ขอนแก่น – เทศบาล 5 แห่งในจังหวัดขอนแก่น เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ว่าต้องการให้ รฟม. หรือบริษัทเคเคทีเอสของเทศบาล 5 แห่งก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยข้อได้เปรียบของบริษัทเคเคทีเอสคือ ความรวดเร็วและผลพลอยได้ที่ชาวขอนแก่จะได้รับ ขณะที่ชาวขอนแก่นอยากให้เทศบาล 5 แห่งสร้างเอง
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2561 ที่ห้องแกรนด์ออคิดบอลรูน โรงแรมพูลแมน จ.ขอนแก่น ตัวแทนประชาชนสังกัดเทศบาล 5 แห่งในเขต อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น ได้แก่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลท่าพระ และเทศบาลตำบลสำราญ และบุคคลทั่วไป รวมกว่า 500 คน ร่วมรับฟังข้อมูลโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าระบบรางเบา (LRT) จากตัวแทนผู้บริหารเทศบาลทั้ง 5 แห่ง เพื่อร่วมแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่กับร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่น พ.ศ…. ” หลังจากบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS – เคเคทีเอส) ซึ่งเกิดจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทของเทศบาล 5 แห่งเป็นผู้เสนอและขอดำเนินการโครงการรถไฟฟ้ามาตั้งแต่แรก
บรรยากาศบนเวที ตัวแทนผู้บริหารเทศบาล 5 แห่งและนักวิชาการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าเพื่อประกอบการตัดสินในของประชาชน โดยไม่มีตัวแทนของ รฟม. ร่วมให้ข้อมูลกับประชาชน แม้ว่าเทศบาล 5 แห่งจะเชิญตัวแทน รฟม. มาให้ข้อมูลแต่ถูกปฏิเสธ ก่อนเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความต้องการลงในไปรษณียบัตรที่เทศบาล 5 แห่งจัดทำขึ้น เพื่อส่งไปยังผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนารถไฟฟ้า รฟม. ว่า เห็นด้วยกับร่างพระราชกฤษฎีกาให้ รฟม. ก่อสร้างรถไฟฟ้าหรือไม่

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น (คนที่ 4 ซ้าย) กล่าวว่า รู้สึกเสียใจเมื่อรู้ว่า รฟม. มาขอทำรถไฟฟ้าที่ขอนแก่น ทั้งที่ตนเป็นผู้ผลักดันโครงการนี้ตั้งแต่ต้น
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นกล่าวว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าระบบรางเบามีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาจราจรในเมืองขอนแก่น โดยต้องการให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแล้วใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ
นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นกล่าวอีกว่า เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาผู้บริหารเทศบาล 5 แห่งเสนอโครงการระบบขนส่งมวลชนแบบระบบรถเมล์ด่วน หรือ BRT (Bus Rapid Transportation) แต่รัฐมนตรีคมนาคมในขณะนั้นไม่เห็นชอบ เพราะไม่มีนโยบายทำโครงการในภูมิภาคและไม่มีงบประมาณ จึงไม่สามารถดำเนินการโครงการได้
นายธีระศักดิ์กล่าวอีกว่า ปัญหาจราจรในเมืองขอนแก่นเพิ่มขึ้น ผู้บริหารเทศบาล 5 แห่งจึงหาทางแก้ปัญหาด้วยการหารือกับ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที – KKTT) จำกัด (เคเคทีทีเกิดจากองค์กรธุรกิจในจังหวัดขอนแก่นร่วมลงทุนและจัดตั้งบริษัท ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท และจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสำเร็จ เมื่อวัน 9 ม.ค. 2558) จากการหารือพบว่า ระบบขนส่งมวลชนที่สามารถทำได้ โดยการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและระดมทุนจากสาธารณะตามเงื่อนไขของตลาดหลักทรัพย์คือ การทำรถไฟฟ้าระบบรางเบา
นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นกล่าวอีกว่า หลังจากนั้นตนและผู้บริหารอีก 4 เทศบาลได้ขอจัดตั้งเคเคทีเอสต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นเจ้าของโครงการตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งให้อำนาจเทศบาลสามารถดำเนินกิจการระบบรางได้
นายธีระศักดิ์เล่าอีกว่า เมื่อปี 2557 ผู้บริหารทั้ง 5 เทศบาลได้เสนอเรื่องการก่อสร้างรถไฟฟ้าต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มนาคม เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2559 นายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ พล.อ.อ.ประจินจึงได้ให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ศึกษาข้อมูลเพื่อเปลี่ยนรูปแบบโครงการจากระบบรถเมล์ด่วนมาเป็นรถไฟฟ้า ใช้เวลาศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 2 ปี เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2561 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมว.คมนาคม เห็นชอบให้ดำเนินโครงการ
นายธีระศักดิ์กล่าวว่า จากนั้นกระทรวงคมนาคมได้เสนอตัวว่า ต้องการเป็นผู้ดำเนินโครงการนี้เอง โดยจะมอบให้ รฟม. เป็นผู้ดำเนินการ
“พูดจริงๆ ผมรู้สึกเสียใจเมื่อรู้ว่ากระทรวงคมนาคมต้องการดำเนินการโครงการนี้ เพราะตนเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโครงการนี้ตั้งแต่ตน” นายธีระศักดิ์กล่าว
นายธีระศักดิ์กล่าวว่า ผู้บริหารบริษัทเคเคทีเอสได้พูดคุยกับตัวแทนกระทรวงคมนาคม เพื่อขอแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดขอนแก่นที่กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ สนข. ศึกษา เพื่อนำกลับมาให้บริษัทเคเคทีเอสเริ่มดำเนินโครงการ โดยระหว่างนี้ รฟม. ผลักดันกฎหมายให้ รฟม. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าเอง
นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นกล่าวว่าอีกว่า ผู้บริหารเคเคทีเอสได้เข้าพบตัวแทนของ รฟม. เพื่อแจ้งว่า ถ้า รฟม. ต้องการก่อสร้างรถไฟฟ้า ขอให้จัดเวทีให้ประชาชนคนขอนแก่นได้แสดงความคิดเห็นว่า จะให้ รฟม. ดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าหรือจะให้เคเคทีเอสเป็นผู้ดำเนินการ

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า รฟม.ต้องใช้เวลาอีก 9 ปีถึงจะเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนเคเคทีเอสใช้เวลา 4 ปีจะก่อสร้างแล้วเสร็จ
นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานที่มีอำนาจในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้า คือ รฟม. และเทศบาล ซึ่งเทศบาล 5 แห่งของจังหวัดขอนแก่นได้ตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการและรับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าจังหวัดขอนแก่นเรียบร้อยแล้ว
“ฉะนั้น ศักดิ์และสิทธิของทั้งสองหน่วยงานในการที่ดำเนินการก่อสร้างระบบรางรถไฟฟ้ามีเท่ากัน” นายสุรเดชกล่าว
รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น กล่าวอีกว่า ถ้าให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่น ต้องรอกฎหมายให้อำนาจ รฟม.แล้วเสร็จ ซึ่งจะกินเวลาทั้งหมดอีกประมาณ 9 ปีถึงจะเริ่มก่อสร้างได้ แต่ถ้าให้เคเคทีเอสดำเนินการเอง จะเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างระบบรางและรถไฟฟ้าได้ในปี 2562 อีก 3 ปีจากนั้น ขอนแก่นจะมีรถไฟฟ้าให้บริการประชาชน
