โดยพีระ ส่องคืนอธรรม

ความเห็นยอดนิยมคัดสรร:
“เสื้อน้ำเงินเป็นตัวอย่างที่ดี แดนซ์เซอร์ชายทั้งหลายควรดูไว้ ไม่ใช่เต้นออกสาว”
“เสื้อเหลืองเต้นเยอะเกินไป ดูล้นเกิน ภาษาอีสานใช้คำว่า ‘สะดีดสะดิ้ง’ เสื้อน้ำเงินดูกำลังดี”
“เสื้อน้ำเงินชอบสุด เต้นเด่นชัด กำลังดีในส่วนของไลน์เต้น เสื้อเหลือง แนะนำไว้ผมยาวคะ คุณจะพบแสงสว่างปลายอุโมงค์”
ฉันหลงใหลเพลงยอดฮิตข้ามปี “เต่างอย” ของจินตหรา พูนลาภ มาตั้งแต่ได้ฟังครั้งแรก ผ่านไปพักหนึ่งไปเจอวิดีโอฝึกเต้นเข้า ก็หัดเต้นอยู่นานจนเป็น ระหว่างที่ฝึกเต้นฉันดูลายเต้น “เสื้อเหลือง” หรือครูนนท์เป็นหลัก
มติค่อนข้างเป็นเอกฉันท์ในหมู่ความคิดเห็นจำนวนพันเศษๆ ใต้วิดีโอว่า “เสื้อน้ำเงิน” หรือคุณต่อ เป็นตัวอย่างของการเต้นแบบแมนๆ ซึ่งเป็นสิ่งดี ส่วน “เสื้อเหลือง” เป็นตัวอย่างของการเต้นออกสาว ซึ่งเป็นสิ่งไม่ดี
ตุ๊ดอย่างฉันสงสัยว่า ทำไมขนบการแบ่งเพศเป็นหญิงกับชาย ถึงยังสืบสานกันมาอย่างแข็งขันในการเต้นร่วมสมัย ที่ท่าเต้นมักไม่ได้ถูกออกแบบมาเป็นคู่ล้อกันไประหว่างชายและหญิง แต่ผู้ชมจำนวนมากกลับยังคาดหวังให้มีเส้นแบ่ง
ทั้งที่ “หน้าฮ้านหมอลำ” เป็นฉากสำคัญของเสรีภาพของเกย์ กะเทย และคนมักม่วนทุกเพศทุกวัย ใครจะเด้งหกชั้นเก้าชั้น เด้าลมในแอ่งโคลน หรือห้อยตัวจากง่าไม้เขย่าๆ ตามจังหวะเพลง มันก็เป็น “เสรีภาพ” ของเขาในร่างกายและจิตใจของเขา จะเคลื่อนไหวยังไงก็ได้
แม้แต่เต้นแอโรบิก หรือว่ารำไท้เก๊ก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายตามท่าทางที่คนอื่นกำหนดให้ ในชั่วขณะของการเคลื่อนไหวเราก็ยังรู้สึกได้ถึงเสรีภาพพร้อมๆ กับที่เราเต้นตามขนบ
แต่ปรากฏว่า ไม่ใช่ว่าใครจะเต้นยังไงก็ได้กับท่าเต้น “เต่างอย” ฉบับทางการ ขนาดครูนนท์ผู้ออกแบบยังถูกมองว่าไม่เหมาะสม — มันยังไงกันวะ?
