ถ้าถามว่าสถานการณ์ในโอกาสครอบ 4 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 เป็นอย่างไร ก็คงตอบในภาพรวมว่า สถานการณ์ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเนื่องจากประเทศไทยยังตกอยู่ภายใต้การยึดอำนาจของกองทัพเช่นเดิม แต่ถ้าพิจารณาในรายละเอียดจะพบความแตกต่างออกไป และเป็นความแตกต่างที่ไม่ส่งผลดีต่อความเป็นประชาธิปไตย  

จากการสอบถามความเห็นคนรุ่นใหม่ชาวอีสานที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในปีหน้า ได้เสียงสะท้อนในแนวเดียวกันว่า ข้อดีของการยึดอำนาจคือบ้านเมืองสงบ ส่วนข้อเสียคือเรื่องของเศรษฐกิจปากท้อง แต่ทั้งหมดเห็นตรงกันว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ควรมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหลังการเลือกตั้ง

จึงมีคำถามว่าคนไทยได้อะไรจากคสช.กันแน่ เพราะถ้ารัฐบาลมีผลงานจับต้องได้ เสียงของประชาชนไม่น้อยก็ควรต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ขณะที่ 4 ปีรัฐประหารหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบความเปลี่ยนแปลง อย่างน้อย 2 ประการ ประการแรกคือ กำหนดวันเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป (อีกครั้ง) และประการที่สองคือ คสช.ส่งสัญญาณสืบทอดอำนาจ  

ย้อนกลับไปในโอกาสครบรอบ 3 ปีการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2560 เป็นที่รับรู้ในขณะนั้นว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นอย่างช้าที่สุดช่วงปลายปี 2561 ตามคำบอกเล่าของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2560 ตามมาด้วยการสำทับของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 ว่า ประมาณเดือนมิถุนายน ปี 2561 จะประกาศวันเลือกตั้ง และประมาณเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 จะมีการเลือกตั้ง

แต่แล้วเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 หัวหน้า คสช. ก็ตระบัดสัตย์อีกครั้ง โดยประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561

จึงเท่ากับว่าสิ่งที่แตกต่างระหว่างโอกาสครบรอบ 3 ปี กับ 4 ปีการรัฐประหาร คือวันเลือกตั้งที่ถูกเลื่อนออกไปจากปลายปี 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562

แต่ก็ยังไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า เนื่องจากมีสัญญาณว่า คสช. ต้องการอยู่ในอำนาจหลังการเลือกตั้ง ทั้งที่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว คสช.อ้างเหตุว่าที่ต้องยึดอำนาจเพื่อปฏิรูปประเทศและขจัดความขัดแย้งทางการเมือง

ที่ปรึกษากป.อพช.อีสาน “สุวิทย์ กุหลาบวงษ์” กล่าวถึงเหตุผลในการยึดอำนาจว่า “มันคือเหตุผลของเขา[คสช.]ที่นำมาสู่การอ้าง เข้ามากระทำการใช่ไหม” พร้อมเห็นว่า การปฏิรูปเป็นแผนที่ไม่สามารถนำมาสู่การปฏิบัติได้จริงและเป็นรูปธรรม

แม้หัวหน้าคสช.เคยยืนยันหลายครั้งว่าไม่คิดสืบทอดอำนาจ แต่เวลาผ่านไปความต้องการสืบทอดอำนาจของคสช.เริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อต้นปี 2561 หัวหน้าคณะเผด็จการทหารไม่ปฏิเสธหากจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนนอก

ส่งผลให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นมีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า ไม่ใช่การคืนอำนาจตามปกติเพื่อให้ประชาชนตัดสินอนาคตของตัวเองผ่านการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะมีไว้เพื่อรองรับจุดมุ่งหมายที่สำคัญของคสช.คือ เพื่อรองรับความต้องการของคสช.ในการสืบทอดอำนาจเพื่อเป็นรัฐบาลอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง หรือพูดอีกอย่างคือ หากคสช.ไม่คิดว่าตนเองจะชนะเลือกตั้งก็จะยังจะไม่มีการเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ปาฐกถา ที่สนามช้างอารีน่า จ.บุรีรัมย์ ฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2561 ซึ่งเข้าข่ายการสร้างคะแนนนิยมล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้ง ภาพจาก MGR Online

เมื่ออยากเป็นรัฐบาลเลือกตั้งจึงต้องการคะแนนเสียง ส.ส. จึงเกิดปรากฏการณ์ “ดูด” นักการเมืองเข้ามาสังกัดคสช. อาทิ การแต่งตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม แกนนำพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และการลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ของพล.อ.ประยุทธ์ โดยมีนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย และชาวบุรีรัมย์กว่า 3 หมื่นคน ต้อนรับ

นั่นจึงเท่ากับว่า ผ่านมาแล้ว 4 ปีของการรัฐประหาร การเมืองไทยวนกลับมาสู่ที่เก่า โดยมีนักการเมืองหน้าเดิมที่สังกัดพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน [พรรคการเมืองระดับท้องถิ่นมุ่งแลกเปลี่ยนคะแนนเสียงกับจัดสรรโครงการและงบประมาณลงพื้นที่ ส่วนพรรคการเมืองระดับชาติมุ่งสร้างนโยบายสาธารณะ] แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปจากช่วงก่อนการยึดอำนาจคือหัวขบวนของพวกเขาไม่ใช่ผู้นำพลเรือนอย่างในอดีต อาทิ นายทักษิณ ชินวัตร แต่เป็นผู้นำทางทหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จึงไม่แปลกนักหากจะบอกว่า 4ปีรัฐประหารคือ4ปีแห่งความสูญเปล่า เพราะการเมืองไทยวนมาสู่จุดเดิมก่อนมีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีนักการเมืองหน้าเดิมที่ไม่คำนึงถึงอุดมการณ์ แต่สังกัดฝั่งไหนก็ได้หากได้ร่วมรัฐบาลมาค้ำบัลลังก์คสช. เมื่อเป็นแบบนี้แล้วประเทศไทยมีประชาธิปไตยมากกว่า 4 ปีที่แล้วหรือไม่  

เป็นไปได้ว่า หลังการเลือกตั้งความขัดแย้งที่ถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจตลอด 4 ปีของคสช.จะปะทุขึ้น แล้วถ้าการเมืองถูกทำให้เดินไปสู่การชุมนุมประท้วงและก่อความวุ่นวาย…อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าไม่ใช่นายทหารกลุ่มใหม่อาสามารักษาความสงบเรียบร้อย[รัฐประหาร]อีกครั้ง

ถ้าทางข้างหน้าคือหายนะของระบบประชาธิปไตยแล้วจะเดินไปสู่จุดนั้นทำไม หรือจะให้เข้าใจว่า คสช.ยึดอำนาจเพื่อตัวเองและพวกพ้อง การอยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุดจึงสำคัญกว่าความชอบธรรม

image_pdfimage_print