โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

ต่อจากตอนแรก

ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 เดอะอีสานเรคคอร์ดพูดคุยกับ นายสถาพร เริงธรรม อาจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น และเลขาธิการเครือข่ายกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น ผู้มีแนวคิดจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง

แนวคิดดังกล่าวมาพร้อมการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การเลือกตั้งสภาจังหวัด และการจัดตั้งสภาพลเมือง หรือ สภาประชาชน

นายสถาพร เริงธรรม อาจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ม.ขอนแก่น เห็นว่า การกระจายอำนาจโดยโอนภาระกิจของราชการส่วนภูมิภาคมายังส่วนท้องถิ่น พร้อมกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำให้การแก้ไขปัญหาจบที่จังหวัด

บทความตอนแรกกล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคของการกระจายอำนาจให้ครบวงจรโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง พร้อมกับอธิบายถึงวิธีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินบางส่วน บทตอนนี้เป็นตอนที่สองจากทั้งหมดสามตอนจะกล่าวถึงรูปแบบการบริหารฯ ส่วนที่เหลือ พร้อมกับบอกถึงสิ่งที่ประชาชนจะได้รับจากการกระจายอำนาจ

อีกรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจคือการยกเลิกส่วนภูมิภาคแล้วถ่ายโอนภารกิจทั้งหมดให้ท้องถิ่น วิธีปฏิบัติเป็นอย่างไร

วิธีนี้คือการถ่ายโอนหน่วยงานสังกัดราชการส่วนภูมิภาคให้มาสังกัดราชการส่วนท้องถิ่นทั้งหมด เช่น จากสาธารณสุขจังหวัดก็ถ่ายโอนเป็นสาธารณสุขท้องถิ่น เป็นการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทั้งหมด วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีเพียงแต่จะมีความอ่อนไหว ส่งผลกระทบ และมีแรงต่อต้าน (อีกวิธีคือให้ราชส่วนภูมิภาคยังคงอยู่โดยให้ทำหน้าที่กำกับดูแล แต่ต้องถ่ายโอนงานให้ราชการส่วนท้องถิ่น)

ตนอยากจะบอกกับข้าราชการส่วนภูมิภาคว่า สิ่งที่เสนอให้กระจายอำนาจไม่กระทบต่อสถานะหรือผลประโยชน์ของข้าราชการที่มีอยู่ เพียงแต่จะมีการปรับภาระกิจจากการทำตามคำสั่งของราชการส่วนกลางมาฟังเสียงของประชาชนผ่านรูปแบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบใหม่ มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง มีสภาท้องถิ่น และสภาพลเมือง

“ทุกอย่างไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย เพียงแต่ปรับโหมดการรับฟังความเห็นจากส่วนกลางมาฟังความเห็นพี่น้องประชาชนเท่านั้นเอง”

ข้าราชการส่วนภูมิภาคระดับจังหวัดและอำเภอ ต้องปรับบทบาทการทำหน้าที่อีกหรือไม่

ข้าราชการส่วนภูมิภาคเหล่านี้ต้องตัดสินใจว่าจะถ่ายโอนมาเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นหรือไม่ ถ้าไม่ถ่ายโอนก็จะยังเป็นข้าราชการส่วนภูมิภาคเหมือนเดิม แต่บทบาทและหน้าที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้ายอมรับการถ่ายโอนมายังท้องถิ่นก็ทำงานตามที่องค์กรบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมอบหมาย

“สถานะก็ยังเป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดอยู่ เพียงเป็นจังหวัดที่เป็นท้องถิ่นเท่านั้นเอง”

ถ้าปรับรูปแบบการบริหารราชการ ตำรวจต้องสังกัดจังหวัดหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามเดิม

“ต้องอยู่กับท้องถิ่นครับ เพราะภาระกิจของตำรวจเกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชน”

ข้าราชการตำรวจก็ต้องถ่ายโอนมาสังกัดจังหวัด ซึ่งมีข้อดีคือจะทำให้ตำรวจไม่ต้องเดือนร้อนเมื่อถึงฤดูกาลโยกย้ายเพราะการโยกย้ายต้องใช้กลไกพิเศษมาก

