โดย บูรพา เล็กล้วนงาม
การเกณฑ์ทหาร นอกจากเป็นสิ่งไม่จำเป็นและเป็นการส่งเสริมความคิดอำนาจนิยมแล้ว การเกณฑ์ยังแฝงไว้ด้วยการเหยียดเพศ เนื่องจากเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่สามารถเป็นทหารได้ และในทางปฏิบัติยังมีการเหยียดคนข้ามเพศ หรือ กระเทย อีกด้วย โดยทำให้เป็นเรื่องตลกขบขัน
กองทัพดำเนินการตรวจคัดเลือกทหารกองประจำการ ประจำปี 2561 หรือ เกณฑ์ทหาร ระหว่างวันที่ 1-12 เม.ย. 2561 โดยต้องการทหารเกณฑ์ 104,734 คน การเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นเป็นปกติแทบจะไม่มีการตั้งคำถามว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ที่ประเทศไทยต้องมีการเกณฑ์ทหาร ทั้งที่นี่คือสิ่งผิดปกติเพราะการจะเกณฑ์หรือบังคับบุคคลใดไปทำหน้าที่อะไร ควรจะต้องมีเหตุผลเพียงพอ ถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพออาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนเนื่องจากมนุษย์ย่อมมีสิทธิในตัวเอง

การเกณฑ์ทหารของชายไทยในภูมิลำเนา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ที่เอ็มซีซีฮอลล์ ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2561 ภาพจาก เว็บไซต์โคราชสตาร์ทอัพ
หน้าที่ของทหารคือการสู้รบเพื่อป้องกันประเทศ จึงมีคำถามว่า ปี 2561 ยังมีภัยต่อความมั่นคงของประเทศอีกหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ประชาชนควรตั้งคำถามต่อกองทัพและรัฐบาล ก่อนที่จะยินยอมให้มีการเกณฑ์ทหารในแต่ละปี
ข้อมูลจากวิกิพีเดียหัวข้อกองทัพไทยระบุว่า ในประเทศไทยมีความขัดแย้งเหลืออยู่เพียง 2 แห่ง นั่นคือ ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ (2547 – ต่อเนื่อง) ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา (2551 – ต่อเนื่อง) ในเมื่อมีความขัดแย้งเหลืออยู่เพียง 2 แห่ง แล้วเพราะเหตุใดกองทัพจึงต้องเกณฑ์ทหารเพิ่มขึ้น
ความต้องการทหารเกณฑ์ของกองทัพ (กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ) 6 ปีหลังสุด ตั้งแต่ปี 2556 – 2561 มีดังนี้
ในปี 2556 จำนวน 94,480 คน
ในปี 2557 จำนวน 100,865 คน
ในปี 2558 จำนวน 99,373 คน
ในปี 2559 จำนวน 101,307 คน
ในปี 2560 จำนวน 103,097 คน
ในปี 2561 จำนวน 104,734 คน
จึงเท่ากับว่า ประเทศไทยมีทหารเกณฑ์เพิ่มขึ้นสวนทางกับความขัดแย้งซึ่งเป็นภัยของต่อความมั่นคงของประเทศ ขณะเดียวกันก็มีข่าวอย่างต่อเนื่องถึงการใช้งานทหารผิดประเภท อาทิ กรณีนายทหารนำพลทหารไปเป็นทหารรับใช้ที่บ้าน กรณีพลทหารถูกนำไปใช้งานส่วนตัวกับใช้งานที่ร้านอาหารส่วนตัว รวมถึงกรณีพลทหารยกเงินเดือนให้นายแลกกับการออกมาใช้ชีวิตตามปกตินอกค่ายทหาร
การนำพลทหารไปใช้งานส่วนตัวและการกินหัวคิวพลทหารใช่หรือไม่ ที่เป็นสาเหตุให้ต้องมีการเกณฑ์ทหาร
ฉะนั้น กองทัพต้องชี้แจงอย่างละเอียดว่า ต้องการทหารเกณฑ์ไปทำงานอะไร ถ้าไม่มีคำอธิบายที่เหมาะสม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผู้ดูแลกองทัพต้องเป็นผู้สั่งการให้เหล่าทัพต่างๆ ลดจำนวนทหารเกณฑ์ลง หรือ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ใช้แล้ววิธีเปิดรับสมัครพลทหารแทน
แต่ไม่เคยมีท่าทีในเรื่องการลดจำนวนทหารเกณฑ์จาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือจากรัฐบาลชุดไหน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารเช่นในปัจจุบัน หรือรัฐบาลเลือกตั้งในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกองทัพเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองจนทำให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้า อำนาจกองทัพมีทั้งอำนาจทางกายภาพ เช่น กำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ และอำนาจทางวัฒนธรรมภายใต้วัฒนธรรมอำนาจนิยม ซึ่งมีกองทัพเป็นตัวนำ การผลิตวาทกรรมต่างๆ มีอาทิ
การเกณฑ์ทหารคือหน้าที่ของลูกผู้ชาย ทั้งที่การจะเป็นลูกผู้ชายหรือไม่ ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการเป็นทหาร แล้วทำไมการเป็นทหารต้องถูกจำกัดเอาไว้เฉพาะเพศชายเท่านั้น คนที่อยู่เพศอื่นทำไมไม่สามารถที่จะเป็นทหารได้ การจำกัดให้เพศชายเท่านั้นที่ต้องเกณฑ์ทหารถือเป็นการเหยียดเพศหรือไม่
การเกณฑ์ทหารคือการรับใช้ชาติ การรับใช้ชาติมีได้หลายวิธีไม่ใช่แค่การเป็นทหารเท่านั้น การเป็นทหารคือการรับใช้ชาติหรือรับใช้นายกันแน่
สถาบันวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส จัดอันดับแสนยานุภาพของกองทัพ พบว่า กองทัพที่มีแสนยานุภาพมากที่สุด คือ สหรัฐ ตามมาด้วย รัสเซีย และจีน ส่วนกองทัพไทยอยู่อันดับที่ 16 ของโลก มีงบประมาณ 5,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 200,000 ล้านบาท กำลังพล 280,000 นาย รถถัง 722 คัน และเครื่องบินรถ 573 ลำ
จากตัวเลขกำลังพล 280,000 นาย จึงเห็นได้ว่า หากหักจำนวนทหารเกณฑ์แสนกว่าคนออกไป กองทัพก็จะเหลือกำลังพลประจำถึง 180,000 คน ซึ่งถือเป็นกำลังพลจำนวนไม่น้อย
ยิ่งถ้าพิจารณาถึงการนำกองทัพเข้าไปรับใช้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการยึดอำนาจการปกครอง เมื่อปี 2557 อาทิ การปราบปรามการชุมนุมทางการเมือง กรณีทวงคืนผืนป่า การจัดระเบียบสังคม และการตอบโต้ผู้คิดเห็นต่างทางการเมืองของศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก จึงพบว่า ทหารมีเวลาว่างในการทำงานอื่นซึ่งไม่ใช่หน้าที่ ฉะนั้นจึงอนุมานได้ว่า ทหารประจำการมีจำนวนมากเกินความจำเป็น
จึงกลับมาสู่คำถามว่า ในเมื่อทหารประจำการมากเกินหน้าที่แล้วจะเกณฑ์ทหารไปอีกเพื่ออะไร แถมกองทัพยังต้องการพลทหารเพิ่มขึ้นด้วย
เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารนอกจากเพศหญิงที่ถูกกีดกันแล้ว การเกณฑ์ทหารในแต่ละปียังมีการนำเสนอข่าวบุคคลข้ามเพศขณะเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหาร ตัวอย่างในภาคอีสานในปีนี้ มีดังนี้
เว็บไซต์แมเนเจอร์ พาดหัวข่าว การเกณฑ์ทหารที่จ.บึงกาฬว่า คัดเลือกทหารบึงกาฬคึกคัก กะเทยสวยนับ 10 ทำเอาหนุ่มๆ หายเครียด ส่วนการเกณฑ์ทหารที่อำเภอเมืองเลย พาดหัวว่า งามดั่งนางฟ้า! “น้องแนน”บินจากสิงคโปร์คัดเลือกทหาร รับงานโมเดลลิ่งเมืองลอดช่อง 3 เดือน
เว็บไซต์ข่าวสด พาดหัวข่าวการเกณฑ์ทหารที่จ.มหาสารคามว่า แทบไม่อยากเชื่อสายตา! สาวสองเฉิดฉายเกณฑ์ทหาร ออร่าพุ่งระดับซุปตาร์ ด้านการเกณฑ์ทหารที่จ.อุดรธานี พาดหัวว่า เกณฑ์ทหารที่อุดรธานีคึกคักมาก เมื่อ”น้องเค้ก”สาวข้ามเพศโชว์ตัว
เว็บไซต์ไทยรัฐ พาดหัวการเกณฑ์ทหารที่จ.ยโสธรว่า เรดาร์พัง! แม่หญิงจำแลง ตบเท้าร่วมเกณฑ์ทหารที่ยโสธร
การนำเสนอข่าวของสื่อกรณีบุคคลข้ามเพศน่าจะเข้าข่ายการเหยียดเพศ เพราะเน้นหาตอกย้ำถึงความไม่ปกติเพศสภาพ โดยทำให้การเข้ารับการตรวจคัดเลือกเป็นทหารของกระเทยเป็นเรื่องการล้อเลียนปนตลกขบขัน การเสนอข่าวด้วยท่วงทำนองเช่นนี้ยังเป็นการผลิตซ้ำและรองรับความถูกต้องของการเกณฑ์ทหารว่าเป็นหน้าที่ของชายไทย แถมยังเพิกเฉยต่อการตรวจสอบความเหมาะสมของจำนวนทหารเกณฑ์ในแต่ละปี โดยไม่มีแม้แต่การตั้งคำถามว่า ประเทศไทยเหมาะที่จะมีทหารเกณฑ์หรือไม่ เพราะอะไร ทั้งที่คำถามนี้ควรเป็นคำถามแรกก่อนที่จะดำเนินการอะไร รวมถึงการเกณฑ์ทหาร