โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

ประเด็นการกระจายอำนาจถูกจุดขึ้นมาอีกครั้งระหว่างการลงพื้นที่หาเสียงในภาคอีสานของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจะเรียกว่าการหาเสียงก็พูดได้ไม่เต็มปาก เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 3/2558 ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง

แต่ถ้ามองในทางปฏิบัติ ทั้งตัวแทนพรรคการเมืองและหัวหน้า คสช. ล้วนกำลังหาเสียงกันทั้งสิ้น เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 25561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดโอกาสให้ สมาชิกวง BNK 48 ซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่เข้าพบ หลังให้นักแสดงและทีมงานละครบุพเพสันนิวาสเข้าพบเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งสองกรณีมองได้ว่า เป็นหาเสียงล่วงหน้า

สัญญาณการหาเสียงของพล.อ.ประยุทธ์ แม้จะถูกครหาว่าเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ แต่ก็ถือเป็นสัญญาณบวกว่า น่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ตามที่หัวหน้า คสช. ระบุไว้ แม้จะไว้ใจอะไรไม่ได้ก็ตาม เพราะพล.อ.ประยุทธ์ประกาศเลื่อนเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2561 ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์เดอะอีสานเรคคอร์ดว่า รัฐราชการไทยใหญ่เกินไป ทำให้เกิดปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงานและความไม่โปร่งใส ประเทศไทยจะเดินหน้าลำบากถ้าไม่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นบริหารจัดการตนเอง โดยลดอำนาจของส่วนกลางลงและเพิ่มอำนาจให้แก่ท้องถิ่น พรรคอนาคตใหม่ของเราสนับสนุนแนวทางกระจายอำนาจให้กับชุมชน ให้กับท้องถิ่น โดยจังหวัดที่ตนคิดว่าพร้อมจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากมีการกระจายอำนาจคือ การตัดใจเรื่องต่างๆ ขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่โดยไม่ต้องให้ส่วนกลางเป็นผู้ตัดสินใจแทน การตัดสินใจจึงน่าจะตรงเป้ามากกว่าการให้ส่วนกลางกำหนดเป้าหมายการตัดสินใจให้คนทุกพื้นที่

จริงอยู่แม้รูปแบบการปกครองในปัจจุบันจะมีทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น แต่ส่วนท้องถิ่นยังต้องอยู่ภายใต้อำนาจของส่วนภูมิภาค หรือ กระทรวงมหาดไทย ทำให้ส่วนท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระในการทำงาน

การที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของข้าราชการส่วนภูมิภาค จึงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศ

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีหัวใจสำคัญคือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้น ในเมื่อผู้บริหาร อปท. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผู้บริหาร อปท. ควรจะมีอำนาจในการบริหารงานสูงสุด ไม่ใช่ให้นายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นข้าราชการประจำมีอำนาจเหนือกว่าดังเช่นเป็นอยู่จนเกิดความเคยชิน

ก่อนที่จะมีปฏิรูปสยาม (ชื่อเดิมของประเทศไทย) อำนาจในการปกครองล้วนแต่อยู่ที่ท้องถิ่นต่างๆ แต่หลังจากปี 2535 ส่วนกลางรวบอำนาจท้องถิ่นมาไว้ที่ส่วนกลาง แล้วส่งคนของส่วนกลางไปปกครองท้องถิ่น ซึ่งคือการรวมศูนย์อำนาจการปกครอง

นายธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ระบุว่า “การรวมศูนย์อำนาจของส่วนกลางช่วงนี้ได้ริดลอนอำนาจของท้องถิ่นลงที่ละขั้นๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป จนในที่สุดอำนาจทั้งหมดก็ตกอยู่กับส่วนกลาง ส่งผลให้อำนาจท้องถิ่นอ่อนแอลงอย่างมาก”

จึงเห็นได้ว่าแต่เดิมอำนาจอยู่ที่ท้องถิ่น แต่ถูกส่วนกลางแย่งชิงมา ทำให้ความเจริญทุกอย่างกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ฉะนั้นจึงถึงเวลาหรือยังที่จะกระจายอำนาจกลับคือไปยังต่างจังหวัด หรือพูดอีกอย่างคือ การคืนอำนาจให้ท้องถิ่น

นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ เสนอให้เรียกคืนอำนาจให้ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง โดยเหลืออำนาจให้ราชการส่วนกลาง คือ การทหาร การต่างประเทศ ระบบเงินตรา และการศาล

ส่วนวิธีการคืนอำนาจให้แก่ท้องถิ่นคือ การยกเลิกส่วนภูมิภาคแล้วให้มีผู้บริหารส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยอาจจะแบ่งการบริหารเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง และระดับเทศบาลมีนายกเทศมนตรีมาจากการเลือกตั้ง

แต่เท่านั้นยังไม่พอ ส่วนกลางต้องโอนย้ายหน่วยงานสาขาของส่วนกลางที่ประจำอยู่ ณ จังหวัด ให้แก่ส่วนท้องถิ่นด้วย อาทิ สถานีตำรวจ โรงเรียน โรงพยาบาล แขวงการทาง เกษตร ฯลฯ พร้อมกับการโอนการจัดการทรัพยากรและงบประมาณให้ด้วย

เมื่อโอนทรัพยากรให้ส่วนท้องถิ่นดูแล กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำของส่วนกลางในภาคอีสาน เช่น การไล่รื้อประชาชนออกจากผืนป่า เช่น เหตุการณ์ที่ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ หรือ การสำรวจแร่โปแตช ที่อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ก็ควรจะบรรเทาเบาบางหรือหมดไป เนื่องจากอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพยากร ป่าไม่ และที่ดิน จะกลับมาอยู่ที่ส่วนท้องถิ่น

หลังคืนอำนาจให้ส่วนท้องถิ่น ก็จะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (จากการเลือกตั้ง) และนายกเทศมนตรีมีอำนาจในการบริหารงานครบวงจร สามารถกำหนดโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาจังหวัดได้ เช่นเดียวกับรัฐบาลกลางที่มีนโยบายในการพัฒนาประเทศ

โดยแต่ละจังหวัดและเทศบาลน่าจะมีแผนการพัฒนาของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการ ความถนัด และทรัพยากร ของแต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่นก็จะมีการแข่งขันด้านการพัฒนาเพื่อดึงดูดนักลงทุน เมื่อการพัฒนาส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโต คนต่างจังหวัดที่ไปกระจุกตัวที่กรุงเทพฯ จะได้กลับบ้านเกิดเพื่อมาทำงานที่เหมาะสมกับรายได้ และคนต่างจังหวัดในปัจจุบันจะได้ไม่ต้องขวนขวายไปแสวงหาความเจริญ ที่กรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ต่างๆ อีกต่อไป

จึงเท่ากับว่า การกระจายอำนาจ หรือ ถ้าจะพูดให้ตรงจุดคืน การคืนอำนาจ คือความหวังของคนในท้องถิ่น รวมถึงคนในภาคอีสาน

แต่การคืนอำนาจจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อมีการเลือกตั้ง และรัฐบาลใหม่ต้องไม่มีนายกรัฐมนตรีหน้าเดิม ที่ไม่มีแนวคิดในการกระจายอำนาจให้แก่ผู้ใดเลย เพราะแม้แต่การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจาก คสช. ก็ยังถือเป็นความผิด ล่าสุด คือ การควบคุมนักกิจกรรมที่จะไปร่วมงานสงกรานต์ที่บ้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อทวงถามกรณีนาฬิกาหรู โดยมิชอบ

 

image_pdfimage_print