โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

ขอนแก่น – ผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชนเผยแนวคิด “พรรคสามัญชน” ต้องการให้ประชาชนในพื้นที่มีบทบาททางการเมืองเอง โดยไม่ต้องมีบทบาทแค่การเลือกตั้ง ส.ส. จึงต้องก่อตั้งพรรคสามัญชน พร้อมชี้ทรัพยาการและสิทธิชุมชนเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งจะแก้ไขปัญหาแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้  

“เขาน่าจะกาให้เรา เพราะเขาเป็นเจ้าของเสียง และเขาเสนอตัวเข้ามา ถ้ากาพรรคเพื่อไทยเขาได้แค่กา” นายกรชนก แสนประเสริฐ ผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชนและสมาชิกกลุ่มดาวดินรุ่นแรก กล่าวถึงเหตุผลที่ชาวอีสานควรเลือกพรรคสามัญชนมากกว่าพรรคเพื่อไทยที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกาบัตรเลือกตั้งได้ใบเดียว แตกต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมา ที่กาบัตรได้ 2 ใบ คือ เลือก ส.ส.เขต และเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ  

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2561 ที่บ้านดาวดิน จ.ขอนแก่น เดอะอีสานเรคคอร์ดมีโอกาสพูดคุยกับผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชนผู้นี้

นายกรชนกกล่าวอีกว่า การเลือกพรรคเพื่อไทยคือการมอบสิทธิและอำนาจให้กับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะได้เสียงส่วนมาก แต่ถ้าผู้มีสิทธิเลือกพรรคสามัญชน ประชาชนจะเป็นเจ้าของสิทธิของเขาตลอดไป

นายกรชนก แสนประเสริฐ ผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชน

ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน อาทิ กลุ่มดาวดิน เป็นนักกิจกรรมภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) มาก่อน เหตุใดถึงต้องมาตั้งพรรคการเมือง

นายกรชนกระบุว่า เมื่อประมาณ 10 ปี พวกตนเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอยู่ใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน และเรื่องการเมือง ขณะก่อตั้งพวกตนได้หารือกันว่า ถ้าประเทศไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย การต่อสู้ในพื้นที่ก็จะทำไม่สำเร็จ อีกทั้งหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีโครงการพัฒนาเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นโครงการที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ดังนั้น เรื่องสิทธิชุมชน กับ ประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องเดียวกัน

“เราก็เลยคิดว่า เราจะทำยังไงดี เพราะสู้แต่ละพื้น หรือสู้เฉพาะเรื่องประชาธิปไตยก็คงไม่ใช่”

ผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชนผู้นี้กล่าวอีกว่า พวกตนจึงคิดว่าต้องทำให้ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนในพื้นที่ เข้าใจเรื่องการเมืองเชิงโครงสร้าง และเข้าใจเรื่องสิทธิด้วย

“ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต่อสู้เพื่อจะได้มาซึ่งความเท่าเทียมกัน เสียงของเขาต้องเท่ากับเสียงของนายทุน” ผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชนผู้นี้กล่าวและว่า สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวในรูปแบบของพรรคการเมือง

นายกรชนกเปิดเผยว่า ประชาชนในแต่ละพื้นที่ เช่น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำที่จ.เลย ผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตช จ.สกลนคร จะสนใจแต่เรื่องของตัวเองไม่ได้ เพราะคณะรัฐประหารละเมิดสิทธิของประชาชนโดยทั่วไป ประชาชนจึงต้องเข้าใจปัญหาการเมืองเชิงโครงสร้างด้วย

ทำไมต้องตั้งพรรคการเมืองเอง ทำไมไม่เข้าร่วมกับพรรคการเมืองอื่น

“การจะทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมทางการเมือง เข้าใจสิทธิมนุษยชนปัญหาเชิงโครงสร้าง ชาวบ้านต้องเปลี่ยน ไม่ใช่แค่รอไปเลือกพรรคที่ตัวเองมีความหวัง”

นายกรชนกกล่าวอีกว่า ชาวอีสานส่วนใหญ่มีอุดมการณ์ด้านประชาธิปไตย ก็จะรอเลือกพรรคเพื่อไทย แต่พรรคสามัญชนมีแนวคิดว่า ประชาชนเป็นผู้ประสบปัญหาในพื้นที่ตัวจริง เพราะฉะนั้นประชาชนต้องเป็นผู้ไปกำหนดนโยบายด้วยตนเอง

“จะเอาหรือไม่เอาเหมืองแร่โปแตชไม่ใช่แค่ฝากบอก ส.ส.เข้าไป แต่ชาวบ้านต้องทำนโยบายของตัวเอง” สมาชิกกลุ่มดาวดินรุ่นแรกกล่าวและว่า วิธีคิดของพรรคสามัญชนต่างจากพรรคอื่น คือประชาชนต้องออกมาบอกกล่าวปัญหาเอง พวกตนจึงไปร่วมกับพรรคอื่นไม่ได้

