โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

หลังจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศเลื่อนเลือกตั้งอีกรอบเป็นไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562

หลังจากบอกกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ว่า ไทยจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันแน่ หลังการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายมีขึ้นเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 หรือ 4 ปีผ่านมาแล้ว

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติผ่านความเห็นชอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้มีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งว่า การเลื่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจะเป็นครั้งสุดท้าย

ขั้นตอนต่อจากนี้ คือ มีเวลา 5 วันนับจากวันที่ 8 มี.ค. 2561 เพื่อให้สมาชิกสภายื่นคำร้องต่อนายกรัฐมนตรีว่าร่างกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีไม่มีผู้ยื่นคำร้อง ให้นายกฯ นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วัน จากนั้นพระมหากษัตริย์ให้ความเห็นชอบและพระราชทานคืนมายังรัฐสภาภายใน 90 วัน ซึ่งจะนำไปสู่การประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงจะถือว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้ กระบวนการนี้ใช้เวลาไม่เกิน 105 วัน หรือ สามเดือนครึ่ง ซึ่งจะตรงกับช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้

แต่เนื่องจาก สนช. แก้ไขร่างกฎหมายให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัันจึงจะทำให้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือนกันยายน ปี 2561 เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วก็จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน จึงเท่ากับว่าถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอีก เวลานานที่สุดที่จะมีการเลือกตั้ง คือ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 หรือไม่เกิน 1 ปีนับจากนี้

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปได้ว่าการยืดการเลือกตั้งอาจถูกยื้อออกไปอีก เนื่องจากที่ผ่านมา คสช. ใช้ถึง 4 เทคนิคเพื่อยืดการเลือกตั้ง ประกอบด้วย แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดให้ใช้ระยะเวลาจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนานถึง 11 เดือน ไม่ปลดล็อคพรรคการเมือง และล่าสุดคือยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.

มีข้อสังเกตว่า เพียงแค่ คสช. ยกเลิก ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจการทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ยังห้ามชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป การเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ตามเดิม โดยไม่ต้องใช้เทคนิคยืดเวลาบังคับใช้ร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน

การยืดการเลือกตั้งออกไปแค่ 90 วันดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการที่ คสช.ยืดการเลือกตั้ง มาตั้งแต่โร้ดแมปแรกที่กำหนดจัดการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน ปี 2558 หรือ รวมเวลากว่า 3 ปีแล้ว แต่เรื่องเล็กก็สะท้อนถึงความจริงใจของ คสช. ในการจัดการเลือกตั้งตามกำหนด คือ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ไม่แน่ว่า คสช. อาจจะใช้เทคนิคอะไรอีกในการยืดการเลือกตั้งออกไปอีกก็ได้

เหตุผลสนับสนุนความเชื่อว่า คสช. อาจจะเลื่อนการเลือกตั้งอีกครั้งมาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่าตนเองไม่ใช่ทหารแต่เป็นนักการเมือง เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา และอีกเหตุผลคือหลายพรรคการเมืองที่จดแจ้งจัดตั้งขึ้นใหม่ประกาศสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

ฉะนั้นหาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องการเป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องเร่งสร้างความนิยมต่อประชาชน เพื่อให้พรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ในสภาพความเป็นจริงคือเมื่อมาถึงปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. กลับไม่ได้รับคะแนนนิยมอย่างกว้างขวางเหมือนช่วงปีแรกที่เข้าสู่อำนาจจากการรัฐประหาร

เมื่อมีคะแนนนิยมตกต่ำจึงยังปล่อยให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดไม่ได้

คะแนนนิยมที่ตกต่ำในตัว พล.อ.ประยุทธ์พิสูจน์ได้จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 “อีสานโพล” ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ขอนแก่น เผยผลสำรวจระหว่างวันที่ 2-4 ก.พ. 2561 หัวข้อ “คนอีสานกับการ (จะได้) เลือกตั้ง”

คำถามว่า พรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในการเลือกตั้งครั้งหน้าคือพรรคใด ผลปรากฏว่า

1.พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 39.7

2.พรรคทางเลือกอื่นๆ หรือยังไม่ตัดสินใจ     ร้อยละ 26.9

3.พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 10.4

4.พรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 6.6

หากผลการเลือกตั้งไม่ผิดไปจากผลสำรวจความนิยม พรรคเพื่อไทยที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ต้องชนะการเลือกตั้งในภาคอีสานภาคที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดอย่างแน่นอน ส่วนพรรคที่สนับสนุนหัวหน้า คสช. จะได้คะแนนเสียงเพียงน้อยนิดคือไม่ถึงร้อยละ 7

การจัดกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดตามตัวไปถึงบ้านพัก

เมื่อนำมาประกอบกับกรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดตามตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ กรุงเทพฯ – ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 20 ม.ค. – 17 ก.พ. 2561 จำนวนหลายคนไปถึงบ้านพักในภาคอีสานและจังหวัดอื่นๆ กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ยังมีความอ่อนไหวต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งไม่ได้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ผู้มีอำนาจพร้อมนำประเทศไทยกลับสู่การเลือกตั้ง

ถึงขณะนี้ประชาชนคงไม่ทราบว่า คสช. จะยื้อการเลือกตั้งอีกหรือไม่ และจะยื้ออีกนานเท่าไหร่ แต่ประชาชนเจ้าของอำนาจสูงสุดที่แท้จริงสามารถแสดงออกได้ว่าพวกตนต้องการการเลือกตั้งแล้ว เช่นเดียวกับการจัดกิจกรรม รวมพลัง ถอนราก คสช.” ในวันที่ 10 มี.ค. 2561 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ถ้าประชาชนเคลื่อนไหวก็มีโอกาสจะได้เลือกตั้งในเร็ววันนี้ แต่ถ้าประชาชนนิ่งเฉยก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ คสช. เลื่อนการเลือกตั้งอีกครั้ง   

image_pdfimage_print