ขอนแก่น – อดีตอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เชื่อว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่นคงปลอมลายเซ็นจนเคยชิน จึงกล้าให้นิสิตฝึกงานปลอมลายเซ็นด้วย เรื่องจึงถูกเปิดเผย โดยเห็นว่าเป็นการกระทำทั้งระบบและเป็นขบวนการ ส่วนวิธีแก้คือการจ่ายเงินเข้าบัญชีคนจนโดยตรง

นางสุดสงวน สุธีสร อดีตอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2561 นางสุดสงวน สุธีสร อดีตอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการเปิดโปงการทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้ามาตรวจสอบกลับพบการทุจริตในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งอื่นรวมแล้ว 44 จังหวัด ว่า คาดไม่ถึงและไม่น่าเชื่อว่า ผู้ตรวจพบการทุจริตจะเป็น น.ส.ปณิดา ยศปัญญา นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพราะผู้ตรวจพบการทุจริตน่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐมากกว่า ตนคิดว่า ผู้ที่ปลอมลายมือชื่อคงทำเป็นประจำจนเกิดความคุ้นชินและมองข้ามความสุ่มเสี่ยงในการถูกเปิดเผยการทุจริต

นางสุดสงวนเล่าถึงขั้นตอนการส่งนักศึกษาไปฝึกงานว่า นอกจากนักศึกษาจะใช้ความรู้ด้านสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาชุมชน แล้ว นักศึกษายังต้องทำงานประจำอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายด้วย เพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ตนเป็นอาจารย์ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ก็มีความเห็นว่า นักศึกษาฝึกงานควรช่วยเจ้าหน้าที่ทำงานให้มากที่สุดเพื่อที่จะได้เรียนรู้ชีวิตจริงของการทำงาน

อดีตอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ผู้นี้ กล่าวว่า การพบการทุจริตน่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่บอกให้นิสิตไปช่วยงานด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการปลอมลายมือชื่อโดยไม่คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ผิดหรือไม่ แต่นิสิตสมัยนี้มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ได้ทำงานแบบตามสั่งให้ทำอะไรก็ทำ ต่างจากคนในหน่วยงานที่มักทำงานไปเรื่อยๆ ขาดแรงจูงใจ เนื่องจากการทำงานในหน่วยงานราชการมักใช้เส้นสายในการพิจารณาความดีความชอบ

“แต่พอน้อง (นิสิต) เริ่มกรอก ก็เริ่มเห็นความผิด เด็กต้องถามอยู่แล้วว่าทำไมตรงนี้เป็นแบบนี้ ถ้าพี่ซุป (ผู้ควบคุมนิสิตฝึกงาน) อธิบายไม่ได้ เขาก็ต้องถามมากขึ้น เพราะเรื่องเงินถ้าทำผิด ก็ต้องรับผิดชอบเพราะเขาเป็นคนกรอก” นางสุดสงวนกล่าว

นางสุดสงวนกล่าวอีกว่า พอนิสิตพบความผิดปกติแทนที่เจ้าหน้าที่จะอธิบายว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้น กลับห้ามไม่ให้นิสิตมายุ่งเกี่ยวและตำหนินิสิตที่อยากทำความดี ที่อยากจะให้นำเงินดังกล่าวไปช่วยเหลือผู้ยากจนตามวัตถุประสงค์

“ตำหนิไม่พอ พอส่งเรื่องมาให้อาจารย์ที่ปรึกษาที่คณะตัวเอง โดนเฉ่งเลย และยังไปทุบหลังเขาอีก ซึ่งเป็นพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงประทุษร้ายร่างกาย ซึ่งจะไม่ทำกัน” อดีตอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ผู้นี้ กล่าวและว่า มหาวิทยาลัยควรให้เกียรติกับนิสิต เพราะนิสิตเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม นิสิตไม่ใช่คนที่มาทำงานตามสั่งนิสิตคิดเองได้ ถูกผิดตัดสินได้ด้วยดัวเอง แต่ถ้านิสิตทำผิดอาจารย์สามารถชี้นำได้ แต่การไปดุนิสิตฝึกงานทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นเรื่องใหญ่ จนเรื่องกลายเป็นข่าวทำให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่จังหวัดขอนแก่นถูกตรวจสอบ

ในฐานะที่เป็นเคยอาจารย์ที่ปรึกษา นักศึกษาฝึกงานภาคสนาม ขณะสอนหนังสือที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. นักศึกษาเคยนำปัญหาจากการฝึกงานมาปรึกษาบ้างหรือไม่ นางสุดสงวนกล่าวว่า นักศึกษาเคยนำปัญหาการถูกเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ไปฝึกงานมาตามจีบมาเล่าให้ฟัง ตนจึงแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปเป็นคนกลางโดยแจ้งให้ผู้ควบคุมนักศึกษาฝึกงานทราบเพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนปัญหาเรื่องการทุจริตของหน่วยงานไม่เคยมีนักศึกษาแจ้งให้ทราบ ซึ่งอาจจะเกิดจาก นักศึกษา มธ. เป็นคนช่างซักช่างถามจึงไม่มีใครกล้าให้ทำเรื่องดังกล่าวขณะฝึกงาน

