โดย บูรพา เล็กล้วนงาม
การเปิดโปงการปลอมลายเซ็นต์ของส่วนราชการที่จังหวัดขอนแก่นสะท้อนถึงความย้อนแย้งของข้ออ้างการยึดอำนาจโดยกองทัพเพื่อเข้ามาปราบนักการเมืองโกง
การออกมาชื่นชม น.ส.ปณิดา ยศปัญญา นิสิตสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน ม.มหาสารคาม ของหลายหน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น หอการค้าจังหวัดขอนแก่น ในฐานะที่ น.ส.ปณิดาเปิดโปงการทุจริตเอกสารการเบิกเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ผู้ป่วยเอดส์ และทุนประกอบอาชีพ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ขณะไปฝึกงานเมื่อปี 2560 ถือเป็นเรื่องปกติ
แต่การที่กองทัพส่ง พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ เสธ.พีท หัวหน้าฝ่ายข่าวกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น มามอบเกียรติบัตรเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ และสัญญาว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ทหารมาดูแลความปลอดภัยให้ เป็นเรื่องน่าสงสัยว่าพฤติกรรมดังกล่าวคือการฉวยโอกาสโหนกระแสสร้างภาพลักษณ์ต่อต้านการทุจริตหรือไม่ เพราะเรื่องการปราบปรามการคอร์รัปชั่นและการให้ความคุ้มครองพยานไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ

เนื่องจากถ้ากองทัพต้องการต่อต้านการคอร์รัปชันจริง กองทัพควรมีปฏิกิริยาต่อทุกกรณีเท่าเทียมกัน รวมถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ครอบครองนาฬิกาหรู 25 เรือน มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท พร้อมกับแหวนเพชรเม็ดใหญ่ โดยอ้างว่ายืมเพื่อนที่เสียชีวิตมาสวมใส่ แต่กรณีดังกล่าวกลับไม่มีปฏิกิริยาจากกองทัพ ทั้งที่เป็นข่าวอื้อฉาวไปถึงยังต่างประเทศ โดยถ้าจะใช้มาตรฐานเดียวกันอย่างน้อยกองทัพควรมอบดอกไม้ให้กำลังใจเพจเฟซบุ๊ค CSI LA ผู้ขุดคุ้ยกรณีนาฬิกาหรูบ้าง
ท่าทีของกองทัพถูกวิจารณ์จาก “ครูโบว์” ณัฐฐา มหัทธนา นักกิจกรรมที่ออกมาทวงสัญญาจากรัฐบาลทหารให้มีการเลือกตั้งว่า เมื่อครั้งที่นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว กับพวก พยายามเปิดโปงการทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของกองทัพบก นายสิริวิชญ์กลับถูกดำเนินคดีในศาลทหารด้วยข้อหาชุมนุมทางการเมืิองเกิน 5 คน แต่กรณีการเปิดโปงการทุจริตหน่วยงานอื่นกลับได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ
แม้จะไม่มีใครให้เห็นผลว่าทำไมจึงมีความย้อนแย้งเช่นนั้น แต่ถ้าพิจารณาจากพฤติกรรมของหัวหน้าคณะรัฐประหาร จะพบร่อยรองของการส่งสัญญาณให้มีการเลือกปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยว่า ได้ให้กำลังใจพล.อ.ประวิตรในเรื่องนาฬิกาหรู และเชื่อว่าพล.อ.ประวิตร มีความเข้มแข็งมากเพียงพอที่จะชี้แจงข้อเท็จจริง ส่วนการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย
“อยากขอร้องสื่อให้ลดราวาศอกกับพล.อ.ประวิตร บ้าง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
จึงพบว่า นอกจากพล.อ.ประยุทธ์จะไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อกรณีนาฬิกาหรูในฐานะหัวหน้ารัฐบาลแล้ว ยังไปปกป้องรมว.กลาโหมอีกต่างหาก จึงไม่แปลกใจที่คนในกองทัพจะออกมาต่อต้านการทุจริตเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นกับข้าราชการ หน่วยงานอื่นหรือใครก็ได้ที่ไม่เกี่ยวพันกับคนของรัฐบาลทหารและกองทัพ
ส่วนการกระทำดังกล่าวถือเป็นการปราบโกงสไตล์หน้าไหว้หลังหลอกหรือไม่ ผู้ที่มีข้อมูลเพียงพอคงพิจารณาได้ไม่ลำบาก
