โดย จิรสุดา สายโสม
อุบลราชธานี – ครู โรงเรียนม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา เผย อยากให้มีการเลือกตั้ง เพื่อทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ แนะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าอยากเป็นนายกฯ ก็ควรลงเลือกตั้ง ด้านนักศึกษานิติศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ระบุ การเลือกตั้งแม้ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดแต่ก็ยังดีกว่าเผด็จการ เพราะรัฐบาลเลือกตั้งถูกตรวจสอบได้
จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศ เลื่อนการเลือกตั้งอีกครั้งจากเดืิอนพฤศจิกายน ปี 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562
ผู้สื่อข่าวเดอะ อีสานเรคคอร์ด จึงสอบถามความคิดเห็นเรื่องการเลือกตั้งจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง

นายพร พุดพันธ์ (คนขวา) ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา
นายพร พุดพันธ์ อายุ 53 ปี ชาวอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา จังหวัดอุบลราชธานี
อยากให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะอะไร
อยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้การปกครองแบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยยึดหลักเสียงข้างมากแต่ต้องรับฟังเสียงข้างน้อย
การเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างไร
“การเลือกตั้งทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ”
บางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ก็ยังมีการเลือกตั้ง ถึงแม้จะมีพรรคเดียวก็ตาม
อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะเหตุใด
หาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ควรจัดตั้งพรรคการเมืองตามกติกา ไม่ใช่ยึดอำนาจแล้วมาปกครองประเทศแบบเผด็จการ การใช้อำนาจเผด็จการทั้งแบบทหารและผ่านรัฐสภา ไม่ควรกระทำ
เชื่อหรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2562
เชื่อ เพราะเป็นไปตามที่กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนด ส่วนถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยากสืบอำนาจต่อ คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก (นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) ตามที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ให้ซึ่งทำได้ไม่ยาก

นายธนสิทธิ์ กายสิทธิ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
นายธนสิทธิ์ กายสิทธิ์ อายุ 23 ปี ชาวจังหวัดอุบลราชธานี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
อยากให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะอะไร
อยากให้มีการเลือกตั้ง ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้นำประเทศ (นายกรัฐมนตรี) ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่มาจากการรัฐประหาร ทำให้ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลได้ เช่น ด้านงบประมาณ ด้านกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากการตรวจสอบถูกปิดกั้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อาทิ การใช้กฎหมายที่ตราขึ้นเองเข้าปิดกั้น (คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน)
เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การใช้อำนาจทางการบริหารสามารถถูกตรวจสอบโดยฝ่ายค้านหรือองค์กรต่างๆ และประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ เช่น การชุมนุม การสื่อสาร ส่งผลให้รัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งต้องทำตามกรอบของกฎหมาย และทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ถ้าไม่ทำตามก็จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อเปรียบกับรัฐบาลชุดปัจจุบันก็พบว่าเป็นรัฐบาลไม่มีเวลาครบวาระ
“เขาจะไม่ลงจากอำนาจจนกว่าเขาจะพอใจ การบริหารงานเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง”
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การใช้อำนาจของรัฐไม่สามารถตรวจสอบได้ และมีการใช้กฎหมายรังแกคนไม่มีทางสู้ เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องของรัฐบาล
“ผมไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และอยากให้มีการเลือกตั้ง”
การเลือกตั้งสำคัญอย่างไร
การเลือกตั้งเป็นการสื่อถึงความเป็นประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง แม้ว่าการเลือกตั้งจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แต่ดีกว่าระบอบเผด็จการ (สำหรับประเทศไทย)
การเลือกตั้งสำคัญตรงที่เป็นการให้อำนาจการเลือกผู้นำประเทศขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของคนในสังคม มิใช่ขึ้นอยู่กับแค่กลุ่มผู้มีอำนาจบางกลุ่ม ฉะนั้นการเลือกตั้งจึงมีความสำคัญในแง่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนภายในรัฐนั้นได้มีโอกาสเลือกผู้นำประเทศ ซึ่งจะเป็นผู้ปกครองของเขา
อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะเหตุใด
อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งพรรคการเมือง เพราะคนที่จะเล่นการเมืองต้องสังกัดพรรคการเมืองและต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเสียงส่วนใหญ่ภายในประเทศ ไม่ใช่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการเข้าสู่ตำแหน่งด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปัจจุบันในทางทฤษฎีประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้ต่างอะไรกับระบอบเผด็จการทหาร
“ถ้าเขาตั้งพรรคการเมือง อาจมีทั้งคนเลือก และไม่เลือก”
ส่วนสาเหตุหลักที่อาจไม่เลือก อาจมาจากการทำงานในปัจจุบัน เช่น ปัญหาทุจริตในภาครัฐ เศรษฐกิจและสังคม เรื่องของกระบวนการยุติธรรม และการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนฉะนั้น อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งพรรคการเมือง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์จะรู้ถึงการเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย มิใช่นักการเมืองในระบอบทหารเหมือนดังเช่นปัจจุบัน
เชื่อหรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2562
เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2562 เพราะว่าภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้ มีการจัดทำกฎหมายลูกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งตนมองว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วที่จะมีการเลือกตั้ง หรือถ้ามองอีกมุมหนึ่งถ้าไม่มีการเลืองตั้ง ภายในปี 2562 ก็จะเป็นการลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
“ผมมองว่าน่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 62 เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ประเทศจะกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง”

นายฐาปกรณ์ เจริญวัย บัณฑิตคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
นายฐาปกรณ์ เจริญวัย อายุ 24 ปี ชาวตำบลโนนโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ สำเร็จการศึกษาจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อาชีพว่างงาน
อยากให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะอะไร
อยาก เพราะต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อมาบริหารประเทศด้วย
การเลือกตั้งสำคัญอย่างไร
เชื่อว่า ทุกคนอยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งมีบทบาทต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในเรื่องการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และวัฒนธรรม
อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะเหตุใด
ไม่ เพราะไม่ชอบระบบการปกครองของ พล.อ.ประยุทธ์
เชื่อหรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2562
ไม่เชื่อ เพราะไม่มีการประกาศอย่างชัดเจน และมีการเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง
จิรสุดา สายโสม เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560