โดย ชัชวาลย์ โคตรสงคราม

ผลจากการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 มีผู้วิเคราะห์ไว้มากมายหลายสำนักแนวคิดทฤษฎีและมีผู้ต่อต้านการยึดอำนาจด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย

ตลอดมามีผู้ต่อต้านวิธีการได้มาซึ่งอำนาจรัฐที่ล้าหลังคลั่งอำนาจ โดยล่าสุดได้มีนักวิชาการและประชาชนจำนวนหนึ่งได้เริ่มต้นจุดประกายการปลดอาวุธคณะทหารที่กำลังสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากขึ้นด้วยการ “เดินมิตรภาพ” และเป็นไปตามที่มีการวิเคราะห์ไว้ คือมีการจับกุมคณะผู้เดินมิตรภาพด้วยกฎหมายและวิธีการที่รัฐบาลภายใต้การควบคุมของคณะทหารทำมาตลอดนับตั้งแต่ยึดอำนาจ

การเดินมิตรภาพได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนที่ยอมสงบนิ่งมานาน นับตั้งแต่การยึดอำนาจของกลุ่มทหารที่ฝักใฝ่อำนาจเบ็ดเสร็จและต้องการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนนักธุรกิจและชนชั้นนำที่แฝงตัวอยู่ในคราบข้าราชการระดับสูงและกลุ่มทุนธนาคาร เป็นการตอบรับการเดินมิตรภาพทางจิตวิญญาณ เป็นเสียงแห่งความเงียบที่รับรู้กัน

และล่าสุดได้มีการนัดชุมนุมเพื่อแสดงเจตนา “ต้องการเลือกตั้ง” ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับเป็นการก้าวหน้าที่ทรงความหมายอย่างยิ่งใหญ่ เพราะว่า เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังต่อต้านความหยาบคายของการยึดอำนาจยังคงมีอยู่อย่างกล้าแกร่งและนับวันจะเพิ่มขึ้นมหาศาล

Roadmap การจัดกิจกรรมของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง”

ทรรศนะต่อไปนี้ เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชื่อมโยงของการปะทะเสียดทานระหว่างอำนาจกับการไม่ยอมรับอำนาจ โดยมีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า การใช้อำนาจของรัฐภายใต้ข้อจำกัดที่มุ่งปกป้องความมั่นคงของอำนาจนั้น มักง่ายและส่งผลกระทบต่อเสรีภาพและอิสรภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังจะได้กล่าวเป็นลำดับต่อไปนี้

1. แนวคิดการลดหรือยุบวิชาหรือคณะวิชาในสถาบันอุดมศึกษา

การศึกษาไทย เริ่มต้นการปฏิรูปช่วงแรกในทศวรรษ 2540  ซึ่งเป็นช่วงที่ภูมิปัญญาสมัยใหม่ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ในทางเทคโนโลยีนวัตกรรมนั้น ได้เปลี่ยนจากอนาล็อกไปสู่ดิจิตอล  ผลิตภัณฑ์มัลติมีเดียได้รุกเข้าไปสู่ตลาดทุนและอุตสาหกรรมการผลิตอย่างกว้างขวาง  ส่งผลให้ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายไปสู่การรับรู้ของสาธารณชนมากขึ้นจนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของวิธีคิดและวิถีชีวิตรวมทั้งเกิดการตั้งคำถามต่อคุณค่าและระบบจริยธรรมสังคมมากขึ้น

การศึกษาทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้ไหลเลื่อนเข้ากับกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีและการจัดการศึกษาที่เปิดกว้าง ในลักษณะข้ามศาสตร์ข้ามศิลป์ หรือ วิชาความรู้ส่องทางให้แก่กัน  ในส่วนสำคัญของสารัตถะวิชาทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  เป็นเรื่องความคิดและภูมิรู้ทางปัญญา พูดให้ตรงคือเป็นมโนทัศน์สุนทรียศาสตร์ที่ช่วยฟื้นฟูต่อยอดความทรงจำร่วมกันของผู้คนในสังคมสาธารณะเกี่ยวกับความดี ความงามและความจริงของมนุษย์  เพียงแต่มันเป็นนามธรรมที่แฝงฝังอยู่ในมโนทัศน์ทางสังคมและจิตใจผู้คนที่วัดผลออกมาเป็นตัวเลขได้ยาก แต่วิชาเหล่านี้ช่วยจรรโลงสังคมในระดับโครงสร้างลึก ส่วนที่จะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์และตำแหน่งขีดขั้นก็ว่ากันไป แต่ของจริงของแท้มันมีอยู่ และช่วยสังคมปรับภูมิสังคมให้เข้าใจ มองเห็น และรับรู้ปัญญาที่มีคุณค่าและประโยชน์ได้มาก

เราจะเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่เกิดวิกฤติทางสังคมและเกิดข้อขัดแย้ง เกิดความรุ่มร้อน เกิดความเสื่อมสลายเชิงจริยธรรมในสังคมทั้งในระดับปัจเจกและองค์กร ที่มุ่งเน้นการผลิตวัตถุนิยมเชิงบริโภคแบบเปลือกนอก ผู้คนก็จะอาศัยพักพิงในร่มเงาอันอุ่นเย็นของวิชาเหล่านี้ละ วิชาทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่จะนำพามนุษย์ไปสู่ความยั่งยืนทางปัญญา

ยุทธศาสตร์สำคัญที่รองรับการรวบอำนาจในระยะยาวคือ การลดพื้นที่ทางปัญญา โดยมุ่งตัดทอนหัวใจของการศึกษาเพื่อสร้างภูมิปัญญาให้สังคม ซึ่งก็คือการศึกษาทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

2. รัฐประหารเพื่อรวบอำนาจและทุนไว้ในมือรัฐ เพื่อแจกจ่ายผลประโยชน์ให้นายทุนและเครือข่ายโดยใช้กองกำลังติดอาวุธเป็นตัวนำ

การกล่าวว่า จะนำพาประเทศไปสู่การเป็นประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ดังขึ้นมาในสังคม พร้อมกับแนวคิดและข้อเสนอของรัฐมนตรีในรัฐบาลที่เสนอให้ลดหรือยุบคณะวิชาที่ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน จึงเป็นภาพสะท้อนวุฒิภาวะทางปัญญาและการวิเคราะห์อนาคตที่อ่อนแออย่างคาดไม่ถึง เป็นการมองแยกส่วนและลดทอนการประกอบสร้างความรู้และความเข้าใจของศาสตร์และศิลป์ในทางสาธารณะที่จะนำความเสียหายต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว

จะเห็นว่า เมื่อคณะนายทุนข้าราชการที่อยู่ในคราบทหารและนักการค้าที่อยู่ในคราบกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยการนำของ นายประยุทธ์  จันทร์โอชา เข้ามายึดครองอำนาจ บรรดานโยบายที่นำพาความสงบสุขและร่มเย็นของประชาชน โครงการยกระดับคุณภาพชีวิตในระยะยาวที่เป็นรูปธรรม ได้ถูกลดทอนและแปรรูปไปเป็นเครื่องมือสร้างผลประโยชน์และรักษาอำนาจอย่างชัดเจน

ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก ไม่ได้มาจากการยินยอมของประชาชน เขาและพวกพ้องบริวารเป็นประชาชนคนหนึ่ง ไม่เคยมีบุญคุณและคุณูปการต่อสังคมในระดับสำคัญของยุคสมัยใหม่  มีเพียงภูมิหลังที่มาตามระบบราชการแบบเก่าแบบศักดินาเชิงอุปถัมภ์จนถึงชั้นสูงสุด ประยุทธ์ไม่ใช่คนที่มีผลงานที่หลากหลายและล้ำลึกใด ๆ  ทั้งในฐานะข้าราชการที่ทำหน้าที่ผู้บัญชาการทหารบกและในฐานะนักรับจ้างยึดอำนาจมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวได้ว่า ประเพณีรัฐประหาร แม้ไม่ปรากฏชัดเจนว่ามีผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง แต่เมื่อวิเคราะห์ตัวบทและบริบทแล้ว ก็เหมือนจะมีค่าจ้าง

ดูเหมือนจะมีผลงานที่เอื้อต่อความมั่งคั่งของนายทุนและบรรดาชนชั้นสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วยซ้ำไป ทั้งในด้านการแบ่งปันตำแหน่งเชิงอำนาจและผลประโยชน์และการสัมปทานโครงการมูลค่ามหาศาล รวมทั้งการแต่งตั้งคนของกลุ่มชนชั้นนำที่กุมอำนาจแฝงในกลไกรัฐในหน่วยงานสำคัญเพื่อวางกำลังควบคุมอำนาจในระยะยาวมากกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ชัดแจ้ง

แรงต้านการยึดอำนาจยังคงมีอยู่และมีมาก กระจัดกระจายในหลายพื้นที่ แต่การสั่นสะเทือนเคลื่อนไหว ต้องใช้เวลาบ่มเพาะและหลอมพลัง คนจำนวนมากสั่นไหวและหวาดกลัวอำนาจและการจับกุมคุมขัง แต่คนส่วนหนึ่งยังคงเสียสละต่อสู้อย่างอดทนเพื่อให้ได้มาซึ่งวิถีประชาธิปไตยที่มีความเป็นอารยะมากกว่าการปล้นอำนาจด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ซื้อมาด้วยเงินภาษีของประชาชนและประเทศชาติ

สังคมที่รัฐกลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุน ภายใต้กลไกรัฐและรัฐบาลที่ออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนและกลุ่มทุนแฝงในระบบธนาคารและบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนหรือรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ก็ล้วนแต่เป็นปัญหาต่อคุณภาพชีวิต คุณภาพการพัฒนาและคุณภาพการอยู่กันระหว่างคนกับคนและคนกับธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น

3. ยึดอำนาจทำลายจริยธรรมเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่โดยไม่คำนึงถึงอำนาจและผลประโยชน์ของประชาชนในระยะยาว

ก่อนที่วุฒิภาวะและความเข้มข้นทางจริยธรรมสังคมจะถูกทำลายไปมากกว่านี้ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะพร้อมใจกันลุกขึ้นมาปลดอาวุธนายประยุทธ์  จันทร์โอชา และพวก

สำหรับประเทศไทย รัฐประหารผลผลิตของสังคมศักดินาล้าหลัง เป็นการผลิตซ้ำที่คงอยู่ได้เพราะเป็นกระบวนการที่ตอบสนองความต้องการเชิงปัจเจกชนที่เอาตัวเองเป็นใหญ่ในพื้นที่สาธารณะ เป็นการล้ำเส้นแบ่งและล่วงล้ำพื้นที่และสิทธิอำนาจของผู้อื่น ตราบใดที่เรายังผลิตคนที่มีทรรศนะเห็นแก่ตัวเองและพวกพ้องภายใต้สำนึกอำนาจนิยมผูกขาด ตราบนั้นการรัฐประหารก็ยังมีชีวิตอยู่ได้

4. ปลดอาวุธ คสช. และยกเลิกประเพณียึดอำนาจ

ประชาชนเท่านั้นที่จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตด้วยพลังความเป็นธรรมและการมีสิทธิอำนาจในการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกบุกรุกและล้อมกรอบโดยทุนขนาดใหญ่ที่มีรัฐเป็นผู้สนับสนุนและเป็นผู้ชี้ประเด็น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจึงต้องพูดว่า ถึงเวลาที่เราจะลุกขึ้นเดินเข้าปลดอาวุธที่ใช้ในการปล้นอำนาจประชาชนแล้วหรือยัง!?

เราจำเป็นต้องปลดอาวุธและให้ทหารกลับอยู่ในพื้นที่เฉพาะและอยู่ในการควบคุมดูแลของคนที่มีจิตวิญญาณสาธารณะขั้นสูง ไม่ใช่ให้อยู่ในมือของคนที่เห็นแก่ตัว มีความทะเยอทะยานส่วนตนและพวกพ้อง เราต้องรื้อรัฐธรรมนูญให้ผูกพันอยู่กับอำนาจประชาชาติ ซึ่งหมายถึงเราจำเป็นต้องปรับประเพณีการปกครองประเทศบางอย่างให้ทันสมัย

ปัญหาสำคัญคือ เราจะปลดหรือควบคุมอาวุธทหารอย่างไร ใครจะเป็นผู้ทำและทำเมื่อไร เพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญที่ยกเลิกประเพณีการยึดอำนาจของกองทัพ ให้หมดสิ้นไม่เหลือซากในอนาคต

ในที่สุด เมื่อเห็นว่า วันใดที่นักรัฐประหารกับนักการเมืองการทหารที่มาจากการยึดอำนาจ ทะเลาะขัดแย้งกันเพราะผลประโยชน์ หรือจับมือกันเพื่อผลประโยชน์ครั้งใหม่ โดยไม่ได้สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

ถึงวันนั้น ประชาชนทั้งหลายต้องลุกขึ้นมาชิงอำนาจรัฐมาเป็นของตนเองอย่างชอบธรรม เพื่อลบล้างทำลายอำนาจเฉพาะกลุ่มคนเล็กน้อยที่ครอบงำประเทศชาติไว้ในขณะนี้ เราหวังว่าจะอดทนเดินไปให้ถึงวันนั้น   

image_pdfimage_print