โดย นายสมรู้ ร่วมคิด (เพื่อสังคมดี)
เปิดเผยขั้นตอนการช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ภายใต้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการครบวงจร ทำให้ง่ายต่อการโกงเพราะ “ลูกน้องชง ลูกพี่ดื่ม” พร้อมเสนอให้แยกการสำรวจคนไร้ที่พึ่งและการจ่ายเงิน ติดประกาศบัญชีคนไร้ที่พึ่งในที่สาธารณะ และมอบเงินตรงเข้าบัญชีธนาคาร
น.ส.ปณิดา ยศปัญญา หรือ น้องแบม ภาพจาก : โพสต์ทูเดย์
“จงช่วยเขา เพื่อให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้” (Help them to help themselves) เป็นคำสอนที่เตือนสติให้ผู้มีวิชาชีพด้านการสังคมสงเคราะห์พึงระลึกถึงอยู่เสมอว่า… การให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและตกทุกข์ได้ยากนั้น คือ การให้โอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง
สำหรับประเทศไทยเอง นอกเหนือไปจากการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง อันได้แก่ เด็กกำพร้า ผู้พิการ คนชรา และผู้ที่ต้องประสบปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวแล้ว ยังพบว่ามีผู้ด้อยโอกาสทางสังคมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งถูกเรียกว่า “ผู้มีรายได้น้อย (ยากไร้) และผู้ไร้ที่พึ่ง” ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะส่วนราชการที่ให้การดูแลและให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำอันเป็นการดูแลและฟื้นฟูสภาพจิตใจ และให้ความช่วยเหลือด้านการเงินหรือสิ่งของตามวงเงินที่กำหนดตามความจำเป็นต่อการดำรงชีพและการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ
เมื่อระเบียบกฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและค่าใช้จ่ายแก่ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วเยี่ยงนี้เอง ปัญหาที่สังคมต่างสงสัยและมักจะตั้งคำถามตามมา คือ
การให้ความช่วยเหลือโดยหยิบยื่นเงินทองให้แก่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเหล่านี้โดยตรง จะมีความซื่อตรงถูกต้องหรือไม่ สุจริตโปร่งใสเพียงใด และประชาชนทั่วไปจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เงินสวัสดิการของรัฐก้อนนี้จะถูกส่งไปถึงมือผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ไร้ที่พึ่งซึ่งมีสิทธิได้รับแบบครบทุกบาททุกสตางค์
เมื่อไม่นานมานี้ มีกรณีกล่าวหาข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่ากระทำการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งโดยมิชอบ ซึ่งเรื่องแดงไปถึงหน่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตครั้งแรก เพราะเด็กนักศึกษาฝึกงานในศูนย์คุ้มครองผู้ไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่นรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลในการเบิกเงินกว่า ๖.๙ ล้านบาท และพบการทุจริตปลอมแปลงเอกสารของผู้ไร้ที่พึ่งกว่า ๒,๐๐๐ ราย เลยเถิดขยายผลตรวจสอบพบการทุจริตเงินสงเคราะห์ดังกล่าวกว่าอีก ๑๐๐ ล้านบาท ในจังหวัดอื่นๆ จนทำให้ เกิดประเด็นคำถามมากมายว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเขาคดโกงเงินเหล่านั้นด้วยวิธีใด
จึงอยากที่จะอธิบายให้ผู้อ่านทราบถึงข้อมูลระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อ(สม)รู้เท่าทันขั้นตอนกระบวนการทำงานของภาครัฐ ที่กลายเป็นช่องทางแสวงประโยชน์ของคนบางกลุ่ม พร้อมกับร่วม(คิด)เสนอแนวทางที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องปรามมิให้เกิดการฉวยโอกาสจากผู้ด้อยโอกาสในลักษณะเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต
๑. ผู้ไร้ที่พึ่งคือใคร มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากรัฐตามกฎหมายใด
“คนไร้ที่พึ่ง” หมายความถึง บุคคลที่ ไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอ แก่การยังชีพ บุคคลที่มี ฐานะยากจน บุคคลที่ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ และให้รวมถึงบุคคล ที่อยู่ในสภาวะยากลำบากและไม่อาจพึ่งพาบุคคลอื่นได้อีก ๕ ประเภท ตามที่ทางราชการกำหนด อันได้แก่
๑) บุคคลที่ประสบความเดือดร้อน หมายถึง บุคคลสัญชาติไทยที่มีความยากลำบากในการดำรงชีพ เนื่องจากเหตุหัวหน้าครอบครัวหรือบุคคลที่เป็นหลักในครอบครัวตาย ทอดทิ้ง สาบสูญ หรือต้องโทษจำคุก ประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยร้ายแรงจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หรือไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ด้วยเหตุอื่นใด
๒) คนเร่ร่อน หมายถึง บุคคลสัญชาติไทยที่ออกมาจากที่พักอาศัยเดิม มาอยู่ในที่สาธารณะ หรือมาใช้ชีวิตแบบครอบครัวใหม่ในที่สาธารณะ และทั้งสองกลุ่มอาจจะย้ายที่พักไปเรื่อยๆ หรืออาศัยอยู่ที่ใดที่หนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อดำรงชีวิตประจำวันในที่สาธารณะนั้นๆ
๓) บุคคลซึ่งอาศัยที่สาธารณะเป็นที่พักนอนชั่วคราว หมายถึง บุคคลสัญชาติไทยที่มาทำภารกิจบางอย่างและไม่มีที่พักอาศัย ไม่มีเงินเช่าที่พัก
๔) บุคคลที่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรแต่ไร้สัญชาติ หมายถึง บุคคลที่ถูกบันทึกทางทะเบียนราษฎรของรัฐใดรัฐหนึ่ง แต่มิได้รับการรับรองในสถานะคนสัญชาติโดยรัฐนั้นหรือรัฐอื่นใดที่ประสบปัญหาการดำรงชีพ
๕) บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หมายถึง คนไร้รัฐซึ่งอาจจะเป็นคนที่เกิดในประเทศไทย หรือนอกประเทศไทยก็ได้ แต่มีเหตุทำให้ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรทั้งของประเทศต้นทางและของประเทศไทยที่ประสบปัญหาการดำรงชีพ
ส่วนการให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ไร้ที่พึ่งนั้น มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ ๒ ฉบับหลัก ได้แก่ พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทที่ กำหนดนิยามของคำว่า “คนไร้ที่พึ่ง” ไว้ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น พร้อมทั้ง กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขึ้น โดยเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยให้มีหน้าที่ในการสำรวจ และติดตามสภาพปัญหาเกี่ยวกับคนไร้ที่พึ่ง จัดให้มีที่พักอาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม บริการทางการแพทย์ รวมถึงการฝึกอบรมอาชีพแก่คนไร้ที่พึ่ง ตลอดจน กำหนดวิธีการให้ความคุ้มครองและความช่วยเหลือต่างๆ เท่าที่จำเป็น เมื่อมีการส่งตัวคนไร้ที่พึ่งไปรับบริการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบตามความเหมาะสมและสภาพปัญหาที่ปรากฏ และ ระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการว่าด้วยการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่คนไร้ที่พึ่งไว้ ว่าจะช่วยเหลือในด้านการเงินและสิ่งของในวงเงินอะไรได้บ้างและอัตราเท่าใด
สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ประเทศไทยมีกฎหมายที่บัญญัติคุ้มครองให้คนไร้ที่พึ่งมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐผ่านศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และมีระเบียบที่ให้อำนาจแก่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งดำเนินการตรวจสอบและเสนอให้มีการจ่ายเงินสงเคราะห์แก่คนไร้ที่พึ่งตามอัตราที่กำหนด นั่นเอง
๒. คนไร้ที่พึ่งได้รับการช่วยเหลือในด้านใดบ้าง
การให้ความช่วยเหลือที่รัฐจัดให้แก่ผู้ไร้ที่พึ่งปรากฏใน ๒ รูปแบบ ได้แก่
๑) การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและสิ่งของเป็นวงเงินไม่เกินครั้งละ ๓,๐๐๐ บาท
ต่อครอบครัว และช่วยติดต่อกันไม่เกิน ๓ ครั้งต่อปีงบประมาณ โดยอยู่ในเงื่อนไขรายการดังต่อไปนี้
– ค่าเครื่องอุปโภคและ/หรือค่าใช้จ่ายในการครองชีพตามความจำเป็น
– ค่ารักษาพยาบาล เช่น ค่ายา ค่าอุปกรณ์การรักษา ค่าอาหารที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของทางราชการสั่ง และค่าพาหนะ ค่าอาหาร ระหว่างติดต่อรักษาพยาบาลเท่าที่จำเป็น แต่เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นแล้ว ไม่ให้เบิกค่ารักษาพยาบาลจากระเบียบนี้อีกเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน
– ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเท่าที่จำเป็น (หมายเหตุ : เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือข้อนี้ หลายคนยังสงสัยว่าเหตุใดรัฐยังต้องช่วยค่าซ่อมบ้าน เนื่องจากมีความเข้าใจว่าคนไร้ที่พึ่งต้องเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะคนไร้ที่พึ่งจำนวนไม่น้อยยังมีที่อยู่อาศัยเพียงแต่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต โดยมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมทรัพย์ดังกล่าว)
– เงินทุนประกอบอาชีพ รวมถึงการรวมกลุ่มอาชีพ
– กรณีอื่นๆ เท่าที่จำเป็นตามที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการหรือผู้รับมอบหมายจากอธิบดี (ซึ่งผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งก็ถือเป็นตำแหน่งหนึ่งที่อธิบดีมอบหมาย) พิจารณาอนุมัติเป็นการเฉพาะราย
๒) การให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านการเงิน ได้แก่ การให้คำปรึกษา แนะนำ แก้ปัญหาต่างๆ ตามหลักวิชาการสังคมสงเคราะห์ เช่น การประกอบอาชีพ การติดต่อหางานอาชีพ หรือบริการอื่น ๆ เป็นต้น
๓. ขั้นตอนและกระบวนการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่คนไร้ที่พึ่ง
ตามระเบียบเมื่อเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพบคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่ ก็จะแจ้งประสานให้ผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ของศูนย์ฯ ทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจ โดยการลงพื้นที่เพื่อเสาะหาข้อมูลและตรวจสอบความจำเป็นที่รัฐต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือตามคำขอของผู้ไร้ที่พึ่งนั้นๆ แล้วนำข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ที่ได้มา เช่น ใบมรณะบัตร สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ใบรับรองแพทย์ ใบรับรองจากเรือนจำหรือสถานีตำรวจในพื้นที่ หรือเอกสารอื่นที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความเดือดร้อนยากไร้ มาศึกษาวิเคราะห์ และวินิจฉัยปัญหาว่าจะช่วยเหลืออย่างไร อาทิ ให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน มอบสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือให้การสงเคราะห์ตามความเหมาะสมกับสภาพปัญหา จากนั้นจึงเสนอความเห็นต่ออธิบดีหรือผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเพื่อขออนุมัติให้ความช่วยเหลือตามที่เห็นสมควร
กรณีได้รับอนุมัติให้ช่วยเหลือด้านการเงินตามระเบียบไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาทต่อครั้ง ไม่เกิน ๓ ครั้งต่อปีงบประมาณแล้ว ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจะดำเนินการนำเงินดังกล่าวไปมอบให้แก่ผู้ไร้ที่พึ่ง โดยมีวิธีมอบเงินช่วยเหลือ ๒ รูปแบบ คือ สั่งจ่ายเป็น เช็ค เพื่อให้ไปขึ้นเงินกับธนาคารที่ผู้ไร้ที่พึ่งเปิดบัญชีเงินฝาก หรือ มอบ เงินสด ตามจำนวนที่ผู้มีอำนาจอนุมัติให้แก่ผู้ไร้ที่พึ่งโดยตรง หรือมอบผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อให้ส่งมอบแก่ผู้ไร้ที่พึ่งอีกทอดหนึ่ง โดยขอหลักฐานสำคัญการรับเงินช่วยเหลือจากผู้ไร้ที่พึ่ง คือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาเอกสารประจำตัวอื่นที่ทางราชการออกให้แก่ผู้ไร้ที่พึ่งซึ่งมีการลงชื่อและระบุว่าได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแล้ว สำหรับกรณีอื่นๆ มักเป็นไปในลักษณะเยี่ยมเยียน สอบถามทุกข์สุขและสภาพความเป็นอยู่ หรือส่งต่อให้หน่วยงานอื่นให้ความช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
๔. รูปแบบการทุจริตเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งในประเทศไทย
จะเห็นได้ว่าการตรวจสอบข้อมูลในประเด็นความจำเป็นที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและการมีตัวตนอยู่จริงของคนไร้ที่พึ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด ประกอบกับการเสนอความเห็นของนักสังคมสงเคราะห์หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการยื่นขออนุมัติการให้ความช่วยเหลือ (ชงเรื่อง) ก็มีขั้นตอนที่สั้น กระชับ รวดเร็ว และผ่านการกลั่นกรองจากบุคคลเพียงไม่กี่คน ซึ่งในทางปฏิบัติอาจมีแค่คนชงเรื่องกับคนอนุมัติเรื่องเท่านั้น จึงมีช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดได้โดยง่าย หากมีการสมรู้ร่วมคิดและทุจริตร่วมกัน
ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการโกงเงินคนจนหรือคนไร้ที่พึ่งซึ่งหน่วยงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐได้ทำการตรวจสอบ พบว่า รูปแบบกลโกงเงินสงเคราะห์มีหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่
๑) มีการนำชื่อคนเสียชีวิตมาสวมสิทธิเป็นบุคคลที่มีสิทธิได้รับเงิน
๒) นำ ข้อมูลบุคคลที่ไปร่วมกิจกรรมในโครงการอื่นมาเป็นชื่อของผู้มีสิทธิได้รับเงิน โดยที่บุคคลนั้นไม่ได้รับรู้รับทราบแต่อย่างใด
๓) นำชื่อคนที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์มาเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงิน
๔) ปลอมลายมือชื่อในแบบสำรวจ สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
๕) ให้ประชาชนลงลายมือชื่อในเอกสารเกี่ยวกับการขอรับเงินสงเคราะห์ โดยแจ้งว่าเพื่อนำไปใช้ในการกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง
๖) ให้หน่วยงานของรัฐอื่น เช่น โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล ส่งรายชื่อผู้เข้าหลักเกณฑ์พร้อมเอกสารประกอบให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเพื่อไปดำเนินการ แต่ทางศูนย์จ่ายเงินให้ไม่ครบตามจำนวนฎีกา
๗) รายชื่อที่ปรากฏในแบบสำรวจ เมื่อตรวจสอบกับข้อมูลทะเบียนราษฎร ไม่ปรากฏรายชื่อบุคคลดังกล่าวในทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร และ
๘) มีการคัดสำเนาบัตรประชาชนจากทะเบียนราษฎร แล้วมาปลอมลายมือชื่อ ทั้งนี้ หน่วยตรวจได้ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบยังไม่พบว่ามีขบวนการขายสำเนาบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่รัฐแต่ประการใด ในขณะที่บางจังหวัดมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นเข้ามาสนับสนุนการกระทำผิด เช่น การปลอมลายมือชื่อของผู้รับเงินในเอกสารทั้งหมดโดยที่ชาวบ้านไม่ทราบเรื่องแล้วนำเอกสารไปเบิกเงิน การให้ชาวบ้านยื่นเอกสารจริงแต่ปลอมใบสำคัญการรับเงิน และกรณีที่ชาวบ้านมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินแต่กลับไม่ได้รับเงิน หรือได้รับเงินจริงแต่ไม่ครบตามจำนวนที่แท้จริง
จะเห็นได้ว่าสารพัดกลโกงที่ตรวจสอบพบข้างต้น ส่วนใหญ่เกิดจากการอาศัยโอกาสในการจัดทำเอกสารและพิจารณาอนุมัติเป็นการภายในของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเอง โดยกระทำการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรบอกกล่าว และมิได้แจ้งข้อมูลการอนุมัติการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินตามจำนวนที่ถูกต้องให้แก่ผู้ไร้ที่พึ่งที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ดังกล่าวทราบ
๕. ข้อเสนอเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
การตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการหาวิธีป้องกันมิให้เกิดการทุจริตน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหาเรื่องนี้ เพราะข้อค้นพบที่ได้จากการตรวจสอบกระบวนงานหรือวิธีการในการให้ความช่วยเหลือแก่
ผู้ไร้ที่พึ่งโดยเฉพาะในด้านการเงินนั้น ทำให้สังคมเห็นว่า ช่องทางทุจริตเกิดจากพฤติการณ์ของ “คนใน” เป็นสำคัญ
ดังนั้น ข้อเสนอในการป้องกันมิให้เกิดการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ไร้ที่พึ่งในส่วนภูมิภาคได้อย่างเด็ดขาด จำเป็นต้องสลายการผูกขาดและถ่วงดุลอำนาจในการพิจารณาตรวจสอบและอนุมัติของคนในให้หมดสิ้นไป กล่าวคือ ต้องแก้ไขระเบียบกฎหมาย โดยให้แยกอำนาจในการเสนอความเห็นเพื่อให้การช่วยเหลือสงเคราะห์ในด้านการเงินและการพิจารณาอนุมัติออกจากกัน ด้วยการไม่ให้อยู่ภายใต้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ภายในองค์กรเดียวกัน เพราะต้นเหตุของปัญหา คือ ลูกน้องชง ลูกพี่ดื่ม เรื่องจึงจบง่าย ไม่มีการตรวจสอบความโปร่งใส ดังนั้น จึงเห็นควรกำหนดให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีหน้าที่เฉพาะการสำรวจ และทำความเห็นเพื่อเสนอขอรับความช่วยเหลือเป็นหน้าที่หลัก ส่วนการอนุมัติควรกระทำในรูปแบบคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือซึ่งมี “คนนอก” ร่วมตรวจสอบเอกสารหลักฐานและคุณสมบัติของผู้ขอรับการสงเคราะห์ในฐานะผู้ไร้ที่พึ่ง รวมถึงตรวจสอบความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้กระบวนการมีความโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
นอกจากนี้ ควรกำหนดให้มีการนำข้อมูลการจ่ายเงินหรือการรับเงินปิดประกาศแสดงไว้ ณ สถานที่ราชการหรือสถานที่สาธารณะต่างๆ อาทิ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือที่ทำการกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจและสามารถรับรู้ที่มาที่ไปของการให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงไปตรงมา และ ยกเลิกวิธีการให้เจ้าหน้าที่ส่งมอบเงินสดโดยตรงแก่ผู้ไร้ที่พึ่ง โดยกำหนดให้ใช้วิธีโอนเงินสงเคราะห์เข้าบัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ผู้ไร้ที่พึ่งเปิดบัญชีเงินฝากอยู่ ซึ่งจะทำให้ภาครัฐตรวจสอบเส้นทางการเงินได้อย่างชัดเจน และหมดข้อกังวลเรื่องที่ว่าเงินสงเคราะห์จะไปไม่ถึงมือผู้ไร้ที่พึ่ง
สำหรับข้อเสนอเพื่อปราบปรามการทุจริตหรือเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติการณ์คดโกงเงินสงเคราะห์นี้ รัฐควรกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงและทำให้เกิดความเกรงกลัวอย่างแท้จริง มิใช่แค่สั่งย้ายแล้วว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น แต่ต้องลงโทษทางวินัยขั้นเด็ดขาดโดยการไล่ออกจากราชการ และดำเนินคดีอาญาแบบต่างกรรมต่างวาระและขอให้ศาลลงโทษบทหนักจนถึงที่สุด พร้อมทั้งนำมาตรการทางกฎหมายเรื่องการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเข้ามาจัดการกับผู้กระทำความผิดฐานทุจริตในกรณีนี้แบบเฉียบขาด
โดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินต่างๆ เข้าเป็นของรัฐ เพื่อปกป้องประโยชน์ของทางราชการและให้เป็นแบบอย่างของการปราบปรามคนชั่วที่นอกจากจะขโมยเงินของรัฐเข้ากระเป๋าตัวเองแล้ว ยังทำลายโอกาสของคนไร้ที่พึ่งจำนวนมากที่จะนำเงินก้อนนี้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
หากรัฐยังเพิกเฉยต่อการทุจริต ปล่อยให้คนโกงลอยหน้าลอยตาอย่างลอยนวล แล้วคนไร้ที่พึ่งจะพึ่งใครได้
จงช่วยเขา ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ ด้วยการไม่ให้ใครมาทำลายโอกาสในการได้รับการสงเคราะห์จากรัฐ