มหาสารคาม – อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) มมส. แนะรัฐบาลควรปราบปรามการทุจริตในหน่วยงานราชการทุกหน่วยงาน ไม่เว้นวงการทหารเพื่อให้สังคมเชื่อว่ารัฐบาลทำจริง เผยวิธีแก้ปัญหาการทุจริตในหน่วยงานราชการ ต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารตามภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2561 นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาขุมชน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขยายผลตรวจสอบการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และทุนประกอบอาชีพ ซึ่งเริ่มต้นจากที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น หลังนางสาวปณิดา ยศปัญญา นิสิตสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มมส. เปิดโปงเรื่องดังกล่าว ว่า กรณีนี้สะท้อนว่าการทุจริตในหน่วยงานราชการยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของระบบราชการไทยที่แก้ไขได้ยาก เพราะมีการทุจริตอย่างเป็นระบบ โดยอาจเกี่ยวโยงตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับล่างจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
นายไชยณรงค์กล่าวด้วยว่า ขอชื่นชม ป.ป.ท. ที่ตรวจสอบการทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากไร้ครั้งนี้อย่างจริงจัง แต่ก็อยากให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานรัฐหน่วยงานอื่นอย่างจริงจังด้วย รวมถึงหน่วยงานของกองทัพ เพื่อให้สังคมเชื่อว่ารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอาจริงกับเรื่องการปราบปรามการทุจริตทุกเรื่อง เช่น กรณีประชาชนร้องเรียนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ตรวจสอบการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งดำเนินการโดยกองทัพบก และกรณีประชาชนร้องเรียนให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบที่มานาฬิกาหรู 25 เรือน รวมมูลค่ากว่า 40 ล้านและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
ส่วนผลการเรียกร้องให้ตรวจสอบทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ นายไชยณรงค์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารกลับแจ้งข้อกล่าวหาชุมนุมทางการเมืองและฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ต่อนักศึกษาและประชาชนรวม 14 คน เพื่อยุติการเคลื่อนไหว ทั้งที่กรณีอุทยานราชภักดิ์มีหลักฐานที่ส่อไปในทางทุจริต จึงสะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้จริงจังกับการปราบปรามการทุจริตทุกเรื่องโดยเฉพาะในวงการทหาร
“ทหารมองคนเหล่านี้เป็นศัตรู เพราะกระทบภาพลักษณ์ของกองทัพบก ถ้ากองทัพไม่ได้กระทำผิด ควรให้ประชาชน สื่อมวลชนตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส ผิดก็ว่าผิด ถึงจะเชื่อว่ารัฐบาลนี้จริงจังกับการปราบปรามทุจริต” นายไชยณรงค์กล่าว
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชนผู้นี้กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตร ว่า สังคมยอมรับไม่ได้กับการกล่าวอ้างว่า นาฬิกายืมเพื่อนที่เสียชีวิตมาและแหวนเพชรเป็นของแม่ ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้สังคมคลายความสงสัยว่า เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงไม่ได้ใช้ตำแหน่งทางการเมืองหาประโยชน์ใส่ตัว ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องนี้เงียบหายไปจากสังคม
“กรณีนี้ทำให้สังคมรู้ว่าถ้าผู้กระทำผิดเป็นผู้มีอำนาจ กฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายกลายเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของผู้มีอำนาจในสังคม” นายไชยณรงค์กล่าว
เมื่อถามถึงวิธีป้องกันการทุจริตในหน่วยงานราชการ นายไชยณรงค์บอกว่า ตอบไม่ได้ว่าวิธีไหนจะป้องกันการทุจริตในหน่วยงานราชการได้ผลจริง แต่ตนขอเสนอว่า ต้องทำให้เรื่องการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง รวมถึงผิดจริยธรรมของสังคมอย่างรุนแรงด้วย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ใกล้ชิดเงินภาษีของประชาชน งานของหน่วยงานราชการคือการบริหารงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน
“คิดดูง่ายๆ หากเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตเงินภาษีของพวกเราเอาเข้ากระเป๋าตัวเอง โดยไม่เอาเงินภาษีเหล่านั้นไปช่วยเหลือและพัฒนาสังคม สังคมของเราจะเป็นอย่างไร” อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชนผู้นี้กล่าว
นายไชยณรงค์กล่าวด้วยว่า ควรเริ่มปลูกฝังความเชื่อว่าการทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงานไม่ควรทำ เพราะเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนในเรื่องนี้
“ถ้าเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานให้ความสำคัญในการปราบปรามการทุจริตในหน่วยงานราชการอย่างจริงจัง กวดขันอย่างเข้มงวด เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการคงไม่กล้าทุจริต” นายไชยณรงค์กล่าว
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชนผู้นี้กล่าวอีกว่า ถ้าจะแก้ไขปัญหาการทุจริตในหน่วยงานราชการทุกระดับต้องเริ่มจากการมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในทุกระดับ เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่มีการตรวจสอบการทำงาน โดยต้องมีการเลือกตั้งในทุกระดับ ได้แก่ ส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น ที่แต่เดิมมีการเลือกตั้งแล้ว และส่วนภูมิภาคก็ต้องมีการเลือกตั้งด้วย ได้แก่ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้เพื่อให้มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลการบริหารงานของหน่วยงานราชการในทุกระดับ
“ช่วงที่การเมืองเป็นประชาธิปไตย มีข่าวเรื่องการทุจริตเยอะมาก สะท้อนว่าประชาธิปไตยทำให้เกิดการตรวจสอบการทุจริตในหน่วยงานรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายไชยณรงค์กล่าว
นายไชยณรงค์กล่าวอีกว่า กลไลตรวจสอบการบริหารงบประมาณของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย อย่างการมีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหาร เช่น การตั้งกระทู้ถามสดรัฐมนตรีในสภาเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่ผิดปกติ รัฐมนตรีก็จะชี้แจงและตอบคำถามฝ่ายค้านผ่านสื่อมวลชนทำให้สังคมได้รับรู้ ถ้าสังคมรับไม่ได้กับคำตอบของรัฐมนตรีคนนั้น รัฐมนตรีคนนั้นอาจจะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เป็นต้น
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาชุมชนผู้นี้กล่าวว่า ถ้าประเทศไม่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็จะไม่เกิดระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจอย่างแท้จริง อย่างรัฐบาล คสช. ผ่านมา 4 ปี ยังไม่เห็นบรรยากาศการอภิปรายไม่ไว้วางใจการบริหารงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล
“สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า รัฐบาลอาจจะใช้งบประมาณทำอะไรก็ได้ โดยไม่มีฝ่ายค้านการตรวจสอบงบประมาณนั้นว่า เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมจริงหรือไม่” นายไชยณรงค์กล่าว
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจพบว่ามีการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งผิดปกติรวมเป็น 44 จังหวัดแล้ว รวมงบประมาณ 97,842,000 บาท