นครพนม – อาจารย์สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.นครพนม ระบุ คนอีสานพร้อมแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้เลือกตั้ง และไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 เพราะยังไม่มีการปลดล็อคทางการเมือง ด้านพรรคการเมืองใหม่น่าจะได้เสียงจากคนในเมือง ส่วนชาวอีสานในชนบท ซึ่งเป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงยังเหนียวแน่นกับพรรคไทยรักไทย

นายณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี อาจารย์สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 นายณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี อาจารย์สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวถึงการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 ว่า ตนไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้งจะเกิดจริง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการปลดล็อกทางการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ และยังมีการเรียกตัวบุคคลที่แสดงความคิดเห็นไปปรับทัศนะคติในค่ายทหาร

ทั้งนี้ ล็อกทางการเมืองประกอบด้วย ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 57/2557 เรื่องการห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน  

ส่วนความสำคัญของการเลือกตั้ง นายณรงค์ฤทธิ์กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นจุดเชื่อมโยงตัวประชาชนเข้ากับรัฐรูปแบบหนึ่ง ซึ่งรัฐที่ดีในมุมมองคนอีสานคือรัฐที่ควบคุมได้ ต่อรองได้ และ ตอบสนองในสิ่งที่ชาวอีสานต้องการได้ การเลือกตั้งจึงเป็นวิธีการที่ดีที่จะทำให้ประชาชนสามารถแสดงออกได้อย่างเป็นรูปธรรม

“คนอีสานพร้อมเลือกตั้ง (หัวเราะหึหึ) พร้อมตลอด แต่ยังไม่มีโอกาส” นายณรงค์ฤทธิ์กล่าว

ด้านการเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่ พรรคเกรียน และพรรคสามัญชน อาจารย์สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาผู้นี้ เปิดเผยว่า พรรคการเมืองดังกล่าวจะมาแบ่งฐานเสียงคนเสื้อแดงไปจากพรรคเพื่อไทย โดยสังเกตจากโซเชียลมีเดียพบว่า ผู้สนับสนุนพรรคการเมืองใหม่มีการโต้เถียงกับผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะส่งผลให้เสียงของผู้สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยต้องแตกออกไป

นายณรงค์ฤทธิ์กล่าวอีกว่า ถ้ามองย้อนไปสมัยพรรคไทยรักไทยเปิดตัวใหม่ๆ คนก็คิดว่าพรรคไทยรักไทยน่าจะเป็นพรรคขนาดกลาง โดยไม่ได้คิดว่าพรรคไทยรักไทยจะเป็นพรรคที่เข้ามาสร้างปรากฏการณ์ของการเมืองไทย

“ผมจึงคิดว่า พรรคเกรียน และพรรคอนาคตใหม่ อาจจะมีคนเลือก แต่อาจจะได้ขนาดกลาง ไม่ได้คะแนนเสียงข้างมาก เนื่องจาก คสช. ก็ยังไม่ปลดล็อคจึงยังทำอะไรไม่ได้” นายณรงค์ฤทธิ์เผย

นอกจากนี้ ปัญหาของพรรคการอนาคตใหม่และพรรคเกรียน อาจารย์สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาผู้นี้แสดงความเห็นว่า คนเสื้อแดงและคนในชนบทอาจจะไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร พรรคดังกล่าวอาจจะได้เสียงของคนในเมือง แต่เสียงของคนชนบทซึ่งเป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ได้รับ

“ถ้าพรรคไหนได้คะแนนเสียงของคนอีสาน ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เหมือนพรรคไทยรักไทย” อาจารย์สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาผู้นี้กล่าวถึงผลกระทบของภาคอีสานต่อการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ และเชื่อว่า ความนิยมของพรรคเกรียนและพรรคอนาคตใหม่น่าจะเป็นกระแส ส่วนฐานเสียงของพรรคเกรียน พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน จึงน่าจะแย่งคะแนนเสียงกันเอง แต่คนเสื้อแดงที่เป็นคนส่วนใหญ่ในชนบทน่าจะให้น้ำหนักกับพรรคเพื่อไทย

“พรรคเกรียนก็ไม่ค่อยจะดังเท่าไหร่ ถ้ามองในแง่ของคนอีสาน เขาแทบจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไป ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ถ้าคนเล่นเฟซบุ๊คหรือดูทีวีก็อาจจะรู้บ้าง แต่ถ้าเลือกตั้งจริง ปี 62 (พ.ศ. 2562) พรรคอนาคตใหม่ก็ไม่น่าจะได้เยอะ” นายณรงค์ฤทธิ์ระบุ

นโยบายแบบไหนที่จะถูกใจคนอีสาน นายณรงค์ฤทธิ์ระบุว่า บทเรียนที่คนอีสานได้รับหลังจากมีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 จนทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยแรกเมื่อปี 2544 และเมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2548 พรรคไทยรักไทยก็ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประชาธิปไตยต้องกินได้ (ประชาธิปไตยกินได้ – การเลือกตั้งส่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประชาชน)

“สิ่งที่ทักษิณทำให้คนอีสาน คือ ทำให้เกิดปรากฎการณ์ ทำให้เห็นว่า เสียงของเขามีพลัง มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องปากเรื่องท้อง” อาจารย์สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาผู้นี้กล่าวและว่า นโยบายที่พรรคการเมืองควรนำเขามาให้คนอีสาน เรื่องแรกคือการพัฒนาเศรษฐกิจ และเรื่องที่สองคือความยุติธรรม

 

image_pdfimage_print