โดย บูรพา เล็กล้วนงาม
ต่อจากตอนที่สอง
ขอนแก่น – อาจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ม.ขอนแก่น ฟ้อง คสช.ไม่สนใจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง ระบุการกระจายอำนาจต้องแบ่งงบประมาณแผ่นดิน ร้อยละ 70 ให้ท้องถิ่น และยุบส่วนภูมิภาคโอนภาระกิจให้ท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 เดอะอีสานเรคคอร์ดพูดคุยกับ นายสถาพร เริงธรรม อาจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น และเลขาธิการเครือข่ายกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น ผู้มีแนวคิดจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง

นายสถาพร เริงธรรม อาจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ม.ขอนแก่น
บทความตอนนี้เป็นตอนสุดท้าย (ตอนที่3) ต่อบทความตอนที่ 2 ซึ่งกล่าวถึงรูปแบบการปกครองหลังจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง และมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง
เมื่อปี 2559 ได้ร่วมกับเครือข่ายการกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น ยื่นหนังสือให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ขับเคลื่อนนโยบายและกฎหมายการกระจายอำนาจให้แก่ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการตนเอง ตอนนี้เป็นผลอย่างไรบ้าง
“ไม่มีผลอะไรเลย น่าจะอยู่ในถังขยะแถวนั้น”
พูดตรงไปตรงมา นโยบายกระจายอำนาจไม่ใช่คำตอบที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการ เพราะ คสช. ให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบราชการมากกว่า
คสช. ต้องการให้ระบบราชการเป็นที่พึ่งของประชาชน ซึ่งในทางทฤษฏีน่าจะดี แต่ได้เรียนรู้แล้วว่า กลไกของรัฐไม่สามารถปรับตัวได้มากกว่านี้แล้ว เพราะติดเรื่องกฏระเบียบ งบประมาณ และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
“เราคิดว่าข้อเสนอของรัฐบาลอาจจะถูกส่วนหนึ่ง แต่เราคิดว่าไม่สามารถ ตอบโจทย์ของการปฏิรูปได้”
จังหวัดจัดการตนเองต้องกำหนดหลักประกันทางรายได้จากภาษีให้กับท้องถิ่นด้วย นอกจากให้มีบทบาทหน้าที่ ทรัพยากร และงบประมาณของตนเอง
เรื่องการจัดเก็บภาษีเป็นเรื่องใหญ่ ปัจจุบันมีการจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในสัดส่วนร้อยละ 20 ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด ประเด็นคือ เมื่อมีจังหวัดจัดการตนเอง ปัญหาจะมีมากขึ้น ภารกิจจะมากขึ้น และต้องใช้บุคลากรมากขึ้น จึงต้องการงบประมาณเพิ่มขึ้น ตนจึงเสนอให้จัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่น ร้อยละ 70 และส่วนกลางได้งบประมาณ ร้อยละ 30
แต่เดิมส่วนกลางเก็บภาษีจากทั่วประเทศ แล้วส่วนกลางนำเงินไปใช้เองมากกว่า ร้อยละ 70 ที่เหลือก็ให้ส่วนท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นไม่โต เพราะส่วนกลางเก็บภาษีไปใช้หมด
“ข้อเสนอของผมคือ การประกันรายได้ อย่างน้อยท้องถิ่นต้องมีงบประมาณเพียงพอในการบริหารจัดการทำงานของตัวเองด้วย”
ข้อเสนอให้แบ่งสัดส่วนงบประมาณให้ท้องถิ่นใหม่เป็น ร้อยละ 70 เกิดการที่รัฐบาลกลางจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดต่างๆ อย่างไม่เป็นธรรม ตัวอย่างเช่น จังหวัดภูเก็ตทำรายได้ให้กับรัฐบาลปีละ 200,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แค่ 80,000 ล้านบาท ในขณะที่ภูเก็ตต้องรับต้นทุนมหาศาลจากนักท่องเที่ยว ที่เข้าไปเที่ยวในจังหวัด แล้วต้องรับมือกับปัญหามากมาย คำถามคือว่า ทำไมภูเก็ตไม่ได้งบประมาณคืนมาในสัดส่วนที่พอจะดูแลตัวเองได้
“รัฐบาลกลางเถียงว่าไม่ได้ เพราะจังหวัดใหญ่จะเอาเปรียบจังหวัดเล็ก เขาต้องพิจารณาเรื่องความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ”
คำถามคือว่า การจัดสรรงบประมาณดังกล่าวลดความเหลื่อมล้ำจริงๆ หรือ เพราะตามความเป็นจริง การทำงานทุกอย่างใช้นโยบายจากรัฐบาลกลาง ซึ่งบางครั้งไม่ตอบโจทย์สิ่งที่คนในท้องถิ่นต้องการ
ตอนแรกอาจารย์พูดว่า การกระจายอำนาจถ้าจะใช้แบบฮารคคอร์ (เด็ดขาด) คือกำหนดสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นชัดเจนเลย อาจทำให้ส่วนกลางไม่ยอมให้กระจายอำนาจ
“ปัญหาท้องถิ่นไม่ใช่ปัญหาที่ส่วนกลางจะตัดสินใจได้”
เรื่องบางเรื่อง ประเด็นบางประเด็น เช่น ปัญหาขยะ จังหวัดใหญ่กับจังหวัดเล็กมีระดับของปัญหาแตกต่างกัน วิธีการจัดการปัญหาจึงต้องต่างกัน การใช้รูปแบบเดียวกันจัดการปัญหาทำไม่ได้ เพราะใช้รูปแบบเดียวกันทุกจังหวัดจะนำมาสู่การใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า