ถึงแม้สังคมเราจะยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ว่ามันไม่ได้มีแค่สองเพศ และคนเราควรจะมีเสรีภาพที่จะแสดงออกและได้รับการยอมรับในเพศสภาพ เพศวิถีที่เราเป็น แต่แนวคิดหลายๆ อย่างก็ยังทนทายาด ฉันเลยไปสืบดูของเก่าเพื่อทำความเข้าใจความคิดเรื่อง “ชาย” “หญิง” ให้กระจ่างมากขึ้น
ไปเจอผญาสองบทซึ่งเล่นคำพ้องเสียงระหว่าง “ชาย” กับ ”ทราย” และ “หญิง” กับ “ยิง”
ซายขอให้เป็นซายแท้ อย่าแกมแกหินแห่
ซายก็ซายแท้ๆ ตมนั้นอย่าปน
ญิงขอให้เป็นญิงแท้ อย่าเป็นญิงดายเปล่า
ญิงก็ญิงแท้ๆ แนแล้วจั่งค่อยญิง
อย่าได้ญิงเสียถิ้ม ญิงเสียดายเปล่า
ให้เอาหน่องแต้มสา แล้วจึงค่อยญิง
(ไขคำลาว จาก สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ของปรีชา พิณทอง:
หินแฮ่ หมายความว่า “หินกรวด หินที่เป็นก้อนเล็กๆ”
แน หมายความว่า “ตรึกตรอง คาดคะเน เรียกแน เล็งปืน เรียกแนปืน”
หน้อง หมายความว่า “ชื่อไม้เถาชนิดหนึ่ง ยางเป็นพิษร้ายแรงมาก เรียก เครือหน้อง ใช้ยางหน้องผสมกับอย่างอื่นทำเป็นยาพิษ เอาลูกศรหรือลูกธนูจุ่มยาพิษนี้ ใช้ยิงสัตว์ป่ามีกวางเป็นต้น”)
ถ้าพยายามตีความคำพังเพยนี้ให้ลึกลงไปกว่า “ก็มันบังเอิญพ้องเสียงไง” ก็น่ามาพิจารณาดูว่าความบังเอิญนี้ถูกขยายความอย่างไร แล้วมันไปเชื่อมโยงกับแนวคิดพื้นฐานบางอย่างของเพศหญิงและเพศชายบ้างหรือเปล่า
สังเกตได้ว่า การขยายความคำพ้องเสียง “ชายแท้”/”ทรายแท้” เน้นความบริสุทธิ์ของเนื้อตัวชาย ไม่ปนเปื้อนหิน ไม่ปนเปื้อนขี้ตม ไม่ปนเปื้อนหินกรวด ซึ่งก็ชวนให้นึกถึงพวก “ชายแท้” ที่ชอบล้อหรือโยนขี้ใส่กันเองว่า “ไอ้นี่สายเหลือง” ซึ่งสื่อความหมายว่าการเอากันข้างหลังเป็นขี้ตมปนทรายบริสุทธิ์ของบุรุษเพศ
ส่วนการขยายความคำพ้องเสียง “หญิงแท้/ยิงแท้” เน้นนัยยะของการ “เสียของ” ทำนอง “หญิงข้าวสาร (แต่ชายข้าวเปลือก)” ไม่ได้เน้นว่าเป็นผู้หญิงจะต้องยิงให้ตรงเป้า แต่กลับเน้นว่าเป็นผู้หญิงจะต้องไม่ยิงทิ้งจนเสียของ — น่าถามย้อนกลับไปยังบท “ชายแท้” ว่า ทำไมไม่มีวรรคที่เขียนทำนองว่า “อย่าได้ทรายปนเปื้อน ปลูกเฮือนแล้วล่ม” บ้าง?
สรุปแบบจับแพะชนแกะได้ว่า แนวคิดเรื่องความเป็นหญิงแท้หมกมุ่นกับการ “เปล่าประโยชน์” “หมดคุณค่า” ในขณะที่แนวคิดเรื่องความเป็นชายแท้หมกมุ่นกับการยืนยันว่าเป็น “ชายทั้งแท่ง” ซึ่งปรากฏให้เห็นได้บนลึงค์แข็งๆ ไม่เปื้อนขี้ และการแสดงออกทางร่างกายที่ “แมน”
ฉันสืบต่อไปอีกในหนังสือ ตำราโฉลกชายดีและชั่ว โฉลกหญิงดีและชั่ว ของน้อย ผิวผัน ซึ่งทำนายชะตาและความเหมาะสมเป็นคู่ครองจากสัดส่วนและลักษณะต่างๆ ของร่างกาย พบโฉลกชายชั่ว หรือ “โสกชั่ว” สองประการโดดออกมา ชวนให้คิดต่อ
ชายใดกระโลกกระเลกเต้นฟ้าวฟั่งไปมา มันหากทำซงซ้ำกิริยาเพศต่าง เป็นเปื้องปู้เปื้องป้างนิ้วมือสั่นข้อหมากขาม ตีนป้องสั่นหัวปลายตีนซ้ำผั่นหล่อย มันหากเป็นขโมยลักเล็กลักน้อยตามบ้านอยู่บ่เชา
ชายใดฮูปฮ่างน้อยหน้าส่วยใบสี ตาชอนแลนเสียดสาวทั้งค้าย แขนแพนส่วยแอวงอนบ่าไหล่ยิก ชายฮูปนี้อ้าปากลำหลาย เป็นหมอลำแอ่วสาวหลายบ้าน บุญบ้านน้อยบ้านใหญ่บ่มีหลอ มันหาลำเทียวกินประสงค์เล่นเจ้าเอย
