โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

ขอนแก่น – ผู้ก่อตั้งพรรคกลางเผยต้องการมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างเหลืองกับแดงที่ทำให้ผู้คนเอนเอียง ระบุเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยทางตรง ใช้เทคโนโลยีทำให้ประชาชนออกเสียงเรื่องต่างๆ ได้โดยตรง และ ส.ส.ต้องฟังประชาชนก่อนโหวต

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2561 ที่จังหวัดขอนแก่น นายชุมพล ครุฑแก้ว ผู้ก่อตั้งพรรคกลาง และอดีตนักวิจัยและผู้บริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พูดคุยกับเดอะอีสานเรคคอร์ดถึงแนวคิดของพรรคกลางและแนวคิดต่อภาคอีสาน

นายชุมพล ครุฑแก้ว ผู้ก่อตั้งพรรคกลาง เสนอแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสองขั้วคือเหลืองกับแดง 

แนวคิดและอุดมการณ์ วัตถุประสงค์ในการตั้งพรรคคืออะไร

พรรคกลางมาจากภาษาอังกฤษว่า moderate (moderate – ปานกลาง) มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยก้าวข้ามความขัดแย้ง ทั้งนี้ ความขัดแย้งในสังคมไทยมีมายาวนาน ถ้ามุ่งเอาชนะกัน ฝ่ายที่แพ้ก็อยากชนะ ก็จะเกิดความขัดแย้งไม่จบสิ้น ส่วนวิธีก้าวความข้ามความขัดแย้งคือการทำการพัฒนาให้ดี เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอด

พรรคต้องการสร้างเวทีกลางเพื่อให้ทุกคนมาทำงาน และพรรคอยากเป็นต้นแบบกลางในเรื่องตัวบุคคล การทำงาน และพรรคการเมือง

พรรคกลางคือการเป็นกลางระหว่างอุดมการณ์แบบก้าวหน้ากับอุดมการณ์อำนาจนิยมใช่หรือไม่

“เราไม่ได้เป็นกลางระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ กลางคือไม่เอนเอียง เราจะรักษาสมดุลของการพัฒนา”

ไม่ควรเอาประเด็นความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจมาขัดขวางการพัฒนาประเทศ เพราะจะไม่จบสิ้น แต่ควรเคารพความคิดเห็นของแต่ละคน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

จงอธิบายถึงแนวคิดทางการเมืองในประเด็นเหล่านี้

-นายกรัฐมนตรีคนนอก

“เราไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่ดูแล้วไม่เป็นประชาธิปไตย” พรรคกลางเน้นแนวทางประชาธิปไตยด้านการปกครอง ต้องการให้ประชาธิปไตยเข้าใกล้ประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น

-ส.ว.มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มบุคคลในอาชีพต่างๆ

ตนยึดหลักการประชาธิปไตย ส.ว.อาจจะมีได้แต่ต้องมาจากการเลือกตั้งและมีวุฒิภาวะมากกว่า ส.ส.

-การเกณฑ์ทหาร

ไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหาร แต่คงต้องพิจารณาถึงความจำเป็นของการมีทหารก่อน ถ้าไม่มีทหารคงเป็นได้ไหม เพราะคงต้องคำนึงถึงเรื่อง การป้องกันประเทศ ต้องหาจุดสมดุล

การเกณฑ์ยังต้องมีอยู่ เพียงแต่ปรับระบบการเกณฑ์ทหารให้มีอิสระมากขึ้น อาทิ ประชาชนต้องสามารถแสดงความคิดเห็นต่อจำนวนกำลังพล และระยะเวลาในการฝึกทหารเพื่อให้มีความยืดหยุ่น   

-การชุมนุมของประชาชน

การชุมนุมคือการแสดงออกของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน แต่การออกมาชุมนุมต้องมีขอบเขตว่า ต้องไม่ไปล้ำขอบเขตของบุคคลอื่น

ประชาธิปไตยที่พรรคอยากให้เป็นคือ ทุกคนควรมีสิทธิมีเสียงและรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน แต่เนื่องจากประเทศไทยมีประชากรหลายสิบล้านคน หากให้ทุกคนออกมาใช้สิทธิพร้อมกันจะเกิดความวุ่นวาย แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีซึ่งสามารถทำให้ประชาชนออกเสียงทางตรงได้ผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อยืนยันตัวตน โดยไม่ต้องให้ ส.ส.มาทำหน้าที่แทนประชาชน พรรคจึงต้องการให้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้

ก่อนที่ ส.ส.จะตัดสินใจลงคะแนนในสภา อยากให้ ส.ส.ถามประชาชนก่อนว่าต้องการให้ ส.ส.ตัดสินใจอย่างไร ด้วยการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ โดยพรรคจะปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง     

-การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

สิ่งที่ตนเน้นคือ ระบอบประชาธิปไตย เน้นการกระจายอำนาจ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ถ้ามีความเหมาะสมก็สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งจากท้องถิ่น แต่ต้องคำนึงถึงการตรวจสอบ