จากขอนแก่นลุกลามทั้งระบบและวิธีแก้ไข

“พอตรวจสอบมันเลยกลายเป็นว่า ระบบทั้งระบบมันกลายเป็นแบบนี้ ต้องดูว่าการปล่อยให้ระบบทั้งระบบกลายเป็นแบบนี้ ใครเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดบ้าง” นางสุดสงวนกล่าวและว่า การตรวจพบการทุจริต ผู้ที่ถูกจับได้มักเป็นคนระดับล่าง ส่วนคนระดับบนที่ได้รับเงินจำนวนมากจากการทุจริตมักไม่ถูกตรวจพบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย

หลัง ป.ป.ท. เข้ามาตรวจสอบก็พบการทุจริตในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 44 แห่งทั่วประเทศ สะท้อนถึงการทำงานของ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้นสังกัดอย่างไร นางสุดสงวนเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในระบบ คงมีการสั่งการให้ปลอมลายมือชื่อแบบนี้ ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการอาจจะไม่ทราบว่าสิ่งนี้คือการทุจริต และเงินก้อนนี้หายไปไหน ควรต้องมีการตรวจสอบว่าทำไมจึงมีการโกงในวงกว้าง มีการกระทำรูปแบบเดียวกันและเป็นขบวนการหรือไม่

“ต้องมีความร่วมมือกัน เพราะทำคนเดียวไม่ได้ คนที่จะต้องรู้เรื่องคือเจ้านายสูงสุดต้องรู้ เพราะมันต้องมีคนเซ็น และเซ็นเป็นลำดับขั้น” นางสุดสงวนกล่าว

“สงสารเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ที่ต้องรับผิดชอบแล้วต้องถูกให้ออก แล้วใครรับผิดชอบเขา” นางสุดสงวนกล่าวและว่า เหตุที่สงสารเพราะเจ้าหน้าที่ต้องทำงานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและการสั่งงานหลายครั้งเชื่อว่า ไม่ได้สั่งเป็นลายลักษณ์อักษร แต่สั่งการด้วยวาจา

“หากไม่ทำตามวาจาสั่ง โดนเด้งนะ โดนย้าย โดนด่า เมื่อไม่มีลายลักษณ์อักษร คนที่ทำต้องรับ ส่วนเจ้านายก็หลุดไปเลย” อดีตอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ผู้นี้ ระบุ

เสนอทางแก้ไขปัญหาไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ผู้นี้ กล่าวว่า ผู้บริหารในกระทรวงน่าจะนำสิ่งที่ได้จากการศึกษาดูงานต่างประเทศมาใช้บ้าง นั่นคือการใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาระบุว่าบุคคลใดบ้างมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจน ส่วนการจ่ายเงินควรเปลี่ยนวิธีการจากให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนำเงินไปแจกจ่ายให้ผู้ได้รับความช่วยเหลือ มาเป็นการจ่ายเงินโดยตรงเข้าบัญชีธนาคารของผู้ได้รับความช่วยเหลือซึ่งจะป้องกันโอกาสในการทุจริตได้ หลังพบว่า หากจ่ายเงินตามลำดับขั้นมักพบการทุจริต

ประสบการณ์ขณะติดคุก 1 เดือน

นางสุดสงวนยังบอกเล่าประสบการณ์การถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 1 เดือนจากคดีละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2559 ว่า ผู้ต้องขังในทัณฑสถานหญิงกลางระบายความรู้สึกให้ฟังว่า ไม่ต้องการให้มีการมาดูงานที่เรือนจำบ่อยนัก เนื่องจากก่อนการมาดูงานในเรือนจำแต่ละครั้ง ผู้ต้องขังต้องเตรียมเรือนจำให้พร้อม อาทิ ทำความสะอาด แสดงการฝึกอาชีพ เพื่อต้อนรับผู้มาดูงาน ผู้ต้องขังบางส่วนยังถูกนำตัวไปคุมที่ห้องสมุด และหากดูงานเกินเวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้ต้องขังต้องขึ้นเรือนนอน จะทำให้ผู้ต้องขังปฏิบัติกิจวัตรประจำวันในวันนั้น ด้วยความยากลำบาก

อดีตอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ผู้นี้ เสนอว่า หากผู้เกี่ยวข้องต้องการมาดูงานที่เรือนจำควรมาแค่ 2-3 คนเท่านั้น ไม่ควรมาเป็นคณะใหญ่และไม่แสดงตัว เพื่อที่จะได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเรือนจำ

 

image_pdfimage_print