(ไขคำลาว:
กะโลกกะเลก หมายความว่า “รีบมองดูข้างหน้าข้างหลังโดยไม่สุภาพเรียบร้อย”
ซอนลอน หมายความว่า “ดูทางหางตา”
ยิก หมายความว่า “ยักขึ้นยักลง” ยิกยิก หมายความว่า “อาการไหวขึ้นลงถี่ๆ เรียกเต้นยิกยิก”
แพน หมายความว่า “อ่อนช้อย การแสดงท่าฟ้อนลำแบบอ่อนช้อย”
แอว หมายความว่า “เอว”
แอ่ว หมายความว่า “วอนขอ … สู่ขอหญิงมาเป็นภรรยา เรียกแอ่วขอ แอ่วโอม … ลอบลัก เรียกแอ่ว”)
ฉันรู้สึกแปลกใจที่ “โสกชั่ว” ไม่เพียงแต่สนใจรูปกายที่ติดตัวมาแต่เกิด แต่ยังกินความไปถึงอากัปกิริยาที่เป็นผลของการเลี้ยงดูและฝึกฝนร่างกายเสียมากกว่า การเคลื่อนไหวร่างกายแบบหนึ่งๆ กลับถูกมองว่ามีความหมายลึกไปถึงข้างใน ตำราเตือนไว้ว่าคนไหนมือตีนล่อกแล่ก มันขี้ขโมยเด้! คนไหนแขนอ่อนเอวงอน มันสิหลอยเจ้าเล่นเด้อ! มันบ่ถืกโสก อย่าได้เอามาเป็นคู่ซ้อน
ตำราโฉลกฯ นับเป็นภูมิปัญญาการ “ดูคนที่ภายนอก” ของไทเฮาตั้งแต่สมัยโบราณ
กลับมาปี 2018 ที่ท่าเต้นเพลง “เต่างอย” รวมถึงท่าเต้นเพลงภาคต่อ “ลำเต้ยซิ่งเต่างอย” ได้ผสมผสานความดั้งเดิมเข้ากับความร่วมสมัย ซึ่งรวมไปถึงท่าเต้นผสมรำที่ครูนนท์ออกแบบด้วย
ท่าเต้นทั้งสองเพลงแทบไม่มีความแตกต่างระหว่าง “ลายชาย” กับ “ลายหญิง” นอกจากฝ่ายหนึ่งถ่างขาเต้นมากกว่า และอีกฝ่ายหนึ่งเอวงอนอ่อนช้อยมากกว่า แต่นี่ก็อาจเป็นเรื่องของนักเต้นแต่ละคนมากกว่าการออกแบบท่าทาง
สังเกตปฏิกิริยาต่อคอมเมนต์ที่เหยียดตุ๊ด-เกย์-กะเทยอย่างตรงๆ เห็นได้ชัดว่าผู้ชมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการ “ดูถูก” คนเพศหลากหลาย ถ้าไม่ด่ากลับคอมเมนต์เหล่านั้น ก็จะไม่มีใครหัวซา ยกตัวอย่างเช่น:

ก: “ตุดๆๆๆๆกะเทีย”
ข: “วาจาต่ำ”
ค: “คอมเมนต์ของบุคคลที่ไม่ค่อยมีการศึกษา…ที่บ้านปลูกฝังให้ชอบดูถูกคนอื่นหรอครับ”
ก: “ขอโทดครับพี่รู้เท่าไมเถิ่งกาน”
ก: “ขอโทดจริงๆครับพี่นึกว่าเขาจะใจดีแค่ยอกหลิ้นเท่านั้นไมด็ายมีอักคะติอะไรขอบคุนที่พี่มาบอกนอ้งน็ะครับ”
ต่างจากความเห็นของนาย ก. ผู้วิจารณ์ส่วนใหญ่ “educado” มากพอที่จะไม่ “เหยียดเพศ” ในคราบการ “หยอกเล่น” พวกเขาออกจะยอมรับด้วยซ้ำ ทายกันใหญ่ว่าเป็นตุ๊ดทั้งสองแน่ๆ คนไหนเป็นฝ่ายรุก คนไหนเป็นฝ่ายรับนะ “จิ้น” ขนาดนี้จะไม่เรียกว่ายอมรับได้ยังไง!

-“รู้ว่าเป็นเกย์ตุ๊ดทั้ง2คนแต่เก็บอาการหน่อย เต้นแมนๆหน่อยเสื้อเหลือง ดูตัวอย่างเสื้อน้ำเงินเต้นสิ”
-“ก็ดูเสียงสัมภาษเสื้อเหลืองก็นะ แต่เขาดูมีมารยาทและก็โอเคนะแต่เต้นสาวเกินไป”
-“เสื้อเหลืองเกย์ควีน เสื้อน้ำเงินเกย์คิงเต้นสตรองกว่า น่าดู เสื้อเหลือง เน้นเต้นโชว์เชฟปะ โชก้นเด้ง ตูด ขมิบสุดริดสุดเดช”
ถึงจะ “ยอมรับ” ความหลากหลายทางเพศ แต่ผลที่เกิดตามมาก็เหมือนกับไม่ยอมรับ นั่นคือลงเอยตีกรอบพฤติกรรมที่ถูกต้องตามกาลเทศะ เสื้อเหลืองต้องเป็นฝ่ายรับแน่เลย — หรือเสื้อน้ำเงินจะเป็นรับนะ — เอ๊ะ สองคนนี้เค้ากิ๊กกันหรือเปล่า — ถ้าคุณอยากเต้นออกสาว ก็แต่งหญิงไปเสียเลยจะดีกว่านะ — เอ้อ เสื้อเหลืองคุณเสียงตุ๊ดไปนะ แต่ค่อยยังชั่วคุณมีมารยาทดี แต่คุณก็เต้นสาวไปนะ
มันบ่ถืกโสกแดนเซอร์ชาย!
