประเทศที่ยากจนใน 30 ปีแรกของการสร้างชาตินับแต่การก่อตั้งประเทศ (2492-2522) โดยใช้ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แบบเคร่งครัดจนถึงช่วงสังคมนิยมปฏิรูป มีการห้ามการนับถือศาสนาอย่างเด็ดขาด มีระบบการทำนารวม ใช้ชีวิตรวมหมู่ ยกเลิกระบบกรรมสิทธิ์ นโยบายความมั่นคงทางอาหารของจีนในยุคนั้นประชาชนจะได้รับเนื้อหมูจำกัดคนละครึ่งกิโลกรัมต่อเดือนเท่ากันทุกคนเพื่อการบริโภค จนมีการกล่าวว่าเป็น 30 ปีแห่งความอดอยาก

แต่ต่อมาจีนในยุคการปฏิรูป เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนในยุคที่สองได้ปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยตั้งคำถามว่า หากแนวคิดสังคมนิยมดีกว่าทุนนิยมจริงๆ เป็นเพราะเหตุใดผู้คนจึงยากจนกว่าและทำอย่างไรสังคมนิยมถึงจะรวยกว่าทุนนิยม คำถามนี้ทำให้เขาได้เชิญนักคิดนักทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ต่างๆ ทั่วโลกมาให้ความรู้ภายในพรรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเชิญ มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) นักคิดสำนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมแห่งชิคาโก เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2519 มาให้ความรู้กับคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Central Committee) และสมาชิกกรมการเมือง ทำให้จีนตัดสินใจเลือกแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) มาปรับใช้ในระบบเศรษฐกิจของจีน โดยการกำกับควบคุมภายใต้ระบบ “อำนาจนิยม” โดยรัฐ และเรียกรูปแบบการปกครองของตนเองว่า “สังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์แบบจีน”

การเปลี่ยนแปลงนโยบายความมั่นคงภายในของจีนเองในยุคนั้น ส่งผลถึงการเปลี่ยนนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยเช่นกัน ตามที่ประเทศไทยในยุค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีนในปี 2518 ทำให้ขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองได้รับผลกระทบ

เวลาต่อมารัฐบาลจีนที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์เปิดประตูรับรัฐบาลไทยและมีความสัมพันธ์ทางการทูตสองหน้า นโยบายต่างประเทศมีความชัดเจนขึ้นเมื่อรัฐบาลจีนประกาศยุติความช่วยเหลือ พคท. และปิดสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ตามการร้องขอของรัฐบาลไทยในสมัยต่อมา โดยเฉพาะหลังการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ เติ้ง เสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรีจีน ในเดือนพฤศจิกายน 2521 ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งในขบวนการคอมมิวนิสต์สากลที่แตกเป็นฝักฝ่ายอย่างรุนแรง

การปฏิรูปครั้งใหญ่สุดของจีนเกิดขึ้นในปี 2541 หลังมีการปรับใช้เศรษฐกิจตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่มามากกว่า 10 ปี จีนปฏิรูประบบรัฐวิสาหกิจเป็น 3 ส่วน รัฐวิสาหกิจของจีนส่วนไหนมีมูลค่าและกำไรสูงจีนมีนโยบายให้รัฐถือหุ้น 100% รัฐวิสาหกิจส่วนไหนมีมูลค่าและกำไรอยู่ในระดับธรรมดาจีนขายหุ้นให้เอกชน 49% รัฐวิสาหกิจส่วนไหนขาดทุน จีนขายทิ้งทั้งหมดให้เอกชน นอกจากนี้จีนยังปฏิรูปหน่วยบริหารภาครัฐให้มีขนาดเล็กลงจากแต่ก่อนที่มี 42 หน่วย ลดลงเหลือ 28 หน่วยหลังการปฏิรูปใหญ่ จีนปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์โดยให้ข้าราชการซื้อบ้านพักและสวัสดิการแบบซื้อขายขาด ปฏิรูปเรื่องที่อยู่อาศัยและทำระบบประกันสังคมทุกเรื่อง รวมถึงการจัดตั้งธนาคารของรัฐต่างๆ และบริษัทลูกต่างๆ นอกระบบราชการตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่

ผลของการเปิดประเทศในยุค เติ้ง เสี่ยวผิง ทำให้โลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนเปลี่ยนไป ต่อมาจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2544 โดยพร้อมทำการค้าเสรีกับประชาคมโลก จนต่อมาขนาดเศรษฐกิจของจีนใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ และต่อมาจีนได้สถาปนาอำนาจทางเศรษฐกิจจนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกในรอบ 140 ปี ในปี 2557