การให้อิสระท้องถิ่นทำงานเป็นเรื่องที่ดี แต่การทำงานของแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีความซ้ำซ้อนกัน ฉะนั้นจึงต้องมีกลไกในการประสานและถ่ายทอดนโยบายลงไปข้างล่าง ซึ่งอาจจะเป็นผู้ว่าฯ หรือ บุคคลอื่น จึงต้องมีการสร้างกลไกด้วย ซึ่งสามารถเลือกผู้ว่าฯ ได้ทันที

จงอธิบายถึงแนวคิดทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ 

-แนวทางแบบเสรีนิยม หรือ สังคมนิยม หรือ กลางๆ กึ่งๆ

โลกของเศรษฐกิจและการบริหารไม่ได้แบ่งซ้ายขวาชัดเจน นโยบายเศรษฐกิจสามารถเปลี่ยนแปลงและเอนเอียงได้ตามสภาวะของสังคมในเวลานั้น อาจจะเป็นแบบรัฐสวัสดิการหรือทุนนิยมก็ได้

“ผมไม่สนับสนุนแนวนโยบายที่บอกว่า คุณต้องเป็นสังคมนิยม เป็นเสรีนิยมจ๋าเลย ไม่ใช่ อันนั้นคือความหมายของคำว่า moderate ด้วย”

ถ้าถึงเวลา (สามารถประชุมพรรคได้) พรรคจะแสดงให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาของพรรค

-การพัฒนามีหลายอย่างจากบนลงล่าง หรือจากล่างขึ้นบน หรือแบบพอเพียง หรือการพัฒนาแบบอื่นๆ

จากที่ได้ศึกษาในภาคอีสาน พบชุมชนเข้มแข็งมากมาย โดยพบตัวอย่างของชุมชนที่ไม่ได้พึ่งการพัฒนาจากบนลงล่างจากภาครัฐ ถ้ามีชุมชนที่เข้มแข็งซึ่งมีภูมิปัญญาและมีผู้นำก็จะสามารถพัฒนาได้ แต่ยังต้องใช้รูปแบบบนลงล่างอยู่เพราะต้องมีตัวกลาง ซึ่งอาจจะเป็นภาครัฐในการถ่ายทอดตัวอย่างของชุมชนที่เข้มแข็งไปสู่ชุมชนอื่นๆ

-เรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี

“รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องที่ดี ทุกคนแฮปปี้อยู่แล้ว แต่ต้องโชว์ให้เห็นว่าเราต้องทำอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาปากท้องได้”

ถ้าพรรคสามารถให้สวัสดิการแก่ประชาชนได้ พรรคจะให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่พรรคจะยังไม่ประกาศว่าจะให้ระดับนี้ ทั้งที่ไม่ทราบถึงวิธีการว่าจะทำอย่างไร

ให้การศึกษาและรักษาพยาบาลฟรีอย่างแน่นอน แต่จะทำอย่างยั่งยืน เรื่องการรักษาพยาบาลไม่ใช่ให้แล้วประชาชนไม่รักษาสุขภาพ แต่ต้องทำให้ประชาชนรักษาสุขภาพ เพื่อให้เกิดสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

ในอดีตภาคอีสานไม่มีงานให้คนอีสานทั่วไปทำ ทำให้คนอีสานต้องไปทำงานที่อื่น ในปัจจุบันภาคอีสานมีสถาบันอุดมศึกษาเกิดขึ้น แต่คนที่เรียนจบไม่ได้งานตามวุฒิหรือไม่มีงานทำเช่นกัน มองปัญหานี้อย่างไร

การที่คนอีสานไม่มีงานทำเพราะไม่มีโอกาสเท่ากับคนในเมืองหลวง จึงต้องสร้างโอกาสให้เกิดขึ้น โดยให้ทุกคนสร้างโอกาสให้ตัวเอง การโอกาสให้ตัวเองเกิดจากชุมนชนหรือท้องถิ่นสร้างโอกาสให้ เช่น ชุมชนที่เข้มแข็งสามารถใช้ทุนจากภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาสร้างโครงการและสร้างโอกาส ระดับเมืองมีตัวอย่างจากจังหวัดขอนแก่นที่นักธุรกิจซึ่งประสบความสำเร็จมาหารือกันเพื่อสร้างโอกาสให้เมืองขอนแก่น เช่น ขอนแก่นโมเดล ที่ไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ ต้องให้ประชาชนต่อสู้เพื่อสร้างโอกาสเพื่อให้มีงานทำ

การจัดการปัญหาทรัพยากร ป่าไม้ และที่ดิน ประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพยากร แต่เจ้าของคือส่วนกลาง ส่งผลให้ประชาชนถูกขับไล่จากที่ดินของตัวเอง คิดว่าเรื่องนี้คือปัญหาหรือไม่

เรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องมีการเรียงลำดับความสำคัญ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประเทศชาติสำคัญกว่าพรรคการเมือง แต่ชาติจะอยู่ได้ต้องอยู่ในโลก ซึ่งโลกก็มีเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เรื่องปากท้องก็สำคัญ ซึ่งต้องหาจุดสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมกับปากท้อง เรื่องป่าไม้ การใช้ประโยชน์จากป่าที่ไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ เช่น เก็บของป่า ต้องสามารถทำได้ ซึ่งจะทำให้คนรักป่าเพราะป่าทำให้คนดำรงชีวิตอยู่ได้

แต่ในหลายพื้นที่มีคนอาศัยมาก่อนรัฐบาลประกาศเขตป่า และนายทุนสามารถสร้างรีสอร์ทในป่าได้

ถ้าทุกคนเห็นว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าชาวบ้านยอมเสียสละเพราะรู้ว่าการอาศัยอยู่เป็นการทำลายธรรมขาติ รัฐบาลก็ต้องหาที่อยู่และที่ทำกินที่อื่นให้ชาวบ้าน โดยไม่ใช่การยึดแต่หลักกฎหมาย

ที่สำคัญที่สุดคือจิตสำนึกของทุกคน เอกชนที่สร้างรีสอร์ทถ้ารู้ว่าทำผิด ก็ต้องไม่ทำ รัฐบาลก็ต้องเอาผิดกับเอกชนได้

แนวทางแก้ไขการคอร์รัปชั่นคืออะไร

ข้อแรกคือแก้ที่ตรงประเด็น ผู้ที่จะคอร์รัปชั่นจะคำนึงถึงความเสี่ยง ได้แก่ ความเสี่ยงที่จะถูกจับได้ กับความเสี่ยงของการถูกลงโทษสถานหนัก ซึ่งต้องทำให้ทุกคนตระหนักว่าคอร์รัปชั่นมีความเสี่ยงมาก

ความเสี่ยงที่จะถูกจับได้ พรรคมีแนวทางคือการทำระบบให้โปร่งใสเพื่อทำให้ประชาชนทราบถึงทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงิน ความเสี่ยงของการลงโทษสถานหนัก ต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษ ดังนั้น ถ้าผู้คนรับรู้ว่าการทุจริตมีความเสี่ยงก็จะไม่เกิดการทุจริต

อีกข้อคือแก้อย่างยั่งยืน ต้องแก้ที่การปลูกจิตสำนึก ที่ผ่านมามักจะมีการโทษคนอื่นว่าเป็นคนทำทุจริต แต่ต้องปรับที่ตัวเองก่อน ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขการทุจริต ไม่ใช่รอให้ภาครัฐหรือพรรคการเมืองเป็นคนแก้ไข

เลือกพรรคกลางแล้วจะได้อะไร แตกต่างจากพรรคการเมืองเดิมเจ้าของพื้นที่อีสานตรงไหน

“คนที่ให้อะไรกับเรา เขาอาจจะหวังอะไรบางอย่าง พอได้คะแนนเสียงจากเรา เขาก็ไปถอนอะไรคืน” ฉะนั้นการแจกเงินทำให้ประชาชนไม่ได้รับนโยบายที่ต้องการ เช่น การกระจายอำนาจ การว่างงาน และสวัสดิการ แต่พรรคกลางไม่แจกเงินแน่นอน

สิ่งที่พรรคกลางต้องการทำคือ การกระจายอำนาจ การลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการมีส่วนร่วม พรรคจะทำให้ประชาชนทุกคนเป็นนักการเมือง ด้วยการสร้างเครื่องมือให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของประเทศได้ (ใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์เพื่อให้ประชาชนลงคะแนน) และประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อนำมาสู่การถกเถียงกันที่ส่วนกลางได้

เท่าที่ได้รับฟังมา คำว่าพรรคกลางเหมือนกับว่าจะไปทางไหนได้ และดูเหมือนยังไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนใช่หรือไม่

“เราจะตั้งมาเพื่อให้คนคิดในแง่ลบแบบนั้นเพื่ออะไร” ปัญหาของการเมืองไทยคือมีคนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งจนไม่ฟังเสียงอีกข้างหนึ่ง พรรคจะไม่ประกาศว่าเอียงมาข้างนี้และจะไปต่อต้านด้านนี้ พรรคกลางไม่เหลืองและไม่แดง ไม่ส้ม แต่จะไม่บอกว่าอยู่ตรงไหน (เหลือง/แดง คือ สัญลักษณ์ทางการเมืองของกลุ่มการเมือง เหลืองคือฝ่ายที่ต่อต้านการเลือกตั้ง แดงคือฝ่ายที่สนับสนุนการเลือกตั้ง) การเมืองไม่จำเป็นต้องมีแค่เหลืองแค่แดง แต่อาจจะมีความคิดเห็นมากมายหลากหลายก็ได้

“ตรงนั้นคือสิ่งที่เราอยากแก้ ทำยังไงถึงจะแก้ความคิดได้ว่าคนต้องเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่ครับ”

image_pdfimage_print