“การไปอยู่จังหวัดใหญ่ๆ หรือ การข้ามไปอยู่เก้าอี้ทองคำฝังเพชรต้องมีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนเยอะ”

โรงพักมีเกรดเอ บี ซี

“ใช่ครับ ซึ่งตรงนี้ทำให้ขวัญและกำลังใจของข้าราชการตำรวจถดถอยเพราะตำรวจดีๆ ก็มีเยอะ แต่ไม่มีเงิน ก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็ต้องทำอย่างงั้น”

ตนมีข้อเสนอคือ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นต้องเป็นคนของท้องถิ่นหรือเป็นคนของพื้นที่นั้น ซึ่งจะทำให้ข้าราชการตำรวจหรือข้าราชอื่นไม่ต้องกังวลใจว่าจะถูกโยกย้ายออกจากพื้นที่ เนื่องจากหากจะมีการโยกย้ายข้ามจังหวัดต้องเป็นข้อตกลงระหว่างจังหวัด ไม่ใช่เป็นอำนาจของส่วนกลางตามเดิม ฉะนั้นหากโอนย้ายข้าราชการมาสังกัดท้องถิ่นจะทำให้สามารถบริหารบุคลากรให้ทำงานตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้

หลังมีการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารราชการ ประชาชนจะได้อะไรบ้าง

ประชาชนจะสามารถพูดคุยกับนักการเมืองและข้าราชการได้มากขึ้น เพราะทุกอย่างจบที่จังหวัด เท่าที่ตามข่าวจะพบเห็นการยื่นหนังสือของประชาชนโดยยื่นตั้งแต่ที่อำเภอ พออำเภอบอกว่าไม่มีอำนาจ ประชาชนต้องไปยื่นหนังสือที่จังหวัด จังหวัดบอกว่าไม่มีอำนาจเพราะอำนาจอยู่ที่กรม ประชาชนก็ต้องไปยื่นหนังสือที่กรม  หลังยื่นที่กรมก็ต้องใช้เวลาในการพิจารณา

“เรื่องบางเรื่องยื่นข้อเสนอไปแล้ว จนคนยื่นตายไปแล้ว ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา ก็เยอะนะฮะ ซึ่งตรงนี้ประชาชนไม่ได้อะไรเลยจากการบริหารแบบเก่า”

ที่เสนอเรื่องการกระจายอำนาจเพราะตนพบว่า ปัญหาเกิดขึ้นที่หมู่บ้าน แต่ปัญหาถูกส่งไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจที่ส่วนกลาง กว่าจะแก้ปัญหาได้ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ และมีขั้นตอนมากมาย สุดท้ายปัญหาอาจจะไม่ได้รับการแก้ไข และปัญหายังอยู่ที่เดิม ประชาชนก็ต้องมายื่นเรื่องกันใหม่ หากมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องยื่นเรื่องใหม่ทุกครั้งเพราะทุกอย่างจะถูกยกเลิก แทนที่ประชาชนจะได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและตรงกับความต้องการก็ต้องรอ

ขณะที่การกระจายอำนาจให้จังหวัดบริหารจัดการตนเอง ปัญหาต้องจบที่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจาการเลือกตั้งให้ได้ ส่วนเรื่องของนโยบายคนในจังหวัดคุยกันเองโดยไม่ต้องนำนโยบายจากบุคคลภายนอกมาใช้

“นี่คือสิ่งที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ ในเชิงนโยบายสาธารณะจะได้สิ่งที่ตนเองต้องการ ในเชิงการบริหารงานไม่ต้องเสียเวลาอีกแล้ว ทุกอย่างจะจบที่จังหวัดจัดการตนเอง”

กรณีผู้ว่าฯ จัดการไม่ได้ค่อยให้บทเรียนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ส่วนสภาพลเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนต้องสามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าฯ ได้

