โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

กรณีบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด พยายามขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจเข้าพื้นที่อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เพื่อขุดเจาะสำรวจ แร่โพแทช หลุมเจาะสำรวจ หลุมที่ 4 ทำให้ ชาวอ.วานรนิวาส จ.สกลนคร รวมตัวคัดค้าน ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. 2561 เนื่องจากเกรงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากมีการทำเหมืองแร่ เช่นเดียวกับเหมืองแร่ที่อื่น เช่น ที่จ.อุดรธานี จนบริษัทฯ ยุติความพยายามในที่สุด เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2561 เป็นรูปแบบการปกป้องสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นตามปกติ แต่ก็แฝงไว้ด้วยปมปัญหาหลายประการ

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2561 สุดตา คำน้อย และกิจตกรณ์ น้อยตา (คนถือแผ่นกระดาษ) ชาวอ.วารนรนิวาส เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจาก ตำรวจ สภ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ฐานทำผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จากการรวมตัวที่บริเวณหน้าหลุมเจาะสำรวจหลุมที่ 4 ภาพเว็บไซต์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่สะท้อนออกมาคือ การผูกขาดรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ที่ส่วนกลาง

การรวมศูนย์อำนาจทำให้กระทรวงและกรมมีสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ อาทิ ป่าไม้ ที่ดิน ลุ่มน้ำ ชายฝั่ง ทั่วประเทศ กรณีที่อ.วานรนิวาส คือ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ และกพร.ได้ออกใบอนุญาตให้บริษัทไชน่า หมิงต๋าฯ สำรวจแร่โพแทช ในพื้นที่ 6 ตำบลของ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร จำนวน 120,000 ไร่ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชนในท้องถิ่นก่อน

โครงสร้างการรวมศูนย์คือสิ่งที่สร้างปัญหา เพราะทำให้การออกใบอนุญาตให้ดำเนินการใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนยินยอม ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของการให้ส่วนกลางมีอำนาจเหนือส่วนท้องถิ่น ชุมชน และประชาชน เป็นรูปแบบของการปกครองที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดทรัพยากรในพื้นที่ซึ่งใกล้ชิดกับปัญหา

การที่ส่วนกลางตัดสินใจแทนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ส่งผลกระทบตามมามากมายจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น การสร้างเขื่อนจำนวนมากในแม่น้ำหลายสายในภาคอีสานที่ส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยตามมาอย่างต่อเนื่อง นโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลเผด็จการทหารส่งผลให้ประชาชนคนเล็กคนน้อยถูกขับไล่จากที่ดินทำกินของตัวเอง ฯลฯ

ฉะนั้นข้อเสนอหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาการผูกขาดทรัพยากร คือ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางลงไปสู่ท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจในทรัพยากรของตนเอง แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง เพื่อให้การกระจายอำนาจ เดินไปสุดทาง และไปถึงมือประชาชนมากที่สุด  

จังหวัดจัดการตนเองมีโครงสร้าง ดังนี้ ผู้ว่าราชการ หรือ ผู้บริหารจังหวัด จาการเลือกตั้งของประชาชน สภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และสภาพลเมืองประกอบขึ้นจากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ สภาพลเมืองจะเป็นตัวแทนประชาชนโดยตรงทำหน้าที่เสนอนโยบายและตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าฯ   

เชื่อได้ว่าหากมีจ.สกลนคร เป็นจังหวัดจัดการตนเองตั้งแต่แรก หากมีข้อเสนอของเอกชนขอเข้าใช้ทรัพยากรของจังหวัด อาทิ การสำรวจเหมืองแร่ ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งใกล้ชิดกับประชาชน คงต้องตัดสินใจตามความต้องการของประชาชนโดยพิจารณาถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบกว่าการให้อธิบดี กพร. ตัดสินใจ และถึงแม้จะออกใบอนุญาตไปแล้ว แต่หากประชาชนทักท้วงก็มีโอกาสที่ผู้ว่าฯ จะทบทวน  

ระหว่างการชุมนุมคัดค้านการขุดเจาะแร่โพแทช หลุมที่ 4 ชาววานรนิวาสได้ยื่นข้อเสนอให้กับนายอำเภอ 2 ข้อ ได้แก่ ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ของบริษัทฯ และให้ทบทวนหลักเกณฑ์การสำรวจแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ ฉบับใหม่ ปี 2560 เนื่องจากพื้นที่สำรวจแร่โพแทชอยู่ใกล้กับพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นข้อห้ามของการทำเหมืองแร่

จากข้อเรียกร้อง 2 ข้อของชาวอ.วานรนิวาส ทำให้พบว่าการยื่นหนังสือถึงนายอำเภอไม่ใช่การแก้ปัญหา เนื่องจากนายอำเภอหรือผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่ผู้มีอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง ส่วนกรณีการขอให้เปิดเผยข้อมูลการออกอาชญาบัตรพิเศษ เป็นเรื่องที่ชาวอ.วานรนิวาสยื่นข้อเรียกร้องไปตั้งแต่ ปี 2559 แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากส่วนกลางที่เป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร  

ฉะนั้นเพื่อให้ทำให้เกิดความชอบธรรมต่อการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ นอกจากการรวมตัวต่อสู้ที่ชาวอ.วานรนิวาสกำลังดำเนินการอยู่จนทำให้ประชาชน 2 คน ถูกตั้งข้อหาทำผิดพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และข้อหาข่มขืนจิตใจ จากกรณีการขัดขวางการสำรวจแร่ ซึ่งเข้าข่ายการฟ้องร้องที่ไม่ได้หวังผลทางคดีแต่เพื่อยุติิความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (Slapp) แล้ว

การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยการกระจายอำนาจจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เนื่องจากผู้ว่าฯ เลือกตั้งจะเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งตรงกันข้ามาจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ข้าราชการส่วนภูมิภาคและข้าราชการส่วนกลางไม่ยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่ แต่ตอบสนองผู้มีอำนาจที่กรุงเทพฯ จนทำให้ ข้าราชการในพื้นที่กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง เนื่องจากต้องทำงานสนองส่วนกลาง ดังเช่นบทเรียนของการสำรวจแร่โพแทช ที่อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

image_pdfimage_print