นายสุรเดชกล่าวอีกว่า ถ้าให้ รฟม. ดำเนินการ ประโยชน์ต่อเนื่องจากโครงการจะมีน้อยมาก เพราะ รฟม. จะก่อสร้างรางและเดินรถไฟฟ้าเอง แต่ถ้าให้เคเคทีเอสดำเนินการ ชาวขอนแก่นจะได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพราะเทศบาล 5 แห่งวางแผนว่าจะผลิตรถไฟฟ้าเอง ซึ่งเป็นการสร้างงานให้ชาวขอนแก่น อีกทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมลคลอีสาน จะผลิตนักศึกษาด้านวิศวกรรมระบบราง เพื่อมีความรู้ในการดูแลระบบรางและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ผลประโยชน์จะตกกับชาวขอนแก่นมากกว่าให้ รฟม. ดำเนินการ
รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น กล่าวอีกว่า เรื่องที่หลายคนกังวลคือความเสี่ยงหากก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้วขาดทุน ตนขอชี้แจงว่า ถ้าให้ รฟม.ทำโครงการแล้วขาดทุน รัฐบาลต้องนำงบประมาณมาอุดหนุน ส่วนถ้าเคเคทีเอสทำเอง หากขาดทุนก็จะไม่กระทบต่อประชาชนและเทศบาล 5 แห่ง เพราะเคเคทีเอสมีที่ปรึกษาทางการเงิน และมีระบบประกันมาค้ำประกันในกรณีที่ขาดทุนและจ่ายหนี้ไม่ได้
หลังจากการเสวนาบนเวทีเสร็จสิ้น ผู้ดำเนินรายการบนเวทีได้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ร่วมงานได้แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถาม

นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน จังหวัดขอนแก่น ไม่เห็นด้วยหากให้เทศบาลทำโครงการรถไฟฟ้า เพราะกลัวจะเกิดการทุจริต
นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน จังหวัดขอนแก่นกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะให้บริษัท 5 เทศบาล (เคเคทีเอส) ดำเนินโครงการ เนื่องจากงานวิจัยและงานศึกษาเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในองค์กรและหน่วยงานของรัฐ พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการทุจริตมากที่สุด
“ในขอนแก่น มีคนร้องเรียนผมว่าเยอะมาก มีการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ผมยังไม่มีหลักฐานที่ดำเนินการกับคนที่ทุจริตได้” นายตุลย์กล่าว
นายตุลย์กล่าวว่า ตนเห็นด้วยถ้าให้ รฟม. ดำเนินการ เพราะ รฟม. เป็นหน่วยงาน ระดับชาติที่มีผลงาน และมีความพร้อมเรื่องบุคลากร เครื่องมือ ความรู้ความสามารถและเงินทุน
ขณะที่ผู้ร่วมรับฟังข้อมูลคนอื่นต่างแสดงความคิดเห็นสนับสนุนให้บริษัท 5 เทศบาล หรือ เคเคทีเอส เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าจังหวัดขอนแก่น เพราะเชื่อว่ารถไฟฟ้าขอนแก่นจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จในเวลารวดเร็ว ระหว่างการแสดงความเห็น มีเจ้าหน้าที่จากเทศบาลแจกไปรษณีย์บัตรสำรวจความคิดเห็น ว่าต้องการให้หน่วยงานไหนก่อสร้างรถไฟฟ้าต่อผู้มาร่วมงาน แล้วเก็บไปรษณีย์บัตรหลังจากผู้ร่วมงานกรอกข้อมูลแล้วเสร็จ
นายธีระศักดิ์ได้ตอบคำถามของนายตุลย์ว่า กรณีข้อกังวลว่าอาจมีการทุจริตในโครงการนี้ ตนและผู้บริหารเทศบาลอีก 4 แห่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินลงทุน เพราะเป็นการลงทุนในนามเคเคทีที และเคเคทีเอส และเงินลงทุนไม่ได้ใช้งบประมาณของเทศบาล
“โครงการนี้กู้เงินจากสถาบันการเงินแล้วเอามาลงทุน รวมถึงระดมทุนจากสาธารณะ และบริษัทจ้างให้บริษัทบัญชีเอกชนระดับโลกมาบริหารเงิน แล้วจะเกิดการทุจริตได้อย่างไร” นายธีระศักดิ์กล่าว