จบที่จังหวัดตัวเองจะดีกว่าให้ส่วนกลางคิดเหรอครับ เพราะบางคนอาจจะคิดว่าจังหวัดเป็นลูก ส่วนกลางเป็นพ่อ

คำตอบมีอยู่แล้วในหลายที่ ขอยกตัวอย่าง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ที่มีโครงการขอนแก่นสมาร์ทซิตี้เพื่อจัดการปัญหาของตัวเองก็ไม่จำเป็นต้องฟังความคิดเห็นของนักวิชาการหรือข้าราชการที่ส่วนกลาง บริษัทฯ ก็สามารถคิดโครงการเองได้ ส่วนประชาชนสามารถเลือกนโยบายสาธารณะที่ตนเองต้องการได้ ส่วนท้องถิ่นจึงสามารถทำงานสาธารณะได้ทั้งหมด เพียงแต่ส่วนกลางจะยอมให้ส่วนท้องถิ่นทำงานหรือไม่   

บางคนมาสอบถามตนโดยแสดงความกังวลว่า ถ้าให้เขาทำก็จะเกิดการโกง แต่ตนเห็นว่า ไม่เป็นไร ปล่อยให้เขาโกงไป แล้วปล่อยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันว่า ถ้าปล่อยให้มีการโกง ประชาชนก็ต้องยอมรับสภาพให้ได้ แต่สิ่งที่ถูกโกงคือทรัพยากรของคนในท้องถิ่นหรือไม่

ถ้าไม่ปล่อยให้ประชาชนรับผิดชอบทรัพยากรของตนเอง แล้วมีบุคคลอื่นจัดสรรให้ หรือเรียกว่า “ทฤษฎีคุณพ่อรู้ดี” หรือ “ทฤษฎีทำแทน” ประชาชนจะไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้  

“เมื่อไหร่ก็ตามประชาชนไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง แต่หวังพึ่งกระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการปลูกฝัง มันไม่มีทางจะสำเร็จ”

การกระจายอำนาจในช่วงแรกอาจจะเกิดการสะดุด แต่รัฐบาลกลางต้องสนับสนุนส่วนท้องถิ่นและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป การกระจายอำนาจไม่มีทางสำเร็จและเห็นผลโดยเร็ว การกระจายอำนาจใช้เวลา ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและการลุกขึ้นมาจัดการตนเอง

การเป็นจังหวัดจัดการตนเอง ใครต้องการเป็นผู้ว่าฯ ต้องคิดนโยบายไปหาเสียงกับประชาชนต่างจากการให้มีผู้ว่าฯ มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งจะทำให้ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้นใช่หรือไม่

ใช่ครับ แต่จังหวัดจัดการตนเอง นโยบายไม่ได้มาจากผู้ว่าฯ ทั้งหมด แต่นโยบายต้องมาจากสภาพลเมือง หรือ สภาประชาชน ด้วย ซึ่งสภาจะมีตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับจังหวัด สภาเป็นที่รวมของคนที่มีความหลากหลาย สภาพลเมืองทำหน้าที่เสนอนโยบายควบคู่กับนโยบายของผู้ว่าฯ แล้วให้สภาท้องถิ่นอนุมัติ (สมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน)

นโยบายสาธารณะในจังหวัดจึงมีที่มาจาก 3 ส่วน ประกอบด้วย ผู้ว่าฯ สภาท้องถิ่น และสภาพลเมือง (สภาพลเมืองเป็นองค์กรรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย) จากนั้นทั้ง 3 ส่วนต้องมาคิดร่วมกันว่าต้องการนำนโยบายไหนมาใช้ในจังหวัด

เราสามารถเรียนรู้จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ ว่า การให้ผู้ว่าฯ กทม. คิดนโยบายคนเดียวอาจจะทำให้มีปัญหา เพราะ กทม.มีขนาดใหญ่

