โดย บูรพา เล็กล้วนงาม

ขอนแก่น – นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นแสดงความพร้อมสร้างรถไฟฟ้ารางเบาจ.ขอนแก่นได้เร็วกว่า รฟม. ที่ไม่มีกำหนดการแน่นอน เผยหากให้เทศบาล 5 แห่งสร้างเองจะเกิดการจ้างงานในจังหวัด โดยโครงการรถไฟฟ้าจะช่วยพัฒนาเมืองไปด้วย

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2561 ที่โรงแรมพูลแมน จังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่นเชิญประชาชนชาวขอนแก่นร่วมประชุมเสวนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการสร้างรถไฟฟ้ารางเบาในจังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนากว่า 5 ร้อยคน

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เผยเทศบาล 5 แห่งในจ.ขอนแก่นจัดตั้งบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา โดยคาดจะแล้วเสร็จในปี 2564

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวถึงกรณีเทศบาล 5 แห่งในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลสำราญ เทศบาลตำบลเมืองเก่า และเทศบาลตำบลท่าพระ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (เคเคทีเอส) เรียกร้องสิทธิในกิจการรถไฟฟ้ารางเบาในจังหวัดขอนแก่นจากการ รฟม. ว่า ตนไม่ได้ปฏิเสธว่า รฟม.ไม่ควรก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่เทศบาล 5 แห่งที่จัดตั้งบริษัทเคเทีเอสขึ้นมาก็มีอำนาจหน้าที่ในการ ก่อสร้างได้เช่นกัน แต่มีสิ่งที่คิดเห็นแตกต่างคือเรื่องของระยะเวลาดำเนินการ

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นกล่าวอีกว่า ตนเคยสอบถาม รฟม.ว่า หาก รฟม. ดำเนินการเองจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ เนื่องจากตนทราบว่าคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา และสงขลา (อ.หาดใหญ่) ตนจึงสงสัยว่า แล้วจะก่อสร้างรถไฟฟ้าที่จังหวัดขอนแก่นเป็นลำดับที่เท่าไหร่ สมมติว่าถ้าก่อสร้างเป็นลำดับแรกก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะแล้วเสร็จ (ระยะเวลาก่อสร้างของรฟม. 7-9 ปี) แต่ถ้าก่อสร้างที่จังหวัดขอนแก่นเป็นลำดับท้ายๆ ก็ต้องใช้เวลานานขึ้นไปอีก

นายธีระศักดิ์กล่าวอีกว่า เทศบาล 5 แห่งโดยเคเคทีเอสมีความพร้อม และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาเมืองตามรูปแบบ “ขอนแก่นโมเดล” ดังนั้น เทศบาล 5 แห่งจึงมีขีดความสามารถในการก่อสร้างรถไฟฟ้า และควรเป็นผู้ก่อสร้างรถไฟฟ้านำร่องสายแรก ทิศทางเหนือ-ใต้ ระยะทาง 22.6 กิโลเมตรเอง (ระยะเวลาก่อสร้างของเคเคทีเอสคือ 3 ปีซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2564) ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่นที่เหลือสามารถก่อสร้างได้ในภายหลัง (ตามโครงการขอนแก่นจะมีรถไฟฟ้า 10 สาย) ในรูปแบบใดก็ได้ เช่น ให้ รฟม. ดำเนินการ หรือให้เคเคทีเอสร่วมทุนกับบริษัทอื่น

“ถ้าต้องรอตามระบบ ตามระบบที่ว่านี้อีกกี่ปีถึงเห็น แล้วถ้าเปลี่ยนรัฐบาลจะมีผลกระทบต่อโครงการหรือไม่” นายธีระศักดิ์กล่าว

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นย้ำว่า ระหว่าง รฟม. กับเทศบาล 5 แห่ง ใครจะก่อสร้างก็ได้ แต่ถ้าโจทย์วันนี้คือเริ่มต้นได้เร็ว และตอบโจทย์ได้ว่า เทศบาล 5 แห่งทำได้เร็วกว่า เทศบาล 5 แห่งก็พร้อมดำเนินการ จึงเป็นที่มาของการนำเสนอสาระสำคัญในเวทีรับฟังความคิดเห็น ส่วนการเปิดเวทีเป็นไปตามที่ รฟม. แจ้งมายังจังหวัดขอนแก่น แล้วจังหวัดขอนแก่นแจ้งมายังเทศบาล 5 แห่งว่าต้องมีเวทีให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น การเปิดเวทีจึงถือเป็นการทำหน้าที่แทน รฟม. แต่ในเวทีไม่มีตัวแทนจาก รฟม.

