โดย เมธา มาศขาว
ต่อจากตอนที่ 1
การเปิดรับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ของจีนนำมาสู่การสร้างรูปแบบการปกครองแบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตจนกลายมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก ประธานาธิบดีจีนประกาศ “ความฝันของจีน” โดยมีโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นนโยบายสำคัญซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและภาคอีสานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนใหม่นั้น ได้เป็นตัวกระทำที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงนโยบายความมั่นคงภายในประเทศอื่นๆ บทบาทของจีนในโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงสำคัญมาก แม้แต่นิตยสาร The Economist ที่มีแว่นสายตาความคิดแบบเสรีนิยมของตะวันตก ยังยกให้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน เป็นผู้นำทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของโลกเหนือประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2560
สี จิ้นผิง ได้ใช้ “สังคมนิยมแบบจีนในยุคใหม่” เป็น “รูปแบบ” สถาปนาความยิ่งใหญ่ที่เป็นเอกลักษณ์ของจีน เพื่อแยกความแตกต่างจากอุดมการณ์เสรีนิยมสากล (Liberal Internationalism) ซึ่งเป็นนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ แม้เนื้อแท้จะปกคลุมด้วยอุดมการณ์ทุนนิยมเดียวกัน แต่การสร้าง “เงื่อนไข” ที่แตกต่างกัน และการสร้างบทบาทการแสดง (Actor) ของรัฐที่แตกต่างกันในการควบคุมดูแล ระหว่าง “รัฐ” และ “ทุน” ที่แสดงความเป็นเจ้าของ กลายเป็นความแตกต่างทางการเมืองของ “ทุนนิยมเสรี” แบบสหรัฐฯ และ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ของจีนที่แข่งขันการเติบโตทางเศรษฐกิจในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งต่อมาเกิดการแข่งขันของกลุ่มพันธมิตรเศรษฐกิจต่างๆ ขึ้นมากมาย
สี จิ้นผิง ประกาศ “ความฝันของจีน” (China Dream) แข่งกับความฝันแบบเก่าของอเมริกา (American Dream) เพื่อจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ และสร้างชาติจีนให้เข็มแข็งโดยเฉพาะอำนาจอธิปไตย หนึ่งในนโยบายที่สำคัญที่สุดคือ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ซึ่งพูดถึง “เส้นทางสายไหม” ในศตวรรษที่ 21 ที่จีนเป็นผู้ริเริ่มนโยบายที่จะประกอบส่วนรัฐต่างๆ ในภูมิภาคเข้าด้วยกันโดยมีจีนใหม่เป็นผู้นำและหรือเป็นศูนย์กลางอำนาจใหม่ โดยพยายามดึงประชาคมระหว่างประเทศกว่า 65 ชาติบนเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนเข้าร่วมเป็น “หุ้นส่วน” ทางเศรษฐกิจ ผ่านโครงการสาธารณูปโภคทั้งทางบก ทางทะเล เพื่อต่อเชื่อมเส้นทางการค้าร่วมกันใน 3 ทวีป โดยปรับใช้ทฤษฎีความมั่นคงรวมกัน (collective security theory) ในเหตุผลที่ว่าเพื่อสถาปนาความรับผิดชอบ และเพื่อนําเอาทรัพยากรในแต่ละรัฐมาใช้เพื่อรักษาสันติภาพและผลประโยชน์ทางการค้า
ประเทศไทยอยู่จุดไหนบนแผนที่เศรษฐกิจของจีน? และจะได้อะไรหากเข้าไปเป็นหุ้นส่วนในนโยบายต่างประเทศนี้ แน่นอนในทางการเมือง ประเทศจีนสนับสนุนรัฐบาลไทยเต็มที่ในเวลานี้ ขณะที่อเมริกาก็ไม่กดดันไทยเท่าไหร่นัก เพราะมัวแต่ดำเนินนโยบายปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติอยู่ รัฐบาลทหารไทยก็เลยรู้สึกสบายใจในการสืบทอดอำนาจผ่านกลไกรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าการค้ากับนานาชาติมีปัญหา รัฐบาล คสช. ของไทยอาจจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรที่ “สำคัญอย่างยิ่ง” กับจีนในที่สุด
