อุบลราชธานี – อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ระบุ พรรคการเมืองใหม่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะสามารถทำให้ประชาชนเกิดความหวังและมองเห็นอนาคต เผยสิ่งที่คนอีสานต้องการคือนโยบายพัฒนาโดยเฉพาะอย่างชัดเจนที่ยังไม่เคยมีพรรคไหนเสนอมาก่อน ย้ำการซื้อเสียงไม่มีความหมายอีกต่อไป

นางสาวเพียงกมล มานะรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

นางสาวเพียงกมล มานะรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวถึงการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ อาทิ พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน และพรรคเกรียน ว่า ส่งผลกระทบต่อการเมืองไทย เพราะพรรคการเมืองดังกล่าวเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ซึ่งพรรคการเมืองเดิมไม่ค่อยให้ความสำคัญ และเมื่อพิจารณาจากกระแสความนิยมในโซเชียลมีเดีย พบว่าพรรคการเมืองใหม่ได้รับความนิยมรวดเร็วมาก

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของนิด้าโพล เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2561 เรื่องประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป พบว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ รั้งอันดับ 4 ได้คะแนนร้อยละ 6.88 นางสาวเพียงกมลเปิดเผยว่า ถือว่าเร็วมากสำหรับผู้ที่เปิดตัวลงเล่นการเมืองได้ไม่ถึง 3 เดือน

สะท้อนว่าประชาชนมีความหวัง เมื่อประชาชนมอง นักการเมืองก็จะมองถึงอนาคต ว่าอยากให้นักการเมืองทำอะไรให้บ้าง แต่ส่วนใครจะได้รับการเลือกตั้งมีองค์ประกอบหลายอย่าง

“อย่าลืมว่า นอกจาก คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) แล้ว พรรคอื่นแทบไม่มีช่องทางอะไรเลย เพราะทำกิจกรรมของพรรคไม่ได้” นางสาวเพียงกมลกล่าวและว่า เมื่อทำกิจกรรมไม่ได้เนื่องจากขัดประกาศ คสช. ที่ 57/2557 พรรคการเมืองจึงไม่สามารถรวบรวมความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ อย่างเป็นระบบ ทำให้ประชาชนอาจจะมองไม่เห็นแนวทางของผู้ที่ต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างชัดเจน

ผลกระทบของภาคอีสานต่อการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ผู้นี้กล่าวว่า ขณะนี้พรรคการเมืองยังไม่สามารถนำเสนอนโยบายได้อย่างเต็มที่ จึงต้องมองถึงบุคคลที่ร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง โดยพรรคอนาคตใหม่มีนายชำนาญ จันทร์เรือง เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค นายชำนาญเป็นผู้ศึกษาเรื่องท้องถิ่น และมีข้อเสนอเรื่อง เชียงใหม่จังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งเป็นรูปแบบที่น่าสนใจของการ กระจายอำนาจการปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกทำให้หายไปหลังการรัฐประหาร เมื่อปี 2557

นางสาวเพียงกมลระบุอีกว่า สิ่งที่น่าติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิดคือ โครงสร้างของพรรคการเมืองใหม่จะเป็นเหมือนโครงสร้างของพรรคเก่าหรือไม่ คือพรรคการเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำในกรุงเทพฯ สาขาพรรคในต่างจังหวัดแทบจะไม่มีบทบาทอะไร จึงต้องจับตาว่า สาขาพรรคจะเป็นเพียงสำนักงานของ ส.ส. หรือ จะเป็นพื้นที่เปิดเพื่อให้ประชาชนทั่วไปร่วมทำงานกับพรรคได้

ด้านพรรคการเมืองควรมีนโยบายต่อคนอีสานอย่างไร นางสาวเพียงกมลกล่าวว่า เรื่องแรกคือ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และมีสวัสดิการ

ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการจัดเก็บภาษีทางตรง ได้แก่ ภาษีที่ดิน และภาษีมรดก และลดการเก็บภาษีทางอ้อม ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม

สร้างความเป็นธรรม ภาครัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนและชุมนุมเข้าไปร่วมจัดการทรัพยากรในพื้นที่ตั้งแต่แรก เช่น การขอสัมปทาน

มีสวัสดิการ ต้องรักษาสวัสดิการบางเรื่องไว้ อาทิ บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค

เรื่องต่อมาคือ การจัดการทรัพยากร เนื่องจากภาคอีสานเป็นฐานของทรัพยากรหลายอย่าง เช่น เหมืองแร่และน้ำมัน ฉะนั้นคนในพื้นที่จึงควรมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรร่วมกับรัฐตั้งแต่ขั้นตอนแรก อาทิ การขอสัปทาน ไม่ใช่มีการอนุมัติโครงการแล้วจึงค่อยมาขอให้ประชาชนมีส่วนร่วม

เรื่องสุดท้าย คือ เรื่องของการพัฒนาภาคอีสานโดยเฉพาะ เรื่องนี้ ตนกับนายปิยณัฐ สร้อยคำ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี อีกคน เห็นตรงกันว่า ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนตอบโจทย์การพัฒนาภาคอีสานอย่างชัดเจนว่า ภาคอีสานควรไปในทิศทางไหน ฉะนั้น พรรคการเมืองที่ต้องการเจาะฐานในภาคอีสานควรให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาภาคอีสาน

“มีโจทย์ในการพัฒนาของอีสานในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเราก็รู้ว่าปัญหาของอีสานเต็มไปหมด เรายังไม่เห็นพรรคไหนนำเสนอหรือบอกถึงการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน”อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ผู้นี้กล่าว

หากมองถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง เธอกล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นพื้นที่สะท้อนความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนผ่านการเลือก ส.ส. และผ่านนโยบายพรรค ที่ต้องทำให้ถูกใจประชาชนส่วนใหญ่  

“ไม่ว่าจะรวยหรือยากจนก็มี 1 คน 1 เสียง ถ้าคุณอยากชนะเลือกตั้งก็ต้องสนใจเสียงของคนเล็กคนน้อยในสังคม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ผู้นี้กล่าวและว่า “อยากจะฝากไว้ว่า ชาวบ้านอีสานไม่ได้โง่นะคะ อย่าไปคิดเหมือนข้าราชการบางกลุ่มในขณะนี้”

นางสาวเพียงกมลย้ำว่า จากการลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับประชาชนพบว่า ประชาชนเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งการเลือกตั้งสนามใหญ่ และการเลือกตั้งท้องถิ่น คือ ชาวอีสานจะพิจารณาก่อนเลือกตั้งว่า ถ้าเลือกบุคคลคนนี้แล้วตัวเขาจะได้รับสิ่งใดตอบแทน ส่วนการซื้อเสียงยังคงมีอยู่ แต่ไม่ได้มีความสำคัญกว่าการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์

“ไม่ได้เป็นอย่างมายาคติที่ว่าเงินซื้อคนอีสานได้ ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว” นางสาวเพียงกมลกล่าว

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ผู้นี้กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ประกาศว่า จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ว่า ถ้าตอบตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีื พูดไว้ คงต้องตอบว่า เป็นไปตามโร้ดแม็ป แต่ตลอดเวลาของการใช้โร้ดแม็ปมีเหตุการณ์ 5 ครั้ง ที่เป็นการชะลอการเลือกตั้ง ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวอีกครั้ง การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. และล่าสุดคือการตีความร่างกฎหมายที่มา ส.ว. ซึ่งไม่ทราบว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความเสร็จเมื่อไหร่

“เราไม่รู้ว่า แม่น้ำ 5 สายจะมีเทคนิคอะไรมาปรับโร้ดแม็ปของเขาอีก” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์กล่าวทิ้งท้าย

 

image_pdfimage_print