โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

ปัญหาส่วนหนึ่งของการปกครองประเทศคือส่วนกลางมีอำนาจมากเกินไป ทำให้การตัดสินใจต่างๆ ขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ส่งผลให้คนในพื้นที่ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ แม้จะมีผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด แต่ผู้ว่าฯ ก็มีอำนาจจำกัด ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ หรือแก้ไขไม่ได้

มีข่าว 2 ชิ้นในภาคอีสานในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ยืนยันให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ซึ่งเกิดจากจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

ข่าวแรกคือ ข่าวต่อเนื่องจากกรณี น.ส.มณีเนตร เจริญเหง่า อายุ 40 ปี เสียชีวิตจากการถูกสายอินเตอร์เน็ตของบริษัท 3BB ที่หลุดจากเสาไฟฟ้าเกี่ยวคอ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2561 ที่ถนนเหล่านาดี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2561 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ตัวแทนขอบริษัท 3BB ได้เข้าเจรจากับญาติผู้เสียชีวิต พร้อมรับปากจะให้ความช่วยเหลือเต็มที่ซึ่งทำให้ญาติพอใจ

รถจักรยานยนต์ของน.ส.มณีเนตร เจริญเหง่า ซึ่งมณีเนตรถูกสายเคเบิล 3BB เกี่ยวคอจนเสียชีวิต ที่ถนนเหล่านาดี จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2561 ภาพจาก Workpoint News

ส่วนความคืบหน้าทางคดีตำรวจยังไม่ทราบว่าสาเหตุของการเสียชีิวิตอย่างแน่ชัดว่า เกิดจากอุบัติเหตุ หรือ เกิดจากความผิดพลาดของบริษัทเจ้าของสายเคเบิล

กรณีที่เกิดขึ้นได้มีการเปิดภาพจากกล้องวงจรปิดทำให้พบว่า รถจักรยานยนต์ของผู้ตายแล่นอยู่ที่ถนนฝั่งหนึ่ง ขณะที่ถนนอีกฝั่งมีรถบรรทุกแล่นสวนทางมาแล้วเกี่ยวเข้ากับสายเคเบิลจนสายลงมา ทำให้ผู้ตายถูกสายอินเตอร์เน็ตเกี่ยวที่คอ

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น สั่งการให้สำนักงานจังหวัดเป็นเจ้าภาพประสานทุกหน่วยงานจัดระเบียบสายทุกประเภทให้เรียบร้อย และมีหนังสือไปยังกรมทางหลวงชนบทว่า หากมีการสร้างถนนใหม่ให้นำ สายไฟฟ้า สายเคเบิล และสายต่างๆ ลงใต้ดิน

ข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อพิจารณาถึงการแก้ไขปัญหาของผู้ว่าฯ ที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการส่วนภูมิภาคแล้ว จะพบว่า การแก้ไขปัญหาทำได้แค่การประสานงานเท่านั้น ทั้งเรื่องการจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายอื่นๆ ที่ต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในฐานะเจ้าของเสาไฟฟ้า และเจ้าของสายสื่อสารอื่นๆ อีกทั้งเนื่องจากตามโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ผู้ว่าฯ ไม่ได้เป็นหัวหน้าของส่วนราชการอื่นๆ ซึ่งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น

ส่วนการขอให้นำสายไฟฟ้าและสายอื่นๆ ลงใต้ดิน จังหวัดคงทำได้เพียงการบอกกล่าวเนื่องจากจังหวัดไม่มีอำนาจในการสั่งการกรมทางหลวงชนบทเจ้าของถนน

ขณะที่เรื่องทางคดีเท่าที่ดูจากภาพในกล้องวงจรปิดพบว่า มีรถบรรทุกเกี่ยวสายเคเบิล ซึ่งตำรวจก็ควรจะไปตามตัวผู้ขับรถบรรทุกมาสอบสวน ในเรื่องนี้ผู้ว่าฯ ก็ควรจะมีบทบาทในการเร่งรัดคดี แต่เมื่อพิจารณาอำนาจตามกฎหมายปรากฎว่า ผู้ว่าฯ ไม่สามารถสั่งการผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นได้

ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ผู้ว่าฯ ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายเช่นนี้ได้อีกเนื่องจากผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจ และผู้ว่าฯ เป็นหัวหน้าส่วนราชการส่วนภูมิภาค สังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่ไม่ได้เป็นหัวหน้าส่วนราชการอื่นๆ ทั้งนี้ ส่วนราชการอื่นๆ ในจังหวัดสังกัดส่วนกลางหรือกรม

