โดย มิ่งขวัญ ถือเหมาะ

อุดรธานี – ศาลปกครองอุดรฯ พิพากษาถอนใบไต่สวนคำขอประทานบัตรเหมืองแร่โพแทช เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่งให้บริษัทเหมืองแร่ขอใบประทานบัตรทำเหมืองใหม่ โดยยึดตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ด้านตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เผยขั้นตอนการขอใบประทานบัตร ฯ ใน พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 ลดขั้นตอนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 ศาลปกครองอุดรธานี แผนกคดีสิ่งแวดล้อม นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่นายเตียง ธรรมอินทร์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 47 คน สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มคัดค้านการทำเหมืองแร่โพแทช (เหมืองแร่เกลือ) ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในพื้นที่ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นโจกท์ยื่นฟ้องกรมอุ9สาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีและผู้นำท้องถิ่นจำนวน 6 คน  กรณีรายงานการไต่สวนคำขอประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชของบริษัทเอเชีย แปซิฟิกโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ฟ้องเห็นว่า กระบวนการการทำรายงานปักหมุดรังวัดผิดขั้นตอนของกฎหมาย และรายงานมีข้อความหรือเนื้อหาสาระสำคัญคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในพื้นที่ เช่น ในรายงานระบุพื้นดินมีลักษณะเป็นที่ราบ ทั้งที่ความเป็นจริงเป็นที่โนนหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทั้งที่จริงประชาชนใช้ประโยชน์ตลอดทั้งปี เป็นต้น ซึ่งคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2556

สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกว่า 100 คน รวมตัวบริเวณข้างศาลปกครองจังหวัดอุดรธานี หลังร่วมฟังคำพิพากษา

ศาลพิพากษาตัดสินว่า การทำรายงานการไต่สวนดังกล่าวทั้ง 4 ฉบับ เป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระบวนการการทำรายงานการไต่สวนคำขอประทานบัตร ตามข้อ 22 ของระเบียบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรังวัดกำหนดเขตคำขอ พ.ศ. 2547 (การกำหนดข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับขอบเขตสภาพพื้นที่เพื่อนำไปพิจารณาขอประทานบัตร – ผู้เขียน) กำหนดให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้ทำการรังวัด โดยให้ข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับพื้นที่ตามสภาพเป็นจริงในพื้นที่ แต่รายงานดังกล่าวมีเพียงการลงรายมือชื่อรับรอง แต่ผู้นำท้องถิ่นไม่ได้มีการเข้าร่วมตรวจสอบพื้นที่จริง และทำให้ข้อมูลในรายงานการไต่สวนไม่ถูกต้อง

ศาลจึงเห็นควรเพิกถอนรายงานใบไต่สวนฯ และให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี พิจารณาคำขอประทานบัตรของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560) ใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรกตามกฎหมาย

นายเตียง ธรรมอินทร์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1

นายเตียง ธรรมอินทร์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชาวตำบลห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี หนึ่งในผู้อาศัยในเขตพื้นที่ที่มีการคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทชกล่าวว่า คำตัดสินของศาลในวันนี้ตนยอมรับได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกดีใจกับคำตัดสิน เพราะคำตัดสินระบุให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีกลับไปทำคำขอประทานบัตรใหม่ ตาม พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 ซึ่ง พ.ร.บ.แร่ฉบับล่าสุดมีการตัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่แรก เช่น การให้ข้อมูลสภาพพื้นที่ในการทำโครงการเหมืองแร่ หากใช้ พ.ร.บ. แร่ใหม่ ประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับการทำเหมืองแร่จะไม่สามารถคัดค้านโครงการได้ แต่ตนก็จะขอคัดค้านการทำเหมืองแร่ต่อไป

“แม้สุดท้ายแล้วโครงการเหมืองแร่เกิดขึ้นตนยังคงยืนยันที่จะอยู่ที่นี่ ต่อสู้เพื่อลูกหลาน เพื่อชุมชน เพื่อสิ่งแวดล้อมของเรา ตายก็จะตายอยู่ที่นี่” นายเตียงกล่าว

นายวีรวัฒน์ อบโอ ทนายความฝ่ายโจกท์

นายวีรวัฒน์ อบโอ ทนายความโจกท์ในคดีนี้กล่าวถึงกรณีศาลให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีไปดำเนินการคำขอประทานบัตรของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตามพ.ร.บ.แร่ ปี 2560 ใหม่นั้น ตนเห็นว่า ในอนาคตการต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ของคนในพื้นที่จะเสียเปรียบในเชิงกฎหมาย เนื่องจากพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ปี 2560 จะไม่มีเรื่องของการทำรายงานไต่สวนคำขอประทานบัตรเหมืองแร่โดยลงพื้นที่จริงของผู้จัดทำ และอำนาจในการทำรายงานจะอยู่ที่เจ้าหน้าที่รังวัดและช่างรังวัด รวมถึงหรือเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดมากกว่าประชาชนคนในพื้นที่

นายวีรวัฒน์ กล่าวอีกว่าหากเปรียบเทียบจาก พ.ร.บ.แร่ ปี 2510 ซึ่งคือฉบับเก่า กับ พ.ร.บ. แร่ปี 2560 ฉบับใหม่ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่จะถูกลดลง และกระบวนการในการพิจารณาคำขอประทานบัตรทำเหมืองจะรวดเร็วขึ้น เพราะมีการลดขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ออกไป

ทั้งนี้ เมื่อปี 2536 บริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้มีการขออนุญาตจากรัฐบาลไทยในการขอสัมปทานสำรวจหาแหล่งแร่โพแทชใน จ.อุดรธานี จากกระทรวงอุตสาหกรรมจำนวน 26,446 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 5 ตำบล 2 อำเภอ คือ อ.เมืองอุดรธานี ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ และ ต.หนองขอนกว้าง ส่วน อ.ประจักษ์ศิลปาคม คือ ต.นาม่วง ต.ห้วยสามพาด ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งโพแทชที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ช่วงต้นปี 2545 ประชาชนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เริ่มเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการทำเหมืองแร่จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ เช่น ปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดิน ปัญหาน้ำเกลือ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของน้ำเกลือสู่ที่ดินและแหล่งน้ำของชุมชน ปัญหาเศษหางเกลือ เพราะกระบวนการผลิตจะทำให้มีเศษหางเกลือจำนวนมาก ซึ่งจะถูกปล่อยสู่แหล่งน้ำ นาข้าว และพื้นที่ชุมชน ปัญหาฝุ่นเกลือ จากโรงแต่งแร่และลานกองเกลือขนาดใหญ่ จะฟุ้งกระจายไปจนสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน ผู้คน และสัตว์เลี้ยงและปัญหาแย่งชิงน้ำ เพราะการแต่งแร่และแยกแร่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก เป็นต้น

มิ่งขวัญ ถือเหมาะ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2559

image_pdfimage_print