แม้ว่าแผนที่ทางยุทธศาสตร์ของเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (High-Level Dialogue Belt and Road Forum for International Cooperation) ของจีนบนแผนที่ทางทะเลไม่ผ่านไทยโดยตรง และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเพียงเป้าหมายหนึ่งจากทั้งหมด แต่ไทยก็ยังอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China-Indochina Peninsula Economic Corridor-CICPEC) รวมถึงลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งทำให้ไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เศรษฐกิจแนวเขต East-West Corridor ไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมอาเซียนเข้ากับจีน และที่ผ่านมาจีนพยายามกระตุ้นนโยบายต่างประเทศของไทยผ่านข้อตกลงรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และ “โครงการขุดคอคอดกระ” มาโดยตลอด แต่โครงการทั้งหมดระหว่างไทย-จีน ถูกชะลอออกไปด้วยปัญหาภายในบางประการ และ “ถูกลดระดับลง” ในมุมมองของจีน
แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรมใหม่ๆ หลายสาขาระหว่างจีนกับไทย เช่น E-commerce โลจิสติกส์ ดาวเทียม ระบบการนำทาง ฯลฯ วิสาหกิจชั้นนำของจีน อาทิ Alibaba, JD.COM, Huawei ได้มาลงทุนในประเทศไทย จีนยินดีส่งเสริมและผลักดันให้วิสาหกิจจีนที่มีศักยภาพทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และยินดีผลักดันให้ความร่วมมือโครงการรถไฟไทย-จีน แม้ว่าไทยจะยังลังเลในระบบเงินทอนไม่มากก็น้อย
การเดินทางไปเยือนประเทศลาวของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมานั้น ทำให้ลาวเลือกจีนเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างหลีกหนีไม่พ้น และลาวเลือกที่จะใช้การบริหารระบบเศรษฐกิจเหมือนกับจีน ขณะที่จีนใช้นโยบายต่างประเทศในลักษณะ Soft Power กับลาวในรูปแบบของการช่วยเหลือและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในโครงการต่างๆ มากมาย แต่ผลพวงของโครงการความร่วมมือเหล่านั้น ผลประโยชน์ไม่ได้ตกแก่ลาวอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ปัจจุบันมีแรงงานจีนไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนในลาว แต่เจ้าของ “ทุน” กลับเป็นจีน ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ภายใต้เงื่อนไขโครงการความร่วมมือ จนดูเหมือนประเทศเล็กๆ เสียเปรียบและสูญเสียอธิปไตยบางอย่างไป เช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับศรีลังกา เรื่องนี้น่ากลัวมากหากความร่วมมือไทย-จีน ยืนอยู่บนสถานะดังกล่าว ผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูง และเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ แน่นอนแผ่นดินอีศานที่เป็นรอยต่อระหว่างลาวกับไทยย่อมเป็นทางผ่านที่สำคัญในการลำเลียงผลประโยชน์ออกไปสู่จีนแผ่นดินใหญ่ในที่สุด
ประเทศไทยและอีศานบ้านเราจะตั้งรับอย่างไรกับการรุกคืบของจีนผ่านนโยบายและโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) หรือเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ของจีน ซึ่งแม้ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน จะมีนโยบายต่างประเทศว่า จีนจะไม่คุกคามประเทศใดๆ และจะไม่แทรกแซงประเทศอื่นใดอย่างเด็ดขาด แต่ในทางเศรษฐกิจ จีนได้ใช้นโยบาย soft power กดดันเงื่อนไขและเข้าครอบงำอย่างไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างการลงนามข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับประเทศศรีลังกา มูลค่ากว่า 36,700 ล้านบาท เพื่อเข้าควบคุมและพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแฮม บันโตตา (Hambantota port) ที่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จีนให้ศรีลังกากู้เงินจำนวนมหาศาลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำมาสร้างถนน ท่าเรือและสนามบิน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้หลุดพ้นจากปัญหากับดักหนี้สินที่ผ่านมา นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองที่ยาวนานกว่า 26 ปีที่ยุติลงในปี 2552
