(ซีรี่ส์อีสานกับการเมือง :  ตอนที่ 1 ส.ส.)

โดย รุ่งรวิน แสงสิงห์

ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ได้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกองทัพสหรัฐฯ ในหลายทศวรรษก่อนหน้านี้หรือก็คือช่วงสงครามเย็น ซึ่งความสำคัญของการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการวางแผน ปฏิบัติการสงครามในลาวและเวียดนาม ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของภาคอีสาน และค่อยๆ มีพัฒนาการในการเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปและมีสาเหตุมาจากการเข้ามามีอิทธิพลของสหรัฐฯ ในพื้นที่ดังกล่าวคือ รูปแบบและบทบาทของ ส.ส.อีสาน จาก ส.ส. ผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชน กลายไปเป็น ส.ส. ผู้เป็นผู้แทนของตนเองเป็นสำคัญ ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและราษฎรไม่เหนียวแน่นพอจะตัดวงจรรัฐประหารได้

ส.ส. อุบลราชธานีสมัยแรกที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อพ.ศ. 2476 นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (คนกลาง) เป็นหนึ่งในนั้น

ในอดีต ส.ส.อีสาน มีลักษณะของการเป็นนักการเมือง ‘อย่าง’ ที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย ทันทีที่มีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2476 ส.ส.อีสาน ได้ตบเท้าเข้าสู่สภา เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ และ ส.ส.อีสาน ก็ทำหน้าที่ “ผู้แทนฯ” ได้อย่างเต็มที่และทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ส.ส.อีสานในยุคประชาธิปไตยเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง และตั้งกระทู้คำถามในรัฐสภาอย่างเผ็ดร้อน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ส.ส.อีสานที่โดดเด่นในเวลานั้น เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส. จากจังหวัดอุบลราชธานี และเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายปรีดี พนมยงค์ ได้ทำหน้าที่ของการเป็น ส.ส. อย่างแข็งขัน ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลต่อการใช้จ่ายเงินที่ไม่สมเหตุสมผลของรัฐบาล หรือตั้งกระทู้คำถามถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวอีสาน เช่น การเก็บภาษีต่างๆ ซึ่งการทำงานของ ส.ส.อีสานในยุคนี้ ได้สะท้อนถึงอัตลักษณ์เฉพาะของพวกเขาในการเป็น “ผู้แทนฯ” ของราษฎร์อย่างแท้จริง

ประโยชน์ของการมีผู้แทนฯ ในระบอบประชาธิปไตยนั้นน่าสนใจอย่างมาก และเป็นการกำหนดมาตรวัดลักษณะของ ส.ส.อีสานในยุคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ประการแรกของการเป็นผู้แทนฯ ที่เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่นั้น ทำให้ พื้นที่ทางการเมืองระหว่างการเมืองระดับชาติกับคนในพื้นที่ได้รู้สึกและตระหนักถึงสิทธิทางการเมือง ความสำคัญประการที่สอง ส.ส.อีสานในยุคนี้ เป็น ส.ส.อีสานที่เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะฉะนั้น การสร้างชาติจึงต้องทำงานสอดคล้องกับการพัฒนาพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง ส.ส.อีสานแบบผู้แทนฯ จึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพราะ ส.ส. ยุคนี้เป็นทั้งครู ที่ใกล้ชิดกับคนในหมู่บ้าน เป็นทั้งนักการเมืองที่ลงพื้นที่อย่างจริงจัง ทำให้เกิดการรับรู้ปัญหาที่แท้จริง และสะท้อนลักษณะการเมืองแบบ Bottom Up