ความเป็นมหาอำนาจใหม่ของจีนนี้ ได้จัดวางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่ในภูมิภาคเอเชียขึ้น ตามทฤษฎีการกำกับดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยอัตโนมัติของมหาอำนาจ เพราะเมื่อระบบมหาอำนาจเปลี่ยน ดุลแห่งอำนาจก็จะเปลี่ยนแปลงตามผลประโยชน์ไปด้วย โดยจีนใช้ลักษณะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจนี้ในนโยบายต่างประเทศ โดยเข้าไปช่วยเหลือและครอบงำเศรษฐกิจการเมืองในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาสมุทรแปซิฟิค จนถึงมหาสมุทรอินเดีย เพื่อคานอำนาจกับสหรัฐฯ ซึ่งมีฐานทัพลับตั้งอยู่ที่หมู่เกาะดิเอโก การ์เซีย (Diego Garcia)

โดยเฉพาะในประเทศลาว และเวียดนาม ซึ่งทั้งสองประเทศพยายามปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจคล้ายกับจีน โดยใช้ระบบการเมืองแบบอำนาจนิยมโดยรัฐเข้าควบคุมกำกับดูแลเหมือนกัน รวมถึงประเทศกัมพูชาเองก็ได้พยายามนำรูปแบบ “China Model” มาบริหารระบบเศรษฐกิจของประเทศในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน แต่ลัทธิเศรษฐกิจแบบจีนนั้นแตกต่างจากประเทศเสรีนิยมตรงที่ “ผู้ประกอบการ” และ “ทุน” ผูกขาดใหญ่คือรัฐ ไม่ใช่ทุนเอกชนข้ามชาติแบบในประเทศที่ใช้ระบบทุนนิยมเสรี ที่ทุนครอบโลกจะได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนให้ทุนเอกชนสะสมทุนและความมั่งคั่งบ้างก็ตาม จนมีบางคนเปรียบเปรยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในเวลานี้ว่า เกิดปรากฎการณ์ “ทุนนิยมรอธไชส์ VS ทุนนิยมจีน”

เนื่องจากแนวความคิดเศรษฐกิจการเมืองโลกแบบเสรีนิยมใหม่ (Neo Liberalism) ที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มนายทุนโลกและกำกับดูแลโดยองค์กรโลกบาลทั้งสามคือ องค์การการค้าโลก (WTO) ธนาคารโลก (WB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ตั้งขึ้นมาตามการเติบโตของระบบทุนนิยมที่ต้องการผูกขาด กลุ่มนายทุนที่มีศักยภาพเหนือรัฐในสมัยแรก คือนายทุนธนาคารตระกูลรอธไชส์ (Rothschild) ซึ่งส่งลูกหลานไปตั้งธนาคารกลางทั่วยุโรป เข้าใจกันว่าปัจจุบันเครือข่ายของพวกเขาน่าจะมีสินทรัพย์มากกว่าทรัพย์สินครึ่งหนึ่งบนโลกใบนี้รวมกัน ภายหลังได้เข้าครอบครองระบบการเงินของอังกฤษ และแผ่ขยายสินทรัพย์มหาศาลไปยังดินแดนอเมริกา จนกลายเป็นเจ้าของตลาดการค้าทองคำตัวจริงที่มีอำนาจเหนือกลไกตลาด และเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมการรถไฟในอเมริกาและยุโรป เหมืองแร่ทองคำและเพชร DeBeers, Rio tino ธนาคารขนาดใหญ่ เช่น Goldman Sachs, GE Capital และ Lehman Brother รวมถึงอุตสาหกรรมอาวุธ อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน และอื่นๆ อีกมากมาย

การเติบโตของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของจีนก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วจนประชาคมโลกคิดไม่ถึงว่าจะเติบโตขนาดนี้เมื่อคนจีนมีรายได้มากขึ้นตามลำดับ ในเทศกาลปีใหม่หรือตรุษจีนในปี 2545 เกิดปรากฎการณ์เป็นที่น่าตกใจในวงกว้างขึ้น เมื่อมีการลดอัตราภาษีรถยนต์ขึ้นครั้งแรกตามเงื่อนไขที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ในงานแสดงรถยนต์หรือ “Motor Show” ครั้งแรกของจีน ปรากฎว่ามียอดจองรถยนต์มากเกินกว่า 100% ในวันแรกจนบริษัทรถยนต์ทุกยี่ห้อต้องสั่งเพิ่มการผลิตในประเทศของตนจนโรงงานรถยนต์และโรงงานถลุงเหล็กผลิตสินค้าไม่ทัน

แม้ว่าการสิ้นสุดยุคสมัยสงครามเย็น จะทำให้เกิดการพัฒนาและการขยายตัวของจีน (The Rise of China) จนกลายเป็นมหาอำนาจของโลกในทุกวันนี้ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสถานะของรัฐมหาอำนาจของจีน น่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายความมั่นคงภายในและการปรับใช้ระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ของโลกทุนนิยมที่กำลังเติบโตและกำลังซื้อที่สูงมากของตลาดภายในประเทศ ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญในการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยใช้การค้านำทาง

เมธา มาศขาว เป็นวิทยากรบรรยายโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

หมายเหตุ ติดตามต่อตอนที่ 2

 

image_pdfimage_print