ภายใต้ข้อตกลงนี้ บริษัทของทางการจีนจะได้สิทธิเช่าท่าเรือนาน 99 ปี (คล้ายๆ กับนโยบายของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยที่ประเคนสิทธิพิเศษด้านภาษีและการเช่าที่ดิน 99 ปีให้บริษัทลงทุนต่างชาติจำนวนมากมายในเวลานี้) รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงราว 6,000 ไร่ เพื่อทำเป็นเขตอุตสาหกรรม ท่ามกลางการคัดค้านของประชาชนที่เห็นว่า ศรีลังกาตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจและได้ยกดินแดนของตัวเองให้เป็นอาณานิคมแก่จีน หลายฝ่ายมีความกังวลว่ากองทัพเรือจีนอาจจะใช้ท่าเรือแห่งนี้เป็นฐานทัพเพื่อคานอำนาจทางทหารกับสหรัฐฯ ที่มีอิทธิพลแถบนี้เช่นกัน
เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค เส้นทางกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน โดยมีทีมวิศวกรฝ่ายจีนมาดำเนินการทั้งหมด ท่ามกลางข้อครหาที่ไทยจะสูญเสียสภาพนอกอาณาเขตให้กับจีนตลอดเส้นทางแนวทางเดินรถไฟไปจนถึงหนองคาย และความเป็นห่วงที่จะซ้ำรอยการเกิดขึ้นของผลประโยชน์ทับซ้อนที่ประเทศลาว รวมถึงปัญหาการเวนคืนที่ดินจำนวนมากในเขตอนุรักษ์ ที่ราชพัสดุและที่ดินของชุมชน ที่จะมีการรื้อชุมชนหลายพันราย ซึ่งแน่นอนว่า โครงการที่ได้รับอนุมัติความร่วมมือนั้น ผลประโยชน์มักจะตกแก่ชนชั้นนำทั้งสองประเทศ ผู้นำของลาวและไทยก็คงได้ผลประโยชน์จำนวนมากเช่นเดียวกันเพื่อแลกกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

นายศตานนท์ ชื่นตา (คล้องผ้าขาวม้า) รับทราบข้อกล่าวหาทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากพนักงานสอบสวน สภ.วานรนิวาส เมื่อวันทีี่ 27 มี.ค. 2560 นายศตานนท์เป็นสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสที่คัดค้านการสำรวจและขุดเจาะเหมืองแร่โปแตช ที่อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เนื่องหวั่นเกรงผลกระทบสิ่งแวดล้อม การทำเหมืองแร่ดำเนินการโดย บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับทุนของประเทศจีน
ที่ผ่านมาประเทศมหาอำนาจ มักจะกดดันเอาเปรียบทางการค้ากับประเทศเล็กๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยประเทศราช มาถึงยุคล่าอาณานิคม มาจนถึงในปัจจุบัน ซึ่งโครงการความร่วมมือต่างๆ ระหว่างประเทศ อาจเกิดผลกระทบมหาศาลกับประเทศไทย รวมถึงแผ่นดินอีศานบ้านเราซึ่งเป็นแผ่นดินใหญ่ที่เชื่อมโยงกับอินโดจีน และเคยมีประสบการณ์ที่กลุ่มทุนจีนพยายามเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี มาแล้ว ชาวอีศานจะวางบทบาทและการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะในครั้งนี้อย่างไร เพื่อส่งเสียงบอกแก่รัฐบาลว่า ประชาชนไม่ใช่เพียงผู้อาศัยแผ่นดินอยู่เท่านั้น แต่มีศักดิ์และสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของแผ่นดินร่วมกันด้วย
ยังมีข่าวว่านายทุนเหมืองแร่ของจีนได้รุกเข้ามาเพื่อขอสัมปทานแหล่งแร่ในภาคอีศานเพิ่มขึ้นอีกหลายพื้นที่ อาทิ ที่อ.สังคม อ.ท่อบ่อ อ.ศรีเชียงใหม่ และ อ.สระใคร จ.หนองคาย เนื้อที่ประมาณ 100,000 ไร่ ใน อ.เรณูนคร และ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เนื้อที่ประมาณ 100,000 ไร่ ดำเนินการโดยบริษัทร่วมทุนต่างชาติ
วันนี้ ทฤษฎีความมั่นคงรวมกัน (collective security theory) อาจถูกอ้างขึ้นมาใช้เพื่อสร้าง “โลกใหม่” ที่มีจีนเป็นเสมือนดาวดวงใหญ่ใน “ธงชาติจีน” และประเทศต่างๆ เป็นดาวดวงเล็ก เพื่อขยายอาณาบริเวณของดินแดนของจีนเดิมออกไปในโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การสถาปนาผลประโยชน์ ความรับผิดชอบ และนําเอาทรัพยากรสาธารณะในแต่ละรัฐมาแบ่งปันกันใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผ่านโครงการต่างๆ เพื่อผลประโยชน์แอบแฝงซ่อนเร้นของจีนนั้น อาจจะเป็นความจริงใน “ความฝันของจีน” (China Dream) ที่แท้จริง
เมธา มาศขาว เป็นวิทยากรบรรยายโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560