โดย Fortify Rights

กรุงเทพมหานคร – วันที่ 20 มีนาคม 2561 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องของศาลอาญา ในคดีที่บริษัทเหมืองแร่ไทยยื่นฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อ องค์กรการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และผู้สื่อข่าวสี่คน บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่ทองคำที่ยังเป็นที่สงสัยยื่นฟ้องร้องคดีอาญาต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าว สืบเนื่องจาก การรายงานข่าวเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ทองคำของบริษัทในจังหวัดเลย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย


สุธารี วรรณศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าวว่า “วันนี้เป็นวันที่มืดมนสำหรับเสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศไทย คำตัดสินของศาลแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยยังไม่ได้รับรองพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศไทยที่จะต้องคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่

การฟ้องร้องดังกล่าวไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยตั้งแต่แรก สื่อมวลชนไม่สมควรจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาเพียงเพราะการปฏิบัติหน้าที่ในการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ซึ่งรวมถึง ความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการประกอบกิจการของธุรกิจเอกชน คำตัดสินในวันนี้ส่งสัญญาณที่น่าเป็นห่วงให้กับสื่อมวลชนในประเทศไทย ว่าพวกเขายังคงเสี่ยงต่อการถูกลงโทษจำคุกเพียงเพราะการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน

เจ้าหน้าที่รัฐไทยและกลุ่มธุรกิจควรยุติการฟ้องร้องคดีอาญาต่างๆ โดยทันที ทั้งต่อสื่อมวลชนและบุคคลอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ของพวกเขา จนกว่ารัฐบาลไทยจะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมที่จะลดการเอาผิดทางอาญาต่อข้อหาหมิ่นประมาท คำมั่นสัญญาของรัฐบาลที่จะรับรองสิทธิมนุษยชนก็เป็นเพียงคำพูดที่ว่างเปล่าเท่านั้น”

ความเป็นมา

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 บริษัททุ่งคำ จำกัด ฟ้องคดีต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าวในขณะนั้น รวมทั้งนางสาววิรดา แซ่ลิ่ม นายสมชัย สุวรรณบรรณ นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ และนายโยธิน สิทธิบดีกุล โดยกล่าวหาว่า เป็นการละเมิดมาตรา 326 และ 328 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 และ 16 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกฎหมายอื่น ๆ การฟ้องคดีนี้เป็นผลมาจากคลิปข่าวของนักข่าวพลเมือง ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างการเข้าค่ายเยาวชน ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ในคลิปดังกล่าว เด็กนักเรียนหญิงอายุ 15 ปีจากหมู่บ้านใกล้กับเหมืองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด กล่าวหาว่าหมู่บ้านในบริเวณนั้น “ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเหมืองทองคำ” บริษัท ทุ่งคำ จำกัดได้ฟ้องคดีต่อเด็กนักเรียนหญิง รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าวของสถานีเนื่องจากรายงานข่าวชิ้นนี้ ในการฟ้องคดีต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าวของสถานี ทางบริษัทได้เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 50 ล้านบาท เนื่องจากการเสียชื่อเสียงของตน

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ศาลอาญาที่กรุงเทพฯ ยกคำร้องของโจทก์ต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าวของสถานี โดยเห็นว่าคดีไม่มีมูล เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าวของสถานีปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นมืออาชีพ และใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่นาเชื่อถือ รวมทั้งผลการสำรวจของหน่วยงานของรัฐและของชาวบ้านในท้องถิ่น

ศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และเห็นว่าคำฟ้องดังกล่าวมีมูลความผิดเพียงพอตามข้อกล่าวหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 แต่ ไม่เพียงพอที่จะดำเนินคดีตามข้อกล่าวหามาตรา 14 และ. 16 ของพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ศาลจึงมีความเห็นประทับรับฟ้องและนัดพร้อมเพื่อพิจารณาคดีในวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ซึ่งหากถูกตัดสินลงโทษเช่นนั้น จำเลยอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดสองปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อมวลชนได้รับการรับรองตามมาตรา 34 และ 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และมาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกจะอนุญาตให้กระทำได้ต่อเมื่อมีการกำหนดไว้ในกฎหมาย ได้สัดส่วน และความจำเป็น เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมเท่านั้น บทลงโทษจำคุกสำหรับข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทนั้นเป็นบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน และเป็นการละเมิดต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก

image_pdfimage_print