“วันนี้เราพูดถึงเรื่องโครงสร้าง เรื่องคน เรื่องกฎหมาย ถ้าจะไม่ประนีประนอม ยุบส่วนภูมิภาคผมว่าถูกต้อง”
การยุบส่วนภูมิภาคอย่างน้อยจะทำให้ไม่เกิดปัญหาความลักลั่นในการทำงาน หลังจากยุบส่วนภูมิภาคก็ให้ส่วนราชการในระดับภูมิภาคทั้งหมดโอนมาสังกัดผู้ว่าราชการจังหวัดเลือกตั้ง ให้สภาท้องถิ่น [มาจากการเลือกตั้ง] อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาพลเมือง [มาจากประชาชนหลากหลายอาชีพ] เพื่อให้การบริหารงานกระชับและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากการกระจายอำนาจแบบเด็ดขาดแล้ว ตนเสนอแนวคิดทางเลือกให้เกิดการเปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเรื่องบางเรื่องต้องใช้ระยะเวลาให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน การกระจายอำนาจในแนวคิดนี้ ผู้ว่าฯ จึงไม่ใช่พระเอก แต่ประชาชนในจังหวัดเป็นพระเอก ต้องให้น้ำหนักกับประชาชน พอเปลี่ยนผ่านประชาชนไประยะหนึ่งค่อยมาหารือถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ
“ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนซักระยะ แล้วก็ประเมินผล แล้วค่อยมาพูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เรื่องงบประมาณ”
การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอำนาจในท้องถิ่น ตนคิดว่า ถ้าทำทันทีโดยไม่ได้เตรียมความพร้อมให้กับทุกฝ่ายก็จะเสี่ยงต่อความไม่พร้อม
แต่ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่าน เนื่องจากโครงสร้างการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นแบบปัจจุบันทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงต้องการกระจายอำนาจเพื่อให้โครงสร้างหรือกลไกการบริหารราชการแบบใหม่ [จังหวัดจัดการตนเอง] ทำงานแทน จากนั้นให้ประชาชน ข้าราชการ และนักการเมือง ร่วมมือกันทำงาน โดยใช้ปัญหาในพื้นที่เป็นตัวตั้ง สิ่งนี้จะเป็นทางออกในโลกยุคปัจจุบัน
หากมีการเลือกตั้งทั่วไป [เดือนกุมภาพันธ์ 2562] แล้วเกิดการเปลี่ยนผ่าน อีกกี่ปีจะได้เห็นผู้ว่ามากจากการเลือกตั้ง
“2 ปี ผมคิดว่า ทำจริงจัง 2 ปี”
หลังจากนั้นให้ประเมินว่า จังหวัดไหนมีความพร้อมก็เปลี่ยนให้เป็นจังหวัดจัดการตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องประกาศให้ทุกจังหวัดเป็นจัดการตนเอง จังหวัดที่ยังไม่พร้อมก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปรัฐบาลชุดหน้า [ระยะเวลา 4 ปี] ต้องทำให้จังหวัดจัดการตนเองเกิดขึ้นก่อน จากนั้นรัฐบาลชุดต่อไปต้องมาทำงานต่อเพื่อให้มีจังหวัดจัดการตนเองครอบคลุมทุกพื้นที่
แนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจ ถ้าจะให้สุดทางต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินทั้งระบบ แล้วยกเลิกส่วนภูมิภาค ต้องถ่ายโอนภาระกิจของส่วนภูมิภาคให้ส่วนท้องถิ่น
อีกเรื่องที่สำคัญเช่นกันคือเรื่องการปฏิรูปท้องถิ่น เพราะโครงสร้างส่วนท้องถิ่นถูกกำหนดโดยรัฐบาลกลาง ส่วนกลางกำหนดว่า พื้นที่ขนาดนี้ต้องเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พื้นที่มีความเจริญขึ้นเป็นเทศบาล พื้นที่ระดับจังหวัดเป็นองค์การยริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบรวมศูนย์ เพราะนำรูปแบบเดียวมาใช้กับทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
“รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นรูปแบบไหนก็ได้”
ถ้ามีงบประมาณมากอาจจะแต่งตั้งตำแหน่งใหม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับอัตรากำลังพลที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนดไว้ก็ได้ การปกครองส่วนท้องถิ่นจะใช้รูปแบบเดิมก็ได้ แต่บางจังหวัดอาจจะไม่มีอบต. ไม่มีเทศบาลก็ได้ แต่หากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ อบจ. อาจจะต้องหายไปโดยปริยาย
“ขึ้นอยู่กับว่า คนในจังหวัดนั้นเป็นผู้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นเอง”
ในโลกนี้มีรูปแบบการปกครองท้องถิ่นมากมาย การส่งเสริมให้ประชาชนในจังหวัดออกแบบรูปแบบการปกครองกันเองอาจจะดีกว่ารูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถูกกำหนดจากส่วนกลางในปัจจุบันก็เป็นได้ รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นในอนาคตจึงขึ้นอยู่กับการที่นักการเมือง ข้าราชการ และประชาชน ในจังหวัดนั้นจะหารือและตกลงกันเอง