แนวคิดและนโยบายต่อคนอีสาน อะไรคือจุดขายของพรรคสามัญชน

“พัฒนาคุณภาพชีวิต และหลักประกันในเรื่องสิทธิของชาวบ้าน”

สมาชิกกลุ่มดาวดินรุ่นแรกผู้นี้อธิบายความว่า ประชาชนต้องได้รับหลักประกันในเรื่องสิทธิตั้งแต่เกิด ได้แก่ การรักษาพยาบาลฟรี การรักษาพยาบาลต้องมีมาตรฐานเดียวโดยไม่มีการแบ่งแยกเป็นสวัสดิการข้าราชการ บัตรประกันสังคม และบัตรทอง 30 บาทรักทุกโรคเหมือนเช่นในปัจจุบัน

นายกรชนกกล่าวอีกว่า เรื่องที่ดินทำกินต้องมีการปฏิรูปที่ดิน และจัดสรรที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของหน่วยงานราชการให้แก่เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน จำนวนกว่า 8 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งจะได้ประโยชน์มากขึ้น เพิ่มราคาสินค้าทางเกษตรด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ให้ขยายตลาดออกไปสู่ตลาดโลก พร้อมต้องทำเกษตรกรรมแบบปลอดสารพิษ

ผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชนกล่าวด้วยว่า เรื่องการศึกษาจะสนับสนุนการศึกษาทางเลือก และยังรักษานโยบายการศึกษาฟรีไว้เหมือนเดิม แนวทางที่พรรคสามัญชนจะนำเสนอต่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ภาคอีสาน ซึ่งพรรคสามัญชนมีเครือภาคประชาชนอยู่ในทุกภูมิภาค

เตรียมตัวอย่างไรต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิกาได้เบอร์เดียวบัตรเดียว ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัคร ส.ส. ให้ครบ 350 เขตเลือกตั้่งเพื่อให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด

นายกรชนกกล่าวว่า พรรคของตนมีเครือข่ายประชาชนในทุกพื้นที่ ซึ่งจะสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที แต่จะติดขัดตรงค่าใช้จ่ายในการสมัคร ส.ส. คนละ 10,000 บาท และต้องมีสมาชิกพรรคในเขตที่จะส่ง ส.ส. ลงสมัคร อย่างน้อย 100 คน แต่ก็เป็นสิ่งที่เตรียมการเอาไว้แล้ว โดยพรรคสามัญชนต้องการส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตให้ได้ ร้อยละ 80

ความคาดหวังหลังการเลือกตั้งจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน

“พรรคที่เอานายกฯ คนนอกเข้ามา เราไม่รับ พรรคที่เป็นนอมินีของทหาร คสช. (คสช. – คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เราไม่ร่วมรัฐบาล ส่วนพรรคที่มีแนวทางประชาธิปไตยก็จะสามารถร่วมงานกันได้”

ผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชนผู้นี้เปิดเผยว่า มีความคาดหวังว่าพรรคฯ จะมี ส.ส. เพราะพรรคสามัญชนต้องการนำประชาชนในพื้นที่เข้าไปทำงานในรัฐสภาเอง โดยพรรคเป็นตัวเชื่อม 

“นั่นคือ ชาวบ้านไม่ต้องรอ 4 ปีเลือกตั้ง 1 ครั้ง ผ่านระบบหัวคะแนน แต่จะมีสาขาในทุกตำบล คนในแต่ละตำบลต้องการอยากได้อะไรให้บอกสาขาพรรคให้นำเสนอเป็นนโยบาย สิ่งที่ได้คือการเมืองแบบใหม่ ประชาชนเข้าถึงการเมืองอย่างแท้จริง”

นายกรชนกกล่าวด้วยว่า พรรคการเมืองอื่นคิดนโยบายมาก่อน แล้วไปบอกกล่าวกับประชาชน แต่พรรคสามัญชนจะลงไปพูดคุยกับประชาชนเพื่อนำความคิดเห็นของประชาชนมากำหนดเป็นนโยบาย ซึ่งพรรคกำลังดำเนินกระบวนการเหล่านี้อยู่ ซึ่งจะเป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ ที่ประชาชนจะเข้ามีส่วนร่วมมากขึ้น

“ผมคิดว่า พรรคสามัญชนเป็นพรรคเดียวในตอนนี้ที่เริ่มกระบวนการแบบนี้ ที่มันน่าจะเป็นจริงๆ ในระบอบประชาธิปไตย” ผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชนผู้นี้กล่าวทิ้งท้าย

 

image_pdfimage_print