“ได้เชิญ รฟม. มาร่วม แต่ท่าน [รฟม.] ก็ไม่สะดวก” นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นกล่าว

นายธีระศักดิ์ระบุว่า ในเวทีได้อธิบายสาระอย่างครบถ้วน ส่วนประชาชนจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนให้ รฟม. ก่อสร้างก็เป็นสิทธิของประชาชน

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น (คนที่ 5 จากซ้าย) ร่วมเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.ฎ.ให้ รฟม. สร้างรถไฟฟ้ารางเบาในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2561 ที่โรงแรมพูลแมน จ.ขอนแก่น

ส่วนประสบการณ์ของ รฟม. ที่มีมากกว่านั้น นายธีระศักดิ์ยอมรับว่า รฟม. มีประสบการณ์กว่า 20 ปีส่วนเทศบาล 5 แห่งไม่มีประสบการณ์ แต่เมื่อ 20 ปีก่อน รฟม. ก็มีประสบการณ์เช่นกัน รฟม. จึงก่อสร้างรถไฟฟ้าโดยจ้างทีมงานมืออาชีพมาดำเนินการขณะที่วิธีการของเทศบาล 5 แห่งก็ได้ทำในลักษณะเดียวกัน คือการจ้างเคเคเทีเอส แล้วให้เคเคทีเอสจ้างมืออาชีพที่มีประสบการณ์มาดำเนินการ  

ส่วนความพร้อมของเทศบาล 5 แห่ง นายธีระศักดิ์กล่าวว่า เทศบาล 5 แห่งมีความพร้อมเรื่องเงินทุน องค์ความรู้ และผู้สนับสนุน แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือ การสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การขอใช้ที่ดินเกาะกลางถนนมิตรภาพจากแขวงการทางเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งเทศบาล 5 แห่งต้องการอำนาจรัฐเพียงเท่านี้

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นกล่าวถึงความเสี่ยงของการลงทุนก่อสร้างเองว่า มีความพร้อมเรื่องเงินทุนแล้ว อาทิ สถาบันการเงิน การระดมทุน และผู้ที่จะร่วมทุน ด้านความเสี่ยงเรื่องการขาดทุนก็มีบริษัทค้ำประกันการขาดทุน โดยเทศบาลไม่ต้องค้ำประกันเอง

นายธีระศักดิ์กล่าวถึงผลประโยชน์ต่อเนื่องหากให้เทศบาล 5 แห่งก่อสร้างรถไฟฟ้าเองว่า หากให้ รฟม.ทำ รฟม.จะประมูลแล้วมาลงระบบรถไฟฟ้า แต่หากให้เทศบาล 5 แห่งทำ เทศบาลจะผลิตรถไฟฟ้าเองที่จังหวัดขอนแก่น โดนตั้งใจให้คนอีสานและคนขอนแก่นมีงานทำที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้ได้มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตขอนแก่น ทำหลักสูตรระบบราง

“แล้วเด็กอีสานเด็กขอนแก่นได้เรียนที่นี่ ได้ทำงานที่นี่ ลูกหลานจะได้ไม่ต้องพลัดพรากจากอ้อมอกพ่อแม่” นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นกล่าว

นายธีระศักดิ์กล่าวอีกว่า เมื่อสามารถผลิตรถไฟฟ้าได้ที่จังหวัดขอนแก่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจจะกลับมาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในจังหวัดขอนแก่น

“คาดหวังว่าโครงการเหล่านี้จะไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาจราจร แต่จะเป็นโครงการที่ส่งเสริมการพัฒนาเมืองขอนแก่นไปด้วย” นายธีระศักดิ์กล่าว

ในเวทีเสวนามีข้อสงสัยว่าอาจมีการทุจริต นายธีระศักดิ์กล่าวว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าไม่ได้ใช้งบประมาณของเทศบาลหรืองบประมาณของรัฐบาล แต่ให้เอกชนเป็นผู้ระดมทุน เมื่อระดมทุนแล้วเม็ดเงินก็ไม่ได้ผ่านมายังเทศบาล แต่เม็ดเงินจะผ่านไปยังเคเคทีเอส ส่วนการเปิดประมูลหาผู้ก่อสร้างโครงการ เคเคทีเอสก็ไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายเงินเอง เพราะเคเคทีเอสจ้างเอกชนมาบริหารงาน นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ปรึกษาด้านการบัญชีที่ติดอันดับ 1 ใน 4 ของโลกเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี และมีบริษัทที่ปรึกษากฎหมายระดับประเทศทำหน้าที่ตรวจสอบ เพราะต้องเตรียมตัวนำเคเคทีเอสเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ดังนั้น ความเป็นธรรมาภิบาลไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ [คอร์รัปชั่น] ให้สบายใจได้ ไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น” นายธีระศักดิ์กล่าว

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นกล่าวปฏิเสธว่า การที่ รฟม. ต้องการก่อสร้างรถไฟฟ้าเองไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ส่วนกลางหวงอำนาจ เพราะ รฟม. มีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการเองได้ แต่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ระบุเองว่า เมื่อท้องถิ่นพร้อมและเข้มแข็งก็สามารถทำได้ โดยส่วนกลางพร้อมสนับสนุน   

image_pdfimage_print