โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

ที่จริงไม่อยากจั่วหัวว่า “หมดเวลาแล้ว คสช.คงต้องไป” เพราะ คสช. ไม่ควรเข้ามาตั้งแต่แรก แต่ในเมื่อเข้ามาใกล้ครบ 4 ปีหรือ 1 เทอมของรัฐบาลเลือกตั้งแล้ว ก็คงต้องบอกซ้ำอีกครั้งว่า คสช. ออกไปได้แล้ว เพราะการดำรงอยู่ของ คสช. ทำให้สังคมไทยสิ้นหวัง

สิ้นหวังประการแรกคือการทำให้สังคมไทยมองไม่เห็นอนาคตยกตัวอย่างที่จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะภาคอีสาน ต่อร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แต่การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคนจากภาคอีสานกลับไม่ใช่สัดส่วนหลักของการประชุม เนื่องจากเวทีครึ่งเช้าที่จัดขึ้นในห้องประชุมขนาดใหญ่ เกือบทั้งหมดคือการบรรยายโดยวิทยากรผู้เกี่ยวข้องกับจัดการประชุมและผู้ร่างแผนฯ

ส่วนการประชุมในช่วงบ่าย แบ่งเป็น 6 ห้องตาม 6 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กลับเป็นเวทีที่คับแคบ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้วิพากษ์วิจารณ์ร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ ผู้เข้าร่วมประชุมทำได้เพียงเสนอแนะเพิ่มเท่านั้นว่า ต้องการให้บรรจุเรื่องใหม่เรื่องใดลงไปในแผนบ้าง แต่ข้อเสนอจะได้รับการบรรจุหรือไม่ อำนาจการตัดสินใจกลับอยู่ที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติอีกครั้ง

ข้าพเจ้ามีโอกาสเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยห้องที่ 5 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติด้านการเจริญเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะร่วมประชุม คิดในใจว่า ถ้าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแบบไม่เปิดกว้างเช่นนี้ อย่าดำเนินการให้เปลืองงบประมาณเสียยังดีกว่า

ความคิดดังกล่าวสอดคล้องกับความคิดเห็นของตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน 2 คนที่อยู่ในห้องประชุมเดียวกัน ที่เล่าให้ข้าฯ ฟังภายหลังว่า การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ จ.ขอนแก่น เสมือนเป็นตราประทับเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แผนยุทธศาสตร์เท่านั้น

นี่คือความสิ้นหวังประการแรก ถ้าประเทศไทยยังเดินตามแนวทาง “คสช.โมเดล” แบบนี้ คงไม่มีความหวังอะไร เพราะผู้มีอำนาจไม่รับฟังความคิดเห็นประชาชน แต่ต้องการกำหนดอนาคตอีก 20 ปีให้กับทุกคน ซึ่งสะท้อนว่า การเป็นรัฐบาลเผด็จการต้องรับฟังความคิดเห็นของใครอีกล่ะ

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คิดอีกแง่ได้ว่า ทำไมคนไทยถึงอดทนต่อรัฐบาลเผด็จการได้ถึงขนาดนี้ ขนาดเรื่องนาฬิกาหรูยังอดทนกันต่อไป ทั้งที่ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากหลายแห่งเห็นตรงกันว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหมของรัฐบาลทหาร สมควรไปได้แล้ว

แต่พอผ่านไปสักพัก สื่อไทยกลับนิ่งเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไล่แล้วไม่ไปก็ปล่อยให้อยู่ต่อหรือ ทำไมแตกต่างจากการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขนาดนี้ ขนาดการรณรงค์กรณีผู้บริหารบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่เข้าป่าไปล่าเสือดำ ยังมีการจัดกิจกรรมที่อึกทึกกว่าเรื่องนาฬิกาหรู

จึงมีคำถามว่า ทำไมเรื่องเสือดำถึงทนกันไม่ได้ แต่เรื่องนาฬิกาหรูถึงทนกันได้ หรือนี่คือการปรับตัวให้ยอมรับกับความสิ้นหวังเพราะต้องทนอยู่กับประเทศที่ไม่มีอนาคต