กทม.ก็ไม่ใช่รูปแบบจังหวัดจัดการตนเองแบบตามที่ต้องการใช่หรือไม่

ไม่ใช่ กทม.ยังไม่ใช่รูปแบบการจัดการตนเอง แต่ใกล้เคียง เพราะผู้ว่าฯ กทม. มาจากการเลือกตั้ง ขณะนี้มีข้อเสนอต่อ กทม. ให้ปรับโครงสร้างให้มีสภาพลเมืองด้วยหาก กทม. ปรับโครงสร้าง ก็จะทำให้จังหวัดขนาดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ซึ่งมีความพร้อมสามารถกระจายอำนาจ และปรับรูปแบบเป็นจังหวัดจัดการตนเองได้ และยังเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นได้

ถ้าโอนย้ายส่วนราชการให้ส่วนท้องถิ่นส่วนกลางก็ต้องเล็กลง แล้วส่วนกลางจะทำหน้าที่อะไร

ส่วนกลางยังมีภาระกิจตามทฤษฎีกระจายอำนาจ แบ่งบทบาทหน้าที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ regulater (ผู้ควบคุม) กับ implementer (ผู้ดำเนินการ) ในภาระกิจทั่วไป ส่วนกลางเป็นผู้ควบคุม ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ

ยกเว้นภาระกิจ 4 ข้อ ได้แก่ การทหาร ศาล การต่างประเทศ และการคลังมหภาค ที่ส่วนกลางต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง นอกจากนั้น ส่วนกลางมีหน้าท่ี่ออกกฎเกณฑ์กฎระเบียบ เช่น มาตรฐานขั้นต่ำ เพราะต้องการให้ทุกจังหวัดมีมาตรฐานในการจัดการสาธารณะ ถ้าไม่มีการกำหนดจะมีความเหลื่อมล้ำซ้อนความเหลื่อมล้ำเข้าไปอีก ทุกจังหวัดต้องทำตามมาตรฐานขั้นต่ำให้ได้ แต่ถ้าจังหวัดไหนต้องการทำเกินมาตรฐานที่ส่วนกลางกำหนดก็สามารถทำได้

“เรียนฟรี 12 ปี ภูเก็ตจะเรียนถึง ป.เอก ทำเลยครับ”

ส่วนกลางมีอีกหน้าที่คือการลงมาตรวจสอบ

“รัฐบาลกลางไม่ต้องบ่นว่าเหนื่อยเงินเดือนน้อยไม่ต้องนะครับ ไม่ต้องทำงานมากแล้วเพราะคนที่จะทำคือท้องถิ่น เขาทำกันเอง”

นอกจากเรื่องงบประมาณและบุคลากรแล้ว เรื่องการเป็นเจ้าของทรัพยากรในท้องถิ่นใครควรเป็นเจ้าของ

ทรัพยากรฐานพื้นที่หรือฐานจังหวัดให้คนในจังหวัดเป็นเจ้าของ ทรัพยากรฐานร่วมต้องให้กลไกของรัฐบาลกลางเข้ามีส่วนร่วมบริหารจัดการ แต่การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการไม่ใช่สั่งการให้จังหวัดทำตาม ทรัพยากรฐานร่วม มีอาทิ แม่น้ำ ภูเขา ซึ่งเป็นทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับหลายจังหวัด

ตอนนี้มีนโยบายทวงคืนผืนป่าในแต่ละจังหวัดเพราะอำนาจเป็นของส่วนกลาง แล้วมีการขับไล่ประชาชนออกจากป่า ถ้ามี ผู้ว่าฯ เลือกตั้ง ผู้ว่าฯ มีสิทธิบริหารจัดการไหม

ผู้ว่าฯ มีสิทธิ แต่ต้องไปพิจารณาถึงกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการจัดการทรัพยากรในจังหวัดเกี่ยวข้องกับกฎหมายจำนวนมาก แต่สิ่งที่ต้องทำก่อนหากต้องการให้มีจังหวัดจัดการตนเองและมีผู้ว่าฯ เลือกตั้ง คือ การแก้ไขระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ปี 2534 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายฉบับอื่นๆ

ติดตามบทสัมภาษณ์สถาพร เริงธรรม ต่อในตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนจบ

image_pdfimage_print