งานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง ความเชื่อของคนอีสานต่อการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิด
โดยศตานนท์ ชื่นตา
สกลนคร – กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสจัดงานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อแสดงออกถึงความห่วงใยต่ออ่างเก็บน้ำฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม หลังคณะรัฐมนตรีมีมติให้ใช้นำในภาคอื่นนอกเหนือภาคการเกษตรด้วย
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2561 ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ร่วมกันจัด “งานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง” ครั้งที่ 2 ที่ศาลาประชาคม หมู่ 11 บ้านวังบงน้อย ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

งานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร
การจัดงานมีประชาชนกว่า 300 คนเข้าร่วม มีการจำหน่ายสินค้าที่ประชาชนร่วมกันผลิต เช่น ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ ข้าวสาร ข้าวเหนียว และพืชผักปลอดสารพิษ มีการนำภาพงานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง เมื่อปี พ.ศ. 2560 กิจกรรมการเคลื่อนไหว และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ประชาชนแสดงออกถึงการปกป้องชุมชนในรอบปีที่ผ่านมามาจัดแสดง ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง อาทิ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง มาสังเกตการณ์ด้วย
รายละเอียดการจัดงาน ประกอบด้วย ช่วงเช้า พิธีบวงสรวง ขออันเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของอำเภอวานรนิวาส ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ 5 รูป พิธีรำบวงสรวง พิธีบายศรีสู่ขวัญ “สืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง” พิธีผูกแขนเอิ้นขวัญหมั่นยืน และชมวีดีทัศน์ของกลุ่มเยาวชนลุ่มน้ำยาม
ช่างบ่าย เวทีโสเหล่ไทบ้าน กับ “ชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง” และ กิจกรรมสานสัมพันธ์ หมอลำไทบ้าน

นางสีฟอง ชัญถาวร ชาวบ้านวังบงน้อย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
นางสีฟอง ชัญถาวร ชาวบ้านวังบงน้อย และสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กล่าวว่า การจัดงานมีขึ้นเพื่อสื่อสารให้ชาวอำเภอวานรนิวาส ชาวจังหวัดสกลนคร และบุคคลภายนอก ได้รับรู้ถึงชะตากรรมของ “อ่างเก็บน้ำห้วยโทง” ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงคนอำเภอวานรนิวาสมาโดยตลอดเกือบ 30 ปี ว่า กำลังประสบเคราะห์กรรมจนชะตาเกือบขาดจึงต้องทำบุญต่อชะตา
นางสีฟองกล่าวว่า ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาต่างๆ เกิดขึ้นกับอ่างเก็บน้ำห้วยโทง เช่น โครงการผันน้ำและโครงการขุดลอก เป็นต้น ซึ่งคาดว่าเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงมีความกังวลว่า โครงการท่ีเกิดขึ้นอาจทำให้วิถีชีวิต ระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อม บริเวณอ่างเก็บน้ำล่มสลายไป

ชาวอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ร่วมงานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2561
ความเป็นมาของอ่างเก็บน้ำห้วยโทง
อ่างเก็บน้ำห้วยโทงตั้งอยู่ที่บ้านห้วยโทง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2529 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2534 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี เป็นประเภทเขื่อนดิน พื้นที่โครงการทั้งหมด 6,000 ไร่ เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำ 888 ไร่ ความจุของอ่างที่ระดับน้ำเก็บกัก 7.60 ล้านลูกบาศก์เมตร
วัตถุประสงค์หลักในการก่อสร้างโครงการ เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ สำหรับช่วยเหลือการเพาะปลูกของทางราษฎร เพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้งของราษฎรและสัตว์เลี้ยง และเพื่อสำรองไว้ในการประปา การประมง และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
ต่อมา เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2558 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้อ่างเก็บน้ำห้วยโทงเป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอตามรายงานของกรมชลประทานว่า เนื่องจาก ปัจจุบันมีการใช้น้ำเพื่อกิจการอื่นที่มิใช่การเกษตรกรรมมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลปริมาณน้ำ และ เป็นการรองรับการขออนุญาตใช้น้ำจากภาคอุตสาหกรรม การประปา และภาคธุรกิจอื่นที่มิใช่การเกษตรกรรมที่จะมีขึ้นในอนาคต สมควรกำหนดให้ทางน้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยโทงเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ใช้น้ำ

เวทีโสเหล่ไทบ้านกับชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง ถูกจัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 11 มี.ค. 2561
ค้านสำรวจแร่โปแตชที่ อ.วานรนิวาส
ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส เป็นกลุ่มที่ชาวบ้านได้รวมตัวกันเพื่อติดตามโครงสำรวจแร่โปแตชที่อำเภอวานรนิวาส หลังบริษัท ไซน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์เปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เข้าขอยื่นขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 และ ได้รับอนุญาตถืออาชญาบัตรพิเศษเพื่อเข้าสำรวจเป็นเวลา 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2562 ในพื้นที่รวมทั้งหมด 12 แปลง
ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ พยายามเข้าขุดเจาะสำรวจแร่ทั้งหมด 6 จุด สำรวจเสร็จแล้วจำนวน 2 จุด คือ บ้านหนองมะเกลือ ต.คอนสวรรค์ และ บ้านตาลเดี่ยว ต.ธาตุ กำลังขุดเจาะสำรวจจำนวน 1 จุด บริเวณ คุ้มโนนมณี บ้านวังบง ม.12 ต.วานรนิวาส เริ่มเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2561
ส่วนอีก 3 จุด ยังไม่สามารถเข้าขุดเจาะสำรวจได้ เนื่องจากประชาชนพยายามคัดค้านและไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ แต่บริษัทฯ ยังกล่าวอ้างตามสิทธิอาชญาบัตรพิเศษที่บริษัทฯ ได้รับมา และจะสำรวจแร่ต่อไป
ศตานนท์ ชื่นตา เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ดประจำปี 2560