ความสิ้นหวังประการต่อมาคือ การขาดไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตลอดเวลาที่ คสช.เข้ามา คสช.ได้ใช้อำนาจเผด็จการผ่านคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ในการดำเนินคดีกับบุคคลผู้คิดเห็นแตกต่าง

ล่าสุดคือกรณีการจัดกิจกรรม We walk เดินมิตรภาพ เพื่อสื่อสารกับสังคม 4 ประการ ประกอบด้วย

การไม่นำไปสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการ

การทำลายพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร

การลดทอนหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน

รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ขบวนเดินเพื่อมิตรภาพที่ อ.สีดา จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยขบวนมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองขอนแก่น

ทั้งที่การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันแรกของการจัดกิจกรรม เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2561 ที่ ม.ธรรมศาตร์ ศูนย์รังสิต ทำให้เสียเวลาไปนานกว่ากลุ่ม We walk จะออกเดินได้ ซึ่งช่วงแรกกลุ่มเดินชุดละ 4 คน เพื่อไม่ให้ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2561 กลุ่มนักกิจกรรมได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลคุ้มครองโดยขอให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเดินจนถึงวันที่ 17 ก.พ. ที่เป็นวันสุดท้ายของการจัดกิจกรรม ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561 ศาลก็มีคำสั่งคุ้มครอง

แต่ระหว่างนั้น เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2561 เจ้าหน้าที่ทหาร กลับไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ดำเนินคดีแกนนำกลุ่มเดินมิตรภาพ 8 คน ข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ในทางปฏิบัติ ระหว่างการเดิน เจ้าหน้าที่ก็ยังไปกดดันตามสถานที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้อนุญาตให้กลุ่มเดินมิตรภาพได้เข้าพัก

การคุกคามการเดินมิตรภาพคือตัวอย่างของความสิ้นหวังของใช้เสรีภาพในการแสดงออก ถ้ามนุษย์ไม่สามารถแม้แต่จะบอกได้ว่าตัวเขารู้สึกอะไรและต้องการสิ่งใด ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรองรับเอาไว้แล้ว การใช้สิทธิด้านอื่นๆ ก็คงไม่สามารถกระทำได้ด้วย ถ้าเป็นแบบนั้น มนุษย์คงไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงและเครื่องจักรเป็นแน่

แต่ยังมีผู้ไม่ยอมแพ้ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2561 ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินมิตรภาพภายใน ม.ขอนแก่น เพื่อเชิญชวนนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมเวทีวัฒนธรรมและวิชาการ ที่กลุ่ม We walk กำหนดจัดขึ้นในวันสุดท้ายของการจัดกิจกรรม (17 ก.พ.) ภายใน ม.ขอนแก่น ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องการระงับกิจกรรมดังกล่าว

แต่สิ่งย้อนแย้งยิ่งเกิดขึ้น นั่นคือกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ประกาศวาระแห่งชาติด้านสิทธิสิทธิมนุษยชนฯ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล

ทำให้ แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ แถลงโต้ โดยบอกว่า “ยังไม่มีวี่แววว่าระบอบเผด็จการทหารจะยุติลงในเร็ววัน เนื่องจากรัฐบาลทหารยังคงปราบปรามเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และชะลอการคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนต่อไป”

ทั้งความสิ้นหวังจากการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ไม่มีอนาคต ไร้การมีส่วนร่วม และการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน สองสิ่งนี้เพียงพอแล้วหรือยังที่ประชาชนเจ้าของอำนาจสูงสุดที่แท้จริงจะออกมาบอกว่า คสช. หมดเวลาของคุณแล้ว เพราะถ้าปล่อยให้มีความสำนึกและจากไปเองก็คงไม่มีวี่แวว เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2561 หัวหน้าคสช. ประกาศว่า “ไม่เคยสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งวันใด” ทั้งที่หัวหน้าคณะรัฐประหารผู้นี้ประกาศวันเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง

เรื่องทั้งหมดจึงเข้าทำนองว่า “ไม่ไล่ไม่เลิก”

 

 

 

image_pdfimage_print