“ก็เข้าใจแหละว่าคนเสื้อเหลืองเป็นครูสอนเต้น เลยต้องเต้นให้ชัด แต่แบบมันสาวจริงๆนะ คือคนเสื้อเหลืองมีคลิปเต้นเพลงนี้แบบเดี่ยวนะอันนั้นชอบเลยจัดหนักใส่เต็ม แต่นี่คือ มาทีม ดันใส่จริตแดนซ์เซอร์หญิงแบบหมด เหมือนชาย 1 หญิง 3”
ยอมรับว่านักเต้นแต่ละคนมีสไตล์เป็นของตัวเอง จะออกสาวยังไงก็ได้ แต่พอเต้นเป็นทีมแล้วควรจะจัดตัวเองเข้ากล่องของ “ชาย” — ตกลงจะเอายังไงคะ?
“จริงครูเปนคนสอนเต้นแต่ลายเต้นพุชายมันไม่สาวเท่าครูนะคะมันต้องมีเส้นกั้นบางๆระหว่างลายเต้นพุชายกับจริตการเต้นของผู้หญิง ลายเต้นน้องต่อเสื้อน้ำเงินกำลังดี”
ทำไมต้องมีเส้นกั้นบางๆ ล่ะคะสงสัย?
“เห็นด้วยคะเสื้อน้ำเต้นดูแมนเข้มแข็ง ไม่กลบ2สาวด้านหลัง…แต่งชายก็ต้องให้ดูแมนๆเป็นเต้นออกสาวกว่าฝ่ายหญิง”
อ่านให้ละเอียดแล้วจะพบว่าเขาต้องการให้นักเต้น “ดูแมนๆ” ซึ่งหมายความว่าเขาไม่ได้สนใจว่านักเต้นต้องมีเพศเป็น really “แมน” in reality เขาสนใจแค่ realness!
เมื่อเทียบกับการ “ดูคนที่ภายนอก” แบบตำราโฉลกฯ แล้ว ความต้องการให้นักเต้น “ดูแมน” นับเป็นอีกเลเวลหนึ่งของการ “ดูคนที่ภายนอก” เพราะไม่ได้ดูคนภายนอกเพื่อประเมินคุณค่าที่อยู่ภายใน สำหรับหาคู่ครองที่เหมาะสมในอนาคต แต่กลับดูคนภายนอกเพื่อ “กลบ” ความสาวที่เข้าใจว่าอยู่ใน “อินเนอร์” สำหรับความฟินต่อการรับชม!
การ “ยอมรับ” ตัวตนของตุ๊ด-เกย์-กะเทย ในหมู่ผู้ชมวิดีโอนี้ กลับไม่ได้หมายรวมไปถึงการยอมรับการแสดงออกทางร่างกายของคนที่ไม่ได้แสดงออกทางเพศตามแบบแผน (ของตัวเอง) ซะอย่างนั้น
แน่นอนว่าคุณมีเสรีภาพในการวิจารณ์ แต่เราก็มีสิทธิท้วงว่า คุณยอมรับเราจริงเหรอ? ทำไมเราต้องแคร์ความเห็นคุณด้วย? ถ้าไม่มีตุ๊ดออกสาว ท่าเต้นมันๆ แบบนี้คงไม่เกิด
ฉันอยากจบบทความนี้ด้วยอีกหนึ่งความคิดเห็นใต้วิดีโอฝึกเต้น “ลำเต้ยซิ่งเต่างอย” ที่เข้าใจว่าเขียนโดย “ชายแท้” คนหนึ่ง เขาบอกว่า
“ทังๆที่เราเป็นพู้ชาย แต่ ทำไมถึงดูพู้ชายละ”

ฉันอ่านแล้วขำ แต่ก็ชวนให้คิดเหมือนกันว่า well, why not? ทำไมถึงเป็นประเด็นได้นะ ถ้าคุณอยากดูผู้ชาย ก็ดูไปสิคะ มาบอกหนูทำไม ความเป็นชายคุณไม่เปื้อนขี้ดินดากดอก!