โดย เมธา มาสขาว

นครพนม – นครพนม – ระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2561 มีการจัดเทศกาลมหกรรมวันผู้ไทโลก ครั้งที่ 9 ที่เมืองเว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม งานดังกล่าวนอกจากมีกิจกรรมของชาวผู้ไทแล้ว ยังเป็นงานวัฒนธรรมประเพณีที่ชวนสืบค้นประวัติศาสตร์ความเกี่ยวข้องด้านชาติพันธุ์ของคนในท้องถิ่นอุษาคเนย์ด้วย

โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล เป็นเจ้าภาพจัดงาน “วันผู้ไทยเรณูนคร” เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2561

รูปแบบการจัดเทศกาลมหกรรมวันผู้ไทโลก คืองานท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “เทศกาลเที่ยวเรณูนคร” นำเสนอการแสดงเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ วิถีไทย วิถีถิ่น ทั้งวัฒนธรรมประเพณี อาหาร ขนม งานหัตถศิลป์พื้นบ้าน การแต่งกายและผ้าซิ่นตระกูลไท จัดโดยสมาคมผู้ไทโลก และเครือข่ายสภาวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงองค์กรผู้ไทในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด รวมถึงผู้ไทที่มาจากลาวและเวียดนาม

เดิมทีโรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูลเป็นเจ้าภาพจัดงาน “วันผู้ไทยเรณูนคร” ทุกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยจัดงานต่อเนื่องจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 21 เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมประเพณีของตนเองที่มีรากเหง้ามาอย่างยาวนาน การกิจกรรมมีขึ้นตั้งแต่เช้าจรดเย็น อาทิ ละครประวัติศาสตร์ การฟ้อนรำผู้ไทรูปแบบต่างๆ ตามถิ่นที่อยู่อาศัย ได้แก่ ไท ลาว เวียดนาม สิบหกจุไท และ เดียนเบียนฟู ตลอดจนการแสดงบทเพลงคุณธรรมประกอบนาฎลักษณ์อันงดงามที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ รวมถึงการโฮมตุ้มกินข้าวปลาพาแลงร่วมกัน

ทั้งนี้ โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูลตั้งอยู่ที่เมืองเว หรือ เมืองเรณูนครเดิม ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวผู้ไทเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง ชาวผู้ไท คือ ชาวไทกลุ่มหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะได เช่นเดียวกับไทใหญ่ ไทน้อย ไทสยาม ไทลื้อ และไทลาว ฯลฯ

การจัดงาน “วันผู้ไทยเรณูนคร”  14 กุมภาพันธ์ 2561 มีประชาชนในอำเภอเรณูนครและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาชมกิจกรรมจำนวนมาก

กิจกรรม “หมอเหยา” หรือ หมอภูมิปัญญาพื้นบ้าน ในงานวันผู้ไทเรณูนคร ที่อ.เรณูนคร จ.นครพนม

หลังจากนั้นช่วงวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นการจัดงาน “วันผู้ไทโลก ครั้งที่ 9” ณ ลานวัดพระธาตุเรณูนคร สถานที่อันศักสิทธิ์ศูนย์กลางแห่งศรัทธาของชาวเมืองเวเรณูนคร ซึ่งมีการแสดงละคร การแสดงฟ้อนรำ โดยนักเรียนระดับชั้นต่างๆ  การละเล่นพื้นบ้านผู้ไท ฟ้อนเลาะตูบ การจัดซุ้มวัฒนธรรม กิจกรรม “กินเข้าโฮมพา กินปาโฮมโตก” และขบวนแห่ไปตามถนนในเมือง ก่อนจะมีการแสดงละคร แสงสีเสียง ประวัติเจ้าเพ็ชร เจ้าสาย การแสดงดนตรี และการฟ้อนรำ โดยชมรมนาฏศิลป์พื้นบ้าน เป็นต้น

ในประวัติศาสตร์ต้นกำเนิดชาวไท ซึ่งตรงกับคำว่าไต แล้วแต่สำเนียงเรียกกันนั้น ชาวผู้ไทเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ว่ากันว่าใหญ่ที่สุดรองลงมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวหรือคนลาวส่วนใหญ่ ชาวผู้ไทมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 4,000 ปี ในดินแดนสิบสองปันนาของจีนไปจรดทิศตะวันออกแคว้นสิบสองจุไทในลาวและเวียดนาม รวมถึงอาศัยอยู่ในภาคอีสานของไทยจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะที่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม

คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่า ในประวัติศาสตร์ผู้ไท ชาวผู้ไทก็คือชาวไทดำและไทขาว ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแคว้นสิบสองจุไทแต่ดั้งเดิมหรือบริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงในเวียดนามตอนเหนือ ติดกับแขวงพงสาลีของประเทศลาว แบ่งเป็นไทขาว 4 เมือง และไทดำ 8 เมือง โดยมีเมืองแถงเป็นเมืองเอกของชาวไทดำ แต่เอกสารท้องถิ่นของชาวไทดำในเวียดนามกล่าวว่า “ดินไทเฮามีสิบหกเจิวแต่หลัง” และเพิ่งเปลี่ยนแปลงเป็นสิบสองจุไทเมื่อฝรั่งเศสเข้ามาจัดระเบียบการปกครองท้องถิ่นใหม่ ปัจจุบัน “เมืองแถง” เรียกว่าเมือง “เดียนเบียนฟู” ซึ่งชาวไทลาวส่วนหนึ่งก็เชื่อว่าต้นตระกูลตนเองมาจากที่นั่น

แต่นักประวัติศาสตร์บางคนก็เชื่อว่า ชาวไทดำกับผู้ไทอาจจะเป็นคนละชาติพันธุ์กัน นักภาษาศาสตร์สันนิษฐานว่า อาจอพยพแยกจากกันนานกว่า 1,500 ปีมาแล้ว ภาษาผู้ไทเป็นภาษาในตระกูลภาษาไทที่กระจัดกระจายในภูมิภาคต่างๆ ของไทยและลาว เข้าใจว่าผู้พูดภาษาผู้ไทมีถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมอยู่ในเมืองนาน้อยอ้อยหนู ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองแถง ก่อนที่คนบางส่วนอพยพออกไปอยู่ที่เมืองวังอ่างคำในแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว และส่วนหนึ่งได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาประเทศไทย

ภาษาภูไทมักจะมีภาษาของไทลื้อและภาษาลาวปนอยู่ด้วย จึงเข้าใจได้ว่าน่าจะเกี่ยวพันกับชาวไทลื้อในสิบสองปันนาที่มีประวัติศาสตร์สัมพันธ์กัน เพราะในสมัยโบราณนั้น สิบสองปันนาเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรน่านเจ้า ที่มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองหนองแสหรือเมืองต้าลี่ในปัจจุบัน ก่อนจะมาเป็นราชอาณาจักรหอคำเชียงรุ่งในเวลาต่อมาเมื่อประมาณ 800 กว่าปีก่อน ก่อนจะถูกชาวมองโกลรุกรานและเป็นส่วนหนึ่งของจีนในปัจจุบัน

จะว่าไปแล้ว ชนชาติไทหรือไต ก็น่าจะเป็นชนชาติเดียวกันเกือบทั้งหมด ที่นักวิชาการเรียกรวมทั้งหมดว่า “ชนชาติไท-กะได” ไม่ว่าจะพ่วงด้วยต่อคำไหน เพื่อสะท้อนลักษณะทางวัฒนธรรม ประเพณี ตามพื้นถิ่นที่แตกต่างกันไป แต่ในด้านภาษาศาสตร์ ก็มีความใกล้เคียงกัน และก็เป็นชนชาวไททั้งนั้น

การฟ้อนรำของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท หนึ่งในกิจกรรมงานวันผู้ไทโลก ที่วัดพระธาตุเรณู อ.เรณูนคร จ.นครพนม เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2561

หลายคนเชื่อว่าชนชาติไท อาจจะอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยอ้างตามหลักฐานโครงกระดูกที่บ้านเชียงและบ้านเก่า แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่าบรรพบุรุษเก่าแก่ที่สุดน่าจะอาศัยอยู่บริเวณจีนตอนใต้ในมณฑลกวางสี เขตวัฒนธรรมไท-กะไดที่สำคัญของชาวจ้วง เพราะในด้านนิรุกติศาสตร์เชื่อว่า ภาษาเกิดที่ใดจะมีภาษาท้องถิ่นมากมายหลายชนิดเกิดขึ้นแถบนั้น เพราะอยู่มานานจนแตกต่างกันออกไปแต่ในดินแดนที่ใหม่กว่า ภาษาจะไม่ต่างกันมากนัก

เอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะได หรือบางครั้งเรียกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไต-ไทในอุษาคเนย์นั้น ส่วนใหญ่นับถือผี นับถือบรรพบุรุษและบูชาแถน ก่อนจะมารับนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท รับประทานข้าวเจ้ากับข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก นิยมปลูกเรือนเสาสูงและมีใต้ถุน มีประเพณีเผาศพและเก็บอัฐิไว้ให้ลูกหลาน

ภาษาไทถือเป็นสาขาของตระกูลภาษาไท-กะได ปัจจุบัน กลุ่มที่ใช้ภาษาไทกระจายอยู่ในมณฑลยูนนาน กวางสี ประเทศไทย ประเทศลาว รัฐฉานและทางแคว้นสิบสองจุไทเดิม (ชายแดนเวียดนาม) ประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาไทใหญ่ ภาษาไทลื้อ ภาษาจ้วง และอื่นๆ โดยเราจะพบว่า ภาษาเขียนหรืออักษรของภาษาไท ภาษาไทลื้อ ภาษาไทใหญ่ในรัฐฉาน ภาษาไทเขิน ภาษาล้านนา ภาษาไทดำ และภาษาลาว มีความคล้ายคลึงกัน

ปัจจุบัน เราแบ่งชนชาติไทตามหลักมานุษยวิทยา โดยใช้เกณฑ์ด้านวัฒนธรรมและประเพณี ออกเป็น 2-3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ไทน้อย ไทใหญ่ และไทสยาม

ไทน้อย หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง ทั้งฝั่งขวาและฝั่งซ้าย ประกอบด้วยทั้งฝั่งในไทย ลาว จนถึงลุ่มแม่น้ำดำ-แดงในเวียดนาม แล้วเลยไปจนถึงตอนใต้ของจีน เอกลักษณ์ตระกูลชาติพันธุ์ไทน้อย คือ มีการปลูกเรือนแบบยาวลึกเข้าไป ในสถาปัตยกรรมขั้นสูงมีการประดับตกแต่งที่ค่อนข้างน้อย เน้นความอ่อนช้อยของศิลปะ แต่เสื้อผ้าอาจจะมีเครื่องประดับมากกว่า โดยกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลนี้ ได้แก่พวก ไทลาว ไทดำ ไทขาว ไทแดง ไทพวน ไทฮ่างตง ตูลาว หลี เจียมาว เกลาว ลาติ ลาคัว ลาฮา จาเบียว เบ ไทแสก ลักเกีย คำ สุย มู่หล่าว เมาหนาน ไทญ้อ ผู้ไท ต้ง จ้วง คัง นุง โท้ เป็นต้น

ไทใหญ่ หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ปัจจุบันถูกเรียกว่า รัฐฉาน หรือเดิมนั้นมาจากคำว่า สยาม เลยไปถึงลุ่มน้ำสาละวินหรือแม่น้ำคง มีระบบการปลูกบ้านสร้างเรือนที่ซับซ้อนกว่าไทน้อย โดยกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลนี้ ได้แก่ ไทใหญ่ ที่เรียกตัวเองว่า ไต  ไตโหลง ไทหลวง ไทเหนือ ไทขึนหรือไทเขิน ไทลื้อ ไทยวนอาหม อ่ายตน คำยัง คำตี่ พ่าเก นะรา จันหารี และ ตุรุง เป็นต้น

ไม่นับรวมไทยสยาม ซึ่งหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรี เรื่อยไปจนถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำพุมดวง-ตาปี ที่ราบลุ่มทะเลสาบสงขลา บริเวณจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา และบริเวณจังหวัดเกาะสอง เขตตะนาวศรี ประเทศพม่า เพราะสยามดูเหมือนจะเป็นชื่อพื้นที่รวมของหลากหลายชาติพันธุ์มากกว่า

นักประวัติศาสตร์บางคนเคยศึกษาว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางแถบอโยธยา ละโว้ สุพรรณภูมิ เดิมนั้นมีการอพยพของชาวไท-ลาว เข้ามาในพื้นที่สุวรรณภูมิ ต่อมาในยุคทราวดี ราวพ.ศ.1100 มีหลักฐานพบว่ามีคนตระกูลไท-ลาวอยู่ในดินแดนจำนวนหนึ่งด้วยซึ่งอพยพลงมาทางสองฝั่งน้ำโขงลงมาลุ่มแม่น้ำน่าน เคลื่อนย้ายลงมาอยู่กับมอญและเขมรแล้วรับวัฒนธรรมมอญ-เขมร เพราะจารึกต่างๆ ในแผ่นดินสุวรรณภูมิแต่โบราณ ก่อน พ.ศ.1730 ไม่พบภาษาตระกูลไทเท่าไหร่นัก นอกจากจารึกภาษามอญซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาก่อนในดินแดนแถบนี้ จึงคาดว่าชนชาติไทเพิ่งจะอพยพลงสู่ทางใต้และสร้างอารยธรรมรุ่งเรืองในภายหลัง

ต่อมาในสมัยยุคกรุงอยุธยาเป็นราชธานี เอกสารจีนที่บันทึกโดยหม่าฮวนได้กล่าวไว้ว่า ชาวเมืองศรีอยุธยาพูดภาษาเดียวกับกลุ่มชนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ว่า ชาวลาวกับชาวสยามเกือบจะเป็นชนชาติเดียวกัน และเราเรียกตนเองว่าเป็นพวกไทน้อย!

สรุปว่า ไม่ว่าจะเป็นไทน้อย ไทลาว ไทแดง ไทพวน ไทดำ ไทขาว หรือผู้ไท เราก็ชาวผู้เป็นไทด้วยกันทั้งหมดในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไท

เพราะในอุษาคเนย์ เราทั้งหมดล้วนเป็นพี่น้องกัน!

เมธา มาสขาว เป็นวิทยากรบรรยายโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ดประจำปี 2560

image_pdfimage_print