ข่าวที่สอง เกิดขึ้นที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2561 ตัวแทนสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล นำโดยนางสมปอง เวียงจันทร์ มายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและถึงผู้ว่าฯ อุบลราชธานี เรียกร้องให้ประชุมคณะกรรมการเยียวยาแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลในระดับจังหวัด แล้วให้ส่งรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดไปให้คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลชุดใหญ่ ที่มีรมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน ทั้งนี้ หากข้อเรียกร้องไม่ได้รับการพิจารณาใน 15 วัน สมัชชาคนจนจะรวมตัวเดินทางไปร้องต่อรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล

กรณีที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ปัญหาของสมัชชาคนจนไม่สามารถแก้ไขได้ในในจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นส่วนภูมิภาค ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องให้ส่วนกลางตัดสินใจ ซึ่งตรงกันข้ามกับการเข้ามาสร้างเขื่อนปากมูลที่ส่วนกลางโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สามารถลงมือสร้างเขื่อนได้เลย จึงเท่ากับว่า แม่น่้ำของจังหวัดอุบลฯ เป็นของส่วนกลาง ประชาชนและชุมชนไม่มีสิทธิร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร แต่ต้องรับผลกระทบจากการกระทำที่เกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ ทำให้เสียงของประชาชนไม่มีความหมาย ในทางตรงกันข้าม หากมีการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ด้วยการกระจายอำนาจ ยุบส่วนภูมิภาค และแบ่งอำนาจจากส่วนกลางมาให้ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง การบริหารงานในพื้นที่จะมีความคล่องตัวมากขึ้น

สมมติว่าขณะสำรวจความเป็นไปได้ของการก่อสร้างเขื่อนปากมูล เมื่อปี 2532 มีรูปแบบการปกครองโดยมีผู้ว่าฯ อุบลฯ มาจากการเลือกตั้ง โดยผู้ว่าฯ มีอำนาจในการตัดสินใจ และจังหวัดอุบลฯ มีอำนาจจัดการทรัพยากร ก็เป็นไปได้ว่าเขื่อนปากมูลจะไม่เกิดขึ้น เพราะมีผลได้ไม่คุ้มเสีย

การมีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งยังทำให้การบริหารราชการในจังหวัดสะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่ เพราะก่อนที่จะเป็นผู้ว่าฯ ต้องมีการนำเสนอนโยบายต่อประชาชนก่อน โดยหลังจากรับตำแหน่งแล้วผู้ว่าฯ ก็ต้องทำงานตอบสนองต่อประชนชน หากใช่ทำงานตอบสนองกระทรวงมหาดไทย

เมื่อย้อนกับไปถึงข่าวแรก ข่าวอุบัติเหตุจากสายเคเบิล ในกรณีนี้ถ้าผู้ว่าฯ ขอนแก่นมาจากการเลือกตั้ง แล้วมีการโอนส่วนราชการประจำจังหวัดอื่นไปสังกัดจังหวัดขอนแก่น การบริหารงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นอีกคงมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะผู้ว่าฯ จะสามารถตัดสินใจและสั่งการหน่วยงานต่างๆ ได้โดยตรงในฐานะผู้บังคับบัญชา นอกจากนี้ก็อาจจะมีการสำรวจระบบสาธารณูปโภคเพื่อสร้างความปลอดภัย

จึงเห็นได้ว่าถ้ามีการกระจายอำนาจ หรือ คืนอำนาจ (กรณีที่ยึดถือว่าอำนาจแต่เดิมเป็นของท้องถิ่นแต่ถูกส่วนกลางแย่งชิงไป) ก็จะมีการกระจายการตัดสินใจ ดังนั้น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ จึงควรมีขึ้นให้เร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ว่าฯ เลือกตั้ง ทั้ง 76 คน สามารถตัดสินใจ บริหารงาน พัฒนา และแก้ปัญหา ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด ภายใต้การรับมอบอำนาจไปจากประชาชนทุก 4 ปี

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ถ้ารัฐบาลเผด็จการทหารไม่เลื่อนอีก ประชาชนก็ควรสนับสนุนพรรคที่มีแนวทางกระจายอำนาจและเลือกตั้งผู้ว่าฯ

 

image_pdfimage_print