กลับมาที่การลงจากอำนาจของปรีดี พนมยงค์ ส.ส.อีสาน กลุ่มของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ก็ต้องถูกปราบปรามจากคู่ตรงข้ามทางการเมือง อัตลักษณ์นักการเมืองแบบนี้ได้ค่อยถูกกลืนหายไปพร้อมการเกิดขึ้นของระบอบเผด็จการทหารที่ครองอำนาจอย่างยาวนานถึง 16 ปี ตั้งแต่การขึ้นสู่อำนาจของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 จนถึงการเกิดขึ้นเหตุการณ์การชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลา 2516 ประกอบกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจขณะนั้น

การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของ ส.ส.อีสาน จากกลุ่มที่เป็นผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชน ไปสู่อัตลักษณ์ของ ส.ส. ที่เป็นนักธุรกิจ พ่อค้า และเป็นผู้แทนของตนเองเท่านั้น นั้นมีเหตุปัจจัยมาจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจการเมืองในยุคสงครามเย็นและความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างที่ถัดจากการเกิดขึ้นของรางรถไฟในอีสาน ซึ่งก็คือ การเกิดขึ้นของถนนมิตรภาพ การเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลของกองทัพสหรัฐฯ ในพื้นที่อีสาน ในฐานะจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการต่อสู้กับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในพื้นที่ลาวและเวียดนาม สหรัฐฯ เริ่มเข้ามาจัดตั้งฐานทัพในภาคอีสานของไทยตั้งแต่ปี 2505  โดยเริ่มสร้างฐานทัพที่โคราชเพื่อปฏิบัติการในลาวและปฏิบัติการทางอากาศในอินโดจีน ต่อมา ในปี 2507 ได้สร้างฐานทัพที่นครพนม และอุดรธานี ในปี 2509 สหรัฐฯ ได้สร้างฐานทัพขึ้นในอุบลราชธาน และ 2515 ได้สร้างฐานทัพน้ำพองที่ขอนแก่น  โดยสิ่งเหล่านี้ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของอีสาน ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง และกลายสภาพจากระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพที่ค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาด โดยแต่เดิม คนอีสานมีสถานะเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคในคนเดียวกัน ซึ่งผลผลิตที่ผลิตได้ก็ไว้เพื่อบริโภคและแลกเปลี่ยนภายในชุมชนเท่านั้น แต่ภายหลังจากโครงสร้างพื้นฐานอย่างรางรถไฟได้เริ่มเข้าไปยังอีสาน ภาพของระบบตลาดเริ่มเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่อีสานมากขึ้น และยิ่งชัดเจนอย่างยิ่งเมื่อถนนมิตรภาพได้ตัดผ่านถึงอีสาน การย่นระยะทาง พื้นที่สองข้างทาง จุดหมายและปลายทาง ล้วนมีความสัมพันธ์กันระหว่างอีสานและการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในอีสาน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การพัฒนาระบบเศรษฐกิจในอีสานที่เปลี่ยนผ่านไปเป็นระบบตลาด ไม่เพียงสร้างระบบตลาดและทำลายระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ แต่ยังสร้างกลุ่มทุนหน้าใหม่ขึ้นจำนวนมากในอีสาน ซึ่งกลุ่มดังกล่าวล้วนมีความเกี่ยวข้องกันกับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของอีสาน ที่ได้อานิสงส์จากการตัดถนนมิตรภาพ และการเข้าไปมีอิทธิพลของกองทัพสหรัฐฯ ในอีสาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนขนส่งที่ก่อตัวขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของถนน หรือแม้แต่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์โดยเฉพาะ เมื่อมีเส้นทางในการเดินทาง ยานพาหนะจึงเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับผู้คนในทางที่ ตระกูลที่โด่งดังและมีธุรกิจครอบคลุมในพื้นที่อีสานที่เป็นที่รู้จักกันอย่าง ตระกูลเกียรติสุรนนท์ ที่ทำธุรกิจส่วนหนึ่งเป็นดีลเลอร์กับทุนญี่ปุ่นในการทำธุรกิจเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ ซึ่งทำให้ภาพที่ชัดเจนของผลกระทบทางอ้อมจากการตัดถนน การพัฒนาความเป็นสมัยใหม่ ผ่านน้ำไฟ สาธารณูปโภค การเดินทางไปยังเมือง สู่ชนบท หมู่บ้านไปยังอีกหมู่บ้าน จำเป็นต้องใช้ยานพาหนะ ไม่เพียงแต่บทบาททางธุรกิจ คนในตระกูลเกียรติสุรนนท์เองก็ก้าวเข้าสู่เวทีทางการเมืองเช่นเดียวกัน หรือแม้แต่กลุ่มทุนก่อสร้างที่มีความสัมพันธ์กับปริมาณของโรงแรมที่เพิ่มขึ้นในกองทัพสหรัฐฯ ตั้งอยู่ในจังหวัด และเมกะโปรเจกต์ของรัฐในช่วงทศวรรษ 80 ถึง 90 ทำให้ธุรกิจก่อสร้างเติบโตอย่างมากนักการเมืองที่เติบโตจากธุรกิจก่อสร้างมาก่อนที่โด่งดังในอีสานใต้ ก็ได้แก่ ตระกูลกัลป์ตินันท์ ที่ครองพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานีมาหลายสมัย

ในยุคอิทธิพลของสหรัฐฯ ในอีสาน ก็เป็นช่วงเดียวกันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและอิทธิพลแนวคิดของเหมาอิสต์ตามแนวป่าอีสานได้เสื่อมอำนาจและความนิยมลง ซึ่งส่งผลให้ศูนย์กลางที่ทำหน้าเป็นเครื่องมือรวมรวบกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์และความเชื่อตามแบบสังคมนิยมก็หายไปด้วย

ส.ส.อีสาน ที่ทำหน้าที่ผู้แทน และมีอุดมการณ์เป็นตัวขับเคลื่อนบทบาททางการเมืองของพวกเขา ค่อยๆ หายไปจากพื้นที่และความทรงจำของคนในท้องถิ่น แต่การผงาดขึ้นของ ส.ส. อีสาน เป็นนักธุรกิจ เจ้าพ่อ อาเสี่ย ผู้มีอิทธิพล ค่อยๆ มีบทบาทมากขึ้นในเวทีการเมืองท้องถิ่น

นอกจากนี้ ระบอบรัฐสภาที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการตั้งกระทู้คำถามและอภิปรายกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาวบ้านอย่างในอดีต ทำให้บรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยและความตื่นตัวทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 80-90 ของอีสานนั้นหายไป และมีภาพจำเฉพาะด้าน อย่างเช่น การซื้อสิทธิขายเสียงให้กับนักการเมืองท้องถิ่นผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งทั้งภาพของนักการเมืองและประชาชนทั่วไปของทศวรรษที่ 80-90 ก็ได้กลายมาเป็นภาพจำของความทรงจำหลักของคนไทย กับมายาคติเรื่องซื้อสิทธิขายเสียง

ภาพของความแตกต่างของ การเมืองแบบ Bottom Up ในยุคนี้ ก็หายไปด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ส.ส. ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนผู้ประโยชน์หลังของประชาชนเหมือนยุคก่อนหน้า ทำให้การเมืองในระดับล่างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่ห่างเหินกันระหว่าง ส.ส. และประชาชน แรงขับไปสู่สำนึกทางการเมืองในห้วงเวลา 2 ทศวรรษนี้อยู่มีต่ำ แม้ว่าสถานการณ์การเมืองระดับชาตินั้นจะคุกรุ่นก็ตาม

บรรยากาศความ ‘อิน’ ทางการเมือง หรือ สำนึกทางการเมืองของอีสาน ได้เริ่มต้นขึ้นจริงจัง และแตกต่างจากลักษณะ Bottom Up ของผู้แทนฯ อีสานยุคแรก คือหลังปี 2540 เป็นต้นมาที่มีการนำแนวคิดพหุชนาธิปไตยพ่วงมากับรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้นำแนวคิดกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ส่งต่อไปยังชุมชน ทำให้คนอีสานเริ่มเข้าถึงปริมณฑลทางการเมืองอย่างถ้วนหน้าภายหลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และการปลุกอีสานให้ตื่นขึ้นและทรงพลังอย่างยิ่งกว่าอีสานในยุคผู้แทนฯ คือการเกิดขึ้นของกลุ่มนโยบายแบบทักษิโณมิกส์ (ซึ่งรวมเอาแนวคิดแบบเสรีนิยมกับแนวคิดแบบเคนเชียนเข้าไว้ด้วยกัน) ทำให้คนอีสานได้ลืมตาอ้าปาก และขณะเดียวกันการลืมตาอ้าปากของพวกเขาก็เป็นการกระตุ้นและฟื้นระบบเศรษฐกิจที่ได้เกิดวิกฤตอย่างรุนแรงไปเมื่อปี 2540 ด้วย ระบบเศรษฐกิจจึงกลายเป็นตัวช่วยใหม่ที่ทำให้อีสานได้เข้าถึงทรัพยากรของรัฐมากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดการขยับสถานะทางเศรษฐกิจจากอานิสงส์ของระบบเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู  อีสานได้ก้าวสู่การเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ

คำถามที่ถูกซ่อนไว้ระหว่างบรรทัดคือ แล้วอีสานจำเป็นหรือเปล่าที่จะต้องมี ส.ส.อีสาน ในลักษณะของผู้แทนฯ ในเมื่อนโยบายแบบทักษิโณมิกส์ได้แจ้งชัดแก่พวกเขาแล้วว่า การเมืองมันกินได้ หามาได้ เรียกร้องได้?

ในฐานะของผู้เขียนที่เชื่อมั่นในการพัฒนาศักยภาพของการเมืองท้องถิ่น ยังคงมีความเชื่อมั่นว่า ส.ส.แบบผู้แทนฯ ยังคงจำเป็นในสังคมไทย เพื่อไม่ให้เกิดนโยบายแบบ Top down อย่างที่แล้วมาอีก เพราะท้ายที่สุดแล้ว การกำหนดนโยบายจากส่วนกลางและอีสานได้รับอานิสงส์นั้น ไม่ใช่สิ่งที่แท้จริง ถ้าหากย้อนไปดูตัวเลขงบประมาณที่ทางการใช้กับอีสานแล้วจะพบว่า ยังมีสัดส่วนที่รั้งท้ายภาคอื่นๆ อยู่ แต่เป็นเพราะหลักการด้านสวัสดิการที่ทักษิโณมิกส์ได้ปูทางไว้ในไทย ทำให้อีสานสามารถเกาะเกี่ยวไปกับระบบเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองในครั้งนั้นได้

ผลของการมี ส.ส. ที่ไม่ใช่ลักษณะผู้แทนฯ ที่พร้อมจะไปเรียกร้องแทนชาวบ้าน และผลของการเมืองท้องถิ่นที่ไม่เข้มแข็ง มันสะท้อนภาพผ่านการรัฐประหารในปี 2557 อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะการเมืองแบบ Top down แม้ชาวบ้านจะได้ประโยชน์ แต่กลับไม่ได้มีอำนาจที่เข้มแข็งในทางการเมืองและไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

ผู้เขียนยังขอยืนยันว่า ในห้วงเวลานี้ ปี 2561 ระเบียบการเมืองโลกจะอยู่ภายใต้ระบอบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ และเทร็นด์การรุกกลับของฝ่ายขวาในซีกตะวันตกจะรุนแรงเช่นใด อีสานยังคงต้องการ ส.ส. ที่มีลักษณะผู้แทนฯ ที่สามารถเรียกร้องผลประโยชน์ให้กับพี่น้องชาวอีสานได้ และสร้างการเมืองท้องถิ่นที่เข้มแข็งมากพอที่จะตัดวงจรอุบาทว์จากการรัฐประหาร

image_pdfimage_print