เกี่ยวกับเรื่องที่รัฐมนตรีในรัฐบาลเผด็จการครอบครองทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล อาจารย์ธีระพล อันมัย แห่งสาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์เดอะอีสานเรคคอร์ด ตั้งแต่ปลายปีท่ี่แล้วว่า ปัญหาของประเทศไทยคือ องค์กรที่ตรวจสอบได้ยากที่สุดน่าจะคอร์รัปชันมากที่สุด ประชาชนสามารถตรวจสอบการคอร์รัปชันของกองทัพได้หรือไม่ เนื่องจากแค่กองทัพอ้างว่าเป็นงบประมาณลับ ทุกอย่างก็จบ
“คุณได้อำนาจมาด้วยการปล้น คือการคอร์รัปชั่น การเข้าสู่อำนาจไม่ถูกต้อง คือการคอร์รัปชั่น เรื่องปราบคอร์รัปชั่นเป็นแค่วาทกรรมลวงโลก เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่คณะรัฐประหารและกองเชียร์” อาจารย์ธีระพลกล่าว
จึงน่าคิดว่าเพราะเหตุใดนิสิตฝึกงานจึงตรวจสอบการทุจริตได้มีประสิทธิภาพมากกว่าองค์กรอิสระ อย่าง ป.ป.ท.ต่อกรณีปลอมลายเซ็นต์และ ป.ป.ช.ในกรณีนาฬิกาหรู
ขณะที่สิ่งที่น่าคิดต่อไปคือการปลอมลายเซ็นต์เป็นปัญหาส่วนบุคคลหรือปัญหาเชิงโครงสร้าง
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเป็นปัญหาส่วนบุคคลเพราะหลังจากเรื่องที่จ.ขอนแก่นถูกเปิดเผยออกมา ก็พบว่าศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึงจังหวัดอื่นๆ ก็มีพฤติกรรมเช่นนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างของระบบราชการส่วนกลางที่มีหน่วยงานราชการอยู่ทั่วประเทศ โดยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ เป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ทำให้การบริหารงานของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ ทุกแห่ง ถูกควบคุมโดยต้นสังกัดคือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยไม่ยึดโยงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นด้วย มีคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะลดขนาดราชการส่วนกลางลง แล้วเพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง
ด้านกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีผู้ตรวจราชการหรือไม่ เวลาตรวจราชการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในจังหวัดต่างๆ มีวิธีการทำงานกันอย่างไร จึงไม่พบข้อน่าสงสัยเรื่องการส่อทุจริตที่เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่
ถ้าเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 นิสิต ม.มหาสารคาม คนดังกล่าว ไม่ตัดสินใจร้องเรียนต่อสื่อมวลชนถึงการถูกบังคับให้ปลอมลายเซ็นต์ หลังร้องเรียนต่อเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่นแล้วไม่มีความคืบหน้า
การโกงเงินของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่นคงเกิดขึ้นตามปกติใช่หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีการตรวจสอบจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จนขยายผลพบว่า มีการกระทำที่ส่อทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในอีก 12 จังหวัด (ข้อมูลถึงวันที่ 27 ก.พ. 2561)
มีข้อน่ากังขาด้วยว่า มีหน่วยงานภาครัฐอีกกี่แห่งที่มีพฤติกรรมเช่นนี้แล้วยังลอยนวลอยู่ จะต้องมีผู้กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตจนถึงเมื่อไหร่
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยบางกลุ่มจะทบทวนความคิดขอฝากความหวังต่อการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นไว้กับรัฐบาลทหาร แล้วสร้างอำนาจให้ประชาชนเป็นใหญ่เหนือกว่าระบบราชการเพื่อกำหนดนโยบาย ควบคุม และตรวจสอบ
แต่ประชาชนจะเป็นใหญ่ไม่ได้ ถ้ายังไม่มีการเลือกตั้ง