โดย จิรสุดา สายโสม

อุบลราชธานี – ติวเตอร์เผย นักเรียนต้องมาเรียนพิเศษเนื่องจากเกรงว่าจะสอบเข้าศึกษาต่อไม่ได้ และผู้ปกครองอยากมีหน้ามีตาจึงส่งลูกมาเรียนพิเศษ ส่วนนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษาชั้น ม.ปลาย ระบุ ข้อสอบโอเน็ตไม่ตรงกับเนื้อหาที่เรียนในโรงเรียนจึงเกรงจะสอบเข้าไม่ได้   

นายวิเชียร พุ่มจันทร์ (คนขวา) ติวเตอร์ศูนย์ภาษาลีด (Lead) จังหวัดอุบลราชธานี

นายวิเชียร พุ่มจันทร์ ติวเตอร์ศูนย์ภาษาลีด (Lead) จังหวัดอุบลราชธานี ผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษ บอกว่า ปัจจุบันมีนักเรียนมาเรียนพิเศษเพิ่มขึ้น เพราะระบบการศึกษาไทยไม่ตอบสนองความต้องการของนักเรียน อาทิ ครูขาดความตระหนักและไม่เตรียมการสอนให้เหมาะสม ครูส่วนใหญ่จะติวหนังสือแค่ช่วงที่จะมีการสอบวัดผล เช่น การสอบโอเน็ตครูจะติวหนังสือก่อนการสอบประมาณ 1-2 เดือน ด้วยการฝึกให้นักเรียนทำข้อสอบเก่าก่อนเจอข้อสอบจริง ซึ่งยังไม่เพียงพอ ทำให้นักเรียนบางคนต้องไปเรียนพิเศษ เพราะเกรงว่าจะสอบโอเน็ตได้คะแนนน้อย และจะส่งผลต่อการสมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

นายวิเชียรกล่าวอีกว่า การเรียนพิเศษเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง นอกจากระบบการศึกษาแล้ว ยังเกิดจากค่านิยมของนักเรียนและผู้ปกครองที่ถูกปลูกฝังว่าต้องเรียนพิเศษ

“ผู้ปกครองบางคนก็อวดลูกว่าลูกเรียนพิเศษแล้วเก่งขึ้น ทำให้ผู้ปกครองคนอื่นๆ อยากให้ลูกไปเรียนบ้างเพื่อจะไม่น้อยหน้ากัน” นายวิเชียรกล่าว

ติวเตอร์ศูนย์ภาษาลีดผู้นี้กล่าวว่า หลายคนมองว่านักเรียนที่เรียนมากคือคนขยันเรียน เป็นนักเรียนที่ดี เป็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติ ซึ่งเป็นค่านิยมที่ผิด เคยมีนักเรียนคนหนึ่งมาเรียนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษกับตน แต่มาถึงโรงเรียนแล้วกลับไม่เรียนหนังสือ ตนจึงไปสอบถามทำให้ทราบว่า ถูกแม่บังคับให้มาเรียน

นายวิเชียรระบุว่า การเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทยยังคงล้าสมัยอยู่ หากนักเรียนสอบตกติด 0 ติด ร. (รอการพิจารณา) และ มส. (หมดสิทธิสอบ) ครูบางคนในบางโรงเรียนจะให้นักเรียนซื้อสิ่งของไปให้จึงจะผ่านและสามารถออกเกรดให้ ครูบางคนให้นักเรียนจดเนื้อหาที่เรียนมาทั้งหมดส่งให้จึงจะสอบซ่อมผ่าน การทำแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้นักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น เพราะการจดเนื้อหาวิชาสามารถจ้างคนอื่นทำให้ได้และตนก็เคยรับจ้างจดงานให้เพื่อนในสมัยที่เรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย

น.ส.นิชาดา เพ็งดี ติวเตอร์โรงเรียนกวาดวิชา อ.ต๊ะติวเตอร์ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

นางสาวนิชาดา เพ็งดี ติวเตอร์โรงเรียนกวาดวิชา อ.ต๊ะติวเตอร์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี สอนวิชาภาษาอังกฤษ เล่าว่า ระบบการศึกษาไทยสอนให้นักเรียนหวังแค่เกรดและคะแนนสอบ ไม่ได้สอนให้นักเรียนคิดต่อ ปิดกั้นกรอบความคิดของนักเรียน การเห็นต่างคือผิด โดยต้องตอบคำถามตามที่ครูคาดหวัง นักเรียนจึงขาดกระบวนการคิด วิเคราะห์ แยกแยะและไม่ได้นำความรู้ไปใช้ได้จริงในสถานการณ์จริง

นางสาวนิชาดาเล่าอีกว่า ครูที่สอนในโรงเรียนชนบท สอนไม่ตรงกับวิชาเอกที่เรียนมาในมหาวิทยาลัย บางครั้งครูไม่สอนแต่สั่งให้นักเรียนทำงาน สั่งให้จด ครูมีความรู้ไม่เพียงพอเมื่อนักเรียนถามก็ติดค้างคำตอบไว้ สิ่งนี้คือประสบการณ์ตรงที่ตนได้รับจากการเรียนหนังสือในโรงเรียนในชนบท

ติวเตอร์โรงเรียนกวาดวิชา อ.ต๊ะติวเตอร์ผู้นี้ เล่าอีกว่า วิชาที่นักเรียนส่วนใหญ่มาเรียนพิเศษคือ วิชาภาษาอังกฤษกับวิชาคณิตศาสตร์ เนื่องจากเป็นวิชาที่ยาก แต่ก็เป็นวิชาที่จำเป็นและสามารถนำไปต่อยอดในวิชาอื่นได้

“การติวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความรู้ให้นักเรียน บางครั้งเนื้อหาที่ติวใช้เพื่อไปสอบและอาจไม่ได้ใช้จริงในสถานการณ์จริง” นางสาวนิชาดากล่าว

นางสาวนิชาดาบอกว่า ปัจจุบันนี้พ่อแม่ สังคมและโรงเรียนปลูกฝังให้เด็กคำนึงถึงคะแนนสอบ เกรดที่ได้ และการแข่งขัน มากกว่าความรู้ที่แท้จริงและความสุขที่นักเรียนได้รับ อีกทั้งสังคมไทยเป็นสังคมที่พ่อแม่อยากมีหน้ามีตา จึงเกิดการแข่งขันว่า ลูกต้องเก่ง ต้องได้สอบที่ 1 โดยไม่ถามลูกเลยว่ามีความสุขจริงหรือไม่กับสิ่งที่พ่อแม่ยัดเยียดให้ ส่วนโรงเรียนก็อยากให้นักเรียนทำคะแนนโอเน็ตให้ได้สูงๆ โดยไม่พิจารณาว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนมีมาตรฐานขนาดไหน

“การเรียนพิเศษคนที่ได้ประโยชน์โดยตรงอย่างเห็นได้ชัดเลยคือครูที่สอนพิเศษ ส่วนประโยชน์ของผู้เรียนนั้นขึ้นอยู่กับว่าใครจะได้หรือไม่มากน้อยเพียงใด” นางสาวนิชาดากล่าว

น.ส.สุพัตรา สุนันทา สำเร็จการศึกษาชั้นม. 6 โรงเรียนท่าโพธิ์ศรีพิทยา อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

นางสาวสุพัตรา สุนันทา อายุ 19 ปี เพิ่งสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2560 จากโรงเรียนท่าโพธิ์ศรีพิทยา อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โรงเรียนรัฐบาลประจำตำบลที่ไม่ได้เก็บค่าเทอม กล่าวว่า ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และปีที่ 5 ได้ไปเรียนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ วิชาภาษาอังกฤษค่าเล่าเรียนหลักสูตรละ 2,500 บาท เรียนจำนวน 40 ชั่วโมง วิชาคณิตศาสตร์ค่าเล่าเรียนเดือนละ 500 บาท สาเหตุที่ไปเรียนพิเศษเพราะรู้สึกว่าตนเรียนวิชาดังกล่าวไม่เก่ง แต่พอขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ไม่ได้ไปเรียนพิเศษ เพราะคิดว่าจะเรียนรู้ด้วยตนเองและจะเตรียมตัวเข้าสอบมหาวิทยาลัย

นางสาวสุพัตราบอกอีกว่า โรงเรียนก็มีการจัดสอนพิเศษให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 เพื่อติวข้อสอบโอเน็ต (O-NET – Ordinary National Educational Test)

ทั้งนี้ โอเน็ตคือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประเมินตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551

นางสาวสุพัตราบอกอีกว่า หลังเรียนจบม. 6 ตนกังวลว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เพราะเตรียมตัวไม่ดีพอ และการเรียนในชั้นเรียนมีเนื้อหาไม่ครอบคลุมสิ่งที่ออกข้อสอบ ซึ่งจากหลังสอบโอเน็ตก็พบว่า ข้อสอบมีเนื้อหาบางอย่างที่โรงเรียนไม่ได้สอน หรือครูสอนแต่ไม่ครบถ้วน

นางสาวสุพัตรากล่าวอีกว่า การเรียนในห้องเรียนมีความจำเป็นและมีความสำคัญ ถ้านักเรียนเรียนในห้องเรียนเข้าใจและการเรียนในห้องเรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้ในการสอบ นักเรียนก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียนพิเศษเพราะการเรียนพิเศษเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

ดญ.ไอริส สุขอินทร์ นักเรียนชั้นป. 2 โรงเรียนอาเวมารีอา จ.อุบลราชธานี

เด็กหญิงไอริส สุขอินทร์ อายุ 8 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 (เปิดเทอมหน้าขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 3) โรงเรียนอาเวมารีอา จังหวัดอุบลราชธานี เล่าว่า ตนเรียนพิเศษช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนที่โรงเรียนอาเวมารีอา เพื่อเตรียมตัวขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 วิชาที่เรียน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เรียนทั้งหมด 20 วัน ตั้งแต่กลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ค่าเล่าเรียนประมาณ 6-7 พันบาท การเรียนภาคฤดูร้อนเหมือนการเรียนภาคปกติ คือ ทำกิจกรรมหน้าเสาธง เวลา 8.30 น. เรียนหนังสือตั้งแต่เวลา 9.00 – 14.30 น. มีนักเรียนที่เรียนพิเศษทั้งหมด 16 คน

แต่ก็มีความแตกต่างระหว่างการเรียนพิเศษกับการเรียนปกติ เด็กหญิงไอริสบอกว่า การเรียนในห้องเรียนปกติตนจะไม่ค่อยเข้าใจ แต่การเรียนภาคฤดูร้อนจะเข้าใจและสนุกกับการเรียนมากกว่า

นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 คนนี้ กล่าวว่า ตอนแรกไม่คิดจะเรียนภาคฤดูร้อนแต่แม่อยากให้เรียน ตนจึงไปสอบถามรายละเอียดกับครูประจำชั้น ครูบอกว่านักเรียนคนไหนสนใจเรียนพิเศษสามารถสมัครเรียนกับครูที่เปิดสอนพิเศษได้เลย โดยมีเพื่อนนักเรียนห้องเดียวกันมาเรียนพิเศษ 3 คน

จิรสุดา สายโสม เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560

 